บลจ.ไทยพาณิชย์แย้ม “ค่ายมือถือ” สนใจขอใช้บริการกองทุนอินฟราฯ “โทรคมนาคมดิจิทัล” ล่าสุดตั้งเป้าเอยูเอ็มเติบโตต่อเนื่อง 1 แสนล้านบาท เน้นจับกลุ่มลูกค้าสถาบัน ชูกลยุทธ์สร้างผลตอบแทนชนะภาวะตลาดผันผวน
นายสมิทธ์ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ไทยพาณิชย์ จำกัด กล่าวว่า กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐอยู่ในระหว่างการศึกษาและน่าจะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมได้ในที่สุด ซึ่งการระดมทุนคงนำไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีกระแสรายได้และอาจจะผสมกับโครงการใหม่บางส่วน ซึ่งยังไม่นิ่งเพราะต้องศึกษากฎหมายข้อบังคับต่างๆ ให้รัดกุม แต่บริษัทเองก็มีความพร้อมและมีประสบการณ์ในการทำกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานอยู่แล้ว ได้แก่ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมดิจิทัล (DIF) ซึ่งยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี โดยเฉพาะหลังการประมูล 4G ก็มีผู้สนใจมาเจรจาขอใช้บริการเพิ่มขึ้น แต่คงบอกไม่ได้ว่าเป็นใครอย่างไรก็ตาม หากมีผู้มาใช้บริการเพิ่มขึ้นผลตอบแทนโดยรวมของผู้ถือหน่วยลงทุนก็ย่อมดีขึ้นแน่นอน
“ส่วนกลุ่มทรูยังไม่ได้มีสัญญาณที่จะมาระดมทุนโดยผ่านกองทุน DIF แต่ประการใด เพราะเชื่อว่าทางกลุ่มทรูเองมีศักยภาพในการระดมทุนหลากหลายช่องทาง แต่ถ้าจะมาใช้ผ่านช่องทางกองทุน DIF ก็สามารถทำได้เช่นกัน”
ทั้งนี้ ในปี 2559 บริษัทตั้งเป้าหมายในการสร้างการเติบโตของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหาร (AUM) ประมาณ 1 แสนล้านบาท จากสิ้นปี 2558 ที่ 1,163,079 ล้านบาท โดยการขยายฐานลูกค้าใหม่เข้ามา ทั้งลูกค้าสถาบันและรายย่อยควบคู่กับการรักษาฐานลูกค้าเดิม เพื่อให้สามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ในอุตสาหกรรมไว้ให้ได้ บริษัทจะใช้กลยุทธ์การยกระดับชื่อเสียงของแบรนด์ในฐานะบริษัทจัดการที่ทำงานเชิงรุก (Active) โดยให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานหลัก 3 ด้าน คือ ด้านการพัฒนาความสามารถในการบริหารจัดการลงทุน โดยมุ่งหวังให้ผลการดำเนินงานของกองทุนอยู่ในอันดับต้น (First Quartile) ในทุกประเภทสินทรัพย์การลงทุน
ด้านการสร้างและนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่หลากหลายเพื่อตอบโจทย์ผู้ลงทุนในทุกระดับความเสี่ยง โดยผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงไม่สูงมากนัก ก็จะนำเสนอกองทุนตราสารหนี้ที่ให้อัตราผลตอบแทนในระดับดีไว้พักเงินในช่วงที่ภาวะตลาดผันผวน และเน้นการสร้างรายได้สม่ำเสมอให้แก่ผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่อง เช่น กองทุน SCBGPLUS ที่ได้เปิดจองไปแล้วเมื่อปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา โดยใช้หลักการจัดสรรการลงทุน (Asset Allocation) และมีการกระจายการลงทุนในต่างประเทศเพื่อเพิ่มโอกาสได้รับผลตอบแทนเพิ่ม
“ในปีนี้บริษัทออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น มีการดำเนินงานแบบเชิงรุก ( Active) และมีการนำกลยุทธ์การลงทุน Long/Short หรือ Absolute Return มาใช้เพื่อลดความผันผวนจากการลงทุน และให้ได้ผลตอบแทนเป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มลูกค้าระดับบน อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ จะนำเสนอกองทุนดังกล่าวควบคู่กับการเน้นให้ความรู้เรื่องการลงทุนแก่ผู้ลงทุนมากยิ่งขึ้นด้วย โดยเฉพาะความรู้ด้านสินทรัพย์เสี่ยง โดยมุ่งหวังให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการลงทุนในระยะยาวเพื่อเพิ่มโอกาสในการลงทุนมากขึ้น โดยการเติบโตของบริษัทในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าก็คาดหวังว่าจะมีการเติบโตไปพร้อมกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund)”
นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมาเราประสบความสำเร็จอย่างมากจากกลุ่มลูกค้าสถาบัน ที่ส่งผลให้กองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) สามารถครองความเป็นอันดับ 1 ไว้ได้ สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการบริหารกองทุนที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ลงทุนสถาบัน สำหรับในปีนี้บริษัทฯ เชื่อว่าจะสามารถรักษาฐานลูกค้ากลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีแผนการทำงานกับธนาคารไทยพาณิชย์อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์กับกลุ่มลูกค้าธนาคารเพิ่มมากขึ้นด้วย
นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ.ไทยพาณิชย์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทเองเป็น บลจ.ที่มีความชัดเจนในการเป็น บลจ.ที่วางอยู่บนพื้นฐานของการวิจัย (Research Base) ที่มีความแตกต่างอย่างชัดเจนจาก บลจ.อื่นด้วย ทีมงานและกระบวนการลงทุนที่มีคุณภาพเพื่อมุ่งตอบโจทย์เป้าหมายที่ชัดเจนในการสร้างผลตอบแทนที่เหนือกว่าตลาด (Alpha) ด้วยกลยุทธ์การลงทุนที่ชัดเจนและแตกต่าง โดยมองหาโอกาสในการลงทุนที่เหนือกว่า ซึ่งประเมินว่าในส่วนของหุ้นไทยน่าจะมาจากหุ้นขนาดกลาง-เล็ก ซึ่งบริษัทได้ใช้ทีมงานวิจัยที่มีกว่า 40 คนในการที่จะเข้าไปทำการคัดเลือกหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่บริษัทหลักทรัพย์ไม่ได้เข้าไปทำบทวิเคราะห์ โดยตั้งเป้าหมายต่อปีต้องชนะตลาดอย่างน้อย 6% ในตลาดหุ้นไทย
“นอกจากนี้ บริษัทยังเป็น บลจ.ที่มีทีมการบริหารการลงทุนในตราสารหนี้ที่ครบวงจรและมีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน ในปีนี้บริษัทมองหาโอกาสการลงทุนเพิ่มเติมในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ทั้งหุ้นและตราสารหนี้ด้วย ซึ่งคาดว่าน่าจะสามารถเห็นได้ในปีนี้”
ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา บลจ.ไทยพาณิชย์มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การจัดการ (AUM) รวม 1,163,079 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทก้าวสู่อันดับ 1 ในอุตสาหกรรม ด้วยส่วนแบ่งตลาดสูงสุดที่ 21% คิดเป็นอัตราเติบโตจากปี 2557 15.2%