นายนาวิน อินทรสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุนต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ.กสิกรไทย) เปิดเผยว่า ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก หลายธุรกิจต่างต้องชะลอตัว ในขณะที่บางธุรกิจได้รับผลกระทบจนต้องปิดตัวไป แต่สำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ นวัตกรรมทางการแพทย์ รวมถึงยารักษาโรค กลับได้รับอานิสงส์จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้มีผลการดำเนินงานที่ดีจากพฤติกรรมการบริโภคและรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป ทั้งนี้ บลจ.กสิกรไทยได้จ่ายเงินปันผลกองทุนเปิดเค โกลบอล เฮลท์แคร์ หุ้นทุน (K-GHEALTH) และกองทุนเปิดเค โกลบอล เฮลท์แคร์ หุ้นทุน Unhedged (K-GHEALTH(UH)) สำหรับรอบผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 ในอัตรา 0.20 บาทต่อหน่วย โดยมีกำหนดจ่ายปันผลพร้อมกันในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 รวมมูลค่าทั้งสิ้น 66.06 ล้านบาท
นายนาวินกล่าวต่อไปว่า กองทุน K-GHEALTH มีการจ่ายปันผลรวมแล้วทั้งสิ้น 6 ครั้ง เป็นเงิน 1.50 บาทต่อหน่วย โดยในรอบผลการดำเนินงาน 1 ปีที่ผ่านมากองทุนมีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) เฉลี่ยอยู่ที่ 5.54% ต่อปี และมีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปี อยู่ที่ 14.90% ต่อปี (ข้อมูล ณ วันที่ 29 เม.ย. 63) ส่วนกองทุน K-GHEALTH(UH) มีการจ่ายปันผลรวมแล้วทั้งสิ้น 3 ครั้ง เป็นเงิน 0.60 บาทต่อหน่วย โดยในรอบผลการดำเนินงาน 1 ปีที่ผ่านมากองทุนมีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) เฉลี่ยอยู่ที่ 3.70% ต่อปี และมีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปี อยู่ที่ 17.59% ต่อปี (ข้อมูล ณ วันที่ 29 เม.ย. 63) นอกจากนี้ กองทุน K-GHEALTH และ K-GHEALTH(UH) ยังได้รับการจัดอันดับ Overall Morningstar Rating 4 ดาว และ 5 ดาว ตามลำดับ (ที่มา : Morningstar ณ 31 มี.ค. 63) ซึ่งผู้ลงทุนสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนได้ อย่างไรก็ดี บลจ.กสิกรไทยยังคงมุ่งมั่นรักษามาตรฐานการบริหารจัดการกองทุน เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการบริหารความเสี่ยงที่ครอบคลุมในทุกมิติ
“สถานการณ์ COVID-19 ได้ส่งผลกดดันผลตอบแทนของสินทรัพย์เสี่ยงทุกชนิดโดยเฉพาะหุ้น ในขณะที่หุ้นกลุ่มธุรกิจดูแลสุขภาพ (Healthcare) กลับเป็นหุ้นในไม่กี่กลุ่มที่สามารถสร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอแม้ในยามที่ภาวะตลาดผันผวน (Defensive) ทำให้สร้างผลตอบแทนได้มากกว่าดัชนีหุ้นโลกประมาณ 10% โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotech) ที่ได้รับประโยชน์จากการรักษาทางออนไลน์ ตัวอย่างเช่น หุ้น Teladoc ได้ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ผู้ป่วยทั่วไปหันมาใช้การรักษาทางออนไลน์มากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสและลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ COVID-19 จากโรงพยาบาล เป็นต้น รวมถึงกลุ่มเวชภัณฑ์ (Pharma) ที่บริษัทผู้ผลิตสามารถสร้างอุปกรณ์ตรวจสอบการติดเชื้อไวรัส COVID-19 โดยระบุผลทดสอบได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะคิดค้นและพัฒนายาเพื่อรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่การผลิตวัคซีนยังคงต้องใช้เวลาในการทดสอบอีกอย่างน้อย 6 เดือน ทำให้ในระยะสั้นตลาดยังคงมีความผันผวนอยู่” นายนาวินกล่าว
นายนาวินกล่าวเพิ่มเติมว่า การลงทุนในกองทุน K-GHEALTH และ K-GHEALTH(UH) ซึ่งมีนโยบายการลงทุนที่เน้นธีมการลงทุนระยะยาวจากนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ก้าวกระโดด การสร้างธุรกิจใหม่ๆ ที่สามารถตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภค และรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป เพื่อให้ตอบโจทย์ New Normal รวมถึงเทรนด์การดูแลสุขภาพ และสังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นจึงอยากให้ผู้ลงทุนมองเป้าหมายการลงทุนในระยะยาว เพื่อให้สอดรับกับการเติบโตตามหุ้นกลุ่มดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะผันผวนตามปัจจัยทางการเมืองและกฎหมาย เช่น นโยบายด้านราคา รวมถึงกฎเกณฑ์และข้อบังคับต่างๆ เป็นต้น ซึ่งอาจกดดันราคาในระยะสั้นได้