xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 17-23 ก.พ.2551

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ หรือ คลิกที่ไอคอน Multimedia ด้านบนเพื่อชม Photo Slide Show

1. “ในหลวง-พระราชินี”ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน 50 วัน“พระพี่นางฯ”!

เมื่อวันที่ 20 ก.พ.(เวลา 17.00น.) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ ยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลปัญญาสมวาร(ทักษิณานุปทาน 50 วัน) พระราชทานพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ วันต่อมา 21 ก.พ.(เวลา 10.30น.)ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จฯ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน 50 วันเป็นวันที่สอง ท่ามกลางประชาชนที่พร้อมใจกันไปเฝ้ารอรับเสด็จทั้ง 2 วัน โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงโบกพระหัตถ์ให้ประชาชนที่มารอรับเสด็จด้วย ยังความปลาบปลื้มแก่ประชาชนเป็นอันมาก ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวังจัดพิมพ์หนังสือ 3 เล่มเพื่อแจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่เข้าร่วมพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน 50 วันที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทจำนวน 600 ชุด โดยหนังสือ 3 เล่มดังกล่าว ประกอบด้วย 1.การประดิษฐานพระโกศ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท 2.พระบรมราชาธิบายเรื่อง สามัคคี พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 3.พระธรรมเทศนา สำหรับความคืบหน้าการดำเนินการงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ นั้น นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร เผยว่า แบบพิมพ์เขียววิศวกรรมโครงสร้างพระเมรุจะแล้วเสร็จในช่วงสิ้นเดือน ก.พ.นี้ ส่วนสิ่งปลูกสร้างชั่วคราว 3 หลังบริเวณท้องสนามหลวง รวมทั้งอาคารสร้างพระโกศจันทน์ การขยายลายแบบ และโรงปูนปั้นหล่อจะแล้วเสร็จในเดือนนี้เช่นกัน สำหรับการคัดเลือกผู้รับเหมาจัดสร้างพระเมรุนั้น จะได้ข้อสรุปว่ารายใดจะได้รับเลือกในต้นเดือน มี.ค.นี้ ขณะที่พิธีวางศิลาฤกษ์เสาเอกพระเมรุ จะมีขึ้นประมาณกลางเดือน มี.ค.

ในหลวง-พระราชินีทรงบำเพ็ญพิธีปัญญาสมวาร
ในหลวง-ราชินี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวาย “พระพี่นางฯ”
“ในหลวง-ราชินี” ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลปัญญาสมวาร


2. รบ.แถลงนโยบายต่อสภาแล้ว ขณะที่“จักรภพ”ลอบกัด“สนธิ”กลางสภา อ้าง เป็นต้นเหตุให้ต้องจัดระเบียบสื่อ!

เมื่อวันที่ 18 ก.พ.ได้มีการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา(ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 176) โดยเป็นการประชุมร่วมทั้งในส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ซึ่งทำหน้าที่สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)ในขณะนี้ เนื่องจากยังไม่มี ส.ว.จากการเลือกตั้ง สำหรับบรรยากาศการแถลงนโยบายของรัฐบาลนั้น นายสมัคร สุนทรเวช นายกฯ และรัฐมนตรีกลาโหม บอกว่า รัฐบาลจะแก้ปัญหาของประเทศอย่างรอบด้านในช่วง 4 ปี โดยตั้งเป้าพัฒนาคุณชีวิตของประชาชนไว้ 8 ข้อ แบ่งเป็นการแก้ปัญหาเร่งด่วนในปีแรก และระยะยาว 4 ปี สำหรับเรื่องที่จะดำเนินการอย่างเร่งด่วน ได้แก่ การเร่งสร้างความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ โดยเฉพาะปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงการแก้ปัญหายาเสพติด การกระจายรายได้สู่ชุมชน การแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ เป็นต้น นายสมัคร ยังส่งสัญญาณด้วยว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 โดยบอก “รธน.ฉบับปัจจุบันเป็น รธน.ฉบับแรกที่ให้ประชาชนออกเสียงลงประชามติให้ความเห็นชอบ แต่ยังปรากฏว่ามีความคิดเห็นที่แตกต่าง รัฐบาลจึงสนับสนุนให้มีการศึกษาทบทวนบทบัญญัติของ รธน.เพื่อดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย” ส่วนบรรยากาศการอภิปรายนโยบายของรัฐบาลซึ่งกำหนดให้อภิปรายได้เป็นเวลา 3 วัน(18-20 ก.พ.)นั้น ที่น่าสนใจ ได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งอภิปรายโดยตั้งข้อสังเกตว่า นโยบายของรัฐบาลอาจไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ รธน. 2550 มาตรา 75 วรรค 2 เนื่องจากไม่ระบุให้ชัดเจนว่าจะทำนโยบายไหนในช่วงเวลาใด ซึ่งอาจทำให้การแถลงนโยบายไม่มีความหมาย นายอภิสิทธิ์ ยังตั้งข้อสังเกตนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อสภาด้วยว่า ขาดนโยบายบางเรื่องที่พรรคร่วมรัฐบาลเคยหาเสียงกับประชาชนไว้ เช่น การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ,นโยบายการทำรัฐสวัสดิการ หรือแม้แต่นโยบายของพรรคพลังประชาชนเองเรื่องการเพิ่มรายได้ 4 เท่า ลดรายจ่าย 4 เท่า ที่ไม่มีอะไรผูกมัดว่าจะดำเนินการเมื่อใด ด้านนายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ได้ชี้แจงนโยบายรัฐบาลเกี่ยวกับเรื่องสื่อกลางที่ประชุมสภาเมื่อวันที่ 20 ก.พ.โดยนอกจากนายจักรภพจะกระทำการขัดข้อบังคับการประชุมสภาที่ไม่ควรพาดพิงบุคคลที่ 3 ที่ไม่อยู่ในห้องประชุมแล้ว นายจักรภพยังกล่าวหาบุคคลที่ 3 เพื่อเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้ตนเองด้วย โดยนายจักรภพชี้แจงเหตุผลที่ตนต้องเข้ามาจัดระเบียบสื่อว่า เพื่อให้สื่อมีความสมดุล เพราะสื่อบางองค์กรได้สร้างปัญหาก่อนที่จะมีการก่อรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ซึ่งนายจักรภพ อ้างว่า สื่อคนดังกล่าวก็คือ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่ใช้สื่อในมือให้เกิดความแตกแยกในประเทศ ทั้งนี้ แม้จะมี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ในที่ประชุมหลายคนลุกขึ้นประท้วงนายจักรภพว่ากระทำผิดข้อบังคับการประชุมสภาด้วยการพาดพิงบุคคลที่ 3 ที่ไม่มีโอกาสได้ชี้แจงข้อกล่าวหาของนายจักรภพ แต่นายยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานที่ประชุมมิได้ห้ามปรามหรือตักเตือนนายจักรภพแต่อย่างใด โดยปล่อยให้นายจักรภพอภิปรายกล่าวหาผู้อื่นเพื่อสร้างความชอบธรรมในจัดระเบียบสื่อของตนจนจบ

“ยามฯ” อัด “เพ็ญ” ไม่ลูกผู้ชาย - ด่า “ผู้จัดการ” ซ่อนแอบเป้าหมายกดหัวสื่อ
“เพ็ญ” สับสน อ้างต้องด่า “สนธิ-ผู้จัดการ” กลางสภาเพื่อแจงเหตุปรับปรุงสื่อรัฐ
“เพ็ญ” ลอบกัด “ผู้จัดการ” กลางสภา-อ้างเหตุต้องจัดระบบสื่อ


3. สังคมสวดยับ “สมัคร”บิดเบือน 6 ตุลาฯ ขณะที่เจ้าตัวกลัว “น้ำผึ้งหยดเดียว”รีบปิดเกม-เลิกพูด!

หลังนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี จุดกระแสไม่พอใจในหมู่คนเดือนตุลาฯ และญาติวีรชน 6 ตุลาฯ จำนวนมากด้วยการให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวซีเอ็นเอ็นว่ามีคนตายในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ แค่คนเดียว ปรากฏว่า ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายฝ่ายในสังคม โดยเฉพาะคนเดือนตุลาฯ ได้ออกมาตำหนิการบิดเบือนประวัติศาสตร์ 6 ตุลาฯ ของนายสมัครอย่างกว้างขวาง และแม้คณะกรรมการกองทุนญาติวีรชน 6 ตุลา จะได้ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนหลายองค์กรจัดเสวนาเปิดความจริงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เพื่อยืนยันว่ามีผู้เสียชีวิตจำนวนมากในเหตุการณ์ดังกล่าว รวมทั้งนิสิตจุฬาฯ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ ก็ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้นายสมัครยุติการบิดเบือนตัวเลขผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ แล้ว แต่นายสมัครก็ยังไม่ยอมทบทวนคำพูดของตนเอง นอกจากนี้นายสมัครยังพยายามทำให้สังคมเชื่อตนด้วยการสาบานกลางที่ประชุมสภา(เมื่อ 18 ก.พ.)หลังถูกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หยิบยกเรื่องเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ขึ้นมาอภิปรายว่า ไม่อยากให้เกิดวิกฤตปิดสื่อมวลชนเหมือนกับสมัยที่นายสมัครเป็นรัฐมนตรีมหาดไทยหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ที่มีการปิดหนังสือพิมพ์มากที่สุด ส่งผลให้นายสมัครไม่พอใจ จึงได้ลุกขึ้นตอบโต้พร้อมสาบานว่า “หากผมเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่อง 6 ตุลาฯ แม้แต่นิดเดียว ขอให้มีอันเป็นไป ...แต่ถ้าผมไม่เคยเกี่ยวข้องเลย ก็ขอให้นายสมัคร สุนทรเวช มีแต่ความเจริญรุ่งเรืองในทางการเมืองและในชีวิตทั้งหมด” ด้านอดีตคนเดือนตุลาและตัวแทนคณะกรรมการญาติวีรชน 6 ตุลาจำนวนหนึ่ง ได้บุกสภา(18 ก.พ.)ยื่น จม.เปิดผนึก 3 ฉบับถึงนายยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานสภาฯ ,นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และผู้นำฝ่ายค้าน และ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกฯ และรัฐมนตรีคลัง ซึ่งเป็นอดีตคนเดือนตุลาฯ โดยเรียกร้องให้ตรวจสอบพฤติกรรมของนายสมัครที่ให้สัมภาษณ์ซีเอ็นเอ็นว่ามีคนตายในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ แค่คนเดียว วันต่อมา(19 ก.พ.)นายอดิศร เพียงเกษ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยและอดีตคนเดือนตุลาฯ ได้ออกมายืนยันว่า มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ จำนวนมาก แม้แต่น้องชายตน(สหายหมอก)ซึ่งหนีเข้าป่าพร้อมตนและครอบครัว ก็ต้องเสียชีวิตในป่า จนวันนี้ก็ยังหากระดูกไม่เจอ นายอดิศรยังติงนายสมัครด้วยว่า “ไม่ควรเอาศพวีรชนมาพูดเล่นๆ ...ระวังมิตรจะกลายเป็นศัตรู” นายอดิศรยังแนะนายสมัครด้วยว่า ควรขอโทษประชาชนมากกว่า และว่า น่าจะมีการตั้งคนกลางขึ้นมาชำระประวัติศาสตร์ 6 ตุลาฯ ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีมหาดไทย ออกโรงป้องนายสมัคร โดยอ้างว่า การที่นายสมัครบอกว่ามีคนตายในเหตุการณ์ดังกล่าวแค่คนเดียว เพราะนายสมัครเห็นคนตายแค่คนเดียว  ร.ต.อ.เฉลิม ยังอ้างด้วยว่า ชนวนเหตุที่นำไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ก็คือตำรวจขี้เมาคนหนึ่ง ยศ ร.ต.อ.ที่เมาเหล้า แล้วทำปืนลั่นอยู่ข้างๆ ตน ตรงต้นมะขาม หลังจากนั้นจึงพัฒนาไปสู่การต่อสู้และทำร้ายกัน และว่า ตอนนี้ตำรวจดังกล่าวตายไปแล้ว ซึ่งตนไม่เคยเล่าเรื่องนี้ให้ใครฟังเลย ร.ต.อ.เฉลิม ยังท้าด้วยว่า เอาตนไปสาบานที่วัดพระแก้วก็ได้ ตนอยู่ในเหตุการณ์จริงๆ ด้านนายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้ตำหนินายสมัครเช่นกันระหว่างร่วมเสวนาเรื่อง “จาก 14 ตุลา ถึง 6 ตุลา และพฤษภาเลือด ประวัติศาสตร์บาดแผลกับบท(ไม่)เรียนของเรา”ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(เมื่อ 19 ก.พ.) โดยนายชาญวิทย์ได้ยกตัวอย่างประวัติศาสตร์หลายส่วนเพื่อยืนยันว่ามีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ จำนวนมาก พร้อมชี้ว่า คำพูดของนายกฯ สมัครที่ระบุว่าคนตายในเหตุการณ์ดังกล่าวแค่คนเดียว ถือว่านายกฯ ผิดศีล ขณะที่นายวิทยา แก้วภราดัย รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และอดีตคนเดือนตุลาฯ ก็ได้ออกมาตำหนินายสมัครเช่นกัน โดยบอก ไม่ว่านายกฯ จะสาบานอย่างไรก็ตาม หรือแกล้งว่าเห็นคนตายคนเดียว ก็คิดว่านายกฯ โกหกตัวเอง พูดไม่จริง และว่า ที่นายกฯ สาบานนั้น ถ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริง นายกฯ ก็คงโดนดีสักที ทั้งนี้ หลังเหตุการณ์บานปลายทำท่าจะหยุดการวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ นายสมัครจึงได้พยายามปิดเกมการถูกโจมตีเรื่อง 6 ตุลาฯ ด้วยการประกาศหลังประชุม ครม.(เมื่อ 20 ก.พ.)ว่า “เรื่องนี้ขอให้ยุติ มันจบแล้ว มากพอเพียงแก่เหตุแล้ว” พร้อมอ้างว่า สื่อและชาวบ้านบอกให้ตนทำงานซะที ด้าน นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกฯ และรัฐมนตรีคลัง ในฐานะคนเดือนตุลาฯ ซึ่งสังคมคาดหวังมาก ว่าจะออกมาพูดความจริงเรื่องจำนวนผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ กลับทำให้สังคมผิดหวัง โดย นพ.สุรพงษ์ออกอาการปกป้องนายสมัคร ด้วยการบอกว่า ประเด็นเรื่อง 6 ตุลาฯ ไม่ได้อยู่ที่จำนวนผู้เสียชีวิตว่ามีเท่าใด แต่อยู่ที่การเรียนรู้เพื่อไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมขึ้นอีก ทั้งนี้ แม้จะมีคนเดือนตุลาฯ ในรัฐบาลเปลี่ยนไป แต่ก็มีบางคนที่ไม่ยอมบิดเบือนประวัติศาสตร์ตามนายสมัคร เช่น นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ส.ส.สัดส่วนพรรคชาติไทย หรือ“ไอ้ก้านยาว”อดีตแกนนำนักศึกษาเรียกร้องประชาธิปไตยในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ที่ได้ออกมายืนยัน(21 ก.พ.)ว่า โศกนาฏกรรม 6 ตุลาฯ มีนักเรียน นักศึกษา และประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่พยายามเรียกร้องสิ่งดีงามให้สังคมถูกฆ่าตายจำนวนมาก นับเป็นเหตุการณ์รุนแรงและป่าเถื่อนอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน นายประพัฒน์ ยังชี้ด้วยว่า ไม่มีใครลบล้างประวัติศาสตร์ได้ ใครที่พูดถึงเรื่องนี้ด้วยความไม่เคารพ และมีเจตนาดูหมิ่นดูแคลนประวัติศาสตร์ ไม่มีทางทำอะไรสำเร็จ ขณะที่นายสุธรรม แสงประทุม อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย และอดีตเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ก็ได้ออกมาพูดถึงเรื่องนี้(เมื่อ 22 ก.พ.) โดยยอมรับว่า รู้สึกสะเทือนใจมากที่ได้ยินนายสมัครพูดว่ามีคนตายในเหตุการณ์ดังกล่าวแค่คนเดียว พร้อมชี้ คำพูดของนายสมัครเป็นคำพูดที่ไม่รับผิดชอบ เพราะเหตุการณ์ครั้งนั้น เป็นเหตุการณ์สังหารหมู่ที่เป็นบาดแผลใหญ่ของสังคมไทย และเป็นฆาตกรรมครั้งใหญ่ที่มีต่อมนุษยชาติ ตนเองก็ได้รับเคราะห์กรรมและสูญเสียเพื่อน ด้านองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เปิดแถลง(เมื่อ 22 ก.พ.)เรียกร้องให้นายสมัครและ ร.ต.อ.เฉลิมหยุดบิดเบือนประวัติศาสตร์ พร้อมกล่าวขอโทษต่อต่อวีรชนผู้เสียชีวิตและญาติวีรชนเดือนตุลา และขอให้รัฐบาลชำระประวัติศาสตร์ 6 ตุลาฯ ให้เป็นที่ประจักษ์ เพื่อเป็นบทเรียนให้อนุชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่แท้จริง ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้หลายฝ่ายจะเรียกร้องอย่างไร นายสมัครก็ยังยืนยันท่าทีเดิม โดยย้ำ(เมื่อ 22 ก.พ.)ว่า “ตนบอกชัดเจนไปแล้วว่า จะไม่พูดถึงเรื่องนี้อีก” นายสมัครยังกล่าวถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์เปิดรูปถ่ายนายสมัครยืนอยู่หลังจอมพลประพาส จารุเสถียร ในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เพื่อยืนยันว่านายสมัครมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยว่า ตนจำไม่ได้ นอกจากนี้นายสมัครยังยืนยันเช่นกันว่า จำไม่ได้ว่าเคยชี้แจงกับนักศึกษาไทยที่ฝรั่งเศสว่ามีคนตายในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ กว่า 48 ศพ นายสมัครยังแสดงความเชื่อมั่นด้วยว่า การที่ตนให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ(ซีเอ็นเอ็น)ว่ามีคนตายในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ แค่คนเดียวนั้น “ไม่ใช่ความเสียหายแต่อย่างใด เพราะพูดเท่าที่เห็น และเป็นเสรีภาพของผมโดยแท้” ล่าสุดวันนี้(23 ก.พ.)มีผู้ที่ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ อีกคน ก็คือ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทยและคนเดือนตุลาฯ ซึ่งยืนยันว่า มีคนตายในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ไม่ต่ำกว่า 41 คน พร้อมชี้ว่า คำพูดของนายสมัครที่ระบุว่ามีคนตายในเหตุการณ์ดังกล่าวแค่คนเดียว เป็นการพูดที่เป็นปัญหา อย่างไรก็ตาม นายจาตุรนต์ ย้ำว่า การวิจารณ์นายสมัครของตนครั้งนี้ เป็นการวิจารณ์ด้วยความเป็นมิตร

"จาตุรนต์"โผล่วิจารณ์"หมัก"ย้ำ 6 ตุลาตายไม่น้อยกว่า 41 ศพ
“หมัก” รับไปสนามหลวง 6 ตุลา-งงภาพยืนหลังทรราช
“เทพไท” โชว์ภาพจี้ “หมัก” เอี่ยว 6 ตุลาฯ จริง
“เลี้ยบ” สดุดี “หมัก” อ้างตัวเลขคนตาย 6 ตุลาฯ ไม่ใช่ประเด็น


4. “ลูกเฉลิม”ได้เป็นเลขาฯ รมต.สมใจแล้ว ขณะที่“ลูกวัฒนา”แสดงสปิริต-ขอเคลียร์คดีก่อน!

แม้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะให้คำตอบรัฐบาล(เมื่อ 18 ก.พ.)ว่า ส.ส.สามารถดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาและเลขานุการรัฐมนตรีได้ แต่รัฐบาล โดยเฉพาะพรรคพลังประชาชนก็ไม่กล้าเสี่ยงตั้ง ส.ส.ให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว เพราะมองว่า การตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ถือเป็นที่สุด หากมีการวินิจฉัยเรื่องนี้ของตุลาการรัฐธรรมนูญในภายหลัง อาจเกิดปัญหาได้ จึงยังคงวางตัว ส.ส.สอบตกและผู้ที่ไม่ได้ลงสมัคร ส.ส.ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาและเลขาฯ รัฐมนตรีแทน ซึ่งที่ประชุม ครม.(เมื่อ 20 ก.พ.)ได้มีมติเห็นชอบการแต่งตั้งที่ปรึกษาและเลขาฯ รัฐมนตรีแล้ว โดยรายชื่อที่น่าสนใจ ได้แก่ พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ และ พล.ต.อ.จำลอง เอี่ยมแจ้งพันธุ์ เป็นที่ปรึกษานายกฯ ,นายวัน(วันเฉลิม) อยู่บำรุง เป็นเลขาฯ รัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข(นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล) ,นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม เป็นเลขาฯ รัฐมนตรีช่วยมหาดไทย(นายสิทธิชัย โควสุรัตน์) ,นายยุรนันท์ ภมรมนตรี เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีศึกษาธิการ(สมชาย วงศ์สวัสดิ์) ,น.ส.ลีลาวดี วัชโรบล เป็นเลขาฯ รัฐมนตรีศึกษาธิการ ,นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง เป็นเลขาฯ รัฐมนตรีพาณิชย์(นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หลัง ครม.เห็นชอบการแต่งตั้งที่ปรึกษาและเลขาฯ รัฐมนตรีได้ 1 วัน นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม ก็ได้ยื่นหนังสือขอลาออกจากเลขาฯ รัฐมนตรีช่วยมหาดไทย โดยให้เหตุผลว่า ตนให้ความสำคัญกับความรู้สึกของสังคมที่มองว่าตนติดคดีอยู่ ซึ่งตนเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม จึงคิดว่าก่อนรับตำแหน่งใดใดของบ้านเมือง ควรให้สังคมได้ข้อยุติเรื่องคดีของตนก่อน ทั้งนี้ นอกจาก ครม.จะเห็นชอบการแต่งตั้งที่ปรึกษาและเลขาฯ รัฐมนตรีแล้ว ยังได้มีมติเห็นชอบการแต่งตั้งทีมโฆษกประจำสำนักนายกฯ(โฆษกรัฐบาล)ด้วย โดยมีการตั้ง พล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ เป็นโฆษกรัฐบาล ซึ่ง พล.ต.ท.วิเชียรโชติ เป็นอดีตคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ชุดที่ขึ้นเงินเดือนให้ตัวเอง ซึ่งถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสั่งลงโทษจำคุก 2 ปี โดยรอลงอาญาไว้(เมื่อ 27 พ.ค.48) สำหรับรองโฆษกรัฐบาล ประกอบด้วย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำ นปก.และ น.ส.ศุภรัตน์ นาคบุญนำ พร้อมกันนี้ ครม.ยังรับทราบคำสั่งสำนักนายกฯ ที่แต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร(วิปรัฐบาล)ด้วย โดยผู้ที่ได้นั่งตำแหน่งประธานวิปรัฐบาล ก็คือ นายชัย ชิดชอบ บิดาของนายเนวิน ชิดชอบ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย

“วัน” น้ำตาคลอขอโอกาสทำงาน ก.หมอ เผยบุหรี่-เหล้ายังเลิกไม่สะเด็ด
“เลขาฯ-ที่ปรึกษา” ยี้สมใจ ครม.หมัก ตอกลิ่ม รบ.“ขี้เหร่”
“สุวิทย์” ขอเมตตาปล่อย “ชนม์สวัสดิ์” ทำงาน เชื่อทุกคนอยากทำดี


5. “กกต.”ยื้อเวลาชี้ขาดคดี“ยงยุทธ”ทุจริตเชียงราย ออกไปอีก 1 สัปดาห์!

เมื่อวันที่ 19 ก.พ.คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ได้ประชุมพิจารณาผลสอบของคณะอนุกรรมการสอบสวนกรณีทุจริตเชียงรายชุดที่มีนายสุวิทย์ ธีรพงษ์ เป็นประธาน ซึ่งมีข่าวหลุดออกมาก่อนหน้านี้ว่า อนุกรรมการได้สรุปผลสอบว่า นายยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานสภาฯ และ ส.ส.สัดส่วน กลุ่ม 1 พรรคพลังประชาชนกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง จึงมีมติให้ใบแดงนายยงยุทธ อย่างไรก็ตามหลัง กกต.พิจารณาผลสรุปของอนุกรรมการในวันดังกล่าว โดยมีนายสุวิทย์เข้าชี้แจงพร้อมเปิดวีซีดีที่เป็นหลักฐานบันทึกภาพการเดินทางของกำนันเชียงราย 10 คนที่เดินทางมาพบนายยงยุทธที่กรุงเทพฯ แล้ว กกต.ก็ยังไม่สามารถลงมติได้ว่าจะให้ใบแดงนายยงยุทธหรือไม่ โดยนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.เผยว่า สำนวนสอบมีจำนวนมาก จึงให้ กกต.แต่ละคนนำสำนวนดังกล่าวไปศึกษาก่อน โดยให้เวลา 7 วัน แล้วกลับมาประชุมร่วมกันอีกครั้งวันที่ 26 ก.พ.นี้ โดยนายอภิชาต ไม่ยอมเผยว่า ผลสอบของอนุกรรมการมีมติให้ใบแดงนายยงยุทธตามที่มีข่าวจริงหรือไม่ โดยอ้างว่า เป็นความลับทางราชการ ทั้งนี้ นอกจาก กกต.จะยืดเวลาชี้ขาดคดีทุจริตเชียงรายออกไปอีก 1 สัปดาห์แล้ว กกต.ยังได้ให้อนุกรรมการสอบพยานฝ่ายนายยงยุทธเพิ่มเติมอีก 1 ปาก(พยานยศ พ.ต.อ.)ตามที่นายยงยุทธร้องขอด้วย โดย กกต.ให้เหตุผลว่า เมื่อ กกต.ต้องใช้เวลาศึกษาผลสอบของอนุกรรมการอีก 1 สัปดาห์อยู่แล้ว ระหว่างนี้จึงให้อนุกรรมการสอบพยานนายยงยุทธเพิ่มได้ โดยให้อนุกรรมการนำผลสอบที่สอบเพิ่มมาเสนอที่ประชุม กกต.วันที่ 26 ก.พ. พร้อมเชื่อว่า วันดังกล่าวน่าจะได้ข้อยุติ

“สมชัย” อุ้ม“องคุลิยุทธ” ชี้หากผิดไม่รุนแรง เปิดโอกาสกลับใจ
กกต.อนุโลม “ทั่นยุทธ” ให้สอบพยานเพิ่ม ลั่นสับไกเชือด 26 ก.พ.


6. ลือสะพัด “ทักษิณ”กลับไทย 24 ก.พ.นี้ ขณะที่ “พปช.”เริ่มวางฐานอำนาจแล้ว-เด้ง“อธิบดีดีเอสไอ”รายแรก!

เมื่อวันที่ 22 ก.พ.มีข่าวลือแพร่สะพัดว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เตรียมจะเดินทางกลับประเทศไทยในวันอาทิตย์ที่ 24 ก.พ.นี้ โดยมีข่าวด้วยว่า นายยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานสภาฯ และนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีต่างประเทศ ได้เดินทางไปประเทศจีนเมื่อคืนวันที่ 22 ก.พ. ทั้งนี้ ข่าว พ.ต.ท.ทักษิณจะเดินทางกลับประเทศไทยเร็วขึ้น(ก่อนกำหนดที่วางไว้ในเดือน พ.ค.) ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยนายพิชิฏ ชื่นบาน ทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ยอมรับ(เมื่อ 19 ก.พ.)ว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะเดินทางกลับประเทศไทยเร็วขึ้นกว่าเดิมมาก แต่จะเป็นช่วงไหนยังไม่ขอพูดถึง โดยให้เหตุผลที่ต้องกลับเร็วขึ้นว่า เพื่อมาเตรียมตัวสู้คดี และเพื่อยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่เคยต้องการหนีกระบวนการยุติธรรมแต่อย่างใด ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า ข่าวที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะเดินทางกลับไทยในวันที่ 24 ก.พ.นี้ สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวที่ จ.เชียงรายที่บรรดาคนรักทักษิณได้นัดรวมพลชุมนุมใหญ่ที่บริเวณตลาดนำสวัสดิ์ ถ.ซุปเปอร์ไฮเวย์ อ.เมือง จ.เชียงราย ช่วงเย็นวันนี้(23 ก.พ.) โดยใช้ชื่องานที่นัดพบกันครั้งนี้ว่า “วันคิดถึงทักษิณ” โดยมีข่าวว่า นายพานทองแท้ ชินวัตร จะเดินทางไปร่วมงานดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ นอกจากข่าว พ.ต.ท.ทักษิณเตรียมกลับไทยแล้ว ปรากฏว่า ขณะนี้เริ่มมีปฏิบัติการที่สะท้อนการเช็คบิลและวางฐานเสียงของอำนาจเก่าด้วยการโยกย้ายข้าราชการแล้ว โดยเหยื่อรายแรกก็คือ นายสุนัย มโนมัยอุดม อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ ) ที่ถูกนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมสั่งย้ายไปช่วยราชการในตำแหน่งรักษาการเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ(ปปท.)ซึ่งเป็นหน่วยงานใหม่ที่เตรียมจะจัดตั้งขึ้น แล้วโยก พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ปปส.)มาช่วยราชการในตำแหน่งรักษาการอธิบดีดีเอสไอแทน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ.นี้ นอกจากนี้ยังมีข่าวด้วยว่า เหยื่อรายต่อไปที่จะถูกย้ายก็คือ นายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม โดยอาจจะถูกย้ายไปเป็นผู้ตรวจราชการประจำสำนักนายกฯ

"สุนัย"ปิดโทรศัพท์เงียบ หลังรู้คำสั่งเด้งฟ้าผ่า
ด่วน! “สมพงษ์”เด้ง “สุนัย” พ้นดีเอสไอ
“ประดาบ” ยุติบทบาท! ฮึ่มล่อหลุมพรางขวาง “แม้ว” กลับไทย
ครม.ตั้ง “ลูกเหลิม” เลขา รมต.“น้องเขย” ไม่รู้ “พี่แม้ว” กลับวันไหน

กำลังโหลดความคิดเห็น