xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อ “มาเลเซีย” พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รูปจากแฟ้มภาพ
โดย เมธา พีรวุฒิ
บลจ.บัวหลวง

หากจะกล่าวถึงประเทศในอาเซียน ความกังวลที่นักลงทุนมีต่อประเทศมาเลเซียดูจะหนักหนาที่สุด ด้วยราคาน้ำมันในตลาดโลกในปี 2558 ลดฮวบไปกว่าครึ่ง ย่อมกระทบต่อสถานะประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ในภูมิภาค แน่นอนว่ารายได้หลักของประเทศย่อมกระเทือนไปโดยปริยาย

ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับนักลงทุนที่ติดตามข่าวสารการเมืองอย่างใกล้ชิด คงทราบว่าการเมืองที่เคยมีเสถียรภาพยาวนาน กลับเริ่มต้นมรสุมครั้งใหม่ เมื่อผู้นำประเทศถูกครหาในเรื่องธรรมาภิบาล กระตุ้นให้เงินทุนต่างชาติไหลออก จนค่าเงินริงกิตในปีที่ผ่านมาเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่ามากที่สุดในภูมิภาคถึงกว่า 23% แม้รัฐบาลจะพยุงค่าเงินด้วยเงินทุนสำรองระหว่างประเทศก็ตาม

แต่กลับน่าแปลก ทั้งที่เจอเรื่องร้ายทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองรุมเร้าอย่างหนัก แต่เศรษฐกิจยังขยายตัวได้กว่า 5% ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนๆ เสียด้วย ขณะที่ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ เช่น รัสเซีย หรือซาอุดีอาระเบีย เศรษฐกิจกลับหดตัวอย่างชัดเจน คำถามตามมาคือ ประเทศมาเลเซียทำอย่างไรถึงยังประคับประคองเศรษฐกิจในภาวะคับขันให้เติบโตได้ดีเช่นนี้

ผู้นำมาเลเซียนั้นมองการณ์ไกลและเตรียมรับมือไว้นานแล้ว เพราะความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์นั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้แน่ และเมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมกระเทือนต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้เริ่มปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยวางแผนมุ่งเป้านำพาประเทศไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วและมีรายได้สูงภายในปี 2563 หรือที่เรียกว่า Economic Transformation Programme (ETP)

แผนงานสำคัญคือการปรับโครงสร้างจากประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรและสินค้าโภคภัณฑ์ที่มูลค่าต่ำ เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันปาล์ม และยางพารา ซึ่งเป็นสินค้าที่มักเผชิญ “สงครามราคา” จากภาวะสินค้าล้นตลาดอยู่เสมอ ให้กลายเป็นประเทศที่ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงเพื่อการส่งออก ด้วยการจูงใจเงินลงทุนต่างชาติเข้ามาร่วมพัฒนาวิจัยเทคโนโลยีขั้นสูง ผ่านสิทธิพิเศษทางภาษีและเขตเศรษฐกิจพิเศษ ควบคู่ไปกับพัฒนาห่วงโซ่อุปทานในระดับภูมิภาค ที่ผู้จัดหาวัตถุดิบ ผู้ผลิต และผู้จัดจำหน่ายอยู่ร่วมกันอย่างเป็นระบบเพื่อลดต้นทุน

ในที่สุด มาเลเซียสามารถดึงเม็ดเงินจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า (E&E) ให้มาลงทุนได้สำเร็จ จนกลายเป็นฐานการผลิตหลักของสินค้าประเภท Semiconductor หรือ “ชิปอัจฉริยะ” ของบริษัทชั้นนำระดับโลก เช่น Intel และ AMD ชิปอัจฉริยะเหล่านี้จะนำไปประกอบเป็นอุปกรณ์จำพวกสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ที่เป็นอุปกรณ์ไอทีร่วมสมัย ทั่วโลกยังต้องการในระดับสูง

ขณะที่ไทยและเวียดนามยังคงเน้นผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนที่มีมูลค่าต่ำกว่า เช่น ฮาร์ดดิสก์หรือชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ความสำเร็จในการปรับโครงสร้างช่วยหนุนให้อุตสาหกรรม E&E ในมาเลเซียเติบโตจนแข่งขันในตลาดโลกได้ แม้ว่าหลายประเทศจะใช้วิธีลดค่าเงินของตัวเองเพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าส่งออกก็ตาม จนปัจจุบัน E&E กลายเป็นสินค้าที่มาเลเซียส่งออกมากที่สุด คิดเป็นกว่า 35% ของการส่งออกทั้งหมด สวนทางกับการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์โดยรวมที่ลดลงจาก 35% ในปี 2557 มาเหลือ 25% ขณะที่มูลค่าการส่งออกทั้งหมดในสกุลเงินริงกิตในปีก่อนยังขยายตัวได้กว่า 1.8%

ยิ่งไปกว่านั้น สินค้าเกษตรที่นิยมปลูกและมีปัญหาสินค้าล้นตลาดเสมอมา อย่างเช่นยางพารา ได้นำเข้ามาบางส่วนแล้วแปรรูปเป็นถุงมือทางการแพทย์และถุงยางอนามัย จนส่งออกได้มากเป็นอันดับหนึ่งของโลก ต่างจากไทยและอินโดนีเซียที่ยังเน้นแต่ส่งออกน้ำยางดิบที่มูลค่าต่ำ สิ่งเหล่านี้สะท้อนความเป็นผู้นำด้านการผลิตของผู้ประกอบการในมาเลเซียได้เป็นอย่างดี ในปีที่ผ่านมาหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมยางพาราแปรรูปและสินค้าในกลุ่มเทคโนโลยี ปรับตัวขึ้นกว่า 96.8% และ 52.4% ตามลำดับ สวนทางกับตลาดหุ้นมาเลเซีย (FBM KLCI) ที่ปรับลดลง 3.9% ความสำเร็จในการกระจายภาคการผลิตไปในหลากหลายอุตสาหกรรม ย่อมทำให้รายได้ประเทศลดความผันผวนลง

ด้วยจุดแข็งในการสร้างนวัตกรรมการผลิตชั้นสูงควบคู่ไปกับการพัฒนาฝีมือแรงงาน ทั้งความรู้ในภาษาอังกฤษและทักษะการผลิตสินค้าที่มีความละเอียดสูง ทำให้ผลิตภาพแรงงานได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้มาเลเซียสามารถแข่งขันในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน ยิ่งไปกว่านั้น การเข้าร่วมข้อตกลงการค้าเสรี TPP ยังช่วยเปิดตลาดส่งออกให้กว้างขึ้น และเร่งกำลังการผลิตของเอกชนให้ขยายตัวอีกด้วย

อีกสิ่งที่สำคัญสำหรับภาคการผลิตคือระบบโครงสร้างพื้นฐาน มาเลเซียเป็นประเทศที่มีระบบโครงข่ายถนนที่ดีเยี่ยมของอาเซียน โดยมีทางด่วนยาวกว่า 800 กิโลเมตร พาดจากทางตอนเหนือติดชายแดนประเทศไทย ยาวลงไปถึงทางใต้ติดกับประเทศสิงคโปร์ และยังเชื่อมต่อกับท่าเรือที่กระจายไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะท่าเรือมะละกา ซึ่งตั้งในจุดยุทธศาสตร์ที่เชื่อมต่อโลกตะวันออกและโลกตะวันตกอย่างพอดี ช่วยให้ผู้ประกอบการในมาเลเซียมีต้นทุนลอจิสติกส์ต่อจีดีพีเพียง 13% เหนือกว่าประเทศผู้ผลิตหลักๆ ทุกประเทศในอาเซียน อย่างเช่นไทยก็สูงถึง 20% ต่อจีดีพี ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยเสริมสร้างความได้เปรียบในฐานะฐานการผลิตให้ประเทศอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันที่ตกต่ำย่อมทำให้รัฐบาลประสบปัญหาทางการคลังอยู่บ้าง ทว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมา โดยทุกครั้งที่เผชิญวิกฤต มาเลเซียก็พร้อมรับมือกับปัญหาได้ดี ในคราวนี้รัฐบาลได้ตัดค่าใช้จ่ายอุดหนุน (subsidy) บางส่วน เช่น ราคาพลังงาน รวมถึงเพิ่มรายได้ผ่านการปฏิรูประบบภาษีแบบใหม่ที่เรียกว่า GST เพื่อจัดเก็บภาษีให้ได้มากขึ้น รวมถึงให้บริษัทในเครือของรัฐบาล (GLCs) และภาคเอกชนร่วมลงทุน ทำให้โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อเศรษฐกิจ เช่น รถไฟฟ้าในกรุงกัวลาลัมเปอร์ รถไฟความเร็วสูงเชื่อมมาเลเซีย-สิงคโปร์ และทางด่วนอื่นๆ ทั่วประเทศ ยังคงเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งจะส่งผลดีในวงกว้างต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมก่อสร้าง หรือแม้แต่ภาคการธนาคาร

มาเลเซียจึงเป็นหนึ่งในประเทศอาเซียนที่มีแนวโน้มเติบโตในระยะยาวอย่างแข็งแกร่ง จนเราต้องจับตา


“โอบามา” เปิดบ้านต้อนรับ 10 ชาติผู้นำ ASEAN รวมถึง พลเอก ประยุทธ์ วันนี้-แอลเอไทมส์พาดหัวแรงรับ “การรวมตัวของเผด็จการหัวโจก” สื่อจีนชี้ “ประชุมไปก็เท่านั้น”
“โอบามา” เปิดบ้านต้อนรับ 10 ชาติผู้นำ ASEAN รวมถึง พลเอก ประยุทธ์ วันนี้-แอลเอไทมส์พาดหัวแรงรับ “การรวมตัวของเผด็จการหัวโจก” สื่อจีนชี้ “ประชุมไปก็เท่านั้น”
ในวันนี้ (15 ก.พ.) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา ได้เป็นเจ้าภาพประชุมหารือ 10 ชาติผู้นำที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำไทย รวมอยู่ในนั้น ที่จะเริ่มเป็นเวลา 2 วันในซันนีแลนด์ส รีสอร์ต(Sunnyland Resort) รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งผู้นำสหรัฐฯ ตั้งเป้าที่จะถกในเรื่องความมั่นคงในทะเลจีนใต้ ข้อตกลงการค้าเสรี TPP รวมไปถึงการหาแนวร่วมต่อต้านก่อการร้าย IS แต่แอลเอไทมส์ สื่อสหรัฐฯ พาดหัวรับการมาเยือนมิตรประเทศ “แคลิฟอร์เนียใต้กำลังเป็นที่รวมตัวของหัวโจกเผด็จการของโลก” ในขณะที่สำนักข่าวซินหัว สื่อจีนชี้ว่า “ไม่คาดว่าการประชุมครั้งนี้จะหาข้อยุติอะไรได้”
กำลังโหลดความคิดเห็น