4 ผู้บริหารค่ายโอเปอเรเตอร์ไทยเผยแผนให้บริการ 4G ปี 2559 มั่นใจปีนี้คนไทยหลายล้านรายตอบรับบริการ 4G อย่างจริงจัง บนประโยชน์จากความเร็วอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ที่เหนือกว่า 3G พร้อมระบุลูกค้าต้องการ 2 ส่วนหลักคือ คุณภาพ และบริการ ที่ต้องมีการพัฒนาเพิ่มขึ้น
ความเคลื่อนไหวของ 4 โอเปอเรเตอร์ไทยนี้ถูกเปิดเผยในงานสัมนา “Welcome 4G เทคโนโลยีเติมเต็มชีวิต จุดประกายธุรกิจใหม่” ที่จัดโดยผู้จัดการไซเบอร์บิซ เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ เมื่อวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา ทุกความเคลื่อนไหวสะท้อนว่าทุกค่ายมีความพร้อมจัดเต็มบริการ 4G เต็มที่
นายรังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานการตลาดและเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ระบุว่า สำหรับปีนี้บริการที่คาดว่าจะมาแรงที่สุดคือบริการด้านมัลติมีเดีย โดยเป็นบริการที่ได้รับความนิยมต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมา
“เรามีไอพีทีวี บริการนี้ได้รับความนิยมมากในตลาดที่เป็นบ้าน กลุ่มติดละคร ไอพีทีวีเรายอดขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตอนแรกกลัวว่าดิจิตอลทีวีจะทำให้ยอดตก แต่ไม่ ตลาดไอพีทีวีไปได้ดี” ผู้บริหารทีโอทีกล่าว “เรื่องเกมเราคิดว่าก็ต้องพัฒนาเพิ่ม และอีกสิ่งที่คิดว่าทีโอทีต้องพัฒนาคือเรื่องบริการรับชำระบิล”
ผู้บริหารทีโอที ระบุว่า เทรนด์อินเทอร์เน็ตที่สำคัญในปีนี้คือ ความครอบคลุม แนวโน้มนี้ทำให้ทีโอทีดำเนินการทดสอบคุณภาพเครือข่ายต่อเนื่อง พร้อมไปกับการจับมือกับทางผู้ให้บริการทุกราย ในการเป็นพันธมิตรในการให้บริการจากโครงสร้างพื้นฐานที่ทีโอทีลงทุนไว้
“เราตรวจสอบทุกเวลาว่าบริการอย่างยูทิวบ์ใช้ได้ไหม เราเอาใจลูกค้ากลุ่มนี้มาก สำหรับลูกค้าเอสเอ็มอี ทีโอทีก็มีให้บริการโซลูชันเฉพาะกลุ่ม เช่น โรงแรม หรือท่องเที่ยว ส่วนอีกเรื่องที่จะพัฒนาคือ เว็บเซอร์วิส หรืออีเซอร์วิส ให้ลูกค้ามีช่องทางใช้บริการที่ดี และทันใจขึ้น”
นายภัคพงศ์ พัฒนมาศ รองผู้อำนวยการธุรกิจโมบายล์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทรูเริ่มให้บริการ 4G มา 2 ปีแล้วบน ผู้เริ่มทดลองใช้บริการเกิน 2 ล้านราย จุดนี้โอกาสที่ทรูจะขยายตลาด 4G ในช่วงปี 59 คือ การเพิ่มลูกค้านอกเหนือไปจากกลุ่มโพสต์เพด
“ผมเชื่อว่าการขยายบริการ 4G ในกลุ่มผู้ใช้เติมเงินจะทำได้สะดวกขึ้น เพราะอุปกรณ์ราคาลดลง” ผู้บริหารทรูกล่าว “คอนเทนต์ และอีคอมเมิร์ซจะเข้ามาเสริมให้บริการของทรูสมบูรณ์แบบมากขึ้น ครอบคลุมมากขึ้น เป็นเรื่องดีต่อผู้บริโภค ยังมีบริการกลุ่มอินเทอร์เน็ตออฟติงส์ ทั้งหมดนี้ยังบอกไม่ได้ว่าปีนี้จะได้เห็นจริงไหม แต่คนไทยจะได้เห็นเป็นรูปธรรมแน่นอน”
นายฐิติพงศ์ เขียวไพศาล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส สายงานการตลาดและการขาย บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส หลังจากเอไอเอสเปิดทดลองใช้บริการ 4G ในเดือนธันวาคม บริษัทจะเปิดตัวบริการ 4G เต็มรูปแบบอย่างเป็นทางการวันที่ 26 มกราคมนี้ เรียกว่าปัจจุบันมีความพร้อมให้บริการเต็มที่แล้ว
“จริงๆ 4G คือ ความเร็ว มันเป็นชื่อเทคโนโลยี ดังนั้น ประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับคือความเร็วยิ่งขึ้น บริการที่จะทันสมัยมากขึ้น เมื่อก่อนเราดูวิดีโอยูทิวบ์เหมือนกัน แต่ 4G จะทำให้ดูละเอียดยิ่งขึ้นได้” นายฐิติพงศ์ กล่าว “ต้องยอมรับว่าเราเข้ามาหลังดีแทค และทรู เราจะเร่งมือขยายโครงข่ายให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้”
ผู้บริหารเอไอเอส ระบุว่า ปัจจุบันลูกค้าเอไอเอสเป็นเจ้าของอุปกรณ์ที่รองรับเครือข่าย 4G มากกว่า 4 ล้านเครื่อง ตัวเลขนี้สะท้อนว่าตลาด 4G ในประเทศไทยมีโอกาสขยายตัวรวดเร็ว ที่น่าสนใจคือ ประเด็นค่าบริการ ผู้บริหารเอไอเอสระบุว่า แม้จะไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่เชื่อว่า ค่าบริการ 4G ต่อกิกะบิตจะเน้นความคุ้มค่า
ขณะที่ในมุมของคลื่นความถี่ที่ได้มาให้บริการว่าพอหรือไม่ จริงๆ แล้วความถี่ที่ได้มาเหมือนเป็น Input ที่อยากได้คือ Output ในเรื่องของการลงทุน ในแง่ของความเร็ว ซึ่งจากการทำงานของซีอีโอที่ทำงานอยู่บนข้อจำกัดของความถี่โดยตลอด จึงเชื่อมั่นในการออกแบบเครือข่าย เพื่อให้คุณภาพเร็ว
“คนใช้บริการไม่ได้กังวลว่าราคาเหมาต่อเดือนจะแพง แต่กังวลเรื่องราคาต่อกิกะบิตมากกว่า จากปัจจุบันที่เห็นการใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์ก ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก 38 ล้านราย ไลน์ 33 ล้านราย จึงทำให้สมาร์ทโฟนกลายเป็นสิ่งสามัญ เป็นของที่ทุกคนสามารถใช้ได้”
น.ส.ปริศนา รัตนสุวรรณศรี ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานธุรกิจโพสต์เพด บริษัท โทเทิ่ล แอ็คแซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ระบุว่า ถึงแม้ดีแทคจะไม่ได้คลื่นจากการประมูล แต่ดีแทคจะเร่งมือขยายโครงข่ายเพื่อให้บริการ 4G โดยเร็วไม่แพ้กัน เพราะจุดตั้งต้นของดีแทคคือ เรื่องของการให้บริการลูกค้า เน้นไปที่พฤติกรรมการใช้งานของลูกค้า
จากสถิติที่มีการใช้สมาร์ทโฟน 6.6 ชั่วโมง ถือเป็นครึ่งหนึ่งของเวลาในการใช้ชีวิต และ 1 นาทีมีการแตะสมาร์ทโฟน 5 ครั้ง ตรงนี้ทำให้อยู่ในอุตสาหกรรมที่ใกล้ชิดกับลูกค้า นอกจากนี้ ยังมีเซอร์วิส อินฟราสตรักเจอร์ อย่างเรื่องของดีไวซ์ นอกจากค่าบริการที่ถูกต้อง ก็จะมีตัวดีไวซ์ ทั้งจับทั้งกลุ่มคอนซูเมอร์ และบิสิเนส
สุดท้ายก็คือ แอปพลิเคชัน และคอนเทนต์ แบ่งเป็น 3 สิ่ง คือ เน็ตเวิร์กเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชัน อันดับถัดมาคือ ตัวคอนเทนต์ที่เป็นพาร์ตเนอร์ระดับโลก และสุดท้ายคือ ดิจิตอล institution ระบบในการซื้อขาย เป็นทั้งโปรดักต์ที่ลูกค้าเห็น และได้สัมผัส
“ตลอดไตรมาส 1-4 สิ้นปีนี้จะเห็นว่าเราขยายไปต่อเนื่องแค่ไหน สิ้นปีนี้ดีแทคจะมี 4G ทุกจังหวัดแน่นอน ดีแทคจะเดินหน้าให้บริการอย่างเต็มที่ทั้งระบบแอปพลิเคชัน และคอนเทนต์ที่เอื้อประโยชน์สูงสุด สิ่งที่จะเกิดให้เห็นคือ มีการทำงานมีโมบิลิตีมากขึ้น เกิดนวัตกรรม ธุรกิจใหม่ สร้างธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และบริการที่ไม่เคยเห็นมาก่อน”
***4G ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจ SMEs
ทีโอที มองว่า ปัจจุบันทีโอทีมีการให้บริการอินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์เชิงพาณิชย์ ที่งมีโซลูชันเฉพาะสำหรับ SMEs เพราะรัฐบาลส่งเสริมให้ลดต้นทุน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพราะปัจจุบัน SMEs มีการกระจายตัวอยู่ในหลายพื้นที่ บางพื้นที่ต้องการความเร็วในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตสูง ทำให้ต้องมีการลงทุนไฟเบอร์ ออปติกเพิ่มขึ้น
“อินเทอร์เน็ตมีความสำคัญ ช่วยลดต้นทุนในการสั่งซื้อสินค้า ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ถ้ามีการใช้งาน SMEs ก็จีดีพีประเทศก็จะเติบโตขึ้น และก้าวเข้าสู่ดิจิตอล อีโคโนมี ที่เป็นบริการที่เกิดขึ้นบนอินเทอร์เน็ต ต้องพยายามให้เกษตรกรไทยเป็นผู้ประกอบการรายใหม่”
โดยทางผู้บริหารทรู กล่าวว่า ทางกลุ่มทรูจะให้ความสำคัญต่อผู้ประกอบการรายย่อย เพราะมีบริการที่ครอบคลุม รวมถึงอีคอมเมิร์ซที่เปิดให้ผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งขาดต้นทุน พอนำเทคโนโลยีมาใช้ก็จะลดงาน และต้นทุนบางส่วน ทำให้ต้องมีโซลูชันเข้ามาสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยีมาช่วยเชื่อม ต้องขายมากขึ้น มีต้นทุนที่ลดลง
ส่วนทางเอไอเอส กำลังอยู่ในช่วงการขยายบรอดแบนด์ แต่อย่างไรก็สู้ธุรกิจโมบายไม่ได้ การมาของ 4G จึงทำให้ผู้ประกอบการใช้งานได้เร็ว จึงเป็นโอกาสในการทำธุรกิจ มีการลงทุนที่น้อยลง แต่เข้าถึงตลาดที่ใหญ่ขึ้น จากเดิมเปิดร้านขายได้ในอำเภอ ในจังหวัด แต่กลายเป็นขายสินค้าไปได้ทั่วโลก ที่สำคัญคือ ต้องมีไอเดีย เพราะถ้ามีไอเดียก็จะสามารถขยายตลาดไปได้ไกล
ขณะที่ทางดีแทค เชื่อว่า 4G จะเข้ามาช่วยปลดล็อกทำให้การทำงานของ SMEs ได้โปรดักทิวิตี มีความเป็นโมบิลิตี ทำงานได้จากหลายที่ โดยจะเริ่มจากพื้นฐานคือ สินค้า และบริการ ที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ทั้งวอยซ์ และดาต้า อีกส่วนคือ เอนเตอร์ไพรซ์ คลาวด์ ในการนำมาช่วยลดต้นทุนในการเข้าถึงข้อมูล
โดยก่อนหน้านี้ ดีแทคเคยมีการสร้างสมาร์ทฟาร์เมอร์ ที่จะนำเทคโนโลยีไปให้เกษตรกรใช้ ด้วยการนำข้อมูลที่น่าสนใจในการทำเกษตร ข้อมูลราคาซื้อ ราคาขาย รวมถึงการสร้างแพลตฟอร์มให้เกษตรสามารถเข้าถึงลูกค้าได้โดยตรง ทำให้ได้ราคาที่ดี ถือเป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยสร้างโอกาสใหม่ๆ
***จุดเด่นในการให้บริการ 4G
นายฐิติพงศ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ลูกค้าใช้งาน 3G อยู่บนเครือข่ายด้วยการทำ 3G ให้เร็วที่สุด ทางเดียวที่เป็นไปได้คือ การทำให้เครือข่ายดีขึ้น ลูกค้าที่มีเครื่องรองรับ 4G ก็จะย้ายมาใช้ เครือข่าย 3G ก็จะโล่งขึ้นคุณภาพก็จะดีขึ้นไปอีก ดังนั้น ลูกค้าจะได้ประสบการณ์ใช้งานดาต้าที่ดีขึ้นแน่นอน
อีกส่วนคือ กลุ่มที่ไม่ใช่ลูกค้าเอไอเอส จะเห็นว่า เครือข่ายกำลังพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง และสุดท้ายคือ เอไอเอสมีความตั้งใจที่จะบริหารเครือข่ายให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และถือเป็นจุดขายจากเรื่องของความเสถียร เป็นเรื่องของความต่อเนื่อง
น.ส.ปริศนา กล่าวว่า ทางดีแทคจะเน้นไปที่ 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ 4G ต้องมีความเร็ว ที่ปัจจุบันสูงขึ้นไปเกิน 100 Mbps 3G จะกลายเป็นเน็ตเวิร์กรอง แต่ครอบคลุมทั่วประเทศ ที่ปัจจุบันอยู่ในระดับมากกว่า 90% ของประชากร นอกจากนั้นคือ เป็นเน็ตเวิร์กที่เป็นเพื่อนทุกคน เพราะเป็นคลื่นความถี่ที่ใช้งานได้ทุกระบบทั้ง 2G 3G และ 4G
สุดท้ายคือ 4G นำมาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้ง VoLTE VoWIFI ที่ทางดีแทคจะทยอยเพิ่มจำนวนสมาร์ทโฟนที่รองรับการใช้งานให้มากขึ้น จึงอยากให้ทุกคนมั่นใจ รวมถึงการบริการที่ดีที่สุด เครือข่ายต้องให้บริการตลอดเวลา ดังนั้น จึงเน้นการทำให้ลูกค้าเข้าถึงเพื่อสร้างความเข้าใจ
ทางทรู นายภัคพงศ์ ให้ข้อมูลว่า สิ่งสำคัญที่สุดของผู้ให้บริการคือ คุณภาพของเครือข่ายเป็นจุดแรก ถ้าพูดถึง 4G ทำไมโอเปอเรเตอร์ทั่วโลกต้องนำมาให้บริการ โดยมีเหตุผลในฝั่งคอนซูเมอร์มีแค่ 2 เรื่องคือ ต้องการความเพียงพอในการใช้งานดาต้า และความเร็วในการใช้งาน ทางทรู โชคดีที่ได้คลื่นความถี่มา ทำให้มีแบนด์วิธที่สูงที่สุดในตลาด ทำให้มีโอกาสในการตอบโจทย์ลูกค้าทั้ง 2 เรื่อง ทำให้สามารถนำมาให้บริการลูกค้าได้ต่อไปในอนาคต
Video Related Link :