xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.หอบสำนวนยื่นฟ้อง “ทักษิณ” ทุจริตฟื้นฟูกิจการทีพีไอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ป.ป.ช. หอบสำนวนยื่นฟ้อง “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ให้กระทรวงการคลังเข้าบริหารแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอ ทั้งที่ไม่มีอำนาจ หลังยืดเยื้อนานเกือบ 8 ปี

เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (7 พ.ค.) นายพัฒนพงศ์ จันทร์เพ็ชรพูล ผอ.สำนักคดี ป.ป.ช. พร้อมเจ้าหน้าที่ หอบสำนวน 21 กล่อง 120 แฟ้ม คดีที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีเห็นชอบให้กระทรวงการคลังเข้าเป็นผู้บริหารแผนคนใหม่ของบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีพีไอ ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่นอกเหนืออำนาจกระทรวงการคลัง ซึ่งไม่มีอำนาจเข้าไปบริหารบริษัทเอกชน อันเป็นความผิดตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ. ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2546 เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ระบบราชการ จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว โดยได้รับเลขคดีดำที่ 40/2561

สำหรับคดีนี้ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2553 ด้วยคะแนน 6 ต่อ 2 ซึ่งการไต่สวนของ ป.ป.ช.พบว่า ระหว่าง “นายทักษิณ” เป็นนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการบริหารราชการแผ่นดิน โดยมี ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ เป็น รมว.คลัง ได้มาหารือเรื่องให้กระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัททีพีไอ ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน และนายทักษิณให้ความเห็นชอบการดำเนินการดังกล่าว โดยการที่กระทรวงการคลัง เข้าเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูของทีพีไอเป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลัง เพราะกระทรวงการคลังไม่มีอำนาจเข้าไปบริหารบริษัทเอกชน อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2546 มาตรา 10 เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ระบบราชการโดยมี ร.อ.สุชาติ เชาว์ศิษฐ อดีต รมว.คลัง ร่วมกระทำผิดด้วย แต่เจ้าตัวถึงแก่กรรมจึงจำหน่ายคดีไป จากนั้นจึงส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดเพื่อส่งฟ้องแต่อัยการไม่เห็นด้วย ทำให้ต้องมีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างอัยการ และ ป.ป.ช. แต่ก็ไม่สามารถหาข้อยุติได้ ป.ป.ช. จึงตัดสินใจยื่นฟ้องเอง รวมระยะเวลาดำเนินการก่อนส่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยาวนานเกือบ 8 ปี ซึ่งคดีนี้ถือเป็นคดีสุดท้ายของนายทักษิณ ที่ค้างอยู่ในขั้นตอนของ ป.ป.ช. และยังมีอีก 4 คดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประกอบด้วย คดีหวยบนดิน คดีเอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้พม่า 4,000 ล้านบาท คดีทุจริตธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ให้บริษัทในเครือกฤษฎามหานครกว่า 9,000 ล้านบาท และคดีแปลงสัญญาสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต ซึ่งเพิ่งมีการรื้อคดีมาพิจารณาลับหลังจำเลยที่หลบหนีคดีไป ตามที่ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นฉบับใหม่

ทั้งนี้ศาลนำคดีเข้าสู่ สารบบความหมายเลขดำ อม.40/2561 เพื่อจะพิจารณาและมีคำสั่งว่าคดีอยู่ในอำนาจศาล และคำฟ้องถูกต้องตามกฎหมายที่จะประทับรับฟ้องไว้พิพากษาได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการยื่นฟ้องคดีแล้ว ขั้นตอนต่อไปประธานศาลฎีกาจะกำหนดนัดประชุมใหญ่ผู้พิพากษาศาลฎีกาทั้งหมด 176 คน เพื่อเลือกผู้พิพากษาระดับตั้งแต่ผู้พิพากษาศาลฎีกาขึ้นไปหรือผู้พิพากษาอาวุโสระดับศาลฎีกา รวม 9 คนเพื่อมาเป็นองค์คณะพิจารณาคดีและเลือกผู้พิพากษา 1 ใน 9 ดังกล่าวเป็นเจ้าของสำนวนคดีต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น