เอเจนซีส์/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - เมื่อวานนี้(5) สหรัฐฯประสบความสำเร็จปิดล้อมจีนด้วยการบรรลุข้อตกลงการค้ารอบมหาสมุทรแปซิฟิก TPP ร่วมกับ 11 ชาติ รวมไปถึง ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน เวียดนาม ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก แคนาดา สามารถผลักดันการค้าโลกได้ถึง 40 % แต่ในการหารือไม่มีตัวแทนจากไทยเข้าร่วม ถึงแม้ว่ารองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เคยประกาศว่า “ไทยสนใจเข้าเป็นหนึ่งในข้อตกลงการค้ารอบมหาสมุทรแปซิฟิก TPP ”
หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สและอัลญะซีเราะฮ์ สื่อกาตาร์รายงานเมื่อวานนี้(5) ถึงความสำเร็จของไมเคิล บี โฟรแมน (Michael B. Froman) หัวหน้าทีมการเจรจาการค้าสหรัฐฯของประธานาธิบดี บารัค โอบามา ที่สามารถทำให้เกิดการลงนามข้อตกลงการค้าเสรีรอบมหาสมุทรแปซิฟิกที่ยืดเยื้อมานานได้ในวันจันทร์(5) หลังจากที่ได้มีการประชุมหารืออย่างเคร่งเครียดที่เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ส่งผลทำให้นโยบายสกัดจีน Pivot to Asia ของโอบามาสามารถเป็นรูปเป็นร่าง และความสำเร็จข้อตกลงการค้า TPP ครั้งนี้สามารถทำให้โอบามาสร้างชื่อฝากผลงานก่อนการลงจากอำนาจในปี 2016
โดยข้อตกลงที่ลงนามร่วมกันทั้ง 11 ชาติรอบมหาสมุทรแปซิฟิกนับตั้งแต่ ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน เวียดนาม ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก ไปจนถึงแคนาดา กับสหรัฐฯ ทำให้รวมค้าการค้าโลกถึง 40% หรือ 2 ใน5 ของตลาดโลก
ซึ่งอัลญะซีเราะฮ์ชี้ว่า การลงนามข้อตกลง TPP ของ 11 ชาติร่วมกับสหรัฐฯในครั้งนี้ ทางวอชิงตันต้องการ “สร้างมาตรฐานด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงยังปกป้องสิทธิบัตรทางปัญญาจำนวนของอเมริกา” กับประเทศคู่ค้า
และนอกจากนี้ในการลงนามข้อตกลง TPP ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบโต้การลุกคืบของจีนในการแผ่อิทธิพล ที่ดูเหมือนจีนได้อาศัยโอกาสที่ประเทศในแถบลาตินอเมริกากำลังย่ำแย่ทางเศรษฐกิจ ด้วยการยื่นมือไปช่วยในการให้ความช่วยเหลือแพ็กเกจทางการเงิน แลกเปลี่ยนโดยการให้บริษัทสัญชาติจีนเข้าไปลงทุนในประเทศ หรือการร่วมทุนกับบริษัทที่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาลชาตินั้นๆ เช่น เวเนซุเอลา แต่กระนั้นก็ถือว่าเป็นหนามยอกสำหรับสหรัฐฯ เพราะทวีปอเมริกาใต้ถือได้ชื่อว่า เป็นเสมือนหลังบ้านของโอบามาเอง
สื่อกาตาร์ยังชี้ว่า อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงการค้าเสรีนี้ จะช่วยทำให้การค้าระหว่างสหรัฐฯและ 11 ประเทศคู่ค้ารอบมหาสมุทรแปซิฟิกมีความสะดวกมากขึ้น เป็นต้นว่า พังทะลายกำแพงกั้นทางภาษีที่มี ตั้งแต่การส่งออกชีสไปจนถึงเครื่องมือรักษาโรคมะเร็ง
ซึ่งข้อมูลจากเว็บไซต์ทำเนียบขาวใน FACT SHEET ว่าด้วยความสำคัญของ TPP ต่อเศรษฐกิจอเมริกาและพลเมืองสหรัฐฯอย่างไร ผู้สื่อข่าว ASTV ผู้จัดการออนไลน์พบว่า ทำเนียบขาวได้ชี้แจงต่อประชาชนสหรัฐฯว่า ข้อตกลงการค้าเสรีรอบมหาสมุทรแปซิฟิกนี้จะช่วยกระตุ้นการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นบนแผ่นดินสหรัฐฯไปสู่ตลาดโลก จากการที่ข้อตกลงการค้าเสรีจะช่วยพังทะลายกำแพงภาษีไม่ต่ำกว่า 18,000 รายการต่อสินค้าสัญชาติอเมริกา และนอกจากนี้จะส่งผลทำให้ค่าแรงของแรงงานอเมริกันถีบตัวสูงขึ้น
และที่สำคัญสำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ทำเนียบขาวได้ย้ำต่อเกษตรกรและผู้เลี้ยงปศุสัตว์ในอเมริกาว่า ข้อตกลงการค้า TPP จะสามารถขยายการส่งออกพืชผลและเนื้อสัตว์ทางการเกษตรของสหรัฐฯได้ ซึ่งจะเพิ่ม 20% ของรายได้รวมในผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรภายในสหรัฐฯ
โดยเว็บไซต์ทำเนียบขาวยังชี้ว่า หากมีการลงนามข้อตกลงทางการค้าเสรี ข้อตกลงการค้า TPP จะทำให้ประเทศคู่ค้าสหรัฐฯจะต้องทำลายกำแพงภาษีที่สูงถึง 40 % ของผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากสหรัฐฯ รวมไปถึง 35% ของผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง และอีก 40% ของผลไม้ของสหรัฐฯเป็นต้น
และที่สำคัญมากไปกว่านี้ซึ่งอาจจะกระทบถึงไทย เพราะทางวอชิงตันชี้ว่า ข้อตกลงการค้า TPP จะสามารถทำให้ชาวปศุสัตว์อเมริกันรู้สึกอุ่นใจเนื่องมาจากเงื่อนไขในตัวกรอบสัญญา เช่น จะทำให้ไม่มีระบบ “subsidy” ของภาครัฐในสินค้าทางการเกษตรของประเทศคู่ค้าส่งมาอเมริกา และรวมไปถึงยังบังคับให้ประเทศคู่ค้าสหรัฐฯต้องใช้วิธีมาตรฐานทางวิทยาศาสตร์ในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์สินค้าเนื้อสัตว์นำเข้าจากอเมริกาอีกด้วย
ด้านผู้แทนการค้าสหรัฐฯได้ตอกย้ำถึงความสำคัญข้อตกลง TPPนี้กับสื่อกาตาร์ต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่า “เราคิดว่าข้อตกลงการค้านี้ช่วยทำให้มีความชัดเจนต่อกฎเกณฑ์ของช่องทางสำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก”
และหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ยังรายงานเพิ่มเติมถึงแถลงการณ์ของประธานาธิบดีสหรัฐฯต่อข้อตกลงการค้าเสรี TPP ในการสะกัดจีนว่า “ในเมื่อ 95% ของลูกค้าคนสำคัญของอเมริกานั้นอยู่นอกประเทศ ดังนั้นเราไม่สามารถยอมให้จีนเป็นฝ่ายเดียวที่เขียนกฎการค้าโลกขึ้นได้” โอบามาแถลง และกล่าวต่อว่า “สหรัฐฯสมควรที่จะต้องเขียนกฎเหล่านั้นด้วยตนเอง เพื่อเปิดตลาดใหม่ให้กับสินค้าอเมริกา พร้อมควบคู่ไปกับการสร้างมาตรฐานสูงเพื่อปกป้องคุณภาพชีวิตแรงงาน และสิ่งแวดล้อมของโลกนี้”
แต่อย่างไรก็ตาม สื่อสหรัฐฯชี้ว่า ยังคงเป็นงานหนักสำหรับโอบามาในการที่ผลักดันให้สภาร่วมคองเกรสรับข้อตกลง TPP นี้ โดยเฉพาะตัวแทนคนสำคัญของเดโมแครตที่มีคะแนนนิยมนำ ฮิลลารี คลินตัน อยู่ในบางรัฐล่าสุด สว.หัวก้าวหน้า เบอร์นี แซนเดอร์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2016ประกาศชัด ไม่เห็นด้วย และชี้ว่าเป็นข้อตกลงที่เลวร้าย โดยชี้ว่า “ความสำเร็จของ TPP เป็นความสำเร็จของวอลสตรีทและบริษัทข้ามชาติสัญชาติสหรัฐฯ” และเรียกร้องให้ประชาชนอเมริกันลุกขึ้นมาหยุดยั้งก่อนที่ข้อตกลงนี้จะกลายเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป
แต่ทว่าในส่วนของ ฮิลลารี คลินตัน ตัวเต็งคนสำคัญในการลงชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2016 ที่ถึงแม้คลินตันจะเคยดำรงตำแหน่งในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯในสมัยแรกของโอบามามาก่อน แต่กระนั้นสื่อสหรัฐฯชี้ว่า “เธอมีท่าทีระแวดระวัง” ในการให้ความเห็นถึงข้อตกลงการค้าเสรี TPP เนื่องจากอาจจะไปกระทบฐานเสียงกลุ่มหัวก้าวหน้าที่อยู่ในปีกพรรคเดโมแครตได้
หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สรายงานเพิ่มเติมว่า ตามกฎหมายแล้ว สภาคองเกรสมีเวลาหลายเดือนในการนำเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อถกเถียงหารือ ซึ่งอาจจะเป็นเดือนเมษายน 2016 แต่ทว่า โฟรแมน ตัวแทนการค้าสหรัฐฯระบุว่า เขาไม่ทราบว่า เมื่อใดที่ทางประธานาธิบดีสหรัฐฯจะแจ้งเรื่องอย่างเป็นทางการต่อสภาคองเกรสในการยืนยันลงนามรับรองข้อตกลงการค้านี้
แต่ทว่าหลังจากที่โอบามานำเรื่องแจ้งต่อรัฐสภาสหรัฐฯอย่างเป็นทางการแล้ว สื่อสหรัฐฯชี้ว่า ทางสภาคองเกรสมีเวลา 90 วันในการพิจารณาครั้งแรก
นอกจากนี้สื่อสหรัฐฯยังได้รายงานถึงบรรยากาศในการลงนาม TPP และการหารือก่อนหน้านั้นว่า สหรัฐฯและตัวแทนการค้าอีก 11 ชาติสามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ในเช้ามืดวันจันทร์(5)ในเวลา 5.00 น. หลังจากที่ต้องประชุมต่อเนื่องข้ามวันข้ามคืนถึง 5 วันเต็มที่เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย
และเมื่อมองลึกลงในการเจรจาหารือในช่วง 5 วันนี้ สื่อสหรัฐฯชี้ว่า บรรดาตัวแทนการค้าต่างให้ความสำคัญถึง สิทธิบัตรในการถือครองเทคโนโลยียาประเภท “Biologics drug” ซึ่งใช้ส่วนหนึ่งของสิ่งมีชีวิต( Living Organism) มาเป็นส่วนประกอบในการผลิต ซึ่งบางทีอาจได้มาจากการใช้เทคโนโลยีด้านวิศวพันธุกรรมเข้าช่วย ซึ่งสหรัฐฯต้องการให้มีการปกป้องบริษัทพัฒนายาเป็นเวลา 12 ปีในการถือครองข้อมูลสำคัญในการผลิต “Biosimilars” นี้ เพื่อประโยชน์ทางการค้นคว้าพัฒนาของบริษัทยาเหล่านั้น
ทั้งนี้การใช้เทคโนโลยีการตัดต่อพันธุกรรมมาผลิตยานั้นสามารถเห็นได้ชัดในกรณีการรักษาโรคอีโบลา เช่น การผลิตยารักษาโรคอีโบลาของบริษัทยาในรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่ใช้พันธุกรรมของใบยาสูบที่ถูกดัดแปลงให้คล้ายกับแอนติบอดีของมนุษย์ในการผลิตเซรุม Zmapp
อย่างไรก็ตามในที่ประชุมตัวแทนการค้า 12 ชาติ ออสเตรเลียและเปรูเป็นผู้นำต้านสหรัฐฯ ต้องการลดการปกป้องบริษัทยาเหล่านี้เพียงแค่ 5 ปี
ซึ่งนิวยอร์กไทม์สรายงานว่า ในท้ายที่สุดที่ประชุมได้ลงมติให้ “ระยะเวลา 5 ปีเป็นอย่างต่ำ” ในการคุ้มครองบริษัทยาเหล่านี้เพื่อถือครองข้อมูลสำคัญ แต่ไม่มีการกำหนดระยะเวลาสูงสุดในการปกป้อง สร้างความพอใจให้กับทั้งสองฝ่าย จนถึงขั้น มากาลี ซิลวา ( Magali Silva) ตัวแทนเปรูที่เป็นเพียงสตรีคนเดียวในที่ประชุมพอใจและแถลงว่า “เราคิดว่า เราได้มติที่ได้ให้ชัยชนะกับทุกฝ่ายแล้ว”
ด้านนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ชินโซ อาเบะ ได้ออกแถลงการณ์แสดงความยินดีต่อความสำเร็จในการลงนาม 11 ชาติรอบมหาสมุทรแปซิฟิกร่วมกับสหรัฐฯ ที่มีญี่ปุ่นรวมอยู่ในนั้นว่า “ถือเป็นการประสบความสำเร็จครั้งใหญ่ ที่ไม่ใช่เพียงแค่สำหรับญี่ปุ่น แต่ยังรวมไปถึงภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกโดยรวม” จากการรายงานของอัลญะซีเราะฮ์
แต่อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จที่รวมไปถึงภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกตามความหมายของอาเบะนี้ ดูจะยังไม่ครอบคลุมมาไทย เพราะพบว่าในการลงนามที่เมืองแอตแลนตาเมื่อวานนี้ กลับไม่พบเงาของตัวแทนจากไทยอยู่ในนั้น
ซึ่งคงไม่น่าแปลกใจในเรื่องนี้เพราะที่ผ่านมา ไทยยังไม่มีท่าทีชัดเจนในเรื่องนี้ ถึงแม้ผู้นำของไทย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยถูกกลุ่มล็อบบี้ยิสต์จากธุรกิจการค้าสหรัฐฯ กดดันให้ยอมลงนามในข้อตกลง จากการรายงานของหนังสือพิมพ์ไทยภาคภาษาอังกฤษ บางกอกโพสต์ ในวันที่ 8 สิงหาคม 2015
โดยในการให้สัมภาษณ์ของพลเอกประยุทธ์หลังการพบปะกับกลุ่มล็อบบี้ยิสต์การค้าอเมริกันในครั้งนั้นว่า “ผมคงต้องระวังในเรื่องนี้ในการให้สัมภาษณ์ เพราะข้อตกลงการค้าที่สำคัญเช่นนี้อาจทำให้เกิดการแตกแยกขึ้นในประเทศได้”
ด้านอเล็กซานเดอร์ เฟลด์แมน(Alexander Feldman) ประธานสภาหอการค้าธุรกิจสหรัฐฯ-ไทยตัวแทนจากสหรัฐฯได้อธิบายว่า หากไทยเข้าร่วม TPP กับสหรัฐฯ รถยนต์และรถปิกอัพของบริษัทฟอร์ดและจีเอ็มที่ผลิตในฐานการผลิตในไทย จะสามารถส่งออกไปยังญี่ปุ่นได้ และนอกจากนี้การเข้าร่วมการค้า TPPจะทำให้นักธรกิจอเมริกันให้ความสนใจมาลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคการผลิตยานยนต์ เพราะในขณะนี้ ผลจาก TPP ทำให้ภาคธุรกิจสหรัฐฯให้ความสนใจในการลงทุนในเวียดนามเพิ่มมากขึ้น
และนอกเหนือจากประเด็นภาคการผลิตยานยนต์แล้ว เฟลเดอร์ยังชี้แจงว่า ไทยจะได้ประโยชน์จากการเข้าถึงเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ยาชั้นสูงของสหรัฐฯ และทำให้ไทยกลายเป็นฮับการท่องเที่ยวด้านการแพทย์ระดับภูมิภาคได้
และล่าสุด TPP กับไทยยังเป็นประเด็นเมื่อสมคิด จาตุศรีพิทักษ์รองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 19 สิงหคมที่ผ่านมา ได้ให้สัมภาษณ์ในวันที่ 14 กันยายนล่าสุดว่า ไทยกำลังพิจารณาอาจเข้าร่วมวงการค้า TPP กับสหรัฐฯ แต่อย่างไรก็ตาม ไทยยังต้องขอเวลาในการศึกษากรอบข้อตกลงและเงื่อนไข
แต่จากการให้สัมภาษณ์ของสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ทำให้สื่อวิเคราะห์การต่างประเทศชื่อดัง ดิดิพโฟลแมต ได้ตั้งเชิงคำถามว่า “เป็นความจริงหรือที่ไทยต้องการลงนามข้อตกลง TPP” ที่ถึงแม้ท่าทีบวกของรองนายกรัฐมนตรีไทยต่อข้อตกลงการค้า TPP จะเป็นสิ่งที่ทางวอชิงตันได้เคยประเมินมานานแล้วว่า ในท้ายที่สุดทั้งไทยและฟิลิปปินส์จะเข้าร่วมข้อตกลงการค้ารอบมหาสมุทรแปซิฟิกนี้
โดยสื่อดิพโพลแมตชี้ว่า ในสมัยยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่มี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ไทยมีท่าทีตอบรับอย่างแข็งขันให้ความสนใจที่จะกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าผ่านการลงนามสัญญา TPP อย่างแน่นอน แต่ทว่าเมื่อรัฐบาลพลเอกประยุทธ์เข้ามาหลังจากการทำรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2014 ทำให้จุดยืนของไทยต่อเรื่องนี้เปลี่ยนไป
ซึ่งดิดิพโพลแมตชี้ว่า รัฐบาลทหารของไทยดูสงวนทีท่าต่อเรื่องนี้มาก โดยผู้นำไทยได้เคยให้สัมภาษณ์ว่า “ทุกภาคส่วนต้องเข้ามาตัดสินใจร่วมกันในเรื่องนี้ โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข” ซึ่งคาดว่านายกรัฐมนตรีไทยจะหมายถึง ผลิตภัณฑ์ยาและสิทธิบัตรต่างๆที่อาจมีผลกระทบต่อการผลิตยาของไทย และราคายาในตลาดไทยที่อาจมีการปรับตัวสูงขึ้น
เพราะถึงแม้จะมีหลายฝ่ายชี้ว่า ไทยจะได้ประโยชน์จากการเข้าร่วมการค้าเสรีกับสหรัฐฯ แต่เป็นการยากที่จะคาดในขณะนี้ว่า ไทยมีความสนใจอย่างจริงจังในการเข้าร่วมลงนามการค้า TPP ตามที่รองนายกรัฐมนตรไทยได้ให้สัมภาษณ์หรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนี้สถานการณ์การเมืองของไทยยังไม่นิ่ง