1. “ในหลวง-พระราชินี”เสด็จฯ ยกสัปตปฎลเศวตฉัตรยอดพระเมรุ“พระพี่นางฯ”แล้ว ด้าน “นปช.”ยังดื้อ ไม่คืนสนามหลวง!
เมื่อวันที่ 20 ต.ค.(เวลา 17.10น.) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จฯ ยังพระที่นั่งทรงธรรม พระเมรุท้องสนามหลวง เพื่อทรงประกอบพิธียกสัปตปฎลเศวตฉัตรยอดพระเมรุ พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยมีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ และประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ,นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร และคณะกรรมการ เฝ้ารับเสด็จ ทั้งนี้ หลังเสร็จสิ้นพิธียกสัปตปฎลเศวตฉัตรยอดพระเมรุฯ แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จฯ ประทับรถยนต์พระที่นั่งไฟฟ้า ทอดพระเนตรพระเมรุบริเวณด้านนอก จากนั้นเสด็จฯ ประทับลิฟต์เพื่อขึ้นทอดพระเนตรพระเมรุด้านใดอย่างละเอียด โดยใช้เวลากว่า 30 นาที ก่อนเสด็จฯ กลับ ด้านนาวาอากาศเอก อาวุธ เงินชูกลิ่น ประธานคณะทำงานจัดสร้างพระเมรุฯ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รับสั่งว่า พระเมรุมีความสวยงามและเรียบร้อยดี ขณะที่นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร เผย(22 ต.ค.)ว่า ขณะนี้การก่อสร้างพระเมรุฯ เกือบเสร็จ 100% แล้ว อยู่ระหว่างเก็บรายละเอียดของงานที่เหลือ เช่น ปูพรม ,ปรับภูมิทัศน์โดยรอบ พร้อมส่งมอบพระเมรุให้สำนักพระราชวังในช่วงต้นเดือน พ.ย.นี้ ด้านนายบวรพัฒน์ บุญธนทัต ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เผย(23 ต.ค.)ว่า ทางเขตได้ส่งหนังสือไปยังกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) เพื่อให้รื้อถอนเต็นท์และสิ่งปลูกสร้างบริเวณท้องสนามหลวงฝั่งทิศเหนือออกจากพื้นที่ในวันที่ 24 ต.ค.เพื่อปรับปรุงและจัดเตรียมสถานที่สำหรับพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 2 พ.ย.นี้ แต่ปรากฏว่า ทางกลุ่ม นปช.ยังไม่ยอมรื้อถอนเต๊นท์หรือย้ายออกแต่อย่างใด โดยอ้างว่า ทางกลุ่มจะชุมนุมใหญ่ในวันที่ 25 ต.ค. ซึ่งทางเขตได้อะลุ้มอล่วยให้ก่อน แต่หากภายในวันที่ 26 ต.ค.นี้ยังไม่ย้ายออก ทางเขตจะต้องประสานความร่วมมือไปยังผู้บริหารระดับสูงของ กทม.และฝ่ายตำรวจให้หามาตรการทางกฎหมายจัดการขั้นเด็ดขาดต่อไป
“ในหลวง-ราชินี” เสด็จฯทรงยกสัปตปฎลเศวตฉัตรยอดพระเมรุ
นปช.หน้ามึน! ดื้อไม่รื้อเต็นท์สนามหลวง ต่อรองขอจัดชุมนุมใหญ่ 25 ต.ค.นี้
กทม.ไล่ นปช.พ้นสนามหลวง ขีดเส้นตาย 24 ต.ค.-ฝ่าฝืนรื้อ
2. “แม้ว”กรรมตามสนอง ถูกศาลสั่งจำคุก 2 ปีไม่พอ ส่อถูกริบ “เครื่องราชฯ”คืนด้วย!
เมื่อวันที่ 21 ต.ค.ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาฯ จำนวน 33 ไร่ มูลค่า 772 ล้านบาท ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร เป็นจำเลยที่ 1-2 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ร่วมกันเป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้ส่วนเสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นฯ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต(ป.ป.ช.) พ.ศ.2542 มาตรา 4 ,100 , 122 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ,83 ,86 ,91 ,152 และ 157 พร้อมขอให้ยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน ทั้งนี้ คดีมีหลายประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัย ซึ่งจำเลยทั้งสองได้โต้แย้งในหลายกรณี เช่น โต้แย้งว่า ประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ที่ตั้ง คตส.ขึ้นมาตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐนั้น ขัดหรือแย้งต่อ รธน.หรือไม่ รวมทั้ง พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.พ.ศ.2542 ขัดหรือแย้งต่อ รธน.หรือไม่ ซึ่งองค์คณะศาลฎีกาฯ ในคดีนี้ซึ่งมีจำนวน 9 คน มีมติเอกฉันท์ว่า ประกาศ คปค.และกฎหมาย ป.ป.ช.ดังกล่าวไม่ขัดหรือแย้งต่อ รธน.โดยศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยไว้แล้ว ส่วนที่จำเลยอ้างว่า พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.ได้สิ้นสุดลงไปแล้วหลัง คปค.ประกาศให้ รธน.2540 สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 นั้น ศาลเห็นว่า กฎหมายดังกล่าวไม่ได้ถูกยกเลิก เพราะ คปค.ได้ออกประกาศในฉบับที่ 19 แล้วว่า ให้ พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.ใช้บังคับต่อไป ข้อโต้แย้งของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยต่อไปอีกว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันทำผิดฝ่าฝืน พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.มาตรา 100(1) หรือไม่ ซึ่งจำเลยต่อสู้ว่า กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ รวมทั้งจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจกำกับควบคุมดูแลกองทุนฯ นั้น ศาลเห็นว่า กองทุนฯ เป็นหน่วยงานของรัฐ เพราะก่อตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) พ.ศ.2485 มาตรา 29 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจดูแลและพิจารณาส่งเงินเข้าสนับสนุนเป็นครั้งๆ และว่า ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1(พ.ต.ท.ทักษิณ)เป็นนายกฯ ซึ่งมีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินและมีอำนาจเหนือข้าราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม ประกอบกับคำเบิกความจากพยานโจทก์ 2 คน(ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่า ธปท.และ ม.ร.ว.จตุมงคล โสณกุล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง)ก็แสดงให้เห็นว่า นายกฯ ใช้อำนาจกำกับดูแลกองทุนฯ ได้โดยผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามลำดับชั้น ดังนั้น องค์คณะศาลฎีกาฯ จึงมีมติ 6 ต่อ 3 ว่า พ.ต.ท.ทักษิณเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมีอำนาจกำกับควบคุมดูแลกองทุนฯ ส่วนประเด็นที่ว่า การทำสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.มาตรา 100(1) หรือไม่ ศาลเห็นว่า ขณะนั้น พ.ต.ท.ทักษิณเป็นนายกฯ มีอำนาจบารมีเหนือรัฐมนตรี และมีอำนาจทางการเมืองสูง อีกทั้งฐานะการเงินมั่งคั่ง ซึ่งตามหลักธรรมาธิบาลแล้ว นายกฯ ภริยา หรือบุตร ไม่สมควรเข้าไปประมูลซื้อที่ดินดังกล่าว เพราะการซื้อได้ราคาต่ำ ส่งผลให้กองทุนฯ มีรายได้น้อยลง ขณะที่คุณหญิงพจมาน(จำเลยที่ 2) ก็มีผู้รู้จักจำนวนมาก ประกอบกับข้าราชการมีค่านิยมจำนนต่อผู้มีบารมีสูง นอกจากนั้นยังอยู่ในฐานะที่อาจให้คุณให้โทษทางราชการได้ และเมื่อปรากฏว่า พ.ต.ท.ทักษิณใช้บัตรประจำตำแหน่งนายกฯ ลงนามยินยอมให้คุณหญิงพจมานทำสัญญาซื้อขายที่ดิน ย่อมถือได้ว่าเป็นการเข้าทำสัญญาด้วยตัวเองตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.มาตรา 100(1) วรรคสาม ส่วนที่ พ.ต.ท.ทักษิณอ้างว่า การลงชื่อยินยอมเป็นเพียงการทำตามระเบียบราชการ แต่ พ.ต.ท.ทักษิณก็ไม่มีหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่าไม่มีส่วนรู้เห็นต่อการซื้อขายแต่อย่างใด องค์คณะจึงมีมติ 5 ต่อ 4 เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.มาตรา 100(1) วรรคสาม และต้องรับโทษตามมาตรา 122 ข้อต่อสู้ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น ส่วนคุณหญิงพจมาน องค์คณะมีมติ 7 ต่อ 2 เห็นว่า ไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.มาตรา 100(1) วรรคสาม ไม่ต้องรับโทษตามมาตรา 122 เพราะ พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ได้กำหนดบทลงโทษสำหรับคู่สมรสที่กระทำความผิด มีแต่บทลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงต้องตีความกฎหมายอย่างเคร่งครัดตามหลักกฎหมายอาญา เมื่อไม่มีกฎหมายให้ลงโทษ ศาลจึงไม่อาจลงโทษได้ สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 152 และ 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐและผู้สนับสนุน เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียกับหน่วยงานของรัฐเพื่อประโยชน์ของตนนั้น องค์คณะมีมติ 8 ต่อ 1 เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน ไม่มีความผิด เพราะการกระทำของจำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำในฐานะเป็นเจ้าพนักงานของรัฐที่ดูแลกองทุน แต่ พ.ต.ท.ทักษิณดำเนินการในฐานะคู่สมรสของคุณหญิงพจมาน ให้ความยินยอมทำสัญญาซื้อขายที่ดินอันผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. จึงไม่ผิดต่อประมวลกฎหมายอาญามาตรา 152 , 157 และเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา คุณหญิงพจมานจึงไม่มีความผิดด้วย ส่วนที่โจทก์(อัยการสูงสุด) ขอให้ริบทรัพย์สินซึ่งเป็นที่ดินและเงินที่ใช้ซื้อที่ดิน 772 ล้านบาทนั้น องค์คณะมีมติ 7 ต่อ 2 เห็นว่า ทรัพย์สินดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง จึงมิใช่ทรัพย์อันพึงริบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33(1) (2) ทั้งนี้ ศาลสรุปคำพิพากษาคดีนี้ว่า เมื่อพยานหลักฐานรับฟังได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.มาตรา 100(1) วรรคสาม และมาตรา 100 วรรค 1 โดยขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นนายกฯ ได้รับมอบหมายให้บริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ทางราชการและประชาชน แต่จำเลยกลับฝ่าฝืนกฎหมายทั้งที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล ต้องกระทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดี ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ประพฤติตนในสิ่งที่ดีงามตามจริยธรรมของนักการเมืองให้เหมาะสมกับที่ได้รับความไว้วางใจในตำแหน่งหน้าที่อันสำคญยิ่ง จึงไม่สมควรรอการลงโทษ พิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปี ส่วนความผิดฐานอื่นและคำขออื่นให้ยกฟ้อง และเนื่องจากจำเลยที่ 1 หลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษา ศาลจึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับจำเลยที่ 1 เพื่อมาปฏิบัติตามคำพิพากษาต่อไป ส่วนจำเลยที่ 2 พิพากษายกฟ้อง จึงให้เพิกถอนหมายจับจำเลยที่ 2 เฉพาะคดีนี้ ทั้งนี้ แม้คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะถือเป็นที่สุด แต่ รธน.2550 มาตรา 278 วรรคสาม ที่กำหนดโดยระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯ ก็เปิดช่องให้จำเลยสามารถอุทธรณ์ได้หากมีพยานหลักฐานใหม่ซึ่งอาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ โดยจะต้องยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีคำพิพากษา ด้านนายเศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ บอกว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ อัยการจะทำเรื่องขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน โดยจะเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่ให้เร็วที่สุด อนึ่ง การที่ พ.ต.ท.ทักษิณถูกศาลพิพากษาจำคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา นอกจากจะสะท้อนถึงการเป็นอดีตผู้นำประเทศที่ไร้จริยธรรมทางการเมืองและเป็นคดีประวัติศาสตร์ในแง่เป็นนายกฯ คนแรกของไทยที่ถูกศาลฎีกาสั่งจำคุกแล้ว ยังจะส่งผลกระทบต่อเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างๆ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณเคยได้รับพระราชทานในฐานะนายกรัฐมนตรีด้วย เนื่องจากระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ.2548 ซึ่งออกสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกฯ เมื่อวันที่ 15 ส.ค.2548 กำหนดว่า หากนายกฯ หรือรัฐมนตรีถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุกถึงที่สุด สำนักนายกฯ ต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากบุคคลที่ถูกพิพากษาจำคุกดังกล่าว
ศาลพิพากษา “แม้ว” ทุจริตซื้อที่ดินผิดมหันต์! จำคุก 2 ปี “อ้อ” รอดยกฟ้อง
“แม้ว” จ่อถูกยึดเครื่องราชฯคืนหลังถูกศาลตัดสินจำคุก !
ทีม “ทนายแม้ว” รอคัดสำนวนคำพิพากษา ก่อนยื่นอุทธรณ์ คาดไม่เกิน 30 วัน
คำต่อคำ ศาลฎีกาฯ ชี้ “แม้ว”ฝ่าฝืนกฎหมายช่วยเมียซื้อที่-สั่งจำคุก 2 ปี
อัยการประชุมล่า “ทักษิณ” กลับไทยอ้างยังไม่ได้หมายจับจาก ตร.
3. “ทักษิณ”เปิดศึก โจมตี “ศาล”แถมจาบจ้วง “สถาบัน” ด้าน “น้องเขย” ให้ท้าย บอก เรื่องส่วนตัว!
หลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา คดีซื้อที่ดินรัชดาฯ ขณะที่คุณหญิงพจมาน รอด เพราะศาลยกฟ้องนั้น ปรากฏว่า ได้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านคำวินิจฉัยของศาลจาก พ.ต.ท.ทักษิณทันที โดย พ.ต.ท.ทักษิณให้สัมภาษณ์สำนักข่าวรอยเตอร์หลังทราบคำพิพากษาของศาล(21 ต.ค.)ว่า คาดการณ์ไว้ก่อนแล้วว่าผลคำตัดสินของศาลจะออกมาเช่นนี้ พร้อมอ้างว่า ตนเป็นนักการเมือง หลังจากถูกโค่นล้มโดยรัฐประหาร ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่พวกเขาจะต้องทำทุกทางที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับสิ่งที่เกิดขึ้น พ.ต.ท.ทักษิณ ยังบอกด้วยว่า ตนจะเปิดเผยข้อบกพร่อง โดยจะแปลคำพิพากษาแจกจ่ายให้สังคมโลกได้รับรู้ และว่า ตอนนี้จะยังไม่พูดอะไรมาก ให้รออ่านแถลงการณ์ที่ตนจะออกมา อย่างไรก็ตาม วันต่อมา(22 ต.ค.) พ.ต.ท.ทักษิณ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวรอยเตอร์อีกครั้งว่า ตนไม่ออกแถลงการณ์แล้ว แต่จะโทรศัพท์จากต่างประเทศเข้ามายังรายการ “ความจริงวันนี้ ต้านรัฐประหาร”ที่จะจัดขึ้นที่สนามราชมังคลากีฬาสถานในวันที่ 1 พ.ย.นี้ เพื่อพูดกับประชาชนประมาณ 20 นาที โดยมีนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชนเป็นผู้ดำเนินรายการ วันต่อมา(23 ต.ค.) พ.ต.ท.ทักษิณซึ่งบอกเมื่อวันก่อนว่าจะไม่ออกแถลงการณ์แล้ว กลับออกแถลงการณ์ถึงสื่อมวลชนต่างประเทศ โดยนอกจาก พ.ต.ท.ทักษิณจะบิดเบือนคำพิพากษาของศาลอย่างรุนแรงแล้ว ยังมีการพูดพาดพิงชนชั้นสูงซึ่งอาจหมายถึงสถาบันด้วย สำหรับคำพูดที่บิดเบือนเพื่อดิสเครดิตศาล ได้แก่ “...ผมถูกตัดสินว่ามีความผิดอย่างง่ายๆ เพียงเพราะผมเป็นนักการเมือง คนหนึ่งเท่านั้นเอง ผมผิดเพราะผมเป็นนักการเมืองที่ประสบความสำเร็จ ผมได้รับเลือกตั้งขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีถึงสองสมัย เพราะเสียงส่วนใหญ่มาจากประชาชน...” พ.ต.ท.ทักษิณ ยังอ้างต่อว่า “...หากผมจะมีความผิดอะไรสักอย่าง นั่นก็คงเป็นสิ่งที่ผมได้แสดงออกมาให้ประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะคนไทยกลุ่มที่อยู่ในชนบทและไม่มีอภิสิทธิ์ใดใดได้เห็นว่าพวกเขาสามารถเรียกร้องและมีสิทธิเรียกร้องให้รัฐบาลของพวกเขาจัดทำนโยบายที่มีประสิทธิภาพและทำโครงการต่างๆ ที่จะยังผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาดีขึ้น...” พ.ต.ท.ทักษิณ ยังตำหนิศาลและชื่นชมตัวเองต่อไปว่า “ผมยอมรับคำตัดสินนี้ด้วยความรู้สึกที่ผสมปนเปกัน รู้สึกโล่งใจสำหรับภรรยาที่ผมดึงเธอเข้าสู่ความยากลำบากมากทีเดียว เพราะความทะเยอทะยานทางการเมืองของผมในการที่จะนำความยิ่งใหญ่และความเป็นอยู่ที่ดีมาสู่ประเทศและประชาชนของผม ทั้งรู้สึกนึกขันปนขมขื่นกับคำตัดสินที่ไร้เหตุผล และรู้สึกกังวลแทนนักการเมืองในประเทศไทยว่า พวกเขาสามารถเดินเข้าคุกไปได้ง่ายๆ เพียงเพราะภรรยาที่โชคร้ายของพวกเขาพยายามทำตามกฎหมาย” พ.ต.ท.ทักษิณยังกล่าวให้ร้ายชนชั้นสูงซึ่งอาจหมายถึงสถาบันด้วยว่า “ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับผม ล้วนแต่เป็นการกระทำที่เกิดจากแรงขับเคลื่อนทางการเมือง ซึ่งเป็นการสมคบกันของบรรดาชนชั้นสูงที่มีอภิสิทธิ์ทั้งหลาย ผู้เชื่อในทุกสิ่งทุกอย่าง ยกเว้นประชาธิปไตย ผมเป็นภัยคุกคามต่อพวกเขา เพียงเพราะผมเป็นตัวแทนของหลักการแห่งระบอบเสรีประชาธิปไตย ซึ่งส่งเสริมความหวังและความภาคภูมิใจของคนยากคนจนในประเทศของผม” ทั้งนี้ คำพูดและแถลงการณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณที่บิดเบือนคำพิพากษาของศาลและดิสเครดิตกระบวนการยุติธรรมของไทย ส่งผลให้หลายฝ่ายวิตกกังวลและไม่เห็นด้วยที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะโทรศัพท์ข้ามประเทศพูดกับประชาชนผ่านรายการ “ความจริงวันนี้ฯ”ของแกนนำ นปก.(วีระ มุสิกพงศ์-จตุพร พรหมพันธุ์-ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ)ในวันที่ 1 พ.ย. เพราะนอกจากจะสร้างความเสียหายให้กับประเทศแล้ว ยังจะทำให้เกิดความแตกแยกและอาจเกิดเหตุรุนแรงขึ้นได้ โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พูดถึงเรื่องนี้ว่า “อยากให้ พ.ต.ท.ทักษิณใช้เวลาวันนี้ถึงวันที่ 1 พ.ย.ทบทวนว่า จะทำอะไรโดยยึดประโยชน์ของประเทศและคนไทยเป็นหลัก ไม่ควรดึงศาลมาสู่วังวนการเมือง อย่านำภาระส่วนตัวไปเป็นภาระของประเทศ” ด้านนายพิภพ ธงไชย 1 ในแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พูดถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะโทรศัพท์ข้ามประเทศออกรายการ “ความจริงวันนี้ฯ”วันที่ 1 พ.ย. ซึ่งอาจมีการถ่ายทอดหรือนำไปออกรายการทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีว่า “วันนี้ พ.ต.ท.ทักษิณมีฐานะเป็นผู้ร้ายหนีคำพิพากษาของศาล รัฐบาลต้องรู้ว่าตัวเองมีหน้าที่นำตัว พ.ต.ท.ทักษิณมารับโทษตามที่ศาลพิพากษา ไม่ใช่อยู่ในฐานะที่จะเปิดโอกาสให้ พ.ต.ท.ทักษิณใช้สื่อของรัฐชี้แจงที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิด หรือเกิดความแตกแยกทางสังคม ถ้าจะให้ดีรัฐบาลจะต้องเผยแพร่คำพิพากษาของศาลออกทางโทรทัศน์ด้วย เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจว่าคำพิพากษานั้นอยู่บนความยุติธรรมและความถูกต้อง แต่ที่ผ่านมารัฐบาลสมชายไม่เคยทำเลย ทั้งที่รัฐบาลต้องสนับสนุนกระบวนการยุติธรรม อีกทั้งนายสมชายเองก็เคยเป็นผู้พิพากษามาด้วย” ด้านนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ และน้องเขย พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่สนข้อห่วงใยของใคร เดินหน้าป้องพี่เขยมากกว่ากระบวนการยุติธรรมของไทย โดยบอกว่า กรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะโทรศัพท์ทางไกลปราศรัยผ่านรายการ “ความจริงวันนี้ฯ”วันที่ 1 พ.ย.เป็นเรื่องส่วนตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล และมั่นใจว่า สิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะพูด คงไม่กระทบกระเทือนอะไร เพราะทุกคนเคารพในสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น นายสมชาย ยังเชื่อด้วยว่า คำปราศรัยของ พ.ต.ท.ทักษิณในวันที่ 1 พ.ย.ไม่น่าจะทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น
“แม้ว” ฟ้องสื่อนอก “ทำไมเมียรอดคนเดียว”
“แม้ว” ซัดศาลทำตามกระแส ลั่นแปลพยานหลักฐานประจานทั่วโลก
4. “คกก.สอบ 7 ต.ค.”ของ รบ. ส่อยื้อเวลา-ไม่กล้าฟัน ด้าน “สพรั่ง”หนุน ปฏิวัติ!
หลังเกิดกรณีผู้บัญชาการ 4 เหล่าทัพ โดยเฉพาะ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ออกโทรทัศน์เรียกร้องให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ แสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ด้วยการลาออก แต่นายสมชาย อ้างว่า ต้องรอผลสรุปของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่รัฐบาลตั้งขึ้นก่อน ซึ่งคงใช้เวลาประมาณ 15 วัน แต่ขณะเดียวกันนายสมชายก็อ้างว่า รัฐบาลจำเป็นต้องอยู่จัดงานพระราชพิธีถวายเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ งานเฉลิมพระชนมพรรษา และการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนนั้น ปรากฏว่า เริ่มเป็นเช่นที่บางฝ่ายคาดการณ์แล้วว่า การรอผลสอบของคณะกรรมการฯ เป็นเพียงการยื้อเวลา ซึ่งในที่สุดคณะกรรมการที่รัฐบาลตั้งขึ้นอาจถูกแทรกแซงและไม่กล้าชี้ว่าใครต้องรับผิดชอบ รวมทั้งไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลานานเท่าใดในการสอบ โดยนางพรทิพย์ จาละ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา 1 ในคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ 7 ต.ค.ชุดที่รัฐบาลตั้งขึ้น พูดถึงกรณีที่นายกฯ บอกว่ากรรมการชุดนี้จะสรุปผลสอบได้ใน 15 วันว่า "ไม่เคยได้ยินนายกฯ พูดอย่างนั้น ได้ยินแต่ว่าให้อิสระในการทำงาน นางพรทิพย์ ยังยืนยันด้วยว่า คณะกรรมการคงทำงานไม่เสร็จใน 15 วัน เพราะขณะนี้(21 ต.ค.)คณะกรรมการยังไม่มีการประชุมอย่างเป็นทางการเลย" และว่า "มติ ครม.ให้กรรมการชุดนี้มีหน้าที่แค่รวบรวมข้อเท็จจริง เพื่อเสนอต่อสังคมได้รับทราบเท่านั้น ไม่มีหน้าที่ชี้ว่าใครเป็นผู้กระทำผิด" ส่วนผลสรุปของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงชุดของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่สรุปเบื้องต้นไปแล้วว่า รัฐบาลต้องรับผิดชอบในฐานะผู้สั่งการให้มีการสลายการชุมนุมเพื่อให้รัฐบาลแถลงนโยบายในสภาได้ ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติในฐานะผู้ปฏิบัติ ต้องรับผิดชอบกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นนั้น ปรากฏว่า เป็นไปตามคาดที่ ส.ส.พรรคพลังประชาชนต่างรับไม่ได้กับผลสอบดังกล่าว พร้อมหาว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ลำเอียงเข้าข้างพันธมิตรฯ ทั้งนี้ โพลล์บางสำนัก เช่น เอแบคโพลล์ ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนใน 18 จังหวัด(ระหว่างวันที่ 11-18 ต.ค.)ต่อความสง่างามและความชอบธรรมของรัฐบาลหลังเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุม ปรากฏว่า บรรดาคอการเมืองส่วนใหญ่ให้คะแนนรัฐบาลสอบตก โดยได้ 4.37 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 ส่วนความพอใจของประชาชนต่อท่าทีของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ ก็พบว่าสอบตกเช่นกัน โดยพอใจท่าทีของนายสมชายแค่ 4.6 จากคะแนนเต็ม 10 สำหรับกระแสไม่พอใจของประชาชนต่อนายสมชายที่ไม่รับผิดชอบด้วยการลาออกหรือยุบสภานั้น ปรากฏว่า เริ่มมีปฏิกิริยาจากข้าราชการและพนักงานของรัฐบ้างแล้ว โดยเมื่อวันที่ 22 ต.ค.นายสมชายได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมการทำงานของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) ซึ่งเช่าอาคารของบริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน)เป็นสถานที่ทำงาน ปรากฏว่า ข้าราชการกระทรวงไอซีทีและพนักงานบริษัท ทีโอทีกว่า 500 คน ได้พากันรุมล้อมและกระพือ “มือตบ”ไล่นายสมชาย พร้อมตะโกนว่า “สมชายฆาตกร”เป็นระยะๆ แต่นายสมชายทำเป็นใจดีสู้เสือและฝืนยิ้มให้ผู้ชุมนุม ก่อนจะเกิดเหตุกระทบกระทั่งกันเล็กน้อย เมื่อตำรวจที่ดูแลความปลอดภัยให้นายสมชายผลักผู้ชุมนุมบางคน ผู้ชุมนุมไม่พอใจจึงขว้างปามือตบและขวดน้ำเข้าใส่ แต่ไม่โดนนายสมชาย ทั้งนี้ ข่าวแจ้งว่า ก่อนเดินทางมายังกระทรวงไอซีที ทีมรักษาความปลอดภัยได้แจ้งให้นายสมชายทราบแล้วว่า มีผู้ชุมนุมรอขับไล่อยู่ แต่นายสมชายยังยืนยันว่าจะเดินทางมา ขณะที่โหรชื่อดังยังคงทำนายเป็นระยะๆ ว่ารัฐบาลนายสมชายจะอยู่ได้อีกไม่นาน โดยนายบุญเลิศ ไพรินทร์ อดีต ส.ว.ฉะเชิงเทรา เจ้าของฉายา “โหร ส.ว.” ทำนายว่า ขณะนี้ดวงเมืองดวงโลกไม่ดี ดาวอาทิตย์ที่เกี่ยวกับผู้นำประเทศก็กำลังประสบเคราะห์กรรม และล่อแหลมว่าผู้นำประเทศจะอยู่หรือไปในช่วงนี้ถึงกลางเดือน ธ.ค.นี้ ถ้าอยู่ต่อไปได้ก็จะอยู่ได้อีกไม่นาน ด้าน พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร อดีตผู้ช่วยเลขาธิการ คมช.ได้ออกมาให้ความเห็นต่อสถานการณ์บ้านเมืองเป็นครั้งแรกหลังเก็บตัวเงียบมานาน โดย พล.อ.สพรั่งพูดทำนองว่า ถ้าจำเป็นต้องปฏิวัติเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ทหารก็ควรทำ โดยบอกว่า "เมื่อปฏิวัติแล้วจะดีมากกว่าผลเสียหรือไม่นั้น ไม่ใช่ได้หรือเสีย แต่จำเป็นหรือไม่จำเป็น หากทำเพื่อผลประโยชน์ของชาติก็ต้องทำ เพราะผลประโยชน์ของชาติสำคัญกว่า หากปล่อยให้อยู่อย่างนี้พังกันหมด ทุกคนอย่ามัวแต่เอาตัวรอด อย่าเลี้ยงไข้ อย่าตามใจคนไข้ ถ้าเป็นโรคอะไรต้องรักษาตามโรค และหากเป็นโรคร้ายก็ต้องรักษา" ด้านกลุ่ม นปช.และ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดง ที่ฝึกการรบให้กลุ่ม นปช.ได้พากันต่อต้านแนวคิดปฏิวัติ โดยบางคนถึงกับเสนอว่า หากมีการปฏิวัติจริง ขอให้นายสมชายไปตั้งศูนย์บัญชาการต่อต้านปฏิวัติที่เชียงใหม่ ขณะที่ พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ และประธานกลุ่มพลังกู้วิกฤตชาติ ได้จัดพิธีทำบุญที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เมื่อวันที่ 22 ต.ค.โดยอ้างว่า เป็นการทำบุญ“กู้วิกฤตชาติ” ไม่อยากให้ประเทศแตกแยก แต่ปรากฏว่าหลังเสร็จพิธี กลับประกาศต่อสื่อมวลชนว่า หลังจากตนเสร็จพิธีทำบุญที่เชียงใหม่ในวันที่ 25 ต.ค.แล้ว จะนำกำลังมาปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล เพื่อตัดการส่งข้าวส่งน้ำพันธมิตรฯ พร้อมเผยว่า ตนได้รับการสนับสนุนอาวุธจากมิตรประเทศในการดำเนินการครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม ล่าสุดวันนี้(25 ต.ค.)ท่าทีของ พล.ต.อ.สล้างยังสับสน-พลิกลิ้นไปมา โดยอ้างว่าตนไม่เคยพูดว่าจะไปบุกยึดทำเนียบรัฐบาล แต่ผู้สื่อข่าวเขียนข่าวเอง ทำให้เกิดความแตกแยก ด้านแกนนำพันธมิตรฯ ได้มีการประชุมกำหนดท่าทีหลังศาลตัดสินจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ 2 ปี เมื่อวันที่ 22 ต.ค. โดยได้ข้อสรุปว่า จะปักหลักชุมนุมที่ทำเนียบฯ ต่อไป ภายใต้เงื่อนไข 2 ประเด็น คือ คัดค้านการแก้ รธน.2550 และเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก เพื่อนำไปสู่การเมืองใหม่ โดยเมื่อวันที่ 22 ต.ค.พันธมิตรฯ ได้ข้อสรุปแนวทางการเมืองใหม่ซึ่งได้จากการสัมมนาการเมืองใหม่ทั้ง 6 ครั้งแล้ว ถือเป็นฉบับตุ๊กตาที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมใหญ่วันที่ 29 ต.ค.นี้ จากนั้นจะจัดพิมพ์เป็นสมุดปกขาวเพื่อเผยแพร่และทำประชาพิจารณ์ทั่วประเทศ
พิลึก! ผบ.ตร.ตั้ง “จำเลยสังคม” สอบเหตุสลายม็อบ 7 ตุลา!
“สพรั่ง”เตือนกองทัพเห็นแก่ประโยชน์ชาติ-มัวเอาตัวรอดจะพังกันหมด
“สุริยะใส” แฉแผน นปช.ป่วนเพื่อ “แม้ว”-จี้ “ชาย” ไขก๊อกเปิดทาง กก.สอบ 7 ต.ค.อิสระ
“มั่น” หัวหดขอโทษ “สมชาย”ถูก พนง.TOT ใช้มือตบโห่ไล่ ฉุนสั่งตักเตือน พนง.
“สล้าง” ขู่ฟ่อพากองกำลังติดอาวุธปิดล้อมทำเนียบ ตัดเส้นทางลำเลียงเสบียง!
พันธมิตรฯ พร้อมสรุปเค้าโครง “การเมืองใหม่” 29 ต.ค.-ทำปกข่าวแจกทั่ว ปท.เดือนหน้า
5. “รบ.”เดินหน้าตั้ง ส.ส.ร.เต็มสูบ ด้าน “วุฒิสภา”ร้าวหนัก ส.ว.สาย รบ.จ้องโค่น “ประสพสุข”พ้น ปธ.วุฒิฯ !
หลังนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาฯ ยืนยันเดินหน้านัดประชุมผู้นำ 3 ฝ่ายในวันที่ 20 ต.ค.เพื่อหาข้อสรุปเรื่องที่มาและรูปแบบของ ส.ส.ร.3 ที่จะมาร่าง รธน.ใหม่ ประกอบด้วย ประธานสภาฯ-ประธานวุฒิสภา-นายกฯ แม้ผู้นำฝ่ายค้านจะไม่เข้าร่วมสังฆกรรมแล้วตั้งแต่เกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุม 7 ต.ค.ก็ตาม ปรากฏว่า ก่อนหน้าประชุม 1 วัน(19 ต.ค.) กลุ่ม 40 ส.ว.(เช่น สมชาย แสวงการ ,รสนา โตสิตระกูล ,ประสาร มฤคพิทักษ์ ฯลฯ) ได้ทำจดหมายถึงนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ขอให้ทบทวนการเข้าร่วมหารือ 3 ฝ่าย เพราะการแก้ รธน.จะยิ่งทำให้บ้านเมืองวิกฤต หากประธานวุฒิฯ ถอนตัว ความชอบธรรมของรัฐบาลในการแก้ รธน.จะน้อยลง วันต่อมา(20 ต.ค.) ก่อนที่การประชุม 3 ฝ่ายจะเริ่มขึ้น กลุ่ม 40 ส.ว.ได้ขอพบหารือกับนายประสพสุข นายประสพสุขจึงตัดสินใจไม่เข้าร่วมประชุม 3 ฝ่าย พร้อมยืนยันในเวลาต่อมาว่า การแก้ รธน.ไม่ใช่ทางแก้ปัญหา เมื่อนายประสพสุขถอนตัวจากการเข้าร่วมประชุม นายชัยจึงได้ติดต่อขอให้นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิฯ คนที่ 1 เข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งในที่สุด ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างแก้ไข รธน.มาตรา 291 แบบที่ 1 จาก 2 แบบที่เสนอ โดยให้มี ส.ส.ร.จำนวน 120 คน มาจากกลุ่มอาชีพ 76 จังหวัด 76 คน โดยให้เลือกทางอ้อม ,มาจากผู้ทรงคุณวุฒิ 24 คน โดยเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์กฎหมายมหาชน-ด้านรัฐศาสตร์-ด้านการปกครอง ด้านละ 8 คน และตัวแทนกลุ่มอาชีพอีก 20 คน ให้เวลาจัดทำ รธน.ฉบับใหม่ไม่เกิน 240 วัน ทั้งนี้ แม้หลายฝ่ายจะติงว่า รัฐบาลเดินหน้าตั้ง ส.ส.ร.ร่าง รธน.ใหม่เพียงฝ่ายเดียว เพราะผู้นำฝ่ายค้านและประธานวุฒิฯ ไม่เข้าร่วม ส่วนประธานสภาฯ ก็อยู่ฝ่ายเดียวกับรัฐบาลอยู่แล้ว เพราะรัฐบาลมีเสียงข้างมากในสภาฯ นั้น ปรากฏว่า นายสมชายก็ไม่สนเสียงติติง โดยยืนยันว่า การตั้ง ส.ส.ร.เป็นวิธีเดียวที่จะแก้ปัญหาการเมืองได้ดีที่สุด เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ที่ประชุม 3 ฝ่ายจะมีมติให้ ส.ส.ร.ยกร่าง รธน.ใหม่ให้แล้วเสร็จใน 240 วัน แต่ปรากฏว่า วันต่อมา(21 ต.ค.)นายสมชายได้ออกมาเร่งรัดกำหนดให้ ส.ส.ร.ทำงานให้เสร็จใน 120 วัน โดยอ้างว่า ไม่อยากถูกมองว่ายื้อเวลา อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า การรวบรัดให้เวลา ส.ส.ร.แค่ 120 วัน อาจเป็นเพราะรัฐบาลต้องการให้แก้ รธน.ให้เสร็จก่อนคดียุบพรรค เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อตนเองมากกว่า หลังจากนั้นวันต่อมา(22 ต.ค.) นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา ซึ่งร่วมเป็นรองประธานคณะกรรมการยกร่างแก้ไขเพิ่มเติม รธน.มาตรา 291 เพื่อเปิดทางตั้ง ส.ส.ร.ด้วย ก็ได้เสนอรัฐบาลให้พบกันครึ่งทาง โดยให้เวลา ส.ส.ร.ทำงานเพิ่มขึ้นจาก 120 วัน เป็น 180 วัน ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า พิมพ์เขียวที่มาของ ส.ส.ร.ที่รัฐบาลกำลังเดินหน้าอยู่นี้ เปิดโอกาสให้ฝ่ายการเมืองเข้าแทรกแซงหรือให้คนของตัวเองเข้าไปเป็น ส.ส.ร.ได้ง่ายมาก เพราะไม่ได้ห้ามอดีต ส.ส.หรืออดีต ส.ว.หรือสมาชิกพรรคการเมืองสมัครเป็น ส.ส.ร.แต่อย่างใด นอกจากนี้ยังเปิดทางให้นักธุรกิจเข้าไปกินสัดส่วนเป็น ส.ส.ร.ได้ถึง 8 คนในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิ 24 คนที่ควรเป็นนักวิชาการเท่านั้น ไม่เท่านั้นยังมีการกำหนดกฎเกณฑ์ให้ ส.ส.ร.ต้องร่าง รธน.ต่อไป แม้รัฐบาลจะมีอันต้องยุบสภาก็ตาม รวมถึงกำหนดให้รัฐสภาสามารถใช้เสียงข้างมากรับรองร่าง รธน.ใหม่ได้ โดยไม่ต้องทำประชามติ เว้นแต่ถ้าร่าง รธน.ใหม่ได้รับเสียงรับรองจากสภาไม่เกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมด จึงจะให้นำร่าง รธน.ใหม่นั้นไปทำประชามติ หากทำประชามติแล้วไม่ผ่าน ทำให้ร่าง รธน.นั้นตกไป ครม.หรือ ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมด ก็ยังมีสิทธิเสนอญัตติต่อรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภามีมติให้มีการจัดทำ รธน.ฉบับใหม่ตามความในหมวดนี้อีกได้ จากกฎเกณฑ์ต่างๆ ดังกล่าวสะท้อนว่า ยังไงรัฐบาลก็ต้องการให้การแก้ รธน.เดินต่อไปไม่หยุดยั้ง ต่อให้มีเหตุต้องยุบสภากลางคัน ก็ไม่อาจขวางการร่าง รธน.ฉบับใหม่ได้ ด้านนายวิทยา บูรณศิริ ประธานวิปรัฐบาล บอก(23 ต.ค.)ว่า การแก้ไข รธน.มาตรา 291 เพื่อเปิดทางให้ตั้ง ส.ส.ร.ใกล้เสร็จแล้ว วันที่ 27 ต.ค.นี้ นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะเข้าชี้แจงต่อวิปรัฐบาล โดยวิปรัฐบาลจะประสานไปยังวิปวุฒิสภาให้เข้าร่วมประชุมด้วย เพราะการแก้ไขมาตรา 291 ต้องได้รับความร่วมมือจากทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ถึงจะดำเนินการได้ สำหรับความเคลื่อนไหวของบรรดา ส.ว.ซึ่งมีการประชุมวุฒิสภาเมื่อวันที่ 24 ต.ค.ปรากฏว่า ได้เกิดความปั่นป่วนอย่างหนัก ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากกรณีที่นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิฯ ไม่เข้าร่วมประชุม 3 ฝ่ายเพื่อเดินหน้าเรื่องตั้ง ส.ส.ร.กับนายกฯ และประธานสภาฯ ส่งผลให้ ส.ว.แตกออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งคือ 40 ส.ว.ที่เห็นด้วยที่นายประสพสุขไม่เข้าประชุม แต่อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งอ้างว่ามีประมาณ 60 คน นำโดยนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิฯ ที่อ้างว่าเข้าประชุม 3 ฝ่ายแทนนายประสพสุข รู้สึกไม่พอใจที่นายประสพสุขไม่เข้าประชุมวันนั้น แถมยังไม่เข้าประชุมวุฒิสภาฯ ในครั้งนี้ เมื่อ 40 ส.ว.ไม่เห็นด้วยกับการตั้ง ส.ส.ร. แต่กลุ่มนายนิคมเห็นด้วยกับการตั้ง ส.ส.ร.และขับเคลื่อนเรื่องนี้ร่วมกับรัฐบาล ส่งผลให้ ส.ว.ทั้ง 2 กลุ่มต่างอภิปรายตอบโต้กันไปมาในที่ประชุม กระทั่งไม่สามารถประชุมต่อไปได้ ในที่สุด น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธานวุฒิฯ คนที่ 2 ซึ่งทำหน้าที่ประธานที่ประชุมต้องสั่งปิดประชุม โดยอ้างว่า เนื่องจากมีผู้ลงรายชื่อเพื่ออภิปรายจำนวนมาก จึงขอยกยอดไปหารือในการประชุมวันที่ 31 ต.ค.แทน ทั้งนี้ มีรายงานว่า ขณะนี้ ส.ว.กลุ่มหนึ่งซึ่งเคยร่วมลงชื่อสนับสนุนญัตติการแก้ไข รธน.2550 กับ ส.ส.พรรคพลังประชาชนก่อนหน้านี้ กำลังเตรียมเคลื่อนไหวล่ารายชื่อเพื่อน ส.ว.เพื่อเปลี่ยนขั้วอำนาจ โดยจะดันนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิฯ และ ส.ว.ฉะเชิงเทรา ที่ถูกมองว่าอยู่สายรัฐบาล ขึ้นมาเป็นประธานวุฒิฯ แทนนายประสพสุข ที่ถูกมองว่าอยู่ฝ่ายเดียวกับ 40 ส.ว.ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับรัฐบาล.
“สมชาย” ลดอายุ ส.ส.ร.เหลือเพียง 120 วัน ปัดยื้ออายุรัฐบาล
วุฒิสภาเดือดรุมซัก “นิคม”ดอดถก 4 ฝ่าย จนต้องชิงปิดประชุม
“40 ส.ว.” จวก “นิคม” ไม่เคารพ ปธ.วุฒิฯ-เดินเกมรับใช้พรรคการเมือง
ชมรม ส.ส.ร.ขวางสภาปาหี่!เข็นแก้ รธน.แนะตั้ง คกก.อิสระยกร่าง
“นิคม” ลั่นพร้อมแจง ตั้งส.ส.ร.อ้างชื่อ “ประสพสุข” ประชุม 4 ฝ่าย
สุดไว ร่าง ส.ส.ร.3 คลอดแล้ว! เหตุผลบ้องตื้นยุติศึกนองเลือดครั้งใหญ่
แฉแหกตา! มติ 3 ฝ่ายตั้ง ส.ส.ร.-รอง ปธ.วุฒิฯ เข้าร่วมส่วนตัว