xs
xsm
sm
md
lg

“โอบามา” เปิดบ้านต้อนรับ 10 ชาติผู้นำ ASEAN รวมถึง พลเอก ประยุทธ์ วันนี้-แอลเอไทมส์พาดหัวแรงรับ “การรวมตัวของเผด็จการหัวโจก” สื่อจีนชี้ “ประชุมไปก็เท่านั้น”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี/เอเจนซีส์/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ในวันนี้ (15 ก.พ.) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา ได้เป็นเจ้าภาพประชุมหารือ 10 ชาติผู้นำที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำไทย รวมอยู่ในนั้น ที่จะเริ่มเป็นเวลา 2 วันในซันนีแลนด์ส รีสอร์ต(Sunnyland Resort) รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งผู้นำสหรัฐฯ ตั้งเป้าที่จะถกในเรื่องความมั่นคงในทะเลจีนใต้ ข้อตกลงการค้าเสรี TPP รวมไปถึงการหาแนวร่วมต่อต้านก่อการร้าย IS แต่แอลเอไทมส์ สื่อสหรัฐฯ พาดหัวรับการมาเยือนมิตรประเทศ “แคลิฟอร์เนียใต้กำลังเป็นที่รวมตัวของหัวโจกเผด็จการของโลก” ในขณะที่สำนักข่าวซินหัว สื่อจีนชี้ว่า “ไม่คาดว่าการประชุมครั้งนี้จะหาข้อยุติอะไรได้”

เอเอฟพีรายงานว่า วันนี้ (15 ก.พ.) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมไม่เป็นทางการกับผู้นำ 10 ชาติจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ASEAN เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับมิตรประเทศที่มีเศรษฐกิจที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งทางทำเนียบขาวชี้ว่า การจัดการประชุมครั้งนี้เพื่อให้ประเทศในแถบนี้ตระหนักว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของโอบามาจากพรรคเดโมแครตให้ความสำคัญต่อชาติ ASEAN เพียงใดก่อนที่เขาจะหมดวาระลงในปลายปีนี้

และเอเอฟพีรายงานว่า และเพื่อเป็นการตอกย้ำ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีกำหนดที่จะเดินทางไปเยือนลาว และเวียดนามภายในปีนี้ก่อนที่จะเริ่มมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2016 ในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้

ทั้งนี้มีรายงานว่า ซันนีแลนด์สรีสอร์ต สถานที่จัดการประชุมสุดยอดผู้นำอยู่ในทางใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนีย เคยถูกใช้เป็นสถานที่รับรองประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง 3 ปีก่อนหน้านี้ เมื่อครั้งที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งใหม่

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมซัมมิตซันนีแลนด์สจะไม่มีผู้นำจากพม่าและเวียดนามเข้าร่วม โดยประเทศทั้งสองได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมแทน เอเอฟพีรายงานต่อ

ซึ่งในส่วนของไทย สื่อไทยรายงานว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย และหัวหน้า คสช.ได้ตอบรับคำเชิญของประธานาธิบดี บารัค โอบามา ไปร่วมซันนีแลนด์สซัมมิตกับผู้นำ ASEAN ชาติอื่นๆ

โดยในวันที่ 8 ก.พ. ก่อนหน้านี้ ปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้ให้สัมภาษณ์ในครั้งนั้นถึงการตอบรับว่า “จากการประชุมคณะทำงานเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังคงยืนยันถึงการเดินทางไปในครั้งนี้ โดยที่ บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ส่งจดหมายเชิญผู้นำชาติอาเซียนทุกชาติ” ปณิธานชี้

และที่ปรึกษา พลเอก ประวิตรยังกล่าวให้ความเห็นเพิ่มเติมถึงท่าทีสหรัฐฯ ในการเชิญผู้นำไทยที่มาจากการทำรัฐประหารว่า การที่สหรัฐฯ เชิญไทยร่วมประชุมถือเป็นเรื่องปกติ แม้ระหว่างนี้ประเทศไทยไม่ได้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยก็ตาม จะเห็นว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ เชิญผู้นำทุกชาติ อย่างเช่น บรูไน ซึ่งปกครองด้วยระบอบเผด็จการ ขณะที่พม่า แม้จะเป็นประชาธิปไตยแต่ก็ยังไม่สมบูรณ์ หรือแม้แต่เวียดนามที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ สหรัฐฯ ก็เชิญมาหมดทุกชาติ

และเมื่อวานนี้ (14 ก.พ.) หนังสือพิมพ์ ASTVผู้จัดการรายงานว่า ในเวลาประมาณ 08.00 น.ของวันอาทิตย์ (14 ก.พ.) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาและคณะได้บินออกจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมีจุดหมายปลายทางที่ท่าอากาศยานนานาชาติลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย 

ซึ่งจากการรายงานของ ASTVผู้จัดการชี้ว่า การประชุม 10 ชาติผู้นำ ASEAN นี้เป็นการประชุมวาระพิเศษของ ASEAN กับสหรัฐฯ เป็นครั้งแรก ที่มีอเมริกาเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของ ASEAN ภายใต้คำนิยาม “the First ever standalone US-ASEAN summit” อ้างอิงจากบล็อกอย่างเป็นทางการของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ในแถลงการณ์ของทำเนียบขาวระบุว่า สหรัฐฯ มีความจริงจังในการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ ในฐานะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ (the ASEAN-US Strategic Partnership) ตามที่ผู้นำทั้งสองฝ่ายได้ประกาศในการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 3 ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 27 เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2015 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซียในปีที่ผ่านมา
       
ASTVผู้จัดการรายงานเพิ่มเติมต่อว่า การประชุมฯ ได้แบ่งออกเป็น 3 หัวข้อใน 3 ช่วง คือ วันนี้ (15 ก.พ.) ช่วงบ่าย การหารือช่วงที่ 1 หัวข้อคือ การส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคผ่านนวัตกรรมและประกอบการธุรกิจ (Promoting Regional Prosperity Through Innovation and Entrepreneurship)

และในช่วงค่ำ การหารือระหว่างอาหารค่ำ (Working Dinner) หัวข้อคือ ทิศทางยุทธศาสตร์ของภูมิภาค (Regional Strategic Outlook)

ส่วนวันพรุ่งนี้ (16 ก.พ.) ในช่วงเช้า การหารือช่วงที่ 2 ในหัวข้อ คือ การรักษาสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรืองและความมั่นคงในเอเชีย-แปซิฟิก (Protecting peace, Prosperity and Security in the Asia-Pacific) ครอบคลุมประเด็น การก่อการร้าย และความท้าทายข้ามชาติ โดยจะมีเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ ครั้งนี้ คือ “หลักการซันนีแลนด์ส”
       
โดยประเด็นสำคัญที่ไทยและอาเซียนจะผลักดันในการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ การเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน-สหรัฐฯ ในทุกมิติ การเน้นย้ำบทบาทที่สร้างสรรค์ของสหรัฐฯ ในภูมิภาค การสนับสนุนนโยบาย Rebalancing ของรัฐบาลพรรคเดโมแครตที่มีอาเซียนเป็นแกนกลางของภูมิภาค และการสานต่อความเป็นหุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งการขยายความร่วมมือในประเด็นความมั่นคงรูปแบบใหม่และประเด็นท้าทายข้ามชาติ

นอกจากนี้ ไทยและอาเซียนยังคาดหวังว่าการประชุมสุดยอดฯ ครั้งนี้จะเป็นโอกาสอันดีที่จะช่วยเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนในสหรัฐฯ และความเชื่อมั่นของต่างชาติต่อประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มนักธุรกิจและนักลงทุนสหรัฐฯ อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสหรัฐฯ จากการรายงานของหนังสือพิมพ์ USA TODAY รายงานว่า ประเด็นที่ทางโอบามาจะหยิบยกขึ้นมาคาดว่าจะครอบคลุมทั้งเรื่องความมั่นคงในทะเลจีนใต้ ข้อตกลงการค้าเสรี TPP รวมไปถึงการหาแนวร่วมต่อต้านก่อการร้าย IS

โดยทาง USA TODAY ชี้ว่า ปัญหาความมั่นคงทะเลจีนใต้จะเป็นประเด็นหลักใหญ่ในการประชุมซันนีแลนด์สซัมมิตครั้งนี้ ซึ่งมีประเด็นเขตแดนพิพาททางทะเลระหว่างจีนที่อ้างพื้นที่เกือบจะทั้งหมด และรวมไปถึงเกาะเทียมอีก 7 เกาะที่เพิ่งสร้างใหม่ ซึ่งไต้หวัน รวมไปถึงประเทศสมาชิก ASEAN ได้แก่ บรูไน มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ต่างออกมาอ้างสิทธิครอบครองด้วยเช่นกัน

แต่สหรัฐฯ ประกาศจุดยืนไม่รับการอ้างกรรมสิทธิ์ของจีน รวมทั้งยังได้ส่งเรือรบแล่นเฉียดเกาะเทียมของจีน ล่าสุดได้รับการสนับสนุนอย่างไม่เป็นทางการจากบรรดาชาติสมาชิกกลุ่ม ASEAN แต่กลับสร้างความไม่พอใจให้กับปักกิ่งเป็นอันมาก

และในการประชุมซัมมิตที่ซันนีแลนด์สรีสอร์ต ทางสหรัฐฯ มีความหวังจะได้รับการสนับสนุนในจุดยืนของ ASEAN ต่อจีนในปัญหาความไม่สงบในทะเลจีนใต้ตามแนวทางแก้ปัญหากฎหมายระหว่างประเทศ

และในด้านปัญหาการก่อการร้าย IS ที่เป็นปัญหาลุกลามในปัจจุบันนี้ สื่อสหรัฐฯ ชี้ว่าจะเป็นหนึ่งในหัวข้อที่ทางฝั่งอเมริกาหยิบยกขึ้นมา โดยพบว่าทางวอชิงตันต้องการให้ประเทศสมาชิกในกลุ่ม ASEAN เข้ามาร่วมมือกับอเมริกาในการต่อต้านการก่อการร้ายอย่างจริงจัง

นอกจากนี้ USA TODAY รายงานว่า และในประเด็นการค้าและข้อตกลงการค้าเสรี TPP ที่เป็นเสมือนนโยบายหลักหาเสียงของโอบามาในนโยบายปักหมุดเอเชียในความพยายามกลับคืนสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกครั้งของสหรัฐฯ ที่มีตัวเลขผลประโยชน์ของอเมริกาในภูมิภาคนี้มหาศาล ซึ่งพบว่าบริษัทสัญชาติสหรัฐฯ ได้ลงทุนในภูมิภาคนี้สูงถึง 226 พันล้านดอลลาร์ และมูลค่าการค้าระหว่างอเมริกากับประเทศในภูมิภาคในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 254 พันล้านดอลลาร์

ซึ่งที่ผ่านมาในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2016 ทางสหรัฐฯ ได้ทำการลงนามข้อตกลงการค้า TPP ที่มีมูลค่าการค้าโลก 40% ไว้ในมือกับอีก 11 ชาติ ที่รวมไปถึง ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ บราซิล สิงคโปร์ และเวียดนาม รอบทั้งสองฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกที่เมืองโอ๊กแลนด์ นิวซีแลนด์ จากการรายงานรอยเตอร์ในขณะนั้น

อย่างไรก็ตาม ในการประชุม 10 ผู้นำชาติสมาชิก ASEAN กับสหรัฐฯ ในวันนี้ (15 ก.พ.) USA TODAY ให้ความเห็นว่า ทางบรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนามย่อมต้องการอยากทราบว่ารัฐสภาคองเกรสสหรัฐฯ จะรับข้อตกลง TPP นี้หรือไม่

ส่วนชาติสมาชิกอื่นๆ เช่น ไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียต่างมีความสนใจในการเข้าร่วมข้อตกลงการค้าเสรีนี้เช่นกัน

ซึ่ง รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า จากการรายงานของสื่อไทยภาคภาษาอังกฤษ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ในวันนี้ (15 ก.พ.) ว่า คิดว่าผู้นำสหรัฐฯ คงจะใช้โอกาสนี้ในการหว่านล้อมให้ประเทศสมาชิก ASEAN ที่ยังไม่ได้ลงนามข้อตกลงทางการค้า เปลี่ยนจุดยืน

แต่อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.ประภัสสร์ให้ความเห็นว่า แต่ไม่คิดว่าประเทศเหล่านี้จะใช้เวลาอันสั้นในการตอบตกลงกับสหรัฐฯ เพราะประเทศเหล่านี้ในขณะนี้ได้ร่วมอยู่ในข้อตกลง ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค RCEP ที่มีขึ้นระหว่าง ASEAN และจีนด้วยเช่นกัน

ด้านสำนักข่าวซินหัวของจีนได้วิพากษ์ซัมมิต ASEAN +1 ครั้งนี้ในวันอาทิตย์ (14 ก.พ.) ว่า ไม่คิดว่าการประชุมซัมมิตครั้งแรกระหว่างสหรัฐฯ กับ ASEAN จะสามารถหาข้อสรุปได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งมีนักวิจารณ์จำนวนมากต่างกล่าวว่า การประชุมซัมมิตครั้งนี้เป็นเสมือนสัญลักษณ์เพื่อเชิดชูโอบามาให้เป็นที่จดจำในแง่นโยบายต่างประเทศ “การหวนกลับคืนสู่เอเชีย” มากกว่าที่จะมีการลงนามตกลงกันได้ในรายละเอียด

ซินหัวให้เหตุผลว่า เป็นเพราะความแตกต่างระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีมากเกินไป

ซึ่งแดเนียล รัสส์ (Daniel Russe) ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ด้านเอเชียและแปซิฟิกได้ให้ความเห็นในเดือนมกราคมล่าสุดว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ถือว่านโยบายปักหมุดเอเชียถือเป็นนโยบายระยะยาว

แต่ทว่าสื่อจีนชี้ว่า ในปี 2017 ที่จะถึงนี้โอบามาจะต้องสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งในฐานะผู้นำสหรัฐฯ และยังไม่มีการรับรองว่านโยบายปักหมุดเอเชียนี้จะถูกรัฐบาลใหม่รับไม้ต่อหรือไม่

และสื่อจีนยังชี้ว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังไม่เคยโน้มน้าวให้ตัวแทนของเขาในการลงสมัครการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2016 เห็นความสำคัญของ ASEAN แต่อย่างใด

ซินหัวรายงานต่อว่า ถัง ซิว มั่น (Tang Siew Mun) ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา และผู้เชี่ยวชาญอาวุโสประจำโครงการยุทธศาสตร์ภูมิภาคและการเมืองศึกษาประจำสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ที่มีฐานอยู่ในสิงคโปร์ ให้ความเห็นว่า “การประชุมซัมมิต ASEAN+สหรัฐฯ นี้จะไม่มีการออกแถลงการณ์ความร่วมมือใหม่อย่างเป็นรูปธรรม หรือความร่วมมือใหม่ทางการเมืองเกิดขึ้น”

และความเห็นของถังยังสอดคล้องกับ เดนนี รอย (Denny Roy) ผู้เชี่ยวชาญระดับอาวุโสประจำสถาบันตะวันออกตะวันตกศึกษา (The East West Center) ที่ได้กล่าวว่า แถลงการณ์ร่วมใดๆ ก็ตามที่จะมีขึ้นนั้นจะราบเรียบ จนกระทั่งไม่สามารถจะทำให้บังเกิดผลที่ตามมาได้ในภายหลัง

แต่อย่างไรตาม ในการประชุมครั้งนี้รอยเชื่อว่าผู้นำสหรัฐฯ คงจะคาดหวังว่าชาติสมาชิก ASEAN จะประสานเสียงสนับสนุนอเมริกาในการจัดระเบียบภูมิภาค

ส่วน อ็ออด์ อาร์น เวสทาร์ด (Odd Arne Westad) ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์เอเชียประจำมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้กล่าวยืนยันเช่นเดียวกันว่า “การประชุมซัมมิตเป็นเพียงแค่เชิงสัญลักษณ์มากกว่าจะหาสาระข้อตกลงได้สำเร็จ”

อย่างไรก็ตาม โอ เอ ซุน (Oh Ei Sun) ผู้เชี่ยวชาญประจำโครงการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ S. Rajaratnam ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนานยาง (S. Rajaratnam) สิงคโปร์ กล่าวว่า “สหรัฐฯ จะชนะใจประเทศสมาชิก ASEAN ได้หาก อเมริกาจะมุ่งเน้นถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจมากกว่า”

แต่อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนการเดินทางมาของบรรดาผู้นำชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความต่างในระบบการปกครอง และการเปลี่ยนผ่านทางอำนาจ เช่น ไทย อาจจะไม่ได้รับเสียงตอบรับจากสื่ออเมริกามากนัก

โดยในวันศุกร์ (12 ก.พ.) ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์แอลเอไทมส์ได้ลงข่าวพาดหัวว่า “บรรดาหัวโจกเผด็จการของโลกกำลังรวมตัวกันอยู่ในแคลิฟอร์เนียใต้”

โดยสื่อสหรัฐฯ ได้ลงภาพผู้นำประเทศ 6 ประเทศจากทั้งหมด 10 ประเทศ ที่มีทั้ง ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย นาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย สมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ แห่งบรูไน พลเอก เต็ง เส่ง ประธานาธิบดีพม่า รวมไปถึง พลโท จูมมะลี ไซยะสอน ประธานาธิบดีลาว และเหงียน เติ๊น สุง นายกรัฐมนตรีเวียดนาม

ซึ่งแอลเอไทมส์ให้ความสำคัญต่อปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้อ้างถึงแถลงการณ์ของจอห์น ซิฟตัน (John Sifton) ผู้อำนวยการของหน่วยงานฮิวแมนไรต์วอชต์ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกในวันพุธ (10 ก.พ.)ว่า “ประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา ทราบแก่ใจว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคนี้” และยังกล่าวต่อว่า “การประชุมซัมมิตในซันนีแลนด์สจะเป็นเสมือนเครื่องมือที่ให้กับบรรดาผู้นำเผด็จการที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกักขังนักข่าว ใช้กำลังสลายการประท้วงอย่างสันติ และการยุบสถาบันทางประชาธิปไตยหลังจากการทำรัฐประหาร”

โดยเฉพาะในส่วนของไทย แอลเอไทมส์ชี้ว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา วัย 61 ปี ขึ้นมามีอำนาจหลังจากการทำรัฐประหารในปี 2014 และถึงแม้สหรัฐฯ จะเป็นพันธมิตรที่เก่าแก่ของไทย แต่ทว่าในสมัยรัฐบาลของ พลเอก ประยุทธ์ ไทยมีนโยบายที่หันไปหาปักกิ่งอย่างเห็นได้ชัด โดยในปีที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้ส่งมอบตัว 2 ผู้หลบหนีเข้าเมืองจากจีนที่เป็นนักโทษทางการเมืองส่งคืนกลับไปให้ทางปักกิ่ง รวมไปถึงขับผู้อพยพชนกลุ่มน้อยอุยกูร์กลับจีน สร้างความไม่พอใจไปทั่ว โดยเฉพาะถูกหน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไรต่างๆ โจมตีอย่างหนัก และนำมาสู่สถานทูตไทยในตุรกีถูกประท้วงและบุกเข้าทำลาย




กำลังโหลดความคิดเห็น