ก.ล.ต.แนะลงทุนหุ้นกู้ต้องศึกษา-ติดตาม-ใช้สิทธิเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเอง เนื่องจากเป็นการลงทุนหนึ่งที่ผู้ลงทุนให้ความสนใจในภาวะที่ดอกเบี้ยเงินฝากต่ำและเศรษฐกิจมีความผันผวนเช่นในปัจจุบัน เพราะมีการจ่ายดอกเบี้ยสม่ำเสมอและได้รับเงินต้นคืนเมื่อหุ้นกู้ครบกำหนด
นางสาวจอมขวัญ คงสกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า การลงทุนหุ้นกู้นับเป็นการลงทุนหนึ่งที่ผู้ลงทุนให้ความสนใจในภาวะที่ดอกเบี้ยเงินฝากต่ำและเศรษฐกิจมีความผันผวนเช่นในปัจจุบัน เพราะมีการจ่ายดอกเบี้ยสม่ำเสมอและได้รับเงินต้นคืนเมื่อหุ้นกู้ครบกำหนด ซึ่งหากสนใจลงทุนในหุ้นกู้ควรศึกษาและทำความเข้าใจปัจจัยต่างๆ ทั้งก่อนและหลังจากที่ลงทุนไปแล้ว เพื่อรักษาสิทธิและผลประโยชน์ของตนเอง
โดยก่อนการลงทุนหุ้นกู้ ข้อมูลที่ควรให้ความสนใจหลักๆ ที่สามารถดูได้จากหนังสือชี้ชวนแบบสรุปข้อมูลสำคัญของตราสาร (แบบ factsheet) และงบการเงิน เช่น บริษัทผู้ออกเป็นใคร อยู่ในอุตสาหกรรมใด หุ้นกู้ที่จะลงทุนมีลักษณะอย่างไร อายุและอัตราดอกเบี้ยเป็นอย่างไร เงินที่ได้จะนำไปทำอะไร อันดับความน่าเชื่อถือทั้งของบริษัทผู้ออกและหุ้นกู้ที่จะลงทุนเป็นอย่างไร เป็นต้น
นอกเหนือจากข้อมูลสำคัญข้างต้นแล้ว ผู้ลงทุนยังต้องให้ความสนใจกับความเสี่ยงของหุ้นกู้ รวมทั้งประเมินความสามารถในการรับความเสี่ยงของตนเองด้วย ซึ่งความเสี่ยงสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในหุ้นกู้ ได้แก่ ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง และความเสี่ยงด้านราคา
สำหรับหลักการลงทุนในหุ้นกู้นั้น ผู้ลงทุนควรติดตามข้อมูลของบริษัทผู้ออกและข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ เช่น ผลการดำเนินงาน การปฏิบัติตามข้อกำหนดสิทธิ และการเปลี่ยนแปลงอันดับความน่าเชื่อถือ เป็นต้น เพื่อประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องว่าเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด ยังคงอยู่ในขอบเขตที่รับได้หรือไม่ หรือมีโอกาสที่บริษัทผู้ออกจะผิดนัดชำระหนี้ในระยะเวลาอันใกล้หรือไม่ ซึ่งสามารถดูได้จากงบการเงินของบริษัทผู้ออก และบนเว็บไซต์ ก.ล.ต. หรือสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย
ส่วนหุ้นกู้ที่เสนอขายต่อประชาชนทั่วไปและผู้ลงทุนรายใหญ่ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 ก.ล.ต. กำหนดให้มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้เพื่อช่วยตรวจสอบการปฏิบัติตามข้อกำหนดสิทธิของบริษัทผู้ออก หากบริษัทผู้ออกไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดสิทธิและเกิดความเสียหายขึ้น ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จะทำหน้าที่เรียกร้องค่าเสียหายให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ โดยในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น บริษัทผู้ออกประสบปัญหาสภาพคล่อง มีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ หรือใกล้ละเมิดข้อกำหนดสิทธิเกี่ยวกับการดำรงอัตราส่วนทางการเงิน เป็นต้น ทำให้บริษัทผู้ออกอาจจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้เพื่อขอขยายระยะเวลาชำระคืนเงินต้น และแก้ไขข้อกำหนดสิทธิ
หากบริษัทจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้เพื่อขอขยายระยะเวลาชำระคืนเงินต้น และแก้ไขข้อกำหนดสิทธิ ผู้ลงทุนควรซักถามบริษัทผู้ออกหรือผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้เพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วน เพียงพอต่อการตัดสินใจลงมติ โดยอย่างน้อยควรครอบคลุมประเด็นต่อไปนี้ เช่น สาเหตุของการผิดนัดชำระหนี้ ข้อเสนอและเงื่อนไขในการขอขยายระยะเวลาชำระคืนเงินต้น แผนการจัดหาแหล่งเงินเพื่อการชำระคืนหนี้ทั้งหมด ระยะเวลาการดำเนินการ ความเป็นไปได้ของแผนที่วางไว้ ความเพียงพอที่จะรองรับการชำระหนี้ และการรายงานความคืบหน้า, ข้อดี ข้อเสีย ประโยชน์ และผลกระทบของการลงมติในแต่ละทางเลือก และขั้นตอนการดำเนินการตามข้อกำหนดสิทธิในการเรียกร้องให้บริษัทผู้ออกชำระหนี้ทั้งหมด กรณีที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ลงมติไม่อนุมัติ
กรณีที่บริษัทผู้ออกมีการผิดนัดชำระหนี้ ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จะมีบทบาทสำคัญมากในการจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นกู้เพื่อหาข้อสรุปและนำมติที่ประชุมไปแจ้งต่อบริษัทผู้ออก หากบริษัทผู้ออกยังไม่ดำเนินการใดๆ ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จะดำเนินการเรียกให้ชำระหนี้ บังคับหลักประกัน และเรียกร้องค่าเสียหายให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้
สำหรับหุ้นกู้ที่ไม่มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ผู้ลงทุนจะต้องติดตามข้อมูลข่าวสาร ผลการดำเนินงาน การปฏิบัติตามข้อกำหนดสิทธิของบริษัทผู้ออกอย่างใกล้ชิด และดำเนินการต่างๆ เพื่อรักษาสิทธิและผลประโยชน์ของตน ซึ่งรวมถึงการฟ้องร้องดำเนินคดีกรณีที่เกิดการผิดนัดชำระหนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าหุ้นกู้นั้นจะมีการแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้หรือไม่ก็ตาม ก.ล.ต.ขอให้ผู้ลงทุนเข้าร่วมประชุมด้วยตนเองเพื่อซักถามผู้บริหารและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียดรอบคอบก่อนการตัดสินใจลงมติเสมอ เพื่อรักษาสิทธิและผลประโยชน์ของตนเองอย่างดีที่สุด