xs
xsm
sm
md
lg

242 นักวิชาการประกาศจุดยืนหยุดแก้ รธน.-ลาก "แม้ว" ขึ้นศาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ 242 คน จาก 32 สถาบัน สุดทน "รัฐบาลนอมินี" ร่วมลงชื่อแสดงจุดยืน หยุดแก้รัฐธรรมนูญ "ทักษิณ"ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม อ.จุฬาฯ วอนประชาชนร่วมแก้วิกฤติชาติ อย่าปล่อยให้ "พันธมิตรฯ" ต้องรับผิดชอบเพียงลำพัง

เมื่อวานนี้ (10 มิ.ย.) นายสุริชัย หวันแก้ว อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในการแก้ไขวิกฤติชาติ ว่า ทุกคนในสังคมต้องช่วยกันดูแล ไม่ใช่ให้ทางฝ่ายพันธมิตรฯ เพียงฝ่ายเดียวที่ออกมาเรียกร้อง อยากให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับการแก้ปัญหามากกว่านี้ อยากให้รัฐบาลหยุดการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม หยุดทำอะไรตามอำเภอใจ และต้องพยายามแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ไม่ใช่พูดเพียงอย่างเดียว เพราะสิ่งที่รัฐบาลพูดนั้นประชาชนไม่ได้สนุกด้วย จึงต้องการความเป็นผู้ใหญ่จากรัฐบาล ทำเพื่อส่วนรวม เอาปัญหาส่วนรวมของคนภายในประเทศมาใส่ใจ ไม่ใช่แก้ปัญหาเพื่อใครเพียงคนเดียว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.00 น. วานนี้ (10 มิ.ย.) ณ ห้องประชุมวรรณไวทยากร ม.ธรรมศาสตร์(มธ.) ตัวแทนคณาจารย์มหาวิทยาลัย อาทิ นายเจษฎ์ โทณะวณิก อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.สยาม นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. นางพิมพ์พรรณ เวสสะโกศล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มธ. นางอรยา สุตะบุตร อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มธ. นางการดี เลียวไพโรจน์ อาจารย์คณะพาณิชยศาตร์และการบัญชี มธ. และนางสุกรี สินธุภิญโญ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. ร่วมแถลงการณ์ ถึงข้อเสนอแนวทางการแก้ปัญหาบ้านเมือง โดยมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ จำนวน 32 สถาบัน รวม 242 คน ได้ร่วมลงชื่อไว้ท้ายแถลงการณ์ด้วย

นายเจษฎ์ อ่านแถลงการณ์ ข้อเสนอแนวทางแก้ปัญหาบ้านเมืองว่า จากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน เพื่อให้เป็นทางออกของบ้านเมืองตามกติกา และวิถีทางของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่เกิดความขัดแย้งแตกหักที่จะนำบ้านเมืองไปสู่สถานการณ์ที่เลวร้ายไปมากกว่านี้ ข้าพเจ้าทั้งหลายที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย จำนวน 242 คน จาก 32 สถาบัน ขอเสนอแนวทางแก้ปัญหาดังต่อไปนี้

1. ขอให้ทุกฝ่ายไม่ใช้ความรุนแรง รัฐบาลต้องไม่ปราบปราม หรือสลายการชุมนุม ไม่ใช้กองกำลังติดอาวุธควบคุมผู้ชุมนุม และนายกรัฐมนตรีต้องไมใช้ท่าทีแข็งกร้าวดังเช่นในวันเสาร์ที่ 31 พ.ค. ที่ผ่านมา ในด้านของประชาชน ไม่ว่าฝ่ายใดจะต้องไม่ใช้ความรุนแรง และหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่จะนำไปสู่ความรุนแรง

2. ขอให้ทุกฝ่ายไม่สร้างเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดความไม่ไว้วางใจ หรือความขัดแย้งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลต้องไม่ใช้อำนาจกลั่นแกล้ง หรือล้างแค้นผู้ซึ่งเคยอยู่ตรงข้าม เพราะจะทำให้เกิดความไม่วางใจ และความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น

3. เพื่อยุติปัญหาว่า อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีการใช้อำนาจ โดยมิชอบ จริงหรือไม่ ซึ่งเป็นสาเหตุของความขัดแย้งที่ทำให้สังคมไทยแตกแยกในขณะนี้ จะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย โดยรัฐบาลจะต้องไม่แทรกแซงกระบวนการยุติธรรมไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ กระบวนการยุติธรรมควรจะต้องไม่ล่าช้าเกินไป และทุกฝ่ายจะต้องยอมรับผลของการตัดสินที่ออกมา

4. รัฐธรรมนูญ 2550 สามารถแก้ไขได้ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้ จะเป็นชนวนนำไปสู่ความขัดแย้งแตกหัก ดังนั้น จะขอเสนอว่า

(1) ขอให้รัฐบาล และส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ประกาศชะลอการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปก่อน เพื่อให้มีการศึกษาก่อนว่า ควรจะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 หรือไม่ ควรจะต้องแก้ไขอะไร และแก้ไขอย่างไร

(2) ขอสนับสนุนให้มีการตั้งคณะกมธ.วิสามัญศึกษาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ของรัฐสภา ขึ้นมาทำหน้าที่ศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยต้องรับฟังทุกฝ่ายและใช้ความรู้ในการศึกษา

(3) ขอให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยรูปแบบจะเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรืออย่างไร ให้มีการศึกษาและนำเสนอต่อสาธารณะต่อไป

การแก้ปัญหาความขัดแย้งในระบอบประชาธิปไตย จะต้องใช้วิถีทางประชาธิปไตยเท่านั้น มิเช่นนั้น บ้านเมืองจะยิ่งถอยหลัง และถลำลึกไปมากกว่านี้ ทุกฝ่ายจึงต้องยึดมั่นในวิถีทางประชาธิปไตย เคารพกติกาและรัฐบาลต้องยึดถือเอาประโยชน์ของประเทศชาติและส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ทั้งต้องรับฟังเสียงข้างน้อย และเสียงท้วงติงด้วย โดยแนวทางแก้ปัญหาที่ได้เสนอมานี้ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอให้รัฐบาล และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสังคมไทยทั้งสังคมได้พิจารณา เพื่อเราจะช่วยกันนำพาประเทศชาติ ออกจากวิกฤตการณ์ที่ยาวนานกว่าสองปีแล้วได้โดยเร็ว

นายเจษฎ์ กล่าวหลังอ่านแถลงการณ์ว่า หลังจากกลุ่มอาจารย์หารือกันถึงแนวทางหรือข้อเสนอในวันนี้ มีเป้าหมายไม่แตกต่างกับ กลุ่มริบบิ้นสีขาว ด้วยการส่งสัญญาณชัดเจนให้สังคม คือ การไม่ฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่ขอให้ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดของสังคม ทั้งฝ่ายพลเรือน ตำรวจ ทหาร กลุ่มพันธมิตรฯ รัฐบาลหรือไม่ใช่รัฐบาล หรือกลุ่มใดก็ตาม ไม่ควรใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา รวมถึงขอให้ทุกฝ่ายไม่สร้างเงื่องไขที่จะก่อให้เกิดความไม่ไว้วางใจ หรือความขัดแย้งเพิ่มขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางออกที่คณาจารย์เสนอมาดูเหมือนว่าจะไม่ใช่ข้อเสนอใหม่ เพราะที่ผ่านมาก็มีคนเสนอคล้ายๆ กัน แต่รัฐบาลก็ฟังบ้าง ไม่ฟังบ้าง ดังนั้น จะมีมาตรการอย่างไรที่จะทำให้รัฐบาล หรือ ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลปฏิบัติตามข้อเสนอ นายปริญญา กล่าวว่า หวังว่าข้อเสนอจะเป็นประโยชน์ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะนำไปพิจารณา และเชื่อว่าขณะนี้ บ้านเมืองยังไม่เลยจุดที่จะทำให้เกิดความสมานฉันท์ เชื่อว่าประเทศไทยจะกลับสู่สันติภาพอีกครั้งได้

ฝ่ายบริหารอย่าแทรกแซงยุติธรรม

ผู้สื่อข่าวถามว่า คาดหวังมากน้อยเพียงใดกับกระบวนการยุติธรรม ที่จะดำเนินการกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่าจะไม่มีการแทรกแซง นายเจษฎ์ กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นนักกฎหมาย และคิดว่าประเทศไทยเป็นอารยะประเทศ ก็หวังว่าเราจะรักษาความเป็นอารยะประเทศได้ ในแง่ที่เมื่อมีความขัดแย้งขึ้นก็จะต้องไม่ใช้กำลังในการแก้ไขปัญหา เรามีกระบวนการยุติธรรมเป็นผู้ตัดสินว่าใครผิด ใครถูก ดังนั้นทุกฝ่ายจะต้องเคารพกฏหมาย กติกาตรงนี้ แล้วปัญหาทุกอย่างจะแก้ได้หมด

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมามีความแตกต่างในการมอง โดยและต่างฝ่ายยังมองความยุติธรรมกันคนละแบบ เช่น อีกฝ่ายมองว่า ม.309 เป็นการดำรงความยุติธรรม ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งก็มองว่า ต้องตัด ม. 309 นี้ออกไป ในแง่ของนักวิชาการ จะมีความชัดเจนของหลักความยุติธรรมจริงๆ เพื่อให้สองฝ่ายยอมรับหรือไม่ นายเจษฎ์ กล่าวว่า มีลักษณะของการทำงานอยู่แล้ว ขบวนการยุติธรรมจะต้องเริ่มที่ต้นทาง และจะต้องไม่มีการแทรกแซงทุกขบวนการ ดังนั้นทุกฝ่ายของสังคมจะต้องช่วยกัน และเราต้องมองขบวนการยุติธรรมว่า เป็นขบวนการที่ฝ่ายตุลาการจะต้องทำหน้าที่ ไม่ใช่ฝ่ายขบวนการฝ่ายบริหาร จะเข้าไปทำหน้าที่แทน และไม่ใช่ฝ่ายนิติบัญญัติจะเข้าไปทำหน้าที่แทน จึงอยากให้ทุกๆ ฝ่ายช่วยกันพิจารณาว่า การทำให้ขบวนการยุติธรรมบริสุทธิ์โปร่งใสตรวจสอบได้นั้นต้องทำอย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น