xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตราคายาง ท่าทีเย็นชาผลัก “ประยุทธ์” เสียเพื่อน-โดดเดี่ยวเร็วขึ้น !!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา

เรื่องปัญหาราคายางพาราตกต่ำในเวลานี้ แม้ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่กำลังกลายเป็นวิกฤตของบ้านเมือง วิกฤตของชาวบ้านทั่วประเทศ แต่หากพิจารณาจากสถานการณ์ความเป็นจริงในเวลานี้ยังไม่ถือว่าจะเกิดเป็นแรงกระเพื่อม หรืออารมณ์รุนแรงจนเกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้น

การออกมาเคลื่อนไหวของเกษตรกรชาวสวนยาง โดยเฉพาะชาวสวนยางในภาคใต้ที่กำลังเดือดร้อนอย่างหนักจากราคาตกต่ำลงเรื่อย ๆ จนเวลานี้มีการพูดกันว่า “สี่โลร้อย” แล้ว และมีแนวโน้มยังจะลงไปอย่างต่อเนื่อง เพราะแม้ว่าเป็นช่วงปลายของฤดูเปิดกรีด เนื่องจากต้นยากเริ่มผลัดใบ มีปริมาณน้ำยางน้อย จนกระทั่งหยุดการกรีดและเริ่มเปิดฤดูกาลใหม่ในราวเดือนมีนาคมเป็นต้นไป ซึ่งตามปกติในช่วงเวลาแบบนี้ราคาจะสูงขึ้นบ้าง แต่เรื่องตกต่ำรูดลงไปแบบนี้มันก็แสดงให้เห็นว่าน่าอะไรกลไกบางอย่างที่ผิดปกติ

หากย้อนกลับไปพิจารณาเรื่องราคายางพาราตกต่ำ ถือว่าตกต่ำมาตลอด และนับตั้งแต่ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา จนถึงทุกวันนี้ราคาตกต่ำลงมาเรื่อย ๆ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน อย่างไรก็ดีหากพิจารณากันด้วยความเป็นธรรมก็ต้องบอกว่าสาเหตุหลักมาจากปัจจัยภายนอก นั่นคือเป็นเพราะราคาน้ำมันตกต่ำเป็นประวัติการณ์เช่นเดียวกัน ซึ่งข้อมูลและความเป็นจริงดังกล่าว เชื่อว่าชาวบ้านทั่วไปก็รับทราบไม่น้อย

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เกิดขึ้น และน่าจะเป็นข้อสังเกตก็คือ ราคายางพารา รวมไปถึงราคาเกษตรหลีกอื่นๆ เช่น ปาล์มน้ำมัน และข้าว เป็นต้น ราคาสินค้าเกษตรเหล่านี้ตกต่ำจนน่าใจหายทำให้มีการมองว่ามีกลไกของรัฐบางอย่าง ไม่ทำงาน หรือทำงานไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และเวลานี้หน่วยงาน รวมทั้งตัวบุคคลที่กำลังถูกวิจารณ์ ถูกตำหนิมากที่สุด ก็คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รวมทั้งหน่วยงานในความรับผิดชอบทั้งหมดที่ต้องถูกตำหนิอย่างรุนแรงว่าทำงานได้ล่าช้า ไม่ทันสถานการณ์ยังมีรูปแบบราชการโบราณไม่เปลี่ยนแปลง

เริ่มจากตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ที่แม้ว่าจะย้ายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ไร้ผลงานจำจด มานั่งเก้าอี้กระทรวงใหม่น่าจะมีผลงานให้จับต้องได้บ้าง ทุกอย่างยังหยุดนิ่งเหมือนเดิม ที่ผ่านมาหากย้อนกลับไปพิจารณาข่าวย้อนหลังกลับไม่เคยเห็น “แอ็กชัน” ของเขาในเรื่องการหามาตรการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำเลยแม้แต่น้อย ที่ผ่านมาเคยเห็นหรือไม่ว่า เขาเคยลงพื้นที่ไปรับฟังปัญหาหรือหามาตรการแก้ไขให้เป็นรูปธรรมอย่างไรบ้าง

สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่ถูกตำหนิจากเกษตรกรชาวสวนยางว่าเป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้กลไกการตลาดผิดเพี้ยนไปกว่าที่ควรจะเป็นทำให้ราคายางตกลงอย่างรวดเร็ว และยังไม่มีแนวโน้มที่จะทรงตัวหรือดีขึ้นเลย

ที่น่าเจ็บปวดไปกว่านั้น ก็คือ ท่าทีอัน “เย็นชาแข็งกร้าว” อย่างไม่น่าเชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางที่กำลังเดือดร้อนทั่วประเทศ เพราะท่าทีที่เห็นนอกจากไม่มีการพูดปลอบใจแล้ว ยังทำให้"เสียความรู้สึก"นั่นคือการข่มขู่ใช้มาตรการตามกฎหมายขั้นเด็ดขาดหากมีการชุมนุมเรียกร้องเกิดขึ้น และย้ำว่าหากจะโทษก็ต้องโทษพวกนักการเมืองและรัฐบาลก่อนที่ส่งเสริมการปลูกยางเพิ่มพื้นที่จนล้นตลาด

ดังนั้น สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่วชาติเรียกร้องก็คือให้ชาวสวนยางเร่งปฏิรูปตัวเอง และหันมาปรับเปลี่ยนการปลูกพืชชนิดอื่นให้หลากหลายมากขึ้น ไม่ให้หวังพึ่งพายางพาราเพียงอย่างเดียว

ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อ้างว่า รัฐบาลได้ช่วยเหลืออย่างเต็มที่แล้ว และการช่วยเหลือจะเน้นที่การช่วยเหลืออย่างยั่งยืน ซึ่งต้องใช้เวลา จะไม่มีการใช้วิธีนำเงินงบประมาณมาจ่ายอุดหนุนชดเชยเป็นอันขาด เพราะนอกจากไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องแล้ว ที่สำคัญก็คือรัฐบาลไม่มีงบประมาณเพื่อการนี้มากพอ เขาอ้างว่ามีการผลักดันสร้าง"เมืองยาง"ในพื้นที่นั่นคือสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราอย่างครบวงจรอย่างเต็มที่ แต่ล่าสุดก็ยังเป็นเพียงความหวัง และ พล.อ.ประยุทธ์ ยังยืนยันว่าอีกประมาณ 2-5 ปีข้างหน้าถึงจะมีการลงทุนในประเภทอุตสาหกรรมดังกล่าวที่คาดว่าจะมีประมาณ 5 พันล้านบาท

อย่างไรก็ดีก็มีคำถามเกิดขึ้นมาเช่นเดียวกันว่าที่ผ่านมากลไกของรัฐได้มีการตอบสนองต่อนโยบายแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางไปอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะการส่งเสริมให้นำยางพารามาผสมกับยางมะตอยในการราดยางทำถนน เพื่อดูดซับส่วนเกินของปริมาณยางที่ออกมาสู่ตลาด เพราะที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าไม่เห็นความคืบหน้าในการดำเนินการอย่างจริงจัง ทั้งในกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท เป็นต้น ที่เวลานี้ไม่เห็นรายงานว่ามีการนำยางพาราเป็นส่วนผสมในการทำถนนหรือซ่อมถนนในจำนวนหลายพันกิโลเมตรทั่วประเทศในเวลานี้ รวมไปถึงหน่วยงานอื่น เช่นการก่อสร้างสนามกีฬา สนามฟุตซอลทั่วประเทศก็ยังมีให้เห็นน้อยมาก

มีเสียงวิจารณ์ว่าหากหน่วยงานของรัฐนำยางพารามาเป็นส่วนผสมและนำมาใช้จริงก็เชื่อว่าสามารถลดปริมาณส่วนเกินลงไปได้มาก แม้จะไม่อาจทำให้ราคาสูงขึ้น แต่อย่างน้อยก็คงไม่ต่ำให้ราคาตกต่ำลงไปกว่านี้

สิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความด้อยประสิทธิภาพในการทำงานของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐก็คือการช่วยเหลือเกษตรกรเป็นด้วยความล่าช้า ล้มเหลว นั่นคือกรณีการจ่ายเงินช่วยเหลือชดเชยให้กับชาวสวนยางไร่ละ 1500 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ ที่ช่วยเหลือทั้งเจ้าของและคนรับจ้างกรีดยาง แต่ในความเป็นจริงก็คือเวลาผ่านไปนานหลายเดือนแล้วนับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้จ่ายเงินดังกล่าว จนถึงบัดนี้เงินยังไม่ถึงมือชาวบ้านเลย ข้อมูลล่าสุดของ จินตนา ชัยยะวรรณการ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรฯที่บงไปเจรจาแทนรัฐมนตรีเกษตรฯในพื้นที่ ต้องไปไล่บี้กับ การยางแห่งประเทศไทย(กยท.)ว่าทำไมถึงได้ล่าช้า นี่ยังไม่นับเรื่องเกี่ยวกับเงินกู้ของสถาบันเกษตรต่างๆที่แทบไม่มีการขยับอะไรเลย

ดังนั้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับวิกฤติราคายางพาราในเวลานี้สะท้อนให้เห็นว่ากลไกของรัฐยังมีความล้มเหลวในการรับรู้และแก้ไขปัญหา ความล้มเหลวไร้ประสิทธิภาพของรัฐมนตรีที่รับผิดชอบโดยตรง และที่น่าเศร้าก็คือนอกจากไม่ได้เห็นคำปลอบใจกันยังใช้ท่าทีเย็นชาข่มขู่ให้เสียความรู้สึกเกิดอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่ออารมณ์ออกมาแบบนี้มันก็คงช่วยไม่ได้ที่ต่อไปนี้ชาวบ้านเขาจะ"วางเฉย"ไม่สนับสนุนเหมือนแต่ก่อน ขณะเดียวกันสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถือว่าจากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้เสียเพื่อนสูญเสียความศรัทธาลงไปไม่น้อย และอย่าได้แปลกใจที่ต่อไปเขาจะโดดเดี่ยวมากขึ้นกว่าเดิม !!
กำลังโหลดความคิดเห็น