xs
xsm
sm
md
lg

เปิดระบบดูแล “ผู้ต้องขัง” ใน รพ. กันพื้นที่เฉพาะ มีประตูคุมเข้าออก ไม่ต้องล่ามโซ่ตรวน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สปสช.จับมือ รพ.เดอะโกลเดนเกท นครราชสีมา 8 ปี รุกงานบริการสุขภาพผู้ต้องขังครบวงจร ครอบคลุมทุกสิทธิ พร้อมแบ่งพื้นที่ รพ.จัดระบบดูแลผู้ป่วยใน ตามมาตรฐานกรมราชทัณฑ์ ไม่ต้องล่ามโซ่ตรวน ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ต้องขัง เผยปี 59 ได้ติดตั้งเครื่องเอกซเรย์ในเรือนจำแห่งแรกในประเทศ เพิ่มศักยภาพรักษาและควบคุมโรคในเรือนจำ

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า บทบาทสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือ การดูแลคนไทยทุกคนเพื่อให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลและระบบบริการสาธารณสุข รวมถึงผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำที่มีข้อจำกัดการเข้าถึง ที่ผ่านมา สปสช.มีนโยบายด้านสุขภาพผู้ต้องขัง ร่วมกับกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม และหน่วยบริการทุกสังกัด เพื่อให้เกิดการดูแลสุขภาพผู้ต้องขังอย่างทั่วถึง สนองต่อแนวพระดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ในการรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อยกระดับดูแลคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ

สำหรับในพื้นที่เขต 9 ที่ จ.นครราชสีมา มีรูปแบบการรักษาพยาบาลและดูแลสุขภาพผู้ต้องขังที่น่าสนใจ โดย “โรงพยาบาลเดอะโกลเดนเกท” โรงพยาบาลเอกชน ได้ร่วมกับ สปสช.และกรมราชทัณฑ์จัดบริการเชิงรุกและตั้งรับเพื่อดูแลผู้ต้องขังในเรือนจำกลาง จ.นครราชสีมา ทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก รวมถึงบริการสุขภาพแบบครบวงจร โดยในส่วนการดูแลผู้ป่วยในได้จัดแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลเพื่อรองรับการดูแลผู้ต้องขังจากเรือนจำโดยเฉพาะ ใช้รูปแบบห้องผู้ป่วยตามมาตรฐานกรมราชทัณฑ์ มีประตูควบคุมผ่านเข้าออก ไม่มีการใช้โซ่ตรวนแต่ใช้โทรทัศน์วงจรปิดในการดูผู้ต้องขังแทน ทั้งในกรณีคลอดบุตร การผ่าตัดเล็กและพักฟื้นผ่าตัด แตกต่างจากการนำส่งผู้ต้องขังเข้ารักษายังโรงพยาบาลอื่น นอกจากต้องถูกล่ามโซ่ตรวนแล้วยังมีผู้คุมติดตามใกล้ชิดเพื่อป้องกันหลบหนี ซึ่งเมื่ออาการดีขึ้นจะส่งเข้าสู่การดูแลในเรือนจำต่อไป

“ที่ผ่านมาเราเห็นสภาพผู้ต้องขังออกมารักษาที่โรงพยาบาลจะอยู่ในสภาพถูกล่ามโซ่ตรวนทั้งขาและแขน ทั้งผูกติดกับเตียง มีผู้คุมคอยดูอย่างเข้มงวด ขณะที่สภาพผู้คุมติดตาม บางคนต้องนอนหน้าเตียง ซึ่งประเทศไทยมีความเจริญมาพอควรแล้ว ภาพเหล่านี้ไม่ควรปรากฏ เช่นเดียวกับผู้ต้องขังหญิงที่คลอดลูก เด็กที่เกิดไม่มีความผิดอะไร ไม่ควรปล่อยให้คลอดในเรือนจำ ซึ่งโรงพยาบาลเดอะโกลเดนเกทเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกที่ได้จัดระบบดูแลผู้ป่วยที่เป็นผู้ต้องขังโดยเฉพาะ” รองเลขาธิการ สปสช.กล่าว และว่าสำหรับในส่วนผู้ป่วยนอก เบื้องต้นจะรักษาในหน่วยรักษาพยาบาลเรือนจำก่อน หากป่วยด้วยอาการหนักและเกินศักยภาพรักษาจึงส่งต่อมารักษายังโรงพยาบาล

ส่วนการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคให้กับผู้ต้องขังนั้น นพ.ศักดิ์ชัยกล่าวว่า ได้จัดการดูแลเชิงรุก เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคที่เป็นปัญหา เช่น เอดส์ และวัณโรค มีการจัดทีมเข้าไปดูแลสุขภาพ ติดตามผู้ป่วยต่อเนื่อง โดยเฉพาะวัณโรคที่มักดื้อยา โดยปี 2559 ยังได้ติดตั้งเครื่องเอกซเรย์ในเรือนจำ ถือเป็นแห่งแรกในประเทศ ช่วยเพิ่มศักยภาพบริการ ทำให้ผู้ต้องขังเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การนำผู้ป่วยมาเอกซเรย์ภายนอกมีความสุ่มเสี่ยงมากกว่า นอกจากนี้ยังให้บริการงานทันตกรรม งานสุขภาพจิต ที่เป็นบริการจำเป็นสำหรับผู้ต้องขัง

“โรงพยาบาลโกลเดนเกทนับเป็นโรงพยาบาลที่มีจิตอาสาเพื่อดูแลผู้ป่วยที่เป็นผู้ต้องขัง โดยงบประมาณที่ได้รับจาก สปสช.เป็นงบเหมาจ่ายรายหัวที่ให้เท่ากับประชาชนทั่วไป เพียงแต่เพิ่มเติมงบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค อย่างงบคัดกรองและดูแลผู้ป่วยเอดส์ งบป้องกันวัณโรค เป็นต้น แต่เป็นงบที่ได้รับไม่ต่างจากหน่วยบริการที่มีเรือนจำในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมามีหน่วยบริการหลายแห่งเข้าดูงาน เชื่อว่าน่าจะเป็นต้นแบบการดูแลสุขภาพผู้ต้องขังให้แก่พื้นที่อื่นได้” รองเลขาธิการ สปสช.กล่าว

ด้าน นพ.ประสิทธิ์ จีระศิริ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเดอะโกลเดนเกท นครราชสีมา กล่าวว่า จุดเริ่มต้นที่ได้เข้ามามีส่วนดูแลสุขภาพผู้ต้องขัง เนื่องจากปี 2552 โรงพยาบาลได้ขยายพื้นที่ดูแลผู้มีสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพิ่มขึ้น จาก 3,000 คน เป็น 20,000 คนในปัจจุบัน โดยมีเรือนจำกลางรวมอยู่ด้วย มีผู้ต้องขังที่มีสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 3,000-4,000 คน จึงได้เริ่มจัดบริการเพื่อดูแลสุขภาพผู้ต้องขังเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะผู้มีสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่รวมถึงผู้ต้องขังในเรือนจำทุกสิทธิ ทั้งประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ ประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวและอื่นๆ เพื่อให้ได้รับการดูแลที่ดี ตั้งแต่คัดกรองโรค ดูแลสุขภาพและป้องกันโรคเชิงรุก รวมถึงบริการผู้ป่วยในโดยจัดพื้นที่โรงพยาบาลรองรับเฉพาะ ซึ่งได้จัดบริการอย่างเป็นระบบและครบวงจร จนได้รับการยอมรับจากกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม อย่างต่อเนื่อง

“การทำเรื่องนี้เพราะต้องการคืนกำไรให้สังคม แม้เป็นเพียงโรงพยาบาลเอกชนขนาดเล็ก แต่ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ได้พัฒนาการบริการดูแลสุขภาพผู้ต้องขังอย่างต่อเนื่อง จนได้รับรางวัลสถานพยาบาลดีเด่นจาก สปสช.ถึง 2 ปีซ้อน นอกจากนี้ โรงพยาบาลยังอยู่ระหว่างการพัฒนามาตรฐานให้เข้าสู่ HA ขั้นที่ 3 ขณะเดียวกันยังมุ่งพัฒนาให้เป็นรูปแบบการดูแลสุขภาพผู้ต้องขังให้แก่พื้นที่อื่นด้วย” นพ.ประสิทธิ์กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น