xs
xsm
sm
md
lg

ดูแลสุขภาพ “แรงงานนอกระบบ“ ครอบคลุม 22.1 ล้านคน ในปี 2564

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


14 องค์กรลงนามร่วมดูแลสุขภาพ “แรงงานนอกระบบ” หลังพบมีปัญหาโรคจากการประกอบอาชีพ เล็งนำร่องกลุ่ม “เกษตรกร - แกะสลักหิน - เก็บขยะ - คนขับแท็กซี่ - ตัดเย็บผ้า” รวม 6.2 แสนราย ให้ได้รับบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ขยายครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพนอกระบบ 22.1 ล้านคน ในปี 2564

วันนี้ (8 ก.พ.) ที่โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ ได้มีพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “การส่งเสริมป้องกันโรคจากการประกอบอาชีพ สำหรับกลุ่มแรงงานนอกระบบ” ระหว่างเครือข่าย 14 องค์กร ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน, กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, สำนักงานประกันสังคม, กรุงเทพมหานคร, กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, องค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย, สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย, สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย, สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ, กรมการแพทย์ และกรมควบคุมโรค

นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า กลุ่มแรงงานนอกระบบ เป็นแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศไทย ซึ่งไม่ได้รับการคุ้มครองด้านสุขภาพจากระบบประกันสังคม จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2557 ประชากรที่มีงานทำ 38.4 ล้านคน มีแรงงานนอกระบบ 22.1 ล้านคน คิดเป็น 57.6% โดยพบว่าแรงงานกลุ่มนี้มีปัญหาเกี่ยวกับโรคจากการประกอบอาชีพ เช่น สภาพแวดล้อมการทำงานที่มีฝุ่น ควัน และเสี่ยงต่อสารเคมีและเครื่องจักรที่เป็นอันตราย รวมทั้งการเข้าถึงบริการอาชีวอนามัย การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ก็เพื่อส่งเสริมความร่วมมือการขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริมป้องกันโรคจากการประกอบอาชีพ สำหรับกลุ่มแรงงานนอกระบบร่วมกัน รวมทั้งการรักษา และฟื้นฟูสุขภาพ

นพ.อำนวย กล่าวว่า การดำเนินงานแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ 1.ระยะสั้น แรงงานนอกระบบกลุ่มเสี่ยงได้รับบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคและภัยสุขภาพจากการทำงาน ประกอบด้วย กลุ่มเกษตรประเภทเพาะปลูก ซึ่งเสี่ยงด้วยโรคพิษสารกำจัดศัตรูพืช ปัญหาโรคกระดูกและกล้ามเนื้อ กลุ่มแกะสลักหิน เสี่ยงต่อโรคปอดฝุ่นหิน กลุ่มคนเก็บและคัดแยกขยะ เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ของมีคมบาดทิ่มแทง สัมผัสโลหะหนัก กลุ่มผู้ขับขี่รถแท็กซี่ เฉพาะเขต กทม. และปริมณฑล มีผู้ขับขี่รถแท็กซี่ประมาณ 120,000 คน มีผู้โดยสารเฉลี่ย 1.2 ล้านคนต่อวัน ทำให้เสี่ยงติดเชื้อวัณโรคและไข้หวัดใหญ่ และกลุ่มตัดเย็บผ้าและผลิตภัณฑ์จากผ้า เสี่ยงโรคปอดฝุ่นฝ้าย ภูมิแพ้/ระคายเคือง ของมีคมบาดทิ่มแทง โดยมีเป้าหมายการดำเนินงานในระยะแรกนี้ จำนวน 6.2 แสนราย ซึ่งจะขยายให้ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญ จำนวนประมาณ 10.5 ล้านคน ภายในปี 2563 และครอบคลุมทุกกลุ่มทุกคน ประมาณ 22.1 ล้านคน ภายในปี 2564 เป็นต้นไป

นพ.อำนวย กล่าวว่า 2. ระยะกลาง แรงงานนอกระบบทุกกลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยงทางสุขภาพ ได้รับบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคและภัยสุขภาพจากการทำงาน และ 3. ระยะยาว แรงงานนอกระบบทุกกลุ่มอาชีพ เข้าถึงบริการอาชีวอนามัยที่มีคุณภาพ ซึ่งการจัดบริการอาชีวอนามัยจะแบ่งออกเป็น 4 ชุด คือ 1. ชุดการตรวจคัดกรอง/ประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพและสภาพแวดล้อมในการทำงาน 2. ชุดการป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพจากการทำงาน 3. การจัดการความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพจากการทำงาน และ 4. การพัฒนาบุคลากรในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น