บลจ.ยูโอบีตั้งเป้าโตทะลุ 10% เน้นเพิ่มความร่วมมือกับแบงก์แม่ และเสนอทางเลือกกองทุนที่เหมาะสมกับสภาวะตลาด แนะจับตาอัตราดอกเบี้ยเฟดหากพลิกโผอาจทำหุ้นร่วงอีก พร้อมชู 5 กองทุนเด่น ทั้งอินคัมฟันด์ หุ้นกลาง-เล็กญี่ปุ่น หุ้นกลาง-เล็กไทย และตราสารหนี้โลก เหมาะลงทุนช่วงผันผวน และหุ้นกลุ่มประเทศที่กำลังเติบโต
นายวนา พูลผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมกองทุนในปีนี้น่าจะขยายตัวได้ประมาณ 10% และในส่วนของบริษัทน่าจะมีมูลค่าทรัพย์สินภายใต้การจัดการเพิ่มขึ้นมากกว่าอุตสาหกรรม ส่วนในปีที่ผ่านมา ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2560 บริษัทมีทรัพย์สินภายใต้การจัดการอยู่ที่ 2.71 แสนล้านบาท แบ่งเป็นกองทุนรวม 1.69 แสนล้านบาท กองทุนส่วนบุคคล 7.9 หมื่นล้านบาท และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 2.1 หมื่นล้านบาท
สำหรับปีนี้บริษัทยังคงนำเสนอทางเลือกการลงทุนที่เหมาะสมกับภาวะตลาดและสอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุน ด้วยการใช้ความเชี่ยวชาญ การสนับสนุนจากเครือข่ายในภูมิภาค รวมไปถึงการจับมือกับเครือข่ายพันธมิตรทั่วโลกเพื่อนำเสนอทางเลือกการลงทุนที่เหมาะสม นอกจากนี้ เรายังเล็งเห็นถึงความสำคัญในการเข้าถึงการลงทุนที่ง่ายและสะดวก ล่าสุดเมื่อช่วงปลายปีได้เปิดตัว UOBAM INVEST ซึ่งเป็น Mobile application ที่ช่วยเติมเต็มทุกเรื่องของการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขาย การเช็กข้อมูลกองทุน บทวิเคราะห์ ตัวอย่างพอร์ตการลงทุน เป็นต้น และได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องในส่วนของการจัดพอร์ตการลงทุนให้เฉพาะเจาะจงตามวัตถุประสงค์ของผู้ลงทุน ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในไตรมาสที่สองของปีนี้
“เราจะเพิ่มช่องทางใหม่สำหรับกองทุนรวม ทั้งไอพีอิสระ และเอเจนต์ต่างๆ ให้แอ็กทีฟมากขึ้น ซึ่งเราได้ทำงานร่วมกับแบงก์แม่มากขึ้น ทั้งในส่วนของผลิตภัณฑ์และการขยายฐานลูกค้าในปีนี้ โดยในส่วนของไพรเวตฟันด์และโพวิเดนต์ฟันด์ บริษัทจะมีสินค้าใหม่ๆ ที่พิเศษขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับการวางแผนการเงิน และการลงทุนของลูกค้าในกลุ่มนี้” นายวนากล่าว
นายวนากล่าวอีกว่า ด้านเศรษฐกิจโลกคาดการณ์การเติบโตจะปรับตัวขึ้นที่ 3.9% ในปี 2561 และปี 2562 (ข้อมูลจาก IMF ณ มกราคม 2561) นำโดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงเติบโตต่อเนื่อง และคาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 2.7 ในปี 2561 ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปและญี่ปุ่นเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีและน่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 2.2 และ 1.2 ตามลำดับ โดยญี่ปุ่นเองยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ สำหรับเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเกิดใหม่นั้นคาดว่าจะเติบโตได้ 4.9% ในปี 2561 และ 5.0% ในปี 2562 โดยได้แรงสนับสนุนจากการเติบโตที่ดีในภูมิภาคเอเชีย และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในละตินอเมริกา ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ด้านเศรษฐกิจจีนนั้นยังเติบโตต่อเนื่องถึงแม้จะมีมาตรการเข้มงวดจากภาครัฐออกมาในบางช่วง โดยคาดว่าตลอดทั้งปีนี้จะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 6.6
ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2561 ยังเติบโตอย่างต่อเนื่องได้ในระดับร้อยละ 3.9-4.2 (ประมาณการของ ธปท.และ สศค.) โดยได้รับอานิสงส์ทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ ในส่วนของการส่งออกและท่องเที่ยวมีแนวโน้มที่จะโตต่อเนื่องตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ โครงการลงทุนภาครัฐที่ประมูลแล้วเสร็จในปี 2559-60 จะเริ่มก่อสร้างในปี 2561 ทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบมากขึ้นจากโครงการลงทุนเหล่านั้น
“สิ่งที่ต้องจับตาหลังจากนี้คงจะเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดว่าจะส่งสัญญาณอย่างไรในการประชุม 3 ครั้ง ซึ่งหากปรับตัวตามคาดการณ์คงไม่มีอะไร แต่ถ้าปรับเกินก็น่าจะมีโอกาสทำให้หุ้นปรับตัวลงอีก แต่เชื่อว่าในปีนี้ตลาดหุ้นยังคงผันผวน ส่วนอัตราดอกเบี้ยในประเทศคงจะอยู่ในระดับต่ำไปทั้งปี ซึ่งดูแล้วอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันยังไม่ส่งผลให้แบงก์ชาติจำเป็นต้องปรับดอกเบี้ยแต่อย่างใด” นายวนากล่าว
ด้าน นางสาวรัชดา ตั้งหะรัฐ ประธานเจ้าหน้าที่การตลาด กล่าวแนะนำการลงทุนในปีนี้ว่า “จากภาพรวมการลงทุนดังกล่าวทำให้ภาวะการลงทุนมีโอกาสที่จะเกิดความผันผวนได้มาก ทำให้การแสวงหาโอกาสการลงทุนจะต้องใช้ความเชี่ยวชาญที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ด้วยความร่วมมือกับเครือข่ายภูมิภาคและพันธมิตรระดับสากลคัดสรรการลงทุน นอกจากนี้ยังมีมุมมองที่ดีการลงทุนในหุ้นที่ได้รับการสนับสนุนจากเศรษฐกิจที่เติบโต ดังนั้นจึงแนะนำนักลงทุนปรับพอร์ตการลงทุนโดยการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะตลาดในปัจจุบัน”
อนึ่ง เพื่อครอบคลุมโอกาสการลงทุนที่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ จึงได้คัดสรร 5 กองทุนดังนี้ 1. กองทุนเปิด ยูไนเต็ด อินคัม โฟกัส ฟันด์ (UIF) 2. กองทุนเปิด ยูไนเต็ด อีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ต อินคัม ฟันด์ (UEMIF) 3. กองทุนเปิด ยูไนเต็ด โกลบอล ไดนามิค บอนด์ ฟันด์ (UDB) 4. กองทุนเปิด ยูโอบี สมาร์ท เจแปน สมอล แอนด์ มิด แคป ฟันด์ (UOBSJSM) 5. กองทุนเปิด ยูไนเต็ด ไทย สมอล์ แอนด์ มิด แคป อิควิตี้ ฟันด์ (UTSME)