โดย ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ
Dr.win@one-asset.com
จากสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้กล่าวถึงโอกาสการเติบโตและความเสี่ยงของธุรกิจในหมวดการแพทย์ ซึ่งครอบคลุมในธุรกิจ Healthcare และ Silver Age โดยสรุป ธุรกิจทั้ง 2 ประเภทจะเกี่ยวข้องกับนวัตกรรมใหม่ๆ และเป็นกระแสความนิยมของคนในสังคมในช่วงเวลาหนึ่ง
ดังนั้น ความหวือหวาและราคาหุ้นมักจะได้รับการตอบรับที่ดีในช่วงที่ตลาดยอมรับในผลิตภัณฑ์ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับระยะเวลาของความนิยม ขณะที่ธุรกิจโรงพยาบาล (Hospital) อีกหนึ่งในประเภทธุรกิจหมวดการแพทย์ ในแง่มุมของการลงทุนโอกาสการเติบโตของธุรกิจนับว่าเหมาะสมสำหรับการลงทุนระยะยาว ซึ่งสัปดาห์นี้เรามาคุยรายละเอียดกัน
ธุรกิจโรงพยาบาลถือว่าเป็นห่วงโซ่บนสุดของธุรกิจในหมวดการแพทย์ เนื่องจากนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งด้านผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ยารักษาโรค หรือแม้แต่เครื่องมือเทคโนโลยีทางการแพทย์ด้านต่างๆ ล้วนต้องทำธุรกิจกับสถานสุขภาพขนาดใหญ่อย่างโรงพยาบาล
ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ยารักษาโรคชนิด A ได้รับการยอมรับเกี่ยวกับประสิทธิภาพของยามาโดยตลอด 10 ปี และตลอดระยะเวลา 10 ปี บริษัทยา A ก็จะได้รับผลตอบแทนที่ดี แต่หากเข้าปีที่ 11 สายพันธุ์โรคมีการเปลี่ยนแปลง ตัวยาของบริษัท A จะต้องมีการพัฒนาประสิทธิภาพ นั่นหมายถึง บริษัท A ต้องพัฒนาทดลองผลิตภัณฑ์ ซึ่งระหว่างทางนั้น บริษัท A ต้องใช้ต้นทุนในการศึกษาและวิจัยค่อนข้างสูง ซึ่งก็จะกระทบต่อกำไรของบริษัทยา A ในช่วงเริ่มต้นของการวิจัยและพัฒนา ดังนั้น ราคาหุ้นหรือผลตอบแทนจากบริษัทยา A อาจจะไม่ได้อยู่ในอัตราที่ดึงดูดใจเท่าที่ผ่านมา การเลือกลงทุนจึงมีความเสี่ยงเกี่ยวกับระยะเวลาที่รอให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภคก่อนที่จะสามารถสร้างผลตอบแทนได้
ในขณะที่ธุรกิจโรงพยาบาลยังคงเป็นสถานพยาบาลที่ประชาชนคนในสังคมทุกๆ คนยังต้องใช้บริการ จากแนวโน้มการรักษาสุขภาพที่เพิ่มขึ้นทำให้ธุรกิจโรงพยาบาลมีจุดเด่นทั้งในด้านคู่แข่งจำนวนน้อยรายและมีอำนาจต่อรองที่ดี โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทยมีอำนาจต่อรองค่อนข้างสูง
และมีบริการครอบคลุมทุกด้าน ทั้งบริการการรักษา ยารักษาโรค เครื่องมือทางการแพทย์ หรือผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง ทำให้มองว่าธุรกิจโรงพยาบาลมีความน่าสนใจลงทุนสูง
แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจเราสามารถวิเคราะห์ได้จากอะไรบ้าง หากมองย้อนกลับมาในกลุ่มโรงพยาบาล มองว่าโรงพยาบาลในสังกัดของรัฐบาลจะได้รับประโยชน์จากนโยบายดูแลสุขภาพของภาครัฐบาล ยกตัวอย่าง งบประมาณด้านสาธารณสุข จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข ย้อนหลัง 5 ปี (2552-2557) เติบโตเฉลี่ย 8.4% เพราะภาครัฐให้ความสำคัญต่อสุขภาพประชากร และมีเป้าหมายในการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพของประชาชน รวมถึงการเพิ่มขึ้นของผู้ประกันตนตามสิทธิประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น 5 ปี เติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ประมาณ 7.22% สามารถสะท้อนถึงการเติบโตของค่าใช้จ่ายประโยชน์ทดแทนของกองทุนประกันสังคม ซึ่งปัจจัยดังกล่าวก็จะมีส่วนสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจโรงพยาบาล
ขณะที่การเติบโตของธุรกิจโรงพยาบาลภาคเอกชน จุดเด่นของโรงพยาบาลเอกชนคือ การบริการที่ดี โดยปัจจุบันนี้แนวโน้มผู้เข้าใจบริการโรงพยาบาลเอกชนก็มีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้น จากกลุ่มผู้ที่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่แพงขึ้นเพื่อให้ได้รับการบริการที่ดี โดยสามารถสะท้อนให้เห็นจากเบี้ยประกันสุขภาพที่เพิ่มขึ้น
โดยในช่วง 7 ปีย้อนหลังมีการเติบโตในระดับ 13% การเติบโตดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมรายได้โรงพยาบาลในระยะยาว ประกอบกับการดูแลสุขภาพของประชาชนและสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้เบี้ยประกันสุขภาพมีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งปีนี้คาดว่าตัวเลขการเติบโตของรายได้โรงพยาบาลเอกชนน่าจะไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ ธุรกิจโรงพยาบาลในไทยยังมีโอกาสเติบโตจากกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นผู้นำตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งขันสำคัญอาเซียน เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย จากคุณภาพการบริการที่เป็นที่ยอมรับและราคาถูกกว่าโดยเปรียบเทียบ ซึ่งในการลงทุนหุ้นโรงพยาบาล ข้อด้อยอาจมีเรื่องการกระจุกตัวของหลักทรัพย์เฉพาะกลุ่ม แต่หากมองในด้านปัจจัยพื้นฐาน จากระดับราคาต่อกำไรสุทธิ (PE Ratio) ของหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลในตลาดหุ้นไทยที่ประมาณ 30 เท่า พบว่าหุ้นโรงพยาบาลอาจจะค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับ PE ของตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันที่ระดับประมาณ 14 เท่า
แต่หากทำการวิเคราะห์เชิงลึกในแง่ของธุรกิจแล้ว จะพบว่าระดับ PE ของกลุ่มโรงพยาบาลที่อยู่ค่อนข้างสูงดังกล่าวค่อนข้างสมเหตุสมผลหากเทียบกับธุรกิจการแพทย์ด้านอื่นๆ ซึ่งผมมองว่าการเลือกลงทุนในหุ้นโรงพยาบาลจึงให้ประโยชน์ในด้านการลงทุนระยะยาวในแง่การจัด Asset Allocation ในหุ้นที่มีความมั่นคงและผันผวนต่ำ ครับ
“ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน”