บลจ. ยูโอบี มองเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีได้จากการที่ ศก. สหรัฐฯ มีทิศทางดีขึ้น แนะกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ทั่วโลก เพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่เหมาะสม ด้าน บล.กสิกรไทยคาดหุ้นไทยแกว่งในกรอบ 1,555-1,590 จุด
นายวนา พูลผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ในปี 2560 คาดการณ์เศรษฐกิจโลกจะปรับตัวดีขึ้นที่ 3.4% และโต 3.6% ในปี 2561 จากการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีทิศทางปรับตัวดีขึ้น และคาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ 2.1% ในปีนี้ ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปน่าจะขยายตัวได้ 1.9% และญี่ปุ่นขยายตัว 1.3% หลังจากเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยญี่ปุ่นเองยังคงดำเนินนโยบายผ่อนคลายการเงินต่อเนื่อง เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ การส่งออกเริ่มปรับตัวดีขึ้น
ขณะที่เศรษฐกิจจีนยังโตดีต่อเนื่องท่ามกลางมาตรการเข้มงวดจากภาครัฐในช่วงสองไตรมาสที่ผ่านมา โดยในครึ่งปีแรกปีนี้ เติบโต 6.9% คาดว่าตลอดทั้งปีนี้จะสามารถขยายตัวได้ 6.7% จากภาคการบริโภค และส่งออก ที่พลิกฟื้นดีขึ้นจากช่วงไตรมาสแรก ซึ่งภาพรวมของเศรษฐกิจโลกที่โตดีขึ้น จะเป็นปัจจัยหนุนการส่งออกในทวีปเอเชีย และไทย
ทั้งนี้ บลจ. ยูโอบี มองว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออก และการท่องเที่ยว เป็นหลัก โดยในช่วง 6 เดือนแรก การส่งออกของไทยเติบโตถึง 7.8% ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 4.4% และมีแนวโน้มขยายตัวดีในครึ่งปีหลังจากฐานต่ำในปีก่อนหน้า ส่วนการบริโภคภาคเอกชนยังรักษาระดับการเติบโตที่ 3% โดยได้อานิสงส์จากรายได้ภาคเกษตรที่ดีในช่วงต้นปี ส่วนการลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัวจากภาคอสังหาฯ การก่อสร้างโดยรวม
สำหรับกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทยปีนี้ คาดว่าจะเติบโตประมาณ 10% ถือว่าไม่สูงนักเทียบกับค่าเฉลี่ย 14% ในอดีต โดยการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในระยะกลางถึงยาว น่าจะยังให้ผลตอบแทนที่ดีจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้น จะส่งผลให้กำไรของ บจ. ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในปี 2561 ทั้งนี้ แนะนำกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ทั่วโลก เพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่เหมาะสมกับภาวะตลาดในปัจจุบัน
ด้าน บล. กสิกรไทย คาดการณ์ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 28 ส.ค.-1 ก.ย. 2560 มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,565 และ 1,555 จุด ส่วนแนวต้านอยู่ที่ 1,580 และ 1,590 จุด โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ข้อมูลจีดีพีประจำไตรมาส 2/2560 และการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ส.ค. ของสหรัฐฯ
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ สำคัญอื่น ๆ ได้แก่ รายได้-รายจ่ายส่วนบุคคล และดัชนี ISM ภาคการผลิตสำหรับเดือน ส.ค. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่น ๆ เช่น ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเดือน ส.ค. ของกลุ่มยูโร, ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือน ส.ค. ของจีน และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ค. ของญี่ปุ่น