มอร์นิ่งสตาร์เชื่อทั้งปีอุตสาหกรรมกองทุนโต 10% เม็ดเงินลงทุนแตะ 4.5-4.6 ล้านล้านบาท ระบุครึ่งปีแรกกองเงินไหลออก กองหุ้นขนาดใหญ่ทำกำไรตามภาวะตลาด กองตราสารหนี้ยังครองแชมป์ คนนิยมลงทุนสั้น
นายกิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ นักวิเคราะห์กองทุนประจำประเทศไทย บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า มูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารสุทธิ (AUM) อุตสาหกรรมกองทุนปีนี้คาดว่าเติบโตประมาณ 10% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4.5-4.6 ล้านล้านบาท ขณะที่ AUM ช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้เติบโตประมาณ 8.73% คิดเป็นเม็ดเงินทั้งสิ้น 4.42 ล้านล้านบาท และไม่เพียงแต่มูลค่าทรัพย์สินสุทธิเท่านั้นที่โต ในแง่ของเม็ดเงินลงทุนใหม่ที่ไหลเข้าอุตสาหกรรมก็สูงจะทะลุ 319,733 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิของเมื่อปี 58 รวมทั้งปี
เพียงแต่นักลงทุนยังคงเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ และรวมถึงในกองทุนที่เน้นลงทุนแบบระยะสั้นซึ่งอาจส่งผลถึงความผันผวนของเม็ดเงินไหลเข้าออกในอุตสาหกรรม โดยครึ่งปีแรกของปีนี้ประเภทกองทุนที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดนั้นนำมาโดยกลุ่มกองทุนตราสารหนี้ทั้งสิ้น ได้แก่ Mid/Long Term Bond โดยมีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิทั้งสิ้น 114,797 ล้านบาท Global High Yield Bond Fix Term มีเม็ดไหลเข้าสุทธิทั้งสิ้น 103,657 ล้านล้านบาท และ Foreign Investment Bond Fix Term มีเม็ดไหลเข้าสุทธิทั้งสิ้น 49,025 ล้านบาท
ขณะที่แนวโน้มกองทุนหุ้นไทยซึ่งไม่นับรวมกองทุน LTF และ RMF ช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้พบว่ามีเงินไหลออกสูงถึง 7,386 ล้านบาท โดยเม็ดเงินออกจากหุ้นขนาดใหญ่ หรือ Equity Large Cap มากถึง 8,128 ล้านบาท แต่ในขณะเดียวกันหุ้นขนาดกลางและเล็ก หรือ Equity Small/Mid Cap มีเม็ดเงินไหลเข้าประมาณ 743 ล้านบาท การไหลออกของเม็ดเงินลงทุนเป็นผลมาจากนักลงทุนขายทำกำไรอันเนื่องมาจากผลตอบแทนที่ดีในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมมูลค่าทรัพย์สินสุทธิในกลุ่มนี้ยังคงโตจากปีที่แล้ว 7.11% มูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมอยู่ที่ 169,741 ล้านบาท โดยกองทุนที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากผู้ลงทุนยังคงเป็นแชมป์เก่าหน้าเดิมกองทุน Krungsri Dividend Stock ที่มีเม็ดเงินไหลเข้า 2,555 ล้านบาท กองทุนดังกล่าวเน้นลงทุนในหุ้น SCC, AOT, PTT, INTUCH และ BDMS ขณะที่อันดับ 2 ก็คือ TISCO Mid/Small Cap Equity กองทุนที่ทำผลตอบแทนได้สูงที่สุดประจำปี 58 นั้นเองที่ 416 ล้านบาท เน้นลงทุนในหุ้น PLANB, JAS, AMATAV, CHG และ TMB และอันดับ 3 เป็นของกองทุน CIMB-Principal (FAM) EEF จาก บลจ. ซีไอเอ็มบี ที่ 214 ล้านบาท เน้นลงทุนในหุ้น CPALL, AOT, BDMS, ADVANC และ KCE
สำหรับกลุ่มหลักทรัพย์ที่กองทุนเข้าลงทุนมากสุด อย่างกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่สัดส่วนลงทุนรวมประมาณ 95.5% แบ่งเป็นกลุ่มพลังงาน 30% กลุ่มธนาคาร 14.5% กลุ่มวัสดุก่อสร้าง 10.6% กลุ่มสาธารณูปโภค 9.2% และกลุ่มอุตสาหกรรม 7% ประกอบด้วยหุ้น PTT, PTTEP, SCC, ADVANC, PTTGC, SCB, TOP, AOT, BBL, KBANK ส่วนหุ้นกลุ่มขนาดกลางและเล็กที่กองทุนเข้าลงทุนมากสุด 90.4% แบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม 15% กลุ่มค้าปลีก 15% กลุ่มธนาคาร 14.4% กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 11.2% และกลุ่มอุปโภคบริโภค 7.8% ประกอบด้วยหุ้น AAV, PTT, PTTGC, BCH, SCC, WORK, INTUCH, ADVANC, KTC และ QH
**กองผสมต่างประเทศก็ฮิต**
นายกิตติคุณกล่าวเพิ่มเติมว่า ประเภทกองทุนที่ได้รับความนิยมในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมานี้เช่นเดียวกันนั้นก็คือ กลุ่มกองผสมทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทุนผสมที่ลงทุนในต่างประเทศ Global Allocation ที่สามารถดึงเม็ดเงินลงทุนสุทธิเข้าอุตสาหกรรมได้สูงถึง 31,040 ล้านบาท ในทางกลับกันจะสังเกตได้ว่ากลุ่ม Money Market จากที่เคยเป็นแหล่งพักเงินหลักของนักลงทุนในช่วงที่ขาดความมั่นใจในการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงนั้นกลับไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไป ทั้งนี้น่าจะเป็นผลมาจากอัตราผลตอบแทนที่ไม่เป็นที่จูงใจมากนักตลอดช่วงปีที่ผ่านมา
สำหรับกองทุนประเภท Trigger fund ครึ่งปีแรกนี้มี Trigger fund เปิดขายใหม่เพียง 13 กองทุนและทำยอด IPO รวมทั้งสิ้นได้ไม่ถึง 1,500 ล้านบาท ซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับช่วงเวลาที่ Trigger fund เป็นที่นิยม ซึ่งครั้งหนึ่งเคยออกกันอย่างครึกโครม ตัวอย่างเช่น เมื่อครึ่งแรกปี 2558 มีออกกองทุน Trigger fund กว่า 68 กองทุน โดยทำยอด IPO ได้สูงกว่า 30,000 ล้านบาท หรือแท้จริงแล้วเป็นผลมาจากการที่นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงไม่สามารถขายกองทุน Trigger fund ได้เนื่องจากผลตอบแทนที่ยังไม่ถึงเป้าหมายเป็นผลทำให้ขาดความเชื่อมั่นและไม่มีเงินมาลงทุน
โดยปัจจุบันยังมีกองทุน Trigger fund ทั้งสิ้นกว่า 200 กองทุนที่ยังทำผลตอบแทนไม่ถึงเป้าหมาย ซึ่งมูลค่าทรัพย์สินคงค้างกว่า 36,000 ล้านบาท กองทุน LTF และ RMF ครึ่งปีแรกนี้ในภาพกว้างมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนทั้ง 2 ประเภทยังคงโตอย่างต่อเนื่อง โดยกองทุน LTF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิโตจนใกล้ทะลุ 300,000 ล้านบาท แต่โตขึ้นเพียงเล็กน้อยที่ 5.86% ขณะที่ RMF ก็เช่นเดียวกันโตเพียงเล็กน้อยที่ 5.81% ทำให้มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 189,621 ล้านบาท