เมืองไทย 360 องศา
นาทีนี้เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คงจะจับสัญญาณารมณ์ของคนไทยได้แล้วว่าความนิยมศรัทธาต่อตัวเขาเริ่มมีปัญหา มีความถดถอยลงจากเดิมมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแน่นอนว่าสาเหตุของความเสื่อมถอยดังกล่าวล้วนมาจากเรื่องปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของชาวบ้านเป็นหลัก
แม้ว่าต้องยอมรับความจริงเช่นเดียวกันว่าปัจจัยที่ทำให้ปัญหาดังกล่าวมาจากภายนอกที่ควบคุมได้ยาก เช่น หากพูดถึงเรื่องการส่งออกก็ต้องพูดถึงเศรษฐกิจต่างประเทศที่เป็นคู่ค้าของเรา ซึ่งยังอยู่ในภาวะย่ำแย่กันถ้วนหน้า เช่น จีน หรือแม้แต่อินเดียที่คิดหวังว่าจะเป็นตลาดใหม่ ก็เริ่มทำท่าย่ำแย่ขึ้นมาอีก ที่ยังพอหวังได้บ้างก็น่าจะเป็นเพื่อนบ้านอาเซียนนี่แหละ และในเมื่อเศรษฐกิจของเราที่เรียกว่าทุนเสรียังต้องพึ่งพาการส่งออกถึงร้อยละ 80 แบบนี้ เมื่อข้างนอกมีปัญหามันก็ย่อมส่งผลกระทบแบบเลี่ยงไม่ได้
ที่สำคัญมันส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรตัวหลักๆทั้งนั้น เช่น ข้าว ปาล์มน้ำมัน และยางพารา เวลานี้ราคารูดลงอย่างน่าใจหาย ขณะเดียวกัน ทุกคนก็ย่อมรู้ดีว่าหากชาวสวนชาวนาพวกนี้มีปัญหา มันก็จะกระทบกันไปเป็นวงกว้าง เพราะพวกเขาเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เมื่อพวกเขามีปัญหาก็เสี่ยงในทางการเมืองเสียด้วยสิ
เหมือนกับในเวลานี้ที่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังเริ่มเผชิญกับแรงกดดันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดที่กำลังถูกวิจารณ์ในทางลบก็คือมาตรการในการแก้ปัญหาวิกฤตราคายางพาราที่ตกต่ำเป็นประวัติการณ์ และเชื่อว่านับจากนี้ไปยังต้องเจอกับปัญหาราคาสินค้าเกษตรอื่นๆ ตกต่ำที่กังจะตามมาก็คือเรื่องราคาข้าว ที่ยังต่ำลงเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมีปัญหาภัยแล้งที่ซ้ำเติมเข้ามาอีก ก็ยิ่งหนักหนาสาหัสอีกหลายเท่า
ต้องยอมรับว่าสาเหตุสำคัญย่อมมาจากปัจจัยภายนอก จากเศรษฐกิจต่างประเทศมีปัญหา ราคาน้ำมันตกต่ำ ทำให้เราส่งออกได้ลดลง หรือมีราคาตก อย่างไรก็ดี หากจะอ้างแบบนั้นก็อ้างได้ และมีเหตุผลที่พอรับฟังได้เหมือนกัน แต่ขณะเดียวกัน หากมัวแต่อ้างเรื่องโน่นเรื่องนี่ ในช่วงเวลาแรกๆ ก็อาจรับฟังได้ แต่เมื่อเวลาเนิ่นนานผ่านไปเป็นปี นี่จะย่างเข้าปีที่ 2 แล้ว หากรัฐบาลหรือผู้นำรัฐบาลมัวแต่อ้างเรื่องปัญหาภายนอก หรือกล่าวโทษแต่รัฐบาลก่อน หรือพวกนักการเมืองที่ไม่เอาไหนมันก็ใช่เพราะมัน “ห่วยแตก” คบไม่ได้ก็จริง แต่เมื่อพูดบ่อยๆ ได้ยินบ่อยๆ บางทีชาวบ้านมันก็รู้สึกรำคาญได้เหมือนกัน พร้อมกับอาจตั้งคำถามกลับมาว่าถ้าอย่างนั้นเราจะมีรัฐบาล มีผู้นำเอาไว้ทำไม กลายเป็นว่า “ดีแต่โทษคนอื่น”
เวลานี้สิ่งที่ต้องยอมรับความจริงกันก็คือรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มถูกตั้งข้อสังเกตมากขึ้นว่าเป็น “รัฐราชการ” ที่อุ้ยอ้ายเชื่องช้า ไม่สามารถรองรับกับสารพัดปัญหารุมเร้าได้อย่างทันท่วงที ที่ผ่านมาหลายหน่วยงายราชการไม่สามารถรองรับกับคำสั่งและนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เลย
หากยกตัวอย่างเรื่องปัญหาราคายางพาราตกต่ำจะเห็นภาพชัดเจนที่สุดถึงความด้อยประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาของฝ่ายรัฐบาล ตั้งแต่ผู้นำสูงสุดคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ เพราะราคายางที่ตกต่ำอยู่ในตอนนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน แต่เกิดขึ้นต่อเนื่องนานนับปีแล้ว และก่อนหน้าก็มีชาวสวนยางออกมาประท้วงทีหนึ่งก็จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง มีการอ้างว่าจะทำให้ดีขึ้น แล้วก็เงียบหายไป จนกระทั่งเมื่อยังไม่มีแนงโน้มที่ดีขึ้นชาวบ้านก็ต้องออกมากดดันเพราะทนไม่ไหว แต่ก็ยังเจอกับท่าทีเย็นชสแข็งกร้าวขู่ดำเนินคดีเสียอีก ทั้งที่พวกเขาออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหา ยังไม่ใช่ออกมาขับไล่ให้ออกไป
แน่นอนว่าหากพิจารณาจากเส้นทางที่มาก็ย่อมทำให้ชาวบ้านพวกนี้เสียความรู้สึกกับ รัฐบาลโดยเฉพาะกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ขณะเดียวกันอีกมุมหนึ่งก็มองเห็นถึงความล่าช้าล้มเหลวของหน่วยงานรัฐที่พอมองเห็นเป็นตัวอย่างก็คือ กรณีการจ่ายเงินชดเชยชาวสวนยางทั้งเจ้าของและคนกรีดยางรวมกันไร่ละ 1,500 บาท จำนวนไม่เกิน 15 ไร่ ที่คณะรัฐมนตรีมีมติช่วยเหลือเวลาผ่านไปเกือบครึ่งปีแล้วมาถึงวันนี้มีกี่รายที่ได้รับเงินบ้าง
นอกจากนี้ หากยังจำกันได้มีการพูดถึง “เมืองยาง” หรือการสนับสนุนอุตสาหกรรมยางเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติ แต่ในความเป็นจริงก็ยังไปไม่ถึงไหนล่าสุดรัฐบาลก็บอกให้รอไปอีก 2-5 ปี ขณะที่การเพิ่มสัดส่วนผสมของยางกับยางมะตอยในการราดผิวถนนการทำพื้นสนามกีฬา ก็ไม่เห็นเป็นรูปธรรม หรือดำเนินการจริงจัง ล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อาคม เติมพิทยาไพสิฐ เพิ่งออกมาเร่งเร้าให้หน่วยงานในกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบทเพิ่มจำนวนปริมาณการใช้ยางพาราในการซ่อมแซมถนนในปีนี้ให้มากขึ้น คำถามก็คือที่ผ่านมาทำไมถึงล่าช้า ไม่มีความคืบหน้าทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ เป็นการช่วยพยุงราคาไม่ให้ตกต่ำอย่างในปัจจุบัน
ดังนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้แม้ว่าส่วนสำคัญมาจากปัญหาภายนอกที่ควบคุมได้ยาก แต่ขณะเดียวกันจากตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นก็ย่อมปฏิเสธไม่ได้เช่นเดียวกันว่าเริ่มมาจากปัญหาของกลไกรัฐที่ไร้ประสิทธิภาพ ล่าช้า ทำให้สงสัยได้เหมือนกันว่ามันเป็นปัญหาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติด้วยหรือไม่
ที่ผ่านมาก็มักได้ยินแต่เสียงบ่น โทษปัญหาหมักหมม โทษรัฐบาลก่อน กล่าวโทษนักการเมือง ซึ่งมันก็ใช่ แต่คำถามก็คือในเมื่อตัวเองมีอำนาจเบ็ดเสร็จ สามารถลงมือผ่าตัดได้อย่างทันท่วงทีหากเห็นว่าเป็นปัญหาของชาติ มีความสร้างสรรค์ก็ทำได้ทันที ดังนั้นเมื่อย่างเข้าสู่ปีที่สองปีที่สามหากยังได้ยินแต่มุกเดิมๆ นานไปมันก็ “ฝืด” เหมือนกัน!