KBank Private Banking ประเมินเศรษฐกิจจีนปีนี้จะเริ่มฟื้นตัวได้ในครึ่งปีหลังและจีดีพีโดยรวมทั้งปีเป็นบวก แต่ยังต้องจับตาการติดเชื้อรอบ 2 ขณะที่ตลาดหุ้นยังมีความน่าสนใจ พร้อมนำเสนอ K-CCTV เนื่องจากมีความโดดเด่นคือ เป็นกองทุนหุ้นจีนเดียวในไทยที่มีกลไกควบคุมความเสี่ยง
นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า KBank Private Banking มองว่าเศรษฐกิจจีนในภาพรวมยังคงมีสัญญาณที่ดี แม้รายงานตัวเลข GDP ของจีนในไตรมาสแรกจะสะท้อนผลกระทบของโรคโควิด-19 ชัดเจน โดยหดตัวลงถึง 6.8% เมื่อเทียบปีต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นการหดตัวครั้งแรกตั้งแต่ปี 1992 อย่างไรก็ตาม คาดว่าเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 2 มีแนวโน้มหดตัวในอัตราที่น้อยลง เพราะกิจกรรมทางธุรกิจเริ่มกลับมาอย่างต่อเนื่อง จากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ตามมาด้วยการขยายตัวของ GDP ในไตรมาส 3 และ 4 ทำให้จีนจะเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศทั่วโลกที่ GDP ในปี 2563 จะขยายตัวในแนวบวกได้ โดย IMF คาด GDP จีนปี 2563 จะขยายตัว 1.2% และหุ้นจีนยังคงเป็นหนึ่งในหุ้นที่มีศักยภาพ ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในปีนี้
โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นจีน A-share (หุ้นจีนที่จดทะเบียน และซื้อขายในตลาดหุ้นจีนเซี่ยงไฮ้ และเซินเจิ้น) ปรับตัวลงเพียง 4% เทียบกับตลาดหุ้นโลกที่ปรับตัวลงกว่า 13% สะท้อนถึงความแข็งแกร่งและมุมมองเศรษฐกิจจีนที่เหนือกว่าประเทศอื่นๆ KBank Private Banking ยังคงคำแนะนำให้ลงทุนในหุ้นจีน A-Share จากปัจจัยด้านการจัดการควบคุมการแพร่ระบาดของรัฐบาลจีนทำได้ดี หากเกิดการแพร่ระบาดระลอก 2 คาดว่าจีนจะสามารถจัดการได้อย่างรวดเร็วและเด็ดขาด รวมถึงเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนมีครบครัน ทั้งนโยบายการคลัง และการเงิน GDP จีนจึงเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่จะอยู่ในเกณฑ์ขยายตัว ราคาหุ้นจีนปัจจุบันยังน่าสนใจ โดยกลยุทธ์การเข้าลงทุนยังแนะนำกระจายเงินลงทุนเป็นหลายๆ ไม้ และทยอยซื้อตอนตลาดปรับตัวลง (Buy on dip)
ทั้งนี้ หนึ่งในกองทุนซึ่งลงทุนในหุ้นจีน A share ที่น่าสนใจ และเหมาะแก่การจัดสรรการลงทุนในพอร์ตเสริม เพื่อสร้างการเติบโต คือ K-CCTV เนื่องจากมีความโดดเด่นคือ เป็นกองทุนหุ้นจีนเดียวในไทยที่มีกลไกควบคุมความเสี่ยง ดังนั้น หากตลาดหุ้นจีนมีความผันผวนสูงขึ้น กองทุนสามารถเปลี่ยนมาถือเงินสดได้อัตโนมัติ จึงช่วยลดความเสี่ยงขาลงได้ดีกว่า นอกจากนี้ ยังกระจายลงทุนใน 2 กองทุนหลัก คือ UBS และ Schroders ซึ่งทั้ง 2 กองมีหลักการการบริหารที่แตกต่างกัน ช่วยกระจายความเสี่ยงอีกต่อหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงที่ควรจับตามองต่อไป กรณีรัฐบาลจีนจะเดินหน้าผลักดันให้กิจกรรมทางธุรกิจกลับมาใกล้เคียงภาวะปกติให้ได้มากที่สุด ภายใต้การควบคุมอย่างใกล้ชิด แน่นอนว่าความเสี่ยงสูงสุด คือ การแพร่ระบาดระลอก 2 ที่อาจทำให้จีนต้องกลับมาล็อกดาวน์ ทำให้กิจกรรมทางธุรกิจต้องชะงักลงอีกครั้ง และเศรษฐกิจอาจหดตัวแรงกว่าที่คาด ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาการว่างงานสูง ปัญหาผิดนัดชำระหนี้ ไปจนถึงปัญหาล้มละลาย ยิ่งปัญหารุนแรงเท่าไร ยิ่งทำให้การฟื้นตัวกลับมาต้องใช้เวลามากขึ้นเท่านั้น ซึ่งหากประเมินสถานการณ์ปัจจุบัน KBank Private Banking ยังมองว่า มาตรการของรัฐบาลจีนจะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจให้ไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยได้