xs
xsm
sm
md
lg

Fixed Income 101 : Interest Rate Risk

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย จิราธิป กุลกาญจนาธร ฝ่ายตราสารหนี้ในประเทศ

ตราสารหนี้เป็นการลงทุนที่มีการกำหนดการจ่ายผลตอบแทนตั้งแต่วันที่ออกตราสารเป็นงวดไปจนถึงวันที่หมดอายุของตราสาร ซึ่งผู้ออกตราสารมีทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยตราสารหนี้ภาครัฐจะมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่าตราสารหนี้ที่ออกโดยภาคเอกชนเนื่องจากไม่มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ ส่วนตราสารหนี้เอกชนจะมีความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกตราสาร (Default Risk) แต่ก็จะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าตราสารหนี้ภาครัฐ แต่ในบทความนี้เราจะเน้นไปในด้านความเสี่ยงที่เกิดจากอัตราผลตอบแทนในตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป (Interest Rate Risk) ซึ่งสองความเสี่ยงนี้เป็นสองปัจจัยเสี่ยงหลักของการลงทุนในตราสารหนี้

โดยทั่วไปแล้วผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนได้รับนั้นมาจาก ดอกเบี้ยรับ (Coupon Rate) ซึ่งเป็นอัตราที่ถูกกำหนดไว้ ณ วันที่หุ้นกู้นั้นถูกเสนอขายครั้งแรก และหากผู้ลงทุนถือตราสารจนครบกำหนดไถ่ถอน อัตราผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนได้รับก็จะเท่ากับอัตราดอกเบี้ยรับ จึงเป็นที่มาของคำว่า “Fixed Income” ที่มีกระแสเงินสดที่แน่นอน โดยต่างจากตราสารทุนที่ผลตอบแทนจากเงินปันผลที่มีความไม่แน่นอนและไม่มีวันครบกำหนดไถ่ถอน แต่หากผู้ลงทุนขายตราสารหนี้ก่อนที่ตราสารจะครบกำหนดไถ่ถอน ผู้ลงทุนอาจจะได้รับเงินมากหรือน้อยกว่าเงินลงทุน ขึ้นอยู่กับว่า ณ ขณะนั้นอัตราผลตอบแทนของตลาดปรับลงหรือปรับขึ้นเมื่อเทียบกับวันลงทุน ซึ่งหากอัตราผลตอบแทนตลาดปรับลดลงผู้ลงทุนก็จะกำไรส่วนเพิ่ม (Capital Gain) ทำให้ผลตอบแทนสุทธิที่ผู้ลงทุนได้รับสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยรับ แต่หากเป็นภาวะที่อัตราผลตอบแทนตลาดปรับสูงขึ้น ผู้ลงทุนก็จะเกิดขาดทุน (Capital Loss) ทำให้ผลตอบแทนสุทธิต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยรับ

ทั้งนี้ กำไร/ขาดทุน ที่ผู้ลงทุนได้รับจากการขายในตลาดรองนั้นจะมากจะน้อย นอกจากจะขึ้นกับผลต่างของดอกเบี้ย ณ วันลงทุน กับอัตราผลตอบแทนของตลาด ณ วันที่ขาย และระยะเวลาถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักด้วยกระแสเงินสดคิดลดของหลักทรัพย์ (Duration) แต่เนื่องจากการคำนวณระยะเวลาถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักด้วยกระแสเงินสดคิดลดของหลักทรัพย์มีความยุ่งยากพอควร ดังนั้นเพื่อให้ง่ายเราอาจใช้อายุคงเหลือของตราสารเป็นตัวบอกถึงความผันผวนแทนได้เช่นกัน ซึ่งเมื่อหลักทรัพย์ที่อายุคงเหลือของตราสารมากก็จะมีความผันผวนของราคาต่อการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยตลาดมากกว่า

การลงทุนในตราสารหนี้หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ ผู้ลงทุนควรวางแผนลงทุนให้เหมาะสมกับแผนการใช้เงินของผู้ลงทุน เช่น หากผู้ลงทุนมีความต้องการใช้เงินในระยะสั้นก็ควรลงทุนใน “กองทุนรวมตลาดเงิน” ที่มีอายุถัวเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักระยะสั้นประมาณ 3 เดือน เพื่อเป็นแหล่งพักเงินที่มีโอกาสได้ผลตอบแทนมากกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ แต่หากผู้ลงทุนมีแผนที่จะลงทุนในระยะยาวก็อาจลงทุนใน “กองทุนรวมตราสารหนี้” ซึ่งโดยมากแล้วจะมีอายุถัวเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 1 ถึง 3 ปี ทั้งนี้ ผู้ลงทุนสามารถกำหนดกลยุทธ์การลงทุนได้หากผู้ลงทุนมีมุมมองเกี่ยวกับทิศทางของดอกเบี้ยในตลาด เมื่อผู้ลงทุนมองถึงทิศทางดอกเบี้ยตลาดที่จะปรับลดลง ผู้ลงทุนก็ควรจะลงทุนในตราสารหนี้หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีอายุถัวเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักสูง เพื่อที่จะรับประโยชน์จากการปรับขึ้นของราคาหลักทรัพย์เมื่อดอกเบี้ยตลาดมีการปรับลดลง แต่หากมีมุมมองเกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยตลาดว่าดอกเบี้ยจะปรับขึ้นก็ควรจะลงทุนในตราสารหนี้หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีอายุถัวเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักต่ำ เพื่อลดผลกระทบจากการปรับลงของราคาหลักทรัพย์เมื่อดอกเบี้ยตลาดมีการปรับขึ้น เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น