xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 8-14 ก.ย.2551

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ 9 เสียงว่า นายสมัคร สุนทรเวช กระทำการต้องห้ามตาม รธน.มาตรา 267 จากกรณีจัดรายการ ชิมไปบ่นไปและ โยกโขยงหกโมงเช้าส่งผลให้นายสมัครพ้นสภาพการเป็นนายกฯ และ รมว.กลาโหม(9 ก.ย.)
คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1. “สมัคร”บรรลัยตามคำสาบาน ถูก “ศาล รธน.”สั่งพ้นสภาพ “นายกฯ”!

เมื่อวันที่ 8 ก.ย.ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดไต่สวนกรณีที่ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องของ ส.ว.และ กกต.ให้วินิจฉัยคุณสมบัติของนายสมัคร สุนทรเวช นายกฯ และรัฐมนตรีกลาโหม กรณีจัดรายการ “ชิมไปบ่นไป”และ “ยกโขยงหกโมงเช้า”ว่าสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีตาม รธน.2550 มาตรา 182 วรรค 1 (7) และมาตรา 267 ประกอบ 182 วรรคสาม และมาตรา 91 หรือไม่ ซึ่งเป็นการไต่สวนนัดสุดท้าย โดยมีพยานผู้ถูกร้อง 2 ปากขึ้นให้การ คือ นายสมัคร สุนทรเวช และนายศักดิ์ชัย แก้ววรรณีสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เฟส มีเดีย จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของทั้งสองรายการดังกล่าว ทั้งนี้ นายสมัครเบิกความต่อศาลว่า เริ่มทำรายการ “ชิมไปบ่นไป”ตั้งแต่ปี 2543 โดยขณะนั้นเป็นผู้ว่าฯ กทม.และบริษัท เฟส มีเดีย ได้มาชวนให้เป็นวิทยากรบรรยายเรื่องการทำอาหาร ส่วนค่าตอบแทนไม่เคยเรียกร้อง แต่ทางบริษัทฯ จะให้ค่ารถและค่าน้ำมันแก่คนสนิทของตน ในระยะหลังก็ให้ค่าทำอาหารด้วย นายสมัคร ยังปฏิเสธด้วยว่า ไม่ได้รับเงินเดือน 1 แสนบาทจากการเป็นพิธีกรรายการดังกล่าว โดยบอกว่า “แค่มาทำก็ได้ ไม่มาทำก็ไม่ได้”และว่า หลังเลือกตั้ง ทางบริษัทฯ เคยถามว่า จะทำรายการต่อได้หรือไม่ ตนปรึกษานักกฎหมายแล้วบอกว่าเป็นเรื่อง “รับจ้าง”ไม่ใช่ “ลูกจ้าง” ในข้อบังคับห้ามเป็นลูกจ้าง ก็เลยทำรายการต่อไป แต่หลังดำรงตำแหน่งนายกฯ เมื่อ 6 ก.พ.มีคนทักท้วง จึงยุติการออกอากาศทั้งสองรายการ นายสมัครยังสาบานด้วยว่า ไม่เคยเรียกร้องผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนจากการทำรายการดังกล่าว โดยบอกว่า “ถ้าเรียกร้องอะไรเขา ขออย่าให้ผมมีความเจริญรุ่งเรืองบรรลัยวายวอด แต่ถ้าหากผมไม่ทำอย่างนั้น ขอให้ผมมีความเจริญรุ่งเรือง” ส่วนสัญลักษณ์ของรายการฯ ที่เป็นรูปการ์ตูนพ่อครัวจมูกชมพู่นั้น นายสมัคร ยอมรับว่า เป็นการสื่อถึงตน ซึ่งหากตนไม่ได้เป็นนายกฯ ก็คงไม่มีเรื่อง ด้านนายศักดิ์ชัย แก้ววรรณีสกุล กก.ผจก.บริษัท เฟส มีเดีย เบิกความว่า ไม่ได้รู้จักนายสมัครเป็นการส่วนตัว แต่ได้ติดต่อให้นายสมัครเป็นพิธีกรในปี 2543 ส่วนการให้ค่าตอบแทนจะคิดในอัตรานักแสดงและพิธีกรทั่วไป เมื่อนายสมัครเป็นผู้ว่าฯ กทม.ได้ยุติรายการไปช่วงหนึ่ง แต่นำเทปเก่ามาตัดต่อก็สามารถออกอากาศไปได้ประมาณ 7-8 เดือน ต่อมาช่วงเลือกตั้ง 23 ธ.ค.2550 ได้ทำหนังสือสอบถามนายสมัครว่ายังสามารถจัดรายการต่อไปได้หรือไม่ นายสมัครทำหนังสือตอบกลับว่า ให้ฝ่ายกฎหมายดูแล้ว สามารถทำได้ เพราะเป็นการรับจ้าง ไม่ใช่ลูกจ้างตามที่ รธน.ห้ามไว้ แต่จะไม่รับค่าตอบแทนใดใด ซึ่งทางบริษัทก็ได้จ่ายเป็นค่าน้ำมันให้คนขับรถของนายสมัคร รวมทั้งค่ากับข้าว และว่า หลังจากนายสมัครดำรงตำแหน่งนายกฯ ก็มีการบันทึกเทปรายการชิมไปบ่นไปและยกโขยงหกโมงเช้าอีก 2-3 ครั้ง โดยวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมาก็บันทึกเทปที่บ้านพักนายสมัคร อย่างไรก็ตามนายศักดิ์ชัยอ้างว่า เทปดังกล่าวไม่ได้ออกอากาศ กระทั่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ นายสมัครจึงสั่งยกเลิกการเป็นพิธีกร นายศักดิ์ชัย ยังยืนยันด้วยว่า ไม่ได้นำฐานะนายกฯ ไปหาโฆษณา และยอมรับว่า “สัญลักษณ์ของรายการที่เป็นรูปการ์ตูนพ่อครัวจมูกชมพู่นั้น เป็นการแสดงถึงตัวตนของนายสมัครในทางส่วนตัว ไม่ใช่ในฐานะนายกฯ” ทั้งนี้ หลังไต่สวนแล้วเสร็จ ศาลฯ ได้นัดฟังคำวินิจฉัยในวันรุ่งขึ้น(9 ก.ย.) ซึ่งเมื่อถึงกำหนด คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเอกฉันท์ว่านายสมัครกระทำการต้องห้ามตาม รธน.มาตรา 267 ความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัครจึงสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตาม รธน.มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) สำหรับเหตุผลที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่านายสมัครกระทำการต้องห้ามตามมาตราดังกล่าว เนื่องจากมาตรา 267 ห้ามนายกฯ และรัฐมนตรีเป็นลูกจ้างของบุคคลใด เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของนายกฯ และรัฐมนตรีเป็นไปโดยชอบ ป้องกันมิให้เกิดการกระทำที่เกิดการขัดกันแห่งผลประโยชน์ อันจะก่อให้เกิดการขาดจริยธรรม ซึ่งยากต่อการตัดสินใจ ทำให้ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ระหว่างประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์สาธารณะ ดังนั้นการทำให้เจตนารมณ์ของ รธน.ดังกล่าวบรรลุผล จึงไม่ใช่แปลความคำว่า “ลูกจ้าง”ว่าหมายถึงลูกจ้างตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานหรือตามกฎหมายภาษีอากรเท่านั้น เพราะกฎหมายแต่ละฉบับย่อมมีเจตนารมณ์ที่แตกต่างกัน คำว่าลูกจ้างตาม รธน.มาตรา 267 จึงต้องแปลตามความหมายทั่วไปด้วย ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้ความหมายของคำว่าลูกจ้างว่า หมายถึง ผู้รับจ้างทำการงาน ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยได้รับค่าจ้าง ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร โดยมิคำนึงว่าจะมีการทำสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ หรือได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าจ้าง สินจ้าง หรือค่าตอบแทนที่เป็นทรัพย์สินอย่างอื่น หากมีการตกลงเป็นผู้รับจ้างทำการงานแล้ว ย่อมอยู่ในความหมายของคำว่าลูกจ้างตาม รธน.มาตรา 267 ทั้งสิ้น หากไม่พิจารณาความหมายของคำว่าลูกจ้างเช่นนี้ จะทำให้ลูกจ้างหรือผู้ที่รับจ้างเปลี่ยนค่าตอบแทนจากเงินเดือนเป็นทรัพย์สินอื่นหรือให้ค่าตอบแทนเป็นรายครั้ง โดยยังมีความผูกพันในเชิงผลประโยชน์กันอยู่ระหว่างเจ้าของกิจการกับผู้ที่รับทำงานให้ ซึ่งชัดเจนว่า กฎหมายย่อมไม่มีเจตนารมณ์ให้หาช่องทางหลีกเลี่ยงในลักษณะดังกล่าว คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังระบุด้วยว่า ข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนพบว่า นายสมัครได้ร่วมกันทำกิจการงานกับบริษัท เฟส มีเดีย ซึ่งเป็นกิจการที่มุ่งค้าหากำไร ไม่ใช่เพื่อการกุศลสาธารณะ มาเป็นเวลาหลายปี โดยนายสมัครได้รับค่าตอบแทนอย่างสมฐานะ และเมื่อกระทำการดังกล่าวในระหว่างที่นายสมัครดำรงตำแหน่งนายกฯ จึงอยู่ในขอบข่ายมาตรา 267 ที่ต้องการป้องปรามไม่ให้นายกฯ และรัฐมนตรีมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับภาคธุรกิจเอกชน นอกจากนี้ยังปรากฏคำให้สัมภาษณ์ของนายสมัครในหนังสือ “สกุลไทย”ฉบับที่ 47 วันอังคารที่ 23 ต.ค.2544 ที่นายสมัครเผยถึงค่าตอบแทนที่ได้รับจากการจัดรายการชิมไปบ่นไปด้วย โดยบอกว่าได้รับเงินเดือนจากบริษัท เฟส มีเดีย เดือนละ 8 หมื่นบาท ส่วนกรณีที่นายสมัครระบุว่า ทางบริษัท เฟส มีเดีย ได้ทำหนังสือสอบถามหลังเลือกตั้งว่ายังจัดรายการต่อไปได้หรือไม่ และนายสมัครได้ปรึกษาฝ่ายกฎหมายก่อนทำหนังสือตอบกลับไปว่า จัดรายการต่อไปได้ แต่จะไม่รับค่าตอบแทนเป็นค่าน้ำมันรถเหมือนอย่างเคยนั้น คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาแล้วเห็นว่า นอกจากนายสมัครจะไม่เคยแสดงหนังสือทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวมาก่อนที่จะถูก กกต.เรียกชี้แจงแล้ว ยังพบข้อพิรุธด้วย เนื่องจากหนังสือสอบถามและหนังสือตอบที่นายสมัครนำมาอ้างนั้น มีความขัดแย้งกับคำเบิกความของนางดาริกา รุ่งโรจน์ พนักงานบัญชีของบริษัท เฟส มีเดีย และหลักฐานทางภาษีอากรที่ระบุว่านายสมัครได้รับค่าจ้างแสดง ไม่ใช่ค่าน้ำมันรถ ข้อพิรุธดังกล่าวจึงส่อว่านายสมัครอาจทำหลักฐานดังกล่าวย้อนหลังเพื่อปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับค่าตอบแทนที่นายสมัครได้รับ จากพยานหลักฐานทั้งหมดจึงมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า นายสมัครทำหน้าที่พิธีกรรายการชิมไปบ่นไปหลังเข้ารับตำแหน่งนายกฯ แล้ว โดยยังคงได้รับค่าตอบแทนเป็นทรัพย์สินจากบริษัท เฟส มีเดีย จึงเป็นการรับจ้างทำงานตามความหมายของคำว่า “ลูกจ้าง”ตามนัยแห่ง รธน.มาตรา 267 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คนจึงมีมติเอกฉันท์ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัครสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตาม รธน.มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) ทั้งนี้ มีตุลาการรัฐธรรมนูญ 6 คนที่เห็นว่านายสมัครเป็นลูกจ้างของบริษัท เฟส มีเดีย ซึ่งเป็นการกระทำต้องห้ามตาม รธน.มาตรา 267 จึงไม่ต้องวินิจฉัยว่านายสมัครดำรงตำแหน่งใดในบริษัทดังกล่าวอีก ขณะที่ตุลาการรัฐธรรมนูญอีก 3 คนเห็นว่า การที่นายสมัครเป็นพิธีกรรายการชิมไปบ่นไป และใช้รูปใบหน้าของนายสมัครในรายการของบริษัท เฟส มีเดีย เท่ากับเป็นการตกลงเพื่อทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันพึงได้จากกิจการนั้น ในลักษณะเป็นหุ้นส่วนร่วมกัน จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอีกว่า นายสมัครเป็นลูกจ้างของบริษัท เฟส มีเดีย หรือไม่ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังระบุด้วยว่า เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ สิ้นสุดลงตามมาตรา 182 จึงเป็นเหตุให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งตาม รธน.มาตรา 180 วรรคหนึ่ง (1) ด้วย แต่เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ เป็นการสิ้นสุดลงเฉพาะตัว จึงทำให้รัฐมนตรีที่เหลือ สามารถอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่

“หมัก” บรรลัย! ศาลมีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ชี้พ้นสภาพผู้นำ


เจ้าหน้าที่ต้องช่วยประคองนายสมัคร สุนทรเวช ที่อยู่อาการหมดสภาพออกจากห้องรับรองวุฒิสภา หลังถูก 5 พรรคร่วมรัฐบาลและ ส.ส.พรรค พปช.บางส่วนบอยคอตไม่เข้าประชุมสภาเพื่อโหวตเลือกตัวเองเป็นนายกฯ (12ก.ย.)
2. “พปช.”เตรียมเลือก “ 3 ส.”เป็นนายกฯ หลัง “สมัคร”ถอดใจ ด้าน “พันธมิตรฯ”ยัน รับไม่ได้-ชุมนุมต่อ!

หลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ว่านายสมัคร สุนทรเวช ขาดคุณสมบัติการเป็นนายกฯ และรัฐมนตรีกลาโหม จากการเป็นพิธีกรรายการชิมไปบ่นไปและยกโขยงหกโมงเช้า ปรากฏว่า ที่ประชุมพรรคพลังประชาชน(9 ก.ย.)ได้มีมติเอกฉันท์ในทันทีว่า จะโหวตเลือกนายสมัครกลับมาดำรงตำแหน่งนายกฯ อีกครั้ง เนื่องจากเป็นคนที่เหมาะสมที่สุด ทั้งนี้ ร.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง โฆษกพรรคพลังประชาชน แถลงมติดังกล่าว พร้อมยืนยันว่า สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ความผิดร้ายแรง แต่เป็นความเข้าใจข้อกฎหมายคลาดเคลื่อน รวมทั้งไม่มีบทบัญญัติใดห้ามกลับมารับตำแหน่ง เมื่อนายสมัครยังเป็น ส.ส.สัดส่วนของพรรคฯ จึงมีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะกลับมาเป็นนายกฯ เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่เพียงพรรคพลังประชาชนจะดันนายสมัครให้กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง แต่ยังให้นายวิทยา บูรณศิริ ประธานวิปรัฐบาลรีบประสานนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาฯ ให้เปิดประชุมสภานัดพิเศษเพื่อเลือกนายกฯ โดยเร็ว ซึ่งนายชัยก็รับลูก โดยนัดประชุมสภาฯ ในวันที่ 12 ก.ย. อย่างไรก็ตามมีรายงานว่า ส.ส.กลุ่มอีสานพัฒนาของพรรคพลังประชาชน(เช่น นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม ฯลฯ) ไม่เห็นด้วยที่นายสมัครจะกลับมาเป็นนายกฯ อีก เพราะความขัดแย้งในบ้านเมืองจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เช่นเดียวกับนักวิชาการและหลายภาคส่วนในสังคมที่เห็นว่า ไม่ควรให้นายสมัครกลับมาเป็นนายกฯ เช่น นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า บอกว่า ถ้าดูแค่ตัวบทกฎหมาย นายสมัครก็กลับมาเป็นนายกฯ อีกได้ แต่ถ้าดูเรื่องจริยธรรมก็เป็นอีกเรื่อง ซึ่งหากเป็นตนจะไม่กลับมาอีก เพราะไม่สามารถอธิบายให้โลกทั้งโลกฟังได้ โดยเฉพาะที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เชื่อได้ว่ามีการทำพยานหลักฐานขึ้นใหม่ จึงเป็นเรื่องจริยธรรมที่ลึกซึ้ง ขณะที่แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 21 เรื่อง “ชุมนุมต่อเนื่องหลังนายสมัคร สุนทรเวช สิ้นสุดการเป็นนายกฯ” โดยระบุว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาให้นายสมัครสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งนายกฯ ถือว่ามีส่วนพิสูจน์ความชอบธรรมในการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่กระทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์นี้ต้องดำเนินการต่อไป พร้อมกันนี้พันธมิตรฯ ได้ประณามมติของพรรคพลังประชาชนที่สนับสนุนนายสมัครให้กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง ทั้งๆ ที่ได้กระทำผิดต่อ รธน.ถือเป็นนักการเมืองที่ไร้จริยธรรมและหมดความชอบธรรมในการปกครองประเทศต่อไป นอกจากนี้พันธมิตรฯ ได้เตือนสภาฯ ให้สนับสนุนคนดีให้มีอำนาจ ปกป้องมิให้คนไม่ดีมีอำนาจ โดยอย่าได้เสนอชื่อบุคคลที่มีประวัติด่างพร้อย แสดงพฤติกรรมหุ่นเชิดเพื่อช่วยเหลือหรือปกป้องผู้กระทำผิดในระบอบทักษิณมาเป็นนายกฯ...ฯลฯ ด้านคณาจารย์คณะนิติศาสตร์19 คนจาก 4 สถาบัน(ม.ธรรมศาสตร์-จุฬาฯ-สุโขทัยธรรมาธิราช-นเรศวร) ออกแถลงการณ์ค้านการให้นายสมัครกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง โดยชี้ว่า นอกจากจะเป็นการกระทำที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของ รธน.แล้ว ยังจะทำให้สังคมการเมืองไทยห่างไกลจากคุณธรรมและจริยธรรมมากขึ้น ฯลฯ ทั้งนี้ แม้จะมีความพยายามในพรรคพลังประชาชนที่จะหนุนนายสมัครให้เป็นนายกฯ อีกครั้ง แต่ก็มีการสำรองคนอื่นไว้ด้วยหากนายสมัครปฏิเสธที่จะรับตำแหน่ง เช่น นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคฯ อันดับ 1 ซึ่งขึ้นรักษาการนายกฯ หลังนายสมัครพ้นสภาพนายกฯ ,นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รองหัวหน้าพรรคฯ และ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรคฯ ขณะเดียวกันก็มีข่าวว่าหากนายสมัครไม่รับตำแหน่งนายกฯ แล้ว อาจมีการเปิดทางให้นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยเป็นนายกฯ แทน ซึ่งทางนายบรรหารก็ได้ออกมาปฏิเสธ(9 ก.ย.)ว่า ไม่ขอรับตำแหน่งนายกฯ เพราะกลัวอายุสั้น เนื่องจากตนคงทนแรงเสียดทานไม่ได้ มีความอดทนไม่พอ ด้านแกนนำ 3 ส.ของพรรคพลังประชาชน คือ นายสมชาย-นพ.สุรพงษ์-นายสมพงษ์ ได้เดินสายล็อบบี้ให้พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 5 พรรคจับมือกับพรรคพลังประชาชนในการจัดตั้งรัฐบาลต่อไป จากนั้นได้เปิดแถลงข่าวร่วมกันเมื่อวันที่ 11 ก.ย.โดยนายสมชาย ซึ่งเป็นแกนนำในการแถลงข่าว ยืนยันว่า 6 พรรคมีสัตยาบันร่วมกันที่จะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล และเห็นร่วมกันว่า จะให้พรรคพลังประชาชนเป็นผู้เสนอชื่อนายกฯ คนใหม่ ด้านพรรคพลังประชาชนได้ประชุมและมีมติอีกครั้งว่าจะเสนอชื่อนายสมัครเป็นนายกฯ อย่างไรก็ตามช่วงเย็นวันเดียวกัน(11 ก.ย.) ได้เกิดปรากฏการณ์ “งูเห่า”ในพรรคฯ ประกอบด้วย กลุ่มอีสานพัฒนา ,กลุ่มขุนค้อน ,กลุ่มโคราช ,กลุ่มภาคเหนือ ,กลุ่มภาคกลางและ กทม.นำโดยนายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม ได้เปิดแถลงข่าวไม่สนับสนุนให้นายสมัครเป็นนายกฯ อีกครั้ง โดยนายไพจิต บอกว่า ส.ส.ประมาณ 70 คนเห็นว่าควรเสนอชื่อคนอื่นเป็นนายกฯ เพื่อให้บรรยากาศบ้านเมืองดีขึ้น ส่วนท่าทีของนายสมัครนั้น หลังแกนนำ 3 ส.ได้เข้าแจ้งมติพรรคให้ทราบเพื่อสอบถามว่าพร้อมจะรับตำแหน่งนายกฯ อีกครั้งหรือไม่ นายสมัครได้ยืนยันว่า พร้อมจะกลับมาเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตย ขณะที่กลุ่มโรงเรียนแพทย์ 5 สถาบัน(จุฬาฯ-ขอนแก่น-รามาธิบดี-สงขลานครินทร์ และศรีนครินทรวิโรฒ)รวมถึงอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ออกแถลงการณ์คัดค้านการเสนอชื่อนายสมัครเป็นนายกฯ รอบสอง เนื่องจากขาดจริยธรรม ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอทางออกของบ้านเมืองด้วยการให้มีรัฐบาลพิเศษ โดยเป็นรัฐบาลที่เปิดพื้นที่ให้บุคคลภายนอกที่ไม่ใช่พรรคการเมืองเข้ามามีส่วนในการแก้ปัญหาวิกฤตของบ้านเมืองด้วย ขณะที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ ก็เห็นว่าควรมีรัฐบาลแห่งชาติหรือรัฐบาลเฉพาะกาลมาร่วมแก้ปัญหาบ้านเมือง เช่นเดียวกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ก็มองว่า การตั้งรัฐบาลแห่งชาติน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ทั้งนี้ กระแสคัดค้านของสังคมที่ไม่ต้องการให้นายสมัครกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง บวกกรณีที่มีเสียงแตกในพรรคพลังประชาชน ทำให้มีข่าวก่อนหน้าจะถึงวันประชุมสภาเพื่อโหวตเลือกนายกฯ คนใหม่ว่า พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคอาจไม่เข้าร่วมประชุมหรือถ้าเข้าก็จะงดออกเสียง เพื่อแสดงจุดยืนไม่หนุนนายสมัคร ซึ่งในที่สุดเมื่อถึงวันประชุมสภาฯ 12 ก.ย.ปรากฏว่า 5 พรรคร่วมรัฐบาล(ชาติไทย-เพื่อแผ่นดิน-รวมใจไทยชาติพัฒนา-ประชาราช-มัชฌิมาธิปไตย)ไม่เข้าร่วมประชุมสภาฯ แต่อย่างใด โดยมีการส่งตัวแทน 1-2 คนเข้าสังเกตการณ์การประชุมเท่านั้น ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ตอนแรกมีข่าวว่าจะไม่เข้าประชุม แต่ตอนหลังเปลี่ยนใจเข้าประชุม ส่วนพรรคพลังประชาชนมี ส.ส.เข้าประชุมบางส่วน โดยกลุ่มอีสานพัฒนาฯ ที่ไม่หนุนนายสมัคร ไม่เข้าประชุมแต่อย่างใด ด้านนายสมัคร สุนทรเวช ได้เดินทางมายังรัฐสภาด้วย แต่ไม่ได้เข้าร่วมประชุม ขณะที่บรรยากาศที่หน้ารัฐสภา มีกลุ่ม นปช.และแนวร่วมที่สนับสนุนนายสมัครมาปักหลักชุมนุม โดยนำรถและเครื่องขยายเสียงมาปราศรัยด้วย ส่วนกลุ่มพันธมิตรฯ ได้มีมติไม่เคลื่อนมาคัดค้านหรือกดดันที่หน้ารัฐสภา เพราะเกรงว่าจะเกิดเหตุปะทะกับกลุ่ม นปช.จนเจ้าหน้าที่อ้างเป็นเหตุในการสลายการชุมนุมได้ สำหรับบรรยากาศในสภานั้น เมื่อมีผู้เซ็นชื่อเข้าร่วมประชุมเกินกึ่งหนึ่ง คือ 246 คนจากทั้งหมด 470 คน นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาฯ จึงเปิดประชุมและแจ้งวาระการเลือกนายกฯ คนใหม่ให้สมาชิกทราบ พร้อมเปิดให้สมาชิกเสนอชื่อผู้เหมาะสมเป็นนายกฯ จากนั้นนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคฯ เป็นนายกฯ ด้านนายสุขุมพงศ์ โง่นคำ ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชน รีบลุกขึ้นแย้งว่า ผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นนายกฯ ต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง คือ เกิน 236 เสียง ขณะที่นายชัยได้ตัดบทและให้นายสุขุมพงศ์เสนอชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกฯ แต่นายสุขุมพงศ์ไม่ยอมเสนอ กลับเสนอให้นับองค์ประชุมแทนว่ามีสมาชิกเข้าประชุมครบองค์ประชุมหรือไม่ ระหว่างนั้นนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน เห็นท่าไม่ดี กลัวว่าถ้าองค์ประชุมครบ อาจทำให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ส้มหล่นได้เป็นนายกฯ ได้ นายสมชายจึงรีบส่งสัญญาณให้ ส.ส.ของพรรคเดินออกจากห้องประชุม จากนั้นเมื่อมีการนับองค์ประชุมด้วยการให้สมาชิกเสียบบัตรแสดงตน ปรากฏว่า มีสมาชิกอยู่ในห้องประชุมไม่ครบองค์ประชุม โดยมีแค่ 161 คน นายชัยจึงได้ประกาศเลื่อนการประชุมเพื่อเลือกนายกฯ ไปเป็นวันที่ 17 ก.ย.แทน แม้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์จะขอให้มีการนับองค์ประชุมใหม่ด้วยการยกมือแทนการเสียบบัตร เพราะสงสัยว่าสมาชิกบางคนอาจไม่เสียบบัตร ทำให้องค์ประชุมมีแค่ 161 คน ทั้งๆ ที่ลำพังสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ก็มีไม่ต่ำกว่า 160 คนแล้ว แต่นายชัยก็ไม่สน รีบปิดการประชุมทันที ทั้งนี้ หลังการประชุมสภาฯ ล่ม นายสมัครได้เดินทางออกจากรัฐสภาทันที และภายหลังได้เกิดอาการถอดใจ โดยให้นายธีรพล นพรัมภา เลขาธิการนายกฯ ออกมาบอกผู้สื่อข่าวว่า ตนได้ทำหน้าที่รักษาประชาธิปไตยอย่างถึงที่สุดแล้ว จึงขอยุติทุกอย่าง จากนี้เป็นภาระของพรรคที่จะดำเนินการต่อไป ด้านแกนนำพรรคพลังประชาชน หลังจากสภาล่ม ได้ประชุมด่วน ส.ส.พรรคว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป และเมื่อวานนี้(13 ก.ย.)ก็ยังคงมีการนัดประชุมของ ส.ส.กลุ่มต่างๆ เพื่อพิจารณาว่าในบรรดา 3 ส.คือ นายสมชาย-นายสมพงษ์ และ นพ.สุรพงษ์ ใครจะเหมาะกับตำแหน่งนายกฯ ที่สุด ซึ่งความเห็นก็ยังต่างกัน โดย ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวินหนุน นพ.สุรพงษ์ ขณะที่กลุ่มภาคเหนือหนุนนายสมชาย อย่างไรก็ตามพรรคพลังประชาชนจะประชุม ส.ส.พรรคเพื่อเลือกผู้ที่เหมาะสมจะเป็นนายกฯ ในวันที่ 15 ก.ย.หลังจากนั้นจะแจ้งให้พรรคร่วมรัฐบาลทราบในวันที่ 16 ก.ย.ก่อนเสนอที่ประชุมสภาเพื่อโหวตเลือกนายกฯ ในวันที่ 17 ก.ย. สำหรับท่าทีของ 5 พรรคร่วมรัฐบาลนั้น ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า พร้อมหนุนบุคคลที่พรรคพลังประชาชนเสนอให้เป็นนายกฯ ไม่ว่าจะเป็น ส.ใดใน 3 ส.ก็ตาม ด้านนายเทพไท เสนพงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ชี้ ไม่ว่า ส.ใดใน 3 ส.มาเป็นนายกฯ ก็มีปัญหา เพราะ นพ.สุรพงษ์ ก็เป็น 1 ในแก๊งออฟโฟร์และเป็นพวกนายเนวิน ชิดชอบ อดีต กก.บห.พรรคไทยรักไทย นายสมพงษ์ก็เป็นสมาชิกกลุ่ม 16 ที่อดีตเคยเล่นการเมืองไม่ชอบมาพากล ส่วนนายสมชาย ก็เป็นน้องเขย พ.ต.ท.ทักษิณ ขณะที่แกนนำพันธมิตรฯ (พล.ต.จำลอง ศรีเมือง-นายสมศักดิ์ โกศัยสุข) ยืนยันว่า ไม่ว่าใครใน 3 ส.ของพรรคพลังประชาชนมาเป็นนายกฯ พันธมิตรฯ จะไม่ยุติการชุมนุม เพราะถือว่าเป็นรัฐบาลเดียวกัน และที่ผ่านมารัฐบาลก็ดำเนินนโยบายผิดพลาดมาตลอด ไม่ว่าจะเรื่องปราสาทพระวิหารหรือการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ดังนั้นบุคคลเหล่านี้จึงไม่สมควรมาเป็นรัฐบาลอีก พล.ต.จำลอง ยังย้ำถึงเจตนารมณ์ของพันธมิตรฯ ที่รัฐบาลต้องลาออกไป เพื่อให้เกิดการเมืองใหม่ที่เปิดให้ภาคประชาชนและทุกภาคส่วนในสังคมได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาด้วย ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า เริ่มมีนักวิชาการเห็นด้วยกับแนวคิดการเมืองใหม่บ้างแล้ว เช่น นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกฯ บอกว่า ความคิดเรื่องการเมืองใหม่เป็นเรื่องที่ดี เพราะการเมืองเก่าถึงทางตันแล้ว น่าจะมีการเปลี่ยนแปลง โดยการเมืองใหม่ ประชาชนต้องมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง รวมทั้งหลายองค์กรในประเทศสามารถมาร่วมคิดร่วมกันทำได้

“อีสานพัฒนา” โวยมติ พปช.ลั่นไม่ฝืนกระแสกู้ศพ “หมัก”
“หมัก” จบเห่ ! ทิ้งเก้าอี้ หน.พลังประชาชน อ้างรักษา ปชต.ดีที่สุดแล้ว
“หอกหัก” เล่นซ่อนหาตบตาสื่อ โดดประชุมสภาล่ม
สภาล่ม! ส.ส.แหยง “หมัก”นั่งนายกฯ สั่งเลื่อนประชุม 17 ก.ย.
“สุริยะใส” ชี้ตั้ง “3 ส.”นายกฯไม่ลดความขัดแย้ง
“สุริยะใส” สับ “หุ่นเชิด” ทำร้ายคนไทย เลือก “นอมินีแม้ว” นั่งเก้าอี้นายกฯอีก

“อานันท์” หนุนการเมืองใหม่แนะทุกฝ่ายร่วมกันออกแบบใหม่
นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รักษาการนายกฯ ควง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.และ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.แถลงยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตั้งแต่วันนี้(14ก.ย.)เป็นต้นไป
3. “สมชาย”ประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว ยัน เปล่าจัดฉากสู่ตำแหน่งนายกฯ !

หลังจากถูกหลายฝ่ายคัดค้านและเรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่นายสมัคร สุนทรเวช ประกาศใช้ในพื้นที่ กทม.หลังเกิดเหตุ นปช.ปะทะกับกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 2 ก.ย.จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต โดยหลายฝ่ายมองว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องฉุกเฉิน แต่เกิดจากการที่กลุ่ม นปช.ยกพวกพร้อมอาวุธมาบุกกลุ่มพันธมิตรฯ โดยมี ส.ส.พรรคพลังประชาชนบงการกลุ่ม นปช.ในวันเกิดเหตุ แต่นายสมัคร ขณะยังเป็นนายกฯ ก็ไม่ยอมฟังเสียงเรียกร้อง ไม่ยอมยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น ปรากฏว่าเสียงเรียกร้องยังคงดังอย่างต่อเนื่องทั้งจากประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ที่ชี้ว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นอกจากจะไม่ได้ให้ช่วยสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว ยังทำให้เสียภาพลักษณ์ของประเทศด้วย ขณะที่นายนานเดอร์ จี วอนเดอร์ ลูเฮ ประธานหอการค้าต่างประเทศในประเทศไทย ก็เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยเร็ว เพราะยิ่งช้า อาจจะส่งผลกระทบต่อภาวะการค้าการลงทุนของไทยในระยะยาว ด้านนางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็ชี้ว่า ตั้งแต่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นทิ้งเพิ่มขึ้นมาก เฉลี่ยวันละ 2-3 พันล้านบาท เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทั้งนี้ แม้แต่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ยังได้เสนอให้รัฐบาลยกเลิก พ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ ใน กทม.เนื่องจากส่งผลกระทบด้านต่างๆ ต่อสังคม ทั้งนี้ แม้ ครม.จะได้ประชุมนัดพิเศษเมื่อวันที่ 10 ก.ย.และมีการหารือเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ก็ไม่ได้มีการประกาศยกเลิกตามกระแสเรียกร้องแต่อย่างใด โดยโฆษกรัฐบาล พล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ ได้ออกมาตั้งแง่ด้วยว่า จะยกเลิกก็ต่อเมื่อฝ่ายพันธมิตรฯ ต้องออกจากทำเนียบฯ ก่อน อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อเย็นวานนี้(13 ก.ย.)นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชนและรักษาการนายกฯ ได้เข้าหารือกับ พล.อ.อนุพงษ์ที่บ้านพักภายในกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ และได้ข้อยุติว่าจะมีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กระทั่งวันนี้(14 ก.ย.)นายสมชาย พร้อมด้วย พล.อ.อนุพงษ์และ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.ได้เปิดแถลงยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ทั้งนี้ หลายฝ่ายมองว่า การตัดสินใจยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของนายสมชาย รักษาการนายกฯ ในวันนี้ อาจเป็นแผนสร้างคะแนนนิยมให้ตนเอง เพราะนายสมชายถือเป็น 1 ใน 3 ส.ของพรรคพลังประชาชนที่เป็นแคนดิเดตอาจจะได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ ในการประชุมสภาวันที่ 17 ก.ย.นี้ ซึ่งระหว่างแถลง ผู้สื่อข่าวก็ได้ถามนายสมชายว่า การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในวันนี้เป็นการจัดฉากหรือต้องการสร้างคะแนนให้ตนเองหรือไม่ โดยนายสมชายปฏิเสธว่าไม่ได้จัดฉากหรือสร้างคะแนนแต่อย่างใด จากนั้นได้รีบจบการแถลงข่าวทันที

“หุ่นเชิด” ยอมยกเลิกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว มีผลตั้งแต่วันนี้
“อนุพงษ์” เสนอยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชี้ รบ.แห่งชาติ ทางออกสุดท้ายแก้วิกฤตชาติ
นักธุรกิจสุดทน “สมัคร”พล่านปั่นป่วนทั้งเมือง แนะจุดจบควรแสดงสปิริต
หอการค้า ตปท.ผิดหวัง "สมัคร” พล่ามเรื่องเก่า-บิดเบือนต้นตอปัญหา

โฉมหน้าแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาที่นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศลงนาม และ ครม.นายสมัครให้ความเห็นชอบ
4. “รบ.”หน้าแตก “ศาล ปค.สูงสุด”ยืนตามศาลชั้นต้น ห้ามนำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาไปใช้ ปย.!

เมื่อวันที่ 11 ก.ย. ศาลปกครองสูงสุดได้นัดอ่านคำสั่งคดีที่นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศและ ครม.ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองชั้นต้น ที่มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ตามที่นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กับพวกรวม 9 คน ซึ่งเป็นทนายความและนักสิทธิมนุษยชน ร่วมกันยื่นฟ้องนายนพดล และ ครม.ฐานกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กรณีนายนดพลลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาสนับสนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และ ครม.ได้ให้ความเห็นชอบแถลงการณ์ร่วมฯ ดังกล่าว ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์ข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริง และเอกสารหลักฐานแล้ว เห็นว่า การกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของศาลต้องมีมูลและเหตุผลเพียงพอ ส่วนกรณีที่นายนพดลและ ครม.อุทธรณ์ว่า เหตุแห่งการขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวนั้นได้หมดสิ้นไปแล้ว เพราะได้มีหนังสือแจ้งระงับผลการใช้แถลงการณ์ร่วมฯ ไปยังฝ่ายกัมพูชา และยูเนสโกแล้ว และในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่ประเทศแคนาดา ก็ไม่ได้นำแถลงการณ์ดังกล่าวมาร่วมพิจารณาแต่อย่างใดนั้น ศาลเห็นว่า เมื่อคณะกรรมการมรดกโลกไม่ได้นำแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวมาร่วมพิจารณา ยิ่งแสดงให้เห็นว่า แถลงการณ์ร่วมฯ ดังกล่าวไม่ได้มีความจำเป็นที่นายนพดลและ ครม.จะต้องจัดทำขึ้นแต่อย่างใด พร้อมกันนี้ ศาลเห็นว่า หากให้แถลงการณ์ร่วมฯ ดังกล่าวมีสภาพบังคับใช้ต่อไปตามข้อความที่ปรากฏในแถลงการณ์ฯ แล้ว แม้จะไม่ได้ปรากฏอย่างชัดเจนว่า เป็นหนังสือสัญญาที่มีการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตพื้นที่ของประเทศไทย แต่เมื่อพิจารณาแถลงการณ์ร่วมฯ ประกอบกับแผนที่หรือแผนผังแนบท้ายซึ่งจัดทำขึ้นโดยประเทศกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ร่วมฯ แล้ว จะสุ่มเสี่ยงต่อผลกระทบในเรื่องอาณาเขตของประเทศไทย อันจะทำให้เกิดข้อพิพาทระหว่างประเทศในวันข้างหน้าได้ เนื่องจากในแผนที่ได้อ้างถึงพื้นที่ N1 ,N2 ,N3 โดยไม่มีการกำหนดเขตพื้นที่ N1 ,N2 ,N3 ไว้อย่างชัดเจนว่ามีบริเวณครอบคลุมส่วนใดของประเทศใด แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาจึงเป็นหนังสือสัญญาที่อาจมีบทบาทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศไทยหากยังคงมีผลผูกพันอยู่โดยยังไม่ได้ถูกยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ซึ่งหากนายนพดลและ ครม.ดำเนินการใดใดที่ใช้ประโยชน์จากมติ ครม.เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ที่รับรองแถลงการณ์ร่วมฯ ดังกล่าว จะส่งผลเสียหายและกระทบต่อประเทศชาติและสิทธิของประชาชนได้ จึงถือว่ามีเหตุเพียงพอที่ศาลจะกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาไว้ต่อไปจนกว่าจะมีคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น ดังนั้นการที่นายนพดลและ ครม.อ้างว่าเหตุที่จะกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวหมดไปแล้ว จึงไม่อาจฟังได้ ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้นว่าการกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าวชอบแล้ว

ศาล ปค.ไม่รับคำร้อง “รบ.หุ่นเชิด” ให้เพิกถอนคำสั่งระงับแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา
ศาลปค.ไม่รับอุทธรณ์บัวแก้วให้ยกเลิกคุ้มครองแถลงการณ์ไทย-เขมร

นางเบญจา หลุยเจริญ ซึ่งถูก คตส.ฟ้องฐานละเว้นไม่เรียกเก็บภาษีหุ้นชินคอร์ป แม้ไม่ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมสรรพากรตามที่มีข่าว แต่ ครม.ก็ได้ตั้งนายวินัย วิทวัสการเวช คนสนิทของนางเบญจามาดำรงตำแหน่งแทน
5. “รบ.”โยก “วินัย”นั่งอธิบดีสรรพากรคนใหม่ ส่อช่วยเรื่องภาษีตระกูล “ชินวัตร”!

เมื่อวันที่ 7 ก.ย.แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เผยว่า ในวันที่ 9 ก.ย. นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกฯ และรัฐมนตรีคลัง จะเสนอรายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับ 10 ให้ที่ประชุม ครม.เห็นชอบ เนื่องจากมีข้าราชการระดับอธิบดีจะเกษียณอายุราชการ 3 คน คือ นายศานิต ร่างน้อย อธิบดีกรมสรรพากร ,นางพันธ์ทิพย์ สุรทิณฑ์ อธิบดีกรมธนารักษ์ และนางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โดยเฉพาะกรมสรรพากรนั้น มีข่าวสะพัดว่า จะมีการแต่งตั้งนางเบญจา หลุยเจริญ ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 8 ก.ค. ให้ขึ้นเป็นอธิบดีกรมสรรพากร ทั้งที่นางเบญจาเป็น 1 ในข้าราชการกรมสรรพากรที่ถูก คตส.ยื่นฟ้องข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่กรณีไม่เรียกเก็บภาษีการซื้อขายหุ้นชินคอร์ป ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างรออัยการสูงสุดสั่งคดี ทั้งนี้ มีการมองว่า เหตุที่ฝ่ายการเมืองต้องการตั้งนางเบญจาเป็นอธิบดีกรมสรรพากร น่าจะเป็นไปเพื่อช่วยเรื่องภาษีของตระกูลชินวัตร อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการเสนอชื่อให้ที่ประชุม ครม.เห็นชอบ ปรากฏว่ารายชื่อผู้ได้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากรเปลี่ยนไป โดยไม่ใช่นางเบญจา แต่เป็นนายวินัย วิทวัสการเวช ที่โยกจากผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลังมาเป็นอธิบดีกรมสรรพากร ทั้งนี้ มีรายงานว่า แม้ชื่อผู้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากรจะเปลี่ยนจากนางเบญจามาเป็นนายวินัย แต่ผลก็อาจไม่ต่างกัน เพราะนางเบญจากับนายวินัยมีความสนิทสนมกันมาก มากขนาดใช้เลขานุการคนเดียวกัน เป็นที่น่าสังเกตว่า ในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง 22 คนที่ที่ประชุม ครม.เห็นชอบเมื่อวันที่ 9 ก.ย. นอกจากความไม่ชอบมาพากลในการแต่งตั้งอธิบดีกรมสรรพากรแล้ว ยังมีการย้ายข้าราชการข้ามห้วยข้ามกระทรวงแบบไม่ไว้หน้าข้าราชการด้วย เช่น การให้นายสมชาย ชุ่มรัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ข้ามห้วยไปนั่งปลัดกระทรวงแรงงานที่มีนางอุไรวรรณ เทียนทอง เป็นรัฐมนตรี ซึ่งการย้ายข้ามห้วยดังกล่าวทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในกระทรวงแรงงานอย่างมาก โดยเห็นว่าไม่เหมาะสม เพราะนอกจากนายสมชายจะมีความสนิทสนมกับตระกูลเทียนทองแล้ว การย้ายข้ามกระทรวงเช่นนี้ ยังเป็นการปิดกั้นการเติบโตของข้าราชการกระทรวงแรงงานระดับ 10 ที่ควรได้ขึ้นเป็นปลัดกระทรวงฯ ด้วย อนึ่ง นายสมชาย ชุ่มรัตน์ นับเป็นปลัดกระทรวงแรงงานคนที่ 4 ที่มาจากคนนอก ส่วน 3 คนก่อนหน้านี้ คือ นายอภัย จันทนจุลกะ ที่ย้ายมาจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ,นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ (บิดาของนายจารุวงศ์ เรืองสุวรรณ เลขานุการอดีตรัฐมนตรีจักรภพ เพ็ญแข) ย้ายมาจากรองปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (น้องเขย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) ที่ตอนแรกนั่งตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรม แต่เมื่อครบวาระแล้ว รัฐบาลทักษิณก็ยังต่ออายุราชการให้ กระทั่งไม่สามารถต่ออายุราชการได้ ก็โยกนายสมชายไปนั่งปลัดกระทรวงแรงงาน และภายหลังก็โยกนายสมชายกลับไปนั่งปลัดกระทรวงยุติธรรมอีกครั้ง.



กำลังโหลดความคิดเห็น