รายงานพิเศษ ลึกทันใจ ตอน โลกแคบลงทุกทีสำหรับนักโทษหนีคดี “ทักษิณ ชินวัตร” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม NEWS1 วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม 2561
เรื่องของนักโทษหนีคดีอย่างนายทักษิณ ชินวัตร ที่มักจะใช้โอกาสต่าง ๆ โจมตีประเทศไทยบ้านเกิดของตัวเองอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งรัฐบาลไทยก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ ล่าสุดก็มีข่าวออกมาว่า ทางกระทรวงต่างประเทศและกระทรวงยุติธรรมของไทยได้พยายามสร้างความเข้าใจให้สังคมโลกรับรู้ว่า ทักษิณ ชินวัตร เป็นนักโทษหนีคดีที่โกงชาติ ไม่ใช่นักโทษคดีการเมืองที่จะขอลี้ภัยได้อีกต่อไป โดยเฉพาะ จีน กลุ่มประเทศยุโรป-ยุโรปตะวันออก กลุ่มประเทศอาหรับต่าง ๆ เริ่มเข้าใจและจะไม่ให้ทักษิณใช้พื้นที่ของประเทศเขาออกมาเคลื่อนไหวโจมตีรัฐบาลไทยอีกต่อไป ส่วนอีก 12 ประเทศยังไม่ได้ข้อยุติ ขณะเดียวกันก็ต้องให้เข้าใจในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 ที่ประกาศใช้ไปเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2560 ว่า ศาลสามารถพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ แม้ว่าจะหนีไปก็ตาม
ทั้งนี้ มี 4 คดีสำคัญที่ทักษิณ จะต้องเผชิญก็คือคดีการปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทย วันที่ 20 มิ.ย. 2561 ศาลฎีกาฯ นัดพิจารณาครั้งแรกเป็นคดีดำที่ อม.3/2555 และคดีแดงที่ อม.55/2558 ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้องนายทักษิณที่ 1 กับพวกรวม 27 คน ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้แก่บริษัทในเครือกฤษดามหานคร ซึ่งคดีนี้มีผู้เกี่ยวข้องกำลังรับโทษติดคุกไปแล้วหลายคน
คดีที่สองเอ็กซิมแบงก์ วันที่ 4 ก.ค. 2561 ศาลฎีกาฯ นัดพิจารณาครั้งแรก คดีดำที่ อม.3/2551 และคดีแดงที่ อม.4/2551 ที่ ป.ป.ช.เป็นโจทก์ฟ้อง นายทักษิณ ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีการปล่อยกู้ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ให้รัฐบาลเมียนมา วงเงิน 4,000 ล้านบาท โดยคิดอัตราดอกเบี้ยในอัตรา 3% ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าราคาต้นทุนของเอ็กซิมแบงก์ ในระยะเวลา 12 ปี ทำให้รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณชดเชยผลขาดทุนให้แก่เอ็กซิมแบงก์ในระยะเวลา 12 ปี เป็นเงินรวมกว่า 670ล้านบาท และการปล่อยกู้ครั้งนี้เพื่อหวังประโยชน์ทางธุรกิจในการสั่งซื้ออุปกรณ์จากบริษัท ชินแซทเทลไลท์ โดยคดีนี้ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2551
คดีที่ 3 กรณีการแปลงสัญญาสัมปทานฯ ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2561 ศาลฎีกาฯ นัดตรวจหลักฐาน คดีดำที่ อม.9/2551 และคดีแดงที่ อม.5/2551 ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้องนายทักษิณ ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีการแปลงสัญญาสัมปทานกิจการโทรคมนาคมเป็นภาษีสรรพสามิต ด้วยการตรา พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (พ.ศ.2527) โดยให้ลดอัตราและยกเว้นภาษีสรรพาสามิตสำหรับกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ AIS ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จากอัตราร้อยละ 50 เหลือร้อยละ 10 เป็นผลทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท
คดีที่ 4 หวยบนดิน โดยในวันที่ 25 กรกฎาคม 2561 ศาลฎีกาฯ นัดพิจารณาครั้งแรก คดีดำที่ อม.1/2551 และคดีแดงที่ อม.10/2552 ป.ป.ช. เป็นโจทก์ฟ้องทักษิณ จำเลยที่ 1 กับพวกรวม 47 คน ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการกรณีหวยบนดิน 2 ตัว 3 ตัว คดีนี้ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุกนายวราเทพ รัตนากร อดีต รมช.การคลัง จำเลยที่ 10 เป็นเวลา 2 ปี ปรับ 20,000 บาท, นายสมใจนึก เองตระกูล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง จำเลยที่ 31 และนายชัยวัฒน์ พสกภักดี อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จำเลยที่ 42 เป็นเวลา 2 ปี ปรับ 10,000 บาท แต่ให้รอลงอาญาจำเลยทั้งสามคนละ 2 ปี
ซึ่งทั้งหมดนี้ รัฐบาลต้องรีบใช้โอกาสของการพิจารณาคดีของศาล อธิบายให้ทั่วโลกได้รับรู้ข้อเท็จจริงว่า การแก้กฎหมายครั้งนี้ไม่ได้มีการกลั่นแกล้งใด ๆ ทั้งสิ้นแต่ต้องการให้คนที่ทำผิดกฎหมายต้องมารับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น และป้องกันไม่ให้คนโกงชาติแล้วก็หนีไปอยู่ต่างประเทศจนกระทั่งคดีหมดอายุความก็กลับเข้ามาอย่างสบาย ๆ ได้อีกต่อไป ชาตินี้ทักษิณ ไม่ได้กลับบ้านเกิดอย่างเท่ห์ ๆ แน่นอน
ทีมข่าว ลึกทันใจ รายงาน