xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” ก้นร้อน ผลงานอืดไล่บี้ขู่ฟันข้าราชการเกียร์ว่างเรียงตัว!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา

“ในที่ประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ได้ตรวจการบ้านรองนายกฯ ที่ได้ให้ไว้ก่อนสิ้นปี โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ได้รายงานว่า ต่อไปนี้ต้องกระตุ้นข้าราชการที่เกียร์ว่าง การประเมินผลในรูปแบบใหม่จะต้องดำเนินการให้ได้เร็วที่สุด จะเริ่มการตรวจสอบตั้งแต่เมษายน 59 และมีผลต่อการโยกย้ายแต่งตั้งช่วง 1 ตุลาคม 59

นายวิษณุได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.), สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.), สำนักงบประมาณ และสภาพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติ โดยการประเมินผลรูปแบบใหม่จะไม่ใช่ประเมินแค่ข้าราชการอย่างเดียว แต่จะประเมินผู้นำองค์กรของรัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชนที่เป็นเบอร์ 1 รวมถึงผู้บริหารระดับท้องถิ่น ทูตตามสถานทูตต่างๆ ที่มีระดับตั้งแต่ซี 10-11 ขึ้นไป ส่วนซีที่ต่ำกว่านี้จะให้ปลัดกระทรวงเป็นผู้ประเมิน ตามกรอบการประเมินผลส่วนกลาง

วัตถุประสงค์นี้เป็นการตอบโจทย์ของนายกฯ ที่ต้องการเร่งรัดให้ข้าราชการทุกระดับให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีเกียร์ว่าง เมื่อไปตรวจสอบพบว่ามีอยู่จำนวนหนึ่ง ฉะนั้น การประเมินผลแบบนี้จะทำให้ข้าราชการตื่นตัวในการทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ และยังเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปประเทศ ใครที่ไม่ผ่านการประเมินก็จะมีผลร้ายต่อตัวเอง ผลการประเมินจะนำไปปรับปรุงการปฏิบัติงานของแต่ละหน่วยงาน รวมถึงการพิจารณาหากต้องการแยกหน่วยงานหรือขยายหน่วยงาน เพิ่มอัตรา หรือการยุบหน่วยงาน เช่น กรณีองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เกี่ยวข้องกับหน่วยงานใดบ้างก็จะนำมาเป็นตัวชี้วัดด้วย”

นั่นเป็นการแถลงของ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา แม้ว่าสาระสำคัญจะเป็นเรื่องของการเร่งรัดการทำงานของบรรดารองนายกฯ และรัฐมนตรีทั้งหลายเพื่อให้คำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นไปตามเป้าหมาย ตามกำหนด ขณะเดียวกันในถ้อยคำที่มีการแถลงออกมายังมีการระบุให้เห็นว่า มี “ข้าราชการเกียร์ว่าง” จึงต้องมีการ “ขู่ลงดาบ” นั่นคือจะต้องมีการประเมินข้าราชการโดยเฉพาะบรรดาพวกผู้บริหารองค์กรระดับตั้งแต่ระดับ 10 ขึ้นไป นั่นก็ย่อมหมายความว่าตั้งแต่ระดับอธิบดีขึ้นไป

ขณะเดียวกัน คราวนี้ยังพิเศษมากกว่าเดิมก็คือจะมีการประเมินคลุมไปถึงพวกผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ องค์กรมหาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทูตต่างๆ ทั่วโลกที่ไทยมีสำนักงานตั้งอยู่จะมีการประเมินผลงานกันทั้งหมดว่าได้ทำตามนโยบายกันไปมากน้อยแค่ไหน โดยจะเมินในเดือนเมษายนและจะมีผลต่อการโยกย้ายในเดือนตุลาคมปีนี้ อีกทั้งยังส่งผลต่อองค์การอีกด้วย เพราะหากผลการประเมินออกมาว่า"ห่วยแตก"ทำอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอันก็อาจมีผลร้ายถึงขั้น ยุบหรือควบรวมกันเลยทีเดียว

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวแบบนี้ทางหนึ่งก็ย่อมแสดงให้เห็นว่า “มีความเครียด” เกิดขึ้นภายในรัฐบาลตั้งแต่เริ่มปีใหม่กันเลยทีเดียว ซึ่งมันก็ไม่ได้ผิดความคาดหมายเท่าใดนัก เพราะมีการส่งสัญญาณมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วว่าในปี 59 ปัญหายุ่งยากยังต้องมีอยู่ต่อไป โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจปากท้องอาจจะหนักกว่าเดิมด้วยซ้ำไป เพราะปัญหาภายนอกยังไม่โงหัวดีขึ้นเลย และยังซ้ำเติมด้วยภัยแล้งที่มาเร็วกว่ากำหนด

ความเคลื่อนไหวที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเริ่มกังวลก็คือ จะมีการออกมาเรียกร้องของเกษตรกรเพื่อขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล ซึ่งตอนนี้เป็นคิวของชาวสวนยางพารา และต่อไปก็อาจจะเป็นชาวสวนปาล์ม หรือข้าวก็ได้ เพราะเวลานี้ราคาผลผลิตหลักๆ ทุกรายการตกต่ำจนน่าใจหาย

อย่างที่รับรู้กันว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาสินค้าทุกรายการตกต่ำมาจากเศรษฐกิจภายนอก จากปัญหาราคาน้ำมันที่ตกต่ำ แต่ขณะเดียวกันก็ยังมาจากปัญหาความล่าช้าห่วยแตกของบรรดารัฐมนตรีบางคน ข้าราชการที่ไร้ประสิทธิภาพ ทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม และยังมีไม่น้อยที่ “เกียร์ว่าง” เพราะตัวเองไม่ได้ประโยชน์ หรือเป็นลูกน้องเคยรับใช้พวกนักการเมืองมานาน คนพวกนี้ก็รอให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะเห็นแล้วว่าต้องมีการเลือกตั้งตามที่ประกาศเอาไว้ตามโรดแมปในเดือนกรกฎาคมปี 60 ข้าราชการ “เขี้ยวลากดิน” พวกนี้ก็ทำเป็น “หูทวนลม” ไปเรื่อยๆ หรือรับคำสั่งมาดิบดีแต่ก็ไม่ทำสักอย่าง เมื่อประกอบกับมีรัฐมนตรีที่ไม่เอาไหน มีวิธีการแบบข้าราชการโบราณก็ยิ่งไปกันใหญ่

ยกตัวอย่างเรื่องราคายาง นาทีนี้คงไม่มีใครหวังว่าจะต้องกลับมาเป็นกิโลกรัมละ 80-100 บาท เหมือนแต่ก่อนหรอก แต่หากทั้งรัฐมนตรี หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องรับรองว่าราคามันคงไม่ตกต่ำถึงขั้นนี้แน่นอน ผลงานที่ประจานตัวเองก็คือ ราคาที่ตกต่ำแบบนี้ไม่ใช่เกิดขึ้นเมื่อวานหรือเมื่อวานซืน แต่มันเกิดขึ้นมานานนับปี แต่ในที่สุดเมื่อมีการเรียกร้องกดดันก็มีการกันงบประมาณออกมาเพื่อรับซื้อโดยตรงด้วยวิธีพิเศษ จะซื้อในราคาที่สูงกว่าเดิม แต่คำถามก็คือ หากไม่ต้องการใช้กลไกการตลาดแล้ว วิธีการแบบนี้จะใช้ได้อีกนานเท่าใด และที่บอกไม่มีงบประมาณจะเอาที่ไหนมา

ทั้งที่สิ่งที่ทำได้ก็คือการกระตุ้นให้หน่วยงานราชการ เช่น กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท หรือกระทรวงที่เกี่ยวนำยางไปใช้ให้มากขึ้น เร็วขึ้น เพื่อดูดซับปริมาณยางส่วนเกินออกไปให้มากที่สุด เช่นก่อนหน้านี้มีการพูดกันว่าจะให้ใช้ส่วนผสมของยางมากขึ้นในการทำถนน แม้ว่าต้นทุนจะสูงขึ้นแต่มันก็คุ้มค่าเมื่อเทียบกับคุณภาพและอายุการใช้งานยางนานขึ้น หรือการก่อสร้างสนามกีฬา สนามฟุตซอลที่ใช้ก็ไม่มีการดำเนินการจริงจัง เพราะล่าสุดเพิ่งเห็นข่าวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อาคม เติมพิทยาไพศิฐ แถลงว่าจะเพิ่มปริมาณการใช้ยางเป็นส่วนผสมยางมะตอยในการทำถนนและการซ่อมแซมถนนเพิ่มขึ้น ขณะที่ทางเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนก็เพิ่งออกมาเร่งรัดให้ภาคเอกชนที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในโรงงานที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยางให้รีบลงมือก่อสร้างโรงงาน นั่งแสดงว่ามีหลายรายที่นำใบอนุญาตไปกอดเอาไว้เฉยๆ

ยังมีคำถามเกี่ยวกับการจ่ายเงินชดเชยให้แก่ชาวสวนยางและลูกจ้างกรีดยางไร่ละ 1,500 บาท ไม่เกินจำนวน 15 ไร่ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรฯ ของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ผ่านมากี่เดือนแล้วถึงมือเกษตรกรไปแล้วเพียงไม่กี่ราย นี่ก็สะท้อนให้เห็นวิธีการทำงานว่าเป็นอย่างไร

สิ่งที่เกิดขึ้นล้วนเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงวิธีการทำงานที่ไร้ประสิทธิภาพทั้งตัวรัฐมนตรี ข้าราชการหลายหน่วยงานที่ยังทำงานแบบเดิม ยังไม่สามารถตอบสนองต่อปัญหาของชาวบ้านได่อย่างทันท่วงที มิหนำซ้ำหลายครั้งยังเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้สาหัสกว่าเดิมเข้าไปอีก และคราวนี้ สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คงก้นร้อนนั่งไม่ติด เพราะเริ่มหนักตั้งแต่ต้นปี และหากยังเป็นแบบนี้ตามรูปการณ์แล้วเชื่อว่าจะหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ!
กำลังโหลดความคิดเห็น