xs
xsm
sm
md
lg

SCBAM ปันผลกองพลังงาน-แบงก์ ชี้เศรษฐกิจโตหนุนหุ้นแบงก์ดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บลจ.ไทยพาณิชย์ปันผล 2 กองทุน SCBENERGY จ่าย 1.0500 บาทต่อหน่วย SCBBANKING จ่าย 0.1500 บาทต่อหน่วย ระบุหุ้นพลังงานยังผันผวนจากราคาน้ำมัน แต่มีปัจจัยหนุนระยะสั้นจากค่าไฟฟ้าและการกลั่นที่เพิ่มขึ้น ขณะที่หุ้นกลุ่มแบงก์เหมาะลงทุนระยะยาว แนะจับตาค่าธรรมเนียมและการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่อาจมีผลกระทบได้

นายสมิทธ์ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ เตรียมจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนที่ลงทุนในกองทุนหุ้นจำนวน 2 กองทุน สำหรับผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม 2559-31 กรกฎาคม 2560 โดยจะจ่ายให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนในวันที่ 18 สิงหาคม 2560 ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ SET ENERGY SECTOR INDEX (SCBENERGY) จ่ายปันผลในอัตรา 1.0500 บาทต่อหน่วย โดยแบ่งเป็นจ่ายระหว่างกาลไปแล้วเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2560 ในอัตรา 0.8500 บาทต่อหน่วย คงเหลือจ่ายงวดนี้ 0.2000 บาทต่อหน่วย (ครั้งที่ 6) โดยกองทุนมีนโยบายการลงทุนที่สร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนีหมวดพลังงานและสาธารณูปโภคของตลาดหุ้นไทยมากที่สุด

ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนของดัชนีหุ้นกลุ่มพลังงานยังคงมีแนวโน้มผันผวนตามราคาน้ำมันดิบเป็นหลัก ซึ่งคาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบแคบ 45-50 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล เนื่องจากตลาดยังมีความกังวลต่อการผลิตน้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง

อย่างไรก็ดี ปัจจัยสนับสนุนหลักของกลุ่มพลังงานในระยะสั้น ได้แก่ ผลการดำเนินงานที่คาดว่าจะแข็งแกร่งโดดเด่นของกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันที่ได้ประโยชน์จากค่าการกลั่นปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น และโรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตที่เติบโตและได้ประโยชน์จากค่า Ft ที่สูงขึ้น

และอีก 1 กอง คือ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ SET BANKING SECTOR INDEX (SCBBANKING) จ่ายปันผลในอัตรา 0.1500 บาทต่อหน่วย (ครั้งที่ 6) โดยกองทุนมีนโยบายการลงทุนในหุ้นหมวดธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เฉลี่ยปีละไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ โดยจะใช้กลยุทธ์ที่สร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนีหมวดธุรกิจธนาคารให้มากที่สุด

สำหรับหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในมูลค่าเชิงเปรียบเทียบ (Valuation) ได้ปรับตัวลงสะท้อนความเสี่ยงระยะสั้นเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) และผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2/2560 ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่แต่ยังคงอยู่ในระดับที่น่าลงทุนในระยะยาว โดยคาดว่าจะมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยทั้งที่มาจากการลงทุนของภาครัฐ การส่งออก การท่องเที่ยว และการฟื้นตัวของการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นอย่างที่เคยทำในอดีต

แต่อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงที่คงต้องระวัง ได้แก่ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อ การปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมของการทำรายการระหว่างกันสำหรับลูกค้ารายย่อย รวมสินเชื่อด้อยคุณภาพที่อาจเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอในช่วงที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น