xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 5-12 ต.ค.2551

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

1 ในผู้ชุมนุมที่ขาขาดทันทีจากการถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมเพื่อเปิดทางให้รัฐบาลเข้าสภาเพื่อแถลงนโยบาย(7 ต.ค.)
คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1. “รบ.” เลือดเย็น สั่ง “ตร.”ฆ่า ปชช.เพียงเพื่อได้แถลงนโยบายต่อสภา!

ไม่เพียงรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จะถูกมองว่าตีสองหน้าจากกรณีที่ปากบอกว่าจะเน้นแก้ปัญหาวิกฤตบ้านเมืองด้วยการเจรจากับแกนนำพันธมิตรฯ แต่ในทางปฏิบัติกลับเปิดเกมรุกด้วยการให้ตำรวจจับกุมแนวร่วมพันธมิตรฯ อย่างนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ เมื่อวันที่ 3 ต.ค. ทั้งที่การเจรจาระหว่าง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกฯ กับแกนนำพันธมิตรฯ กำลังดำเนินไปด้วยดี ใกล้ได้ข้อยุติ ไม่เท่านั้นรัฐบาลยังทำเหมือนราดน้ำมันใส่กองไฟ ด้วยการจับกุมแกนนำพันธมิตรฯ เพิ่มอีก 1 คน คือ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง หลังออกจากทำเนียบรัฐบาลไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เมื่อวันที่ 5 ต.ค. ส่งผลให้แกนนำพันธมิตรฯ ที่เหลือในทำเนียบฯ ต้องปลุกให้ผู้ชุมนุมและพันธมิตรฯ ทั่วประเทศลุกขึ้นสู้กับรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมของนายสมชาย โดยแกนนำพันธมิตรฯ ได้ขอมติจากผู้ชุมนุมเมื่อคืนวันที่ 6 ต.ค.ว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะเคลื่อนพลไปปิดล้อมรัฐสภาเพื่อไม่ให้รัฐบาลนายสมชายที่ขาดความชอบธรรมแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 7-9 ต.ค. ปรากฏว่าผู้ชุมนุมปรบมือตอบรับดังกึกก้อง จากนั้นแกนนำรุ่น 2 (นายศิริชัย ไม้งาม-นายสำราญ รอดเพชร-นายสาวิทย์ แก้วหวาน)ได้นำผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปปักหลักหน้ารัฐสภาตั้งแต่คืนดังกล่าว ด้านนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ หลังทราบว่ากลุ่มพันธมิตรฯ เริ่มไปปิดล้อมรัฐสภา ก็ได้เรียกประชุม ครม.ฉุกเฉินที่ทำเนียบรัฐบาลชั่วคราว สนามบินดอนเมือง ในช่วงดึกคืนเดียวกัน โดยมี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(ผบช.น.)ร่วมประชุมด้วย จากนั้นมีข่าวว่า ที่ประชุมมอบหมายให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกฯ เป็นผู้รับผิดชอบเจรจาคลี่คลายสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ทั้งนี้ นายสมชาย ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุม ครม.ดังกล่าวโดยยืนยัน จะแถลงนโยบายรัฐบาลที่สภาในวันที่ 7 ต.ค. ไม่เปลี่ยนสถานที่ ผู้สื่อข่าวถามว่า แล้วจะแก้ปัญหาพันธมิตรฯ อย่างไร นายสมชาย บอกว่า เป็นหน้าที่ของตำรวจที่ต้องดูแลความเรียบร้อย เมื่อถามว่า จะถึงขั้นสลายการชุมนุมหรือไม่ แม้นายสมชายจะไม่ตอบตรงๆ แต่ก็พูดในลักษณะส่งสัญญาณว่าตำรวจต้องสลายการชุมนุม โดยบอกว่า ตำรวจต้องดูแลให้เข้าประชุมได้ เพราะสภาเป็นที่ ส.ส.ที่ประชาชนทั้งประเทศเลือกมา ไม่ใช่เรื่องที่จะไม่ให้เข้าประชุม มันไม่ถูก... และแล้ว! รุ่งเช้าวันที่ 7 ต.ค.เวลาประมาณ 6.20น.กองกำลังของตำรวจซึ่งมีทั้งจากฝ่ายปฏิบัติการพิเศษ ,ตำรวจตระเวนชายแดน และหน่วยอรินราช 26 นับพันนาย ก็ได้ปฏิบัติการสลายการชุมนุมด้วยการยิงแก๊สน้ำตา กระสุนยาง และอาจมีอาวุธชนิดอื่นรวมอยู่ด้วย เช่น ระเบิด เข้าใส่ผู้ชุมนุม ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บนับร้อยราย บางรายถึงขั้นแขนขาด-ขาขาด โดยภาพความโหดร้ายป่าเถื่อนดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ได้ถูกตีแผ่ไปทั่วโลก และแทบไม่น่าเชื่อว่า เมื่อตำรวจสามารถเปิดทางด้วยการสลายการชุมนุมจนมีผู้บาดเจ็บจำนวนมากเพียงเพื่อให้นายกฯ –รัฐมนตรี และ ส.ส.-ส.ว.เข้าประชุมสภาเพื่อรับฟังการแถลงนโยบายของรัฐบาลได้ ทางนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ และพรรคร่วมรัฐบาลรวมทั้ง ส.ส.และ ส.ว.จำนวนหนึ่ง ก็ยังมีกะจิตกะใจเข้าประชุมสภาแถลงนโยบายโดยไม่สะทกสะท้านต่อเหตุการณ์นองเลือดที่เกิดขึ้น ขณะที่พรรคฝ่ายค้านอย่างประชาธิปัตย์รับไม่ได้จึงบอยคอตไม่เข้าประชุม เพราะไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลได้ ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้การประชุมสภาจะสามารถเปิดฉากขึ้นได้เพื่อให้รัฐบาลแถลงนโยบาย ซึ่งนายสมชาย ใช้เวลาอ่านนโยบายรัฐบาลแล้วเสร็จอย่างรวดเร็ว โดยใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมงเศษเป็นอันเสร็จสิ้นการแถลงนโยบายของรัฐบาล ทั้งที่ควรใช้เวลาแถลงและเปิดให้มีการอภิปรายเป็นเวลา 3 วันนั้น มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า การแถลงนโยบายของรัฐบาลในวันดังกล่าวอาจเป็นโมฆะ เพราะเสียงที่ลงมติเพื่อให้รัฐบาลแถลงนโยบายในครั้งแรกมีไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ คือ ต้องได้ 311 เสียง แต่ขณะนั้นเสียงที่ได้จากการลงมติมีเพียง 307 เสียง ซึ่งในทางปฏิบัติต้องถือว่ามติที่จะให้รัฐบาลแถลงนโยบายต้องตกไป และต้องปิดประชุม เพื่อนัดประชุมใหม่ในวันถัดไป แต่นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาฯ กลับใช้วิธีสั่งพักการประชุม 10 นาที แล้วเปิดประชุมใหม่ และให้ลงมติอีกครั้ง กระทั่งได้เสียงลงมติเกินกึ่งหนึ่ง โดยได้ 320 เสียง ด้านทางพรรคประชาธิปัตย์ได้เตรียมรวบรวมเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่า การกระทำดังกล่าวของสภาและรัฐบาลไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า ระหว่างที่นายสมชายกำลังอ่านนโยบายรัฐบาล น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.ได้ลุกขึ้นประท้วงว่า เหตุการณ์ข้างนอกมีการปะทะกันมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก แต่นายกฯ กลับใช้รัฐสภามารับรองความชอบธรรมของรัฐบาลและตนเอง ด้าน ส.ส.พรรคพลังประชาชนหลายคนทนคำพูด น.ส.รสนาไม่ได้ จึงพากันโห่ไล่และลุกขึ้นมาชี้หน้า น.ส.รสนา และขอให้ประธานสภาฯ นำตัว น.ส.รสนาออกจากห้องประชุม ซึ่งนายชัยก็รับลูก ให้ รปภ.เชิญ น.ส.รสนาออกไป ทั้งนี้ แม้รัฐบาลจะแถลงนโยบายได้สำเร็จ แต่ก็ไม่สามารถเดินทางออกจากสภาได้ เนื่องจากผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุมจนมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ได้กลับมารวมตัวปิดล้อมรัฐสภาอีกครั้ง ส่งผลให้นายสมชายรีบหนีเอาตัวรอดพร้อมลูกสาว(น.ส.ชินณิชา) และนายชูศักดิ์ ศิรินิล เลขาธิการนายกฯ ด้วยการปีนกำแพงข้ามไปยังพระที่นั่งวิมานเมฆ ก่อนขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปยังกองบัญชาการกองทัพไทย หลังจากนั้นประมาณ 16.00น.เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้ยิงแก๊สน้ำตาสลายกลุ่มผู้ชุมนุมอีกครั้งนับร้อยลูกเพื่อเปิดทางให้รัฐมนตรี ส.ส.และ ส.ว.ที่ยังอยู่ในรัฐสภาออกมาได้ โดยก่อนหน้าการยิงแก๊สน้ำตาครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้ยิงแก๊สน้ำตาสกัดผู้ชุมนุมที่พยายามกลับมารวมตัวกันเป็นระยะๆ จนมีผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม หลังผู้ชุมนุมแตกกระเจิงจากการยิงแก๊สน้ำตาชุดใหญ่ในเวลา 16.00น.ส่งผลให้รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว.รีบวิ่งออกจากรัฐสภาทันที และในเวลาไล่เลี่ยกับที่เจ้าหน้าที่ยิงแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุม ได้เกิดระเบิดขึ้นบริเวณรถจี๊ปเชอโรกีที่จอดอยู่ตรงข้ามพรรคชาติไทย ถ.สุโขทัยด้วย โดยมีผู้เสียชีวิตอยู่ข้างรถ 1 คน ทราบภายหลังว่าเป็นแกนนำพันธมิตรฯ จ.บุรีรัมย์ คือ พ.ต.ต.เมธี ชาติมนตรี อดีตตำรวจ สวป.บุรีรัมย์ ซึ่งทางตำรวจพยายามกล่าวหาว่า พ.ต.ต.เมธีขนระเบิดมาเตรียมก่อการแต่พลาดเอง ขณะที่ฝ่ายพันธมิตรฯ สวนกลับว่า หาก พ.ต.ต.เมธีต้องการขนระเบิดมาก่อการจริง คงทำตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว ไม่ต้องรอถึงวันที่ 7 ต.ค. ทั้งนี้ เวลาประมาณ 19.00น.ผู้ชุมนุมที่หลงเหลืออยู่บริเวณรัฐสภาได้เคลื่อนมาสมทบผู้ชุมนุมบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เนื่องจากเห็นว่า ส.ส.และรัฐมนตรีออกจากรัฐสภาได้หมดแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องปิดล้อมรัฐสภาอีกต่อไป แต่ปรากฏว่า ผู้ชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้าได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.)ยิงแก๊สน้ำตาใส่อย่างหนักและต่อเนื่อง โดยตำรวจอ้างว่า ต้องป้องกันไม่ให้ผู้ชุมนุมบุกมาปิดล้อม บช.น.ได้ ส่งผลให้ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก โดยบางรายขาขาด ขณะที่บางรายเสียชีวิตระหว่างนำส่งโรงพยาบาล คือ น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือน้องโบว์ อายุ 27 ปี วันต่อมา(8 ต.ค.) ศูนย์นเรนทร สรุปตัวเลขผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากกรณีเจ้าหน้าที่ใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมตลอดทั้งวันว่า มีผู้บาดเจ็บทั้งสิ้น 443 ราย(เป็นเด็ก 13 ราย) เสียชีวิต 2 ราย(ชาย 1 หญิง 1) ทั้งนี้ แม้สื่อมวลชนบางสำนักจะบันทึกภาพเหตุการณ์สลายการชุมนุมได้ว่า เจ้าหน้าที่ใช้ระเบิดในการสลายการชุมนุมด้วย แต่ทางตำรวจนครบาล พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กลับนำทีมแถลงยืนยันว่า ตำรวจใช้แค่แก๊สน้ำตา และไม่สามารถทำให้คนแขน-ขาขาดได้ โดยมีการสาธิตการยิงแก๊สน้ำตาให้ดูด้วย แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าในการสาธิต ไม่ได้ยิงแก๊สน้ำตาให้โดนตัวหุ่นแต่อย่างใด ขณะที่ พล.ต.ต.สุรพล ทวนทอง รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็อ้างว่า ผู้ที่บาดเจ็บแขน-ขาขาด หรือแม้แต่ น.ส.อังคณาที่เสียชีวิต น่าจะเกิดจากการพกระเบิดมาเองมากกว่า เมื่อตำรวจยิงแก๊สน้ำตาก็ทำให้ระเบิดดังกล่าวระเบิดขึ้น ทั้งนี้ คำอ้างของตำรวจที่ว่าผู้ชุมนุมบาดเจ็บและเสียชีวิตจากระเบิดที่พกมาเองฟังไม่ขึ้น เพราะลักษณะบาดแผลของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตน่าจะเกิดจากแก๊สน้ำตาคุณภาพต่ำที่ตำรวจใช้ในการสลายการชุมนุมมากกว่า โดย พล.ต.ท.อัมพร จารุจินดา อดีตผู้บัญชาการสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยว่า จากที่ดูภาพเหตุการณ์สลายการชุมนุมพบว่า ตำรวจใช้แก๊สน้ำ 3 แบบยิงใส่ผู้ชุมนุม แบบแรกเป็นแก๊สน้ำตาที่ตำรวจนำมาสาธิตให้สื่อมวลชนดู ซึ่งสั่งซื้อจากสหรัฐฯ ราคาแพง เมื่อยิง จะไม่มีการระเบิด ไม่มีลูกไฟ มีเพียงควันซึมออกมาเท่านั้น แต่อีก 2 แบบที่อันตรายซึ่งตำรวจนำมาใช้ด้วย แต่ไม่ได้นำมาสาธิตให้ดู ก็คือ แบบที่สั่งซื้อจากประเทศจีน ซึ่งราคาถูก มีความยาว 6 นิ้ว เมื่อยิงออกไป และตกหรือกระทบหรือชนกับวัตถุอื่นจะระเบิดเสียงดังเพื่อให้ควันแตกตัวออกจากพลาสติกที่เป็นทุ่นห่อหุ้ม ซึ่งการระเบิดดังกล่าวมีอันตรายต่อผู้ที่อยู่ใกล้จุดระเบิด เพราะการยิงต้องใช้ความเร็วสูง และแบบที่สาม คือแก๊สน้ำตาแบบขว้าง จะมีกระเดื่องระเบิดอยู่ด้วย เมื่อใช้ต้องดึงกระเดื่องออก แล้วปาใส่พื้นที่เป้าหมายทำให้ระเบิดแล้วควันแตกตัว พล.ต.ท.อัมพร ยืนยันด้วยว่า แก๊สน้ำตาแบบขว้างและแบบที่ซื้อจากจีน ทำให้เกิดการบาดเจ็บสาหัส ขาและแขนขาดได้ เพราะปืนที่ใช้ยิงแก๊สน้ำตามีความเร็วสูง ประมาณ 200 ฟุตต่อวินาที เมื่อแก๊สน้ำตากระทบหรือชนอวัยวะใดของร่างกาย จะเกิดการแตกหักได้ทันที และเมื่อแก๊สน้ำตาเกิดการระเบิดขึ้นก็จะทำให้อวัยวะที่หักอยู่แล้วขาดรุ่งริ่งได้ ซึ่งสอดคล้องกับคำยืนยันของแพทย์ที่ชันสูตรศพของ น.ส.อังคณา หรือน้องโบว์ ที่เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม ที่ยืนยันว่า ขณะที่เจ้าหน้าที่เข้าไปชันสูตรศพน้องโบว์ ยังรู้สึกแสบตามากจนต้องออกมาล้างตาหลายรอบ จึงน่าจะเกิดจากเจ้าหน้าที่ใช้แก๊สน้ำตาคุณภาพต่ำที่เป็นอันตรายยิงใส่ นอกจากนี้บาดแผลของน้องโบว์บริเวณหน้าอกยังมีการฉีกขาดหลุดเป็นชิ้นจนเห็นซี่โครงซึ่งหักและกระดูกแขนหัก ซึ่งเกิดจากการถูกของแข็งที่มีความร้อนเข้าปะทะด้วยความเร็วสูง โดยความแรงของการกระแทกเปรียบได้กับการตกตึก 3 ชั้น ทั้งนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงรู้สึกสลดพระทัยกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ต.ค.จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก และได้พระราชทานเงินส่วนพระองค์แก่โรงพยาบาลต่างๆ ที่รักษาผู้บาดเจ็บเป็นเงินกว่า 1 ล้านบาทแล้ว นอกจากนี้ยังได้พระราชทานพวงมาลาเคารพศพ น.ส.อังคณา หรือน้องโบว์ ที่วัดศรีประวัติด้วย ทั้งนี้ ยังมีผู้บาดเจ็บอีกหลายรายที่อาการยังน่าห่วง เช่น นางรุ่งทิวา ชาตินิยม บาดเจ็บที่ศีรษะ กะโหลกแตก ตาด้านซ้ายหลุด และนายชิงชัย อุดมเจริญกิจ หรือ ตี๋ ศิลปินอิสระ บาดเจ็บแขนขวาขาด หลอดลมฉีกขาดไม่สามารถหายใจได้ปกติ ต้องเจาะคอช่วย ทั้งนี้ ตำรวจกล่าวหาว่า ขณะบาดเจ็บมือซ้ายของนายตี๋กำวัตถุคล้ายระเบิดอยู่ในมือ แต่แพทย์ที่นำตัวนายตี๋ส่งโรงพยาบาลยืนยันว่า วัตถุดังกล่าวไม่ใช่ระเบิด แต่เป็นเพียงพวงกุญแจ ด้านพันธมิตรฯ ได้นำผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเข้าร้องศาลปกครองเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐยุติการใช้กำลังสลายการชุมนุมเหมือนเช่นที่หน้ารัฐสภาอีก โดยขอให้ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราวจนกว่าจะมีคำพิพากษา ซึ่งในที่สุดศาลฯ ก็ได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว(เมื่อ 9 ต.ค.)ห้ามสำนักงานตำรวจแห่งชาติกระทำการใดใดต่อผู้ชุมนุมเกินความจำเป็น การสลายการชุมนุมต้องคำนึงถึงความเหมาะสมและมีลำดับขั้นตอนตามหลักสากล พร้อมกันนี้ ศาลยังได้สั่งให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจหน้าที่ดำเนินการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติปฏิบัติตามมาตรการและคำสั่งศาล และให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ทำตามคำสั่งศาลเช่นกัน ด้าน พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ยังยืนยันว่า หากมีเหตุต้องสลายการชุมนุม ก็จะใช้แก๊สน้ำตาอีก เพราะศาลปกครองใช้คำว่าหลักสากล ก็แสดงว่าใช้แก๊สน้ำตาได้ แต่วิธีการใช้และขั้นตอนการใช้เป็นอย่างไรต้องดำเนินการตามหลักสากล
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.พูดชัด รัฐบาลต้องรับผิดชอบกรณีสลายการชุมนุม 7 ต.ค.จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
2. “ผบช.เหล่าทัพ”จี้ รบ.รับผิดชอบ “7 ตุลาเลือด” ด้าน “สมชาย”อ้าง ตั้ง คกก.สอบฯ คือรับผิดชอบแล้ว!

หลังเกิดเหตุการณ์นองเลือดจากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ มีเพียง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกฯ เพียงคนเดียวที่แสดงสปิริตลาออกจากตำแหน่ง ขณะที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ ปฏิเสธความรับผิดชอบด้วยการยืนยันไม่ยุบสภา-ไม่ลาออก แม้จะมีเสียงเรียกร้องและเสียงประณามจากประชาชนทั่วประเทศก็ตาม โดยเสียงประณามรัฐบาลและตำรวจที่ใช้ความรุนแรงไม่เพียงดังมาจากภาคประชาชน แม้แต่อาจารย์-นักศึกษา และแพทย์จาก ม.จุฬาฯ ยังได้เดินขบวนคัดค้านการใช้ความรุนแรงและเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบ เช่นเดียวกับแพทย์ พยาบาล และบุคคลกรโรงพยาบาลศิริราช ที่ประณามการกระทำอันโหดเหี้ยมของตำรวจ พร้อมนัดแต่งชุดดำเพื่อไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตเป็นเวลา 7 วัน ด้านคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ออกแถลงการณ์ขอให้รัฐบาลรับผิดชอบกรณีตำรวจสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ด้วยการประกาศยุบสภาทันที นอกจากนี้ยังมีบางกลุ่มวิชาชีพแสดงมาตรการทำนอง “อารยะขัดขืน”เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่ารับไม่ได้กับการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจและรัฐบาล เช่น กลุ่มอาจารย์แพทย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย( เช่น นพ.เกรียง ตั้งสง่า ภาควิชาอายุรศาสตร์) ติดป้ายข้อความว่า “ห้องนี้งดทำการตรวจให้กับตำรวจที่ทำร้ายประชาชน ยกเว้นกรณีฉุกเฉิน” หรือหากต้องการตรวจ ให้แจ้งลบชื่อ ยศ ตำแหน่งที่แผนกเวชระเบียนของโรงพยาบาล และยังมีกรณีที่กัปตันบางคนของการบินไทย(นายจักริน พงษ์ศิริ) ได้ปฏิเสธไม่รับ ส.ส.พรรคพลังประชาชนขึ้นเครื่อง(อย่างไรก็ตาม การกระทำของกัปตันดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้ ส.ส.พรรคพลังประชาชน จนถูกตั้งคณะกรรมการสอบแล้ว)  ทั้งนี้ แม้จะมีเสียงประณามจากทั่วสารทิศ แต่นายสมชาย ก็ทำเป็นทองไม่รู้ร้อน โดยได้เข้าเยี่ยมตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บที่โรงพยาบาลตำรวจ(8 ต.ค.) พร้อมกำชับให้แพทย์ดูแลอย่างเต็มที่ เพราะตำรวจทุกคนได้รับบาดเจ็บขณะปฏิบัติหน้าที่ นายสมชาย ยังขอบคุณตำรวจที่เสียสละเพื่อบ้านเมือง และว่า เห็นได้ชัดว่ากลุ่มผู้ชุมนุมต้องการสร้างความวุ่นวาย ดังนั้น ผู้บังคับบัญชาคงต้องพิจารณาให้รางวัลพิเศษแก่ตำรวจด้วย วันต่อมา(9 ต.ค.) นายสมชายพยายามลดแรงกดดันให้ยุบสภา-ลาออกด้วยการประชุม ครม.แล้วมีมติให้ตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด ชุดหนึ่งเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อีกชุดหนึ่งเพื่อเยียวยาความเสียหาย โดยนายสมชายจะเป็นผู้กำหนดตัวประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเอง ด้านแกนนำพันธมิตรฯ ชี้ มติ ครม.ที่ให้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ถือเป็นมติที่ตลก เพราะนายสมชายเป็นผู้สั่งการให้ตำรวจสลายการชุมนุมเพื่อให้รัฐบาลเข้าไปแถลงนโยบาย แล้วรัฐบาลจะมาเป็นผู้ตั้งคณะกรรมการสอบ ก็เหมือนกับโจรสั่งให้โจรไปสอบโจร ขณะที่เสียงเรียกร้องให้นายสมชายและรัฐบาลรับผิดชอบต่อการใช้กำลังสลายการชุมนุมยังคงดังอย่างต่อเนื่อง ขนาด นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ยังออกมาแนะว่า นายกฯ ควรลาออกหรือยุบสภา จะสามารถลดความตึงเครียดได้ ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้แถลง(9 ต.ค.)ตำหนิพฤติกรรมของนายสมชายที่นอกจากจะไม่รับผิดชอบต่อเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่เกิดขึ้นแล้ว ยังโยนผิดให้เจ้าหน้าที่ แต่ที่เลวร้ายกว่านั้นคือการใส่ร้ายว่าประชาชนพกอาวุธมาเอง จึงอยากถามว่าพฤติกรรมที่รัฐบาลทำอยู่นี้ ใช่คนหรือไม่ และว่า นอกจากพรรคฯ จะร้องทุกข์กล่าวโทษให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินคดีนายสมชายแล้ว ยังจะทำหนังสือชี้แจงเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งจะทำหนังสือสอบถามผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่าจะดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างไร ขณะที่ 30 ส.ว.(เช่น นายสมชาย แสวงการ ,นายประสาร มฤคพิทักษ์ ,น.ส.รสนา โตสิตระกูล ,นายคำนูณ สิทธิสมาน ฯลฯ) ได้เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ(10 ต.ค.)เพื่อให้ทราบถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของรัฐบาลไทย ส่วนความเคลื่อนไหวของแกนนำพันธมิตรฯ หลังศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งเพิกถอนหมายจับข้อหากบฏและเตรียมกบฏต่อ 9 แกนนำพันธมิตรฯ(9 ต.ค.)โดยระบุว่าเป็นข้อหาที่ค่อนข้างเลื่อนลอย ส่วนข้อหาที่เหลืออีก 2 ข้อหา คือ มาตรา 116 กระทำการเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน...โทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และมาตรา 215 วรรค 3 มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย...หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง...โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีนั้น ศาลให้คงไว้แต่ให้พนักงานสอบสวนขอออกหมายจับใหม่ ทั้งนี้ หลังศาลฯ เพิกถอนหมายจับข้อหากบฏ ทนายของพันธมิตรฯ ก็ได้ยื่นประกันตัวนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ที่อยู่ระหว่างฝากขัง ซึ่งศาลอนุญาตโดยตีราคาประกันคนละ 1 แสนบาท จากนั้นวันต่อมา(10 ต.ค.)อีก 7 แกนนำก็ได้เข้ามอบตัวข้อหาที่เหลือ 2 ข้อหาที่ สน.นางเลิ้ง โดยหลังสอบปากคำ ทั้งหมดก็ได้รับการประกันตัว ส่วนท่าทีของแกนนำพันธมิตรฯ ต่อกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมเมื่อ 7 ต.ค.จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากนั้น นอกจากจะเตรียมร้องต่อศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อดำเนินคดีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และเจ้าหน้าที่ที่ใช้ความรุนแรงแล้ว กลุ่มพันธมิตรฯ ยังจะเคลื่อนพลไปชุมนุมที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติในวันที่ 13 ต.ค.นี้ด้วย เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลนำผู้ที่สั่งการให้มีการสลายการชุมนุม 7 ต.ค.มารับผิดชอบ และให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ รับผิดชอบด้วยการลาออก ทั้งนี้ แกนนำพันธมิตรฯ ยืนยันด้วยว่า วันที่ 13 ต.ค.จะไม่บุกเข้าไปในสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นอันขาด ดังนั้น ขอให้ตำรวจอย่าได้ใช้ความรุนแรงกับพันธมิตรฯ อย่างไรก็ตามมีข่าวว่า ทาง นปช.หรือ นปก.เดิมได้ประกาศระดมพลที่สนามหลวงในวันที่ 12-14 ต.ค.นี้ โดยก่อนหน้านี้ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ที่ทำการฝึกการรบให้กลุ่ม นปช.โดยใช้ชื่อ “นักรบพระเจ้าตาก” เคยประกาศว่า จะนำกลุ่ม นปช.บุกทวงคืนทำเนียบฯ จากกลุ่มพันธมิตรฯ ในวันที่ 14 ต.ค. และล่าสุด ได้มีอดีตตำรวจนายหนึ่งออกมาปกป้องการกระทำของตำรวจที่สลายการชุมนุม พร้อมประกาศว่าจะตั้งกองกำลังเพื่อกู้ทำเนียบรัฐบาลคืนจากกลุ่มพันธมิตรฯ นั่นก็คือ พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ สำหรับท่าทีของทหารโดยเฉพาะผู้บัญชาการเหล่าทัพต่อกรณีที่เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธสลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากนั้น ปรากฏว่า ค่อนข้างชัดเจนว่า ต้องการให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบ โดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ยืนยัน(10 ต.ค.)ว่า “ถือเป็นความรับผิดชอบ ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลผิดหรือไม่ผิด แต่รัฐบาลต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ได้ทำไป ซึ่งความรับผิดชอบมีหลายหนทางที่จะทำให้ประเทศเดินต่อไปได้ แต่ไม่ขอกล่าว ทุกคนทราบดีว่าจะทำอย่างไร” ด้าน พล.อ.อ.อิทธิพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ก็พูดสอดคล้องกับ พล.อ.อนุพงศ์เช่นกัน โดยบอกว่า นายกฯ เป็นรัฐมนตรีกลาโหม เป็นผู้พิพากษา และเคยดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง ดังนั้นคิดว่านายกฯ จะใช้เวลาที่ไม่มีคนห้อมล้อม พิจารณาว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไปถึงไหนแล้ว คิดว่านายกฯ คงรู้ว่าควรทำอย่างไร ขณะที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ ยังเมินสัญญาณจากผู้บัญชาการเหล่าทัพ โดยยืนยันต่อสื่อมวลชน(11 ต.ค.)ว่า ตนไม่ได้ขัดแย้งกับกองทัพ พร้อมอ้างว่า ความรับผิดชอบของรัฐบาลก็คือ การตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ด้านสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ 7 ต.ค.เช่นกัน โดย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าวแล้วในวันนี้(12 ต.ค.) มี รศ.นพ.เจษฎา แสงสุพรรณ รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธาน พร้อมกำหนดให้สรุปผลสอบภายใน 7 วัน
กระทรวงมหาดไทยอังกฤษ ยอมรับว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ยื่นขอลี้ภัยในอังกฤษจริง
3. “แม้ว-อ้อ”ขอลี้ภัยในอังกฤษแล้ว ขณะที่ “รบ.สมชาย” ไฟเขียวเต็มที่ อ้าง เป็นสิทธิส่วนบุคคล!

เมื่อวันที่ 6 ต.ค.เว็บไซต์ซันเดย์มิเรอร์ ของอังกฤษ รายงานว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเดินทางไปพำนักที่อังกฤษตั้งแต่เดือน ส.ค.เพื่อหลบหนีการพิจารณาคดีคอร์รัปชั่นในประเทศไทย และเพิ่งขายสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ให้กับกลุ่มธุรกิจอาบูดาบีเมื่อเดือน ก.ย.เป็นเงิน 210 ล้านปอนด์ ได้ยื่นเรื่องขอลี้ภัยในอังกฤษแล้ว วันต่อมา(7 ต.ค.)สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า กระทรวงมหาดไทยอังกฤษยืนยันแล้วว่า พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน ภริยา ได้ยื่นเรื่องขอลี้ภัยในอังกฤษจริง โดยยื่นตั้งแต่เดินทางมาถึงอังกฤษเมื่อเดือน ส.ค. อย่างไรก็ตาม กระทรวงมหาดไทยอังกฤษปฏิเสธที่จะเปิดเผยรายละเอียดใดใด โดยอ้างว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคล ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวของไทยได้ไปสอบถามนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ ว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้แจ้งให้ทราบเรื่องที่ขอลี้ภัยในอังกฤษหรือไม่ ซึ่งนายสมชาย ตอบว่า “เรื่องขอลี้ภัยที่อังกฤษ แจ้งผมไม่ได้อยู่แล้ว” ส่วนเรื่องการดำเนินคดี พ.ต.ท.ทักษิณนั้น นายสมชาย กล่าวว่า ทุกอย่างจะดำเนินการไปตามกระบวนการยุติธรรม พร้อมยืนยันว่า การขอตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนก็ทำอยู่แล้วตามปกติ รัฐบาลไม่ไปขัดขวางอะไรทั้งนั้น เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงเรื่องการเพิกถอนหนังสือเดินทางทูต(พาสปอร์ตแดง)ของ พ.ต.ท.ทักษิณ นายสมชาย อ้างว่า นายชูศักดิ์ ศิรินิล เลขาธิการนายกฯ จะไปตรวจสอบว่าตอนนี้เรื่องอยู่ตรงไหน แล้วจะรายงานให้ตนทราบ ด้านนายชูศักดิ์ ศิรินิล พูดถึงเรื่องการเพิกถอนพาสปอร์ตแดงของ พ.ต.ท.ทักษิณโดยอ้างว่า ก่อนหน้านี้กระทรวงการต่างประเทศเสนอเข้ามาในช่วงที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกฯ แต่หลังจากเกิดกรณียึดทำเนียบฯ เรื่องก็ยังค้างอยู่ นายชูศักดิ์ ยังออกอาการโบ้ยเรื่องนี้ให้กระทรวงการต่างประเทศด้วย โดยบอกว่า ต้องรอดูความชัดเจนจากกระทรวงการต่างประเทศว่าจะเอาอย่างไร ให้บอกมา กำลังรอฟังความเห็นอยู่ ขณะที่นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ บอกว่า เรื่องเพิกถอนพาสปอร์ตแดงของ พ.ต.ท.ทักษิณนั้น ขณะนี้เรื่องอยู่ที่สำนักนายกฯ ยังคาราคาซังกันอยู่ แต่ถ้าส่งเรื่องมาให้ตน ก็พร้อมจะดูเอง เพราะถือเป็นหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ แต่คงต้องขอเวลาตรวจสอบบ้าง เพราะเพิ่งมารับผิดชอบกระทรวงการต่างประเทศ นายสมพงษ์ยังพูดถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณขอลี้ภัยที่อังกฤษด้วยว่า ต้องขอตรวจสอบก่อนว่าเรื่องนี้เป็นอย่างไร แต่คิดว่าทางอังกฤษคงไม่ใจดีถึงขั้นส่งเรื่องมาให้กระทรวงการต่างประเทศของไทยรับทราบ เพราะถือเป็นเรื่องของเขา ผู้สื่อข่าวถามนายสมพงษ์ว่า รัฐบาลมีนโยบายจะคัดค้านการขอลี้ภัยของ พ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่ ปรากฏว่า นายสมพงษ์ ตอบชัดเจนว่า การขอลี้ภัยเป็นสิทธิของแต่ละคน และยังเป็นสิทธิของผู้ที่จะพิจารณาคือประเทศอังกฤษด้วย ด้านนายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ส.ส.สัดส่วน และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แนะว่า ทางเดียวที่ไทยสามารถทำได้กรณี พ.ต.ท.ทักษิณขอลี้ภัย ก็คือ ศาลต้องมอบหมายให้อัยการสูงสุดดำเนินการส่งหนังสือที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณถึง 4 ฉบับไปยังอังกฤษโดยเร็ว เพื่อใช้เป็นเงื่อนไขในการต่อสู้ และนำตัว พ.ต.ท.ทักษิณมาดำเนินคดี โดยใช้ความร่วมมือการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างไทยและอังกฤษ
อภิรักษ์ โกษะโยธิน และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หน.พรรค ปชป.ขอบคุณประชาชนที่ไว้วางใจเทคะแนนเลือกนายอภิรักษ์ให้นั่งเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.สมัยที่สอง
4. “อภิรักษ์”คว้าชัยได้นั่งผู้ว่าฯ กทม.สมัยที่สองด้วยคะแนนเฉียดล้าน!

ในที่สุดผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เมื่อวันที่ 5 ต.ค.ก็เป็นไปตามเอ็กซิทโพลของหลายสำนักที่ออกมาตรงกันว่า นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้สมัครหมายเลข 5 จากพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง โดยได้ 991,018 คะแนน ตามด้วยนายประภัสร์ จงสงวน ผู้สมัครหมายเลข 10 จากพรรคพลังประชาชน ได้ 543,488 คะแนน ขณะที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ตามมาอันดับสาม ได้ 340,616 คะแนน ต่อด้วยนายเกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ที่มาอันดับสี่ ได้ 260,051 คะแนน อันดับห้าคือนางลีนา จังจรรยา ได้ 6,267 คะแนน ส่วนผู้สมัครที่เหลืออีก 11 คนได้คะแนนลดหลั่นกันลงไป โดยนายวราวุธ ฐานังกรณ์ หรือนายสุชาติ นาคบางไทร แกนนำกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ ซึ่งเป็นแนวร่วมของกลุ่ม นปก.มีคะแนนตามมาเป็นอันดับเจ็ด ได้ 2,771 คะแนน สำหรับจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 2,214,230 คน จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 4,087,329 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 54.18 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ทั้งนี้ หลัง กกต.กทม.รายงานผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ให้ กกต.กลางเมื่อวันที่ 6 ต.ค.แล้ว ทาง กกต.กลางได้ประชุมและมีมติในวันที่ 8 ต.ค.ให้ประกาศรับรองให้นายอภิรักษ์เป็นผู้ว่าฯ กทม.เนื่องจาก กกต.กทม.รายงานว่าการจัดการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีการทุจริต ประกอบกับคะแนนที่นายอภิรักษ์ชนะคู่แข่งก็ห่างกันมาก จึงเห็นควรมีมติประกาศรับรองไปก่อน เพื่อให้นายอภิรักษ์ได้เข้าปฏิบัติหน้าที่ ส่วนเรื่องการร้องเรียนการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งจำนวน 4 เรื่องนั้น กกต.จะเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หากพบว่าเข้าข่ายต้องสั่งเลือกตั้งใหม่(ใบเหลือง) หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง(ใบแดง) ก็จะส่งเรื่องให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา สำหรับท่าทีของผู้สมัครแต่ละคนหลังทราบผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่น่าสนใจได้แก่ นายอภิรักษ์ ซึ่งนอกจากจะขอบคุณทุกคะแนนเสียงจากประชาชนที่ให้ความไว้วางใจทำให้ตนได้เสียงมากกว่าเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ยังได้ประกาศว่า ภารกิจแรกที่จะเข้าไปดูแล คือ การแก้ปัญหาน้ำท่วมและปัญหาจราจร ขณะที่นายประภัสร์ จงสงวน และพรรคพลังประชาชน ต่างยืนยันว่า การพ่ายแพ้ของนายประภัสร์ไม่ได้สะท้อนว่าความนิยมของพรรคพลังประชาชนใน กทม.ลดลง นายประภัสร์ บอกด้วยว่า ขณะนี้กำลังพิจารณาว่า จะกลับไปทำงานในรัฐวิสาหกิจหรือไม่ โดยเฉพาะการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยที่ยังขาดผู้บริหารอยู่มาก ด้านนายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ประกาศว่าจะเดินหน้าตรวจสอบ กทม.อย่างเข้มงวด พร้อมยืนยันว่า หลังจากนี้จะไม่ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.อีก แต่จะลงสนามเลือกตั้งใหญ่ในนามพรรค “สู้เพื่อไทย”ที่ตนตั้งขึ้นและ กกต.อนุมัติแล้ว ขณะที่นายเกรียงศักดิ์ เจริญวงศักดิ์ บอกว่า หลังจากนี้จะทำงานเพื่อสังคม และพร้อมลงเล่นการเมืองต่อ แต่ขอดูสถานการณ์บ้านเมืองก่อน.
กำลังโหลดความคิดเห็น