xs
xsm
sm
md
lg

ประมูล4Gเดือด เคาะสนั่นทะลุ5หมื่นล. กทค.ขยายเวลาหาผู้ชนะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน360-ประมูล 4G ความถี่ 1800 MHz แข่งเดือด ราคาทะลุ 50,000 ล้านบาทแล้ว กทค.ประชุมด่วนขยายเวลาประมูลไม่มีกำหนดจนกว่าจะได้ผู้ชนะ จากเดิมที่จะสิ้นสุดในเวลา 21.00 น. วานนี้ หวั่นให้กลับมาประมูลอีกวันอาจเจอข้อครหา ล่าสุดเคาะครั้งที่ 29 ยังไม่มีวี่แววได้ข้อสรุป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (11 พ.ย.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เดินหน้าจัดประมูลคลื่น 1800 MHz จำนวน 2 ใบ ใบอนุญาตละ 15 MHz สำหรับช่วงคลื่นที่หนึ่ง 1710-1725 / 1805-1820 MHz และช่วงคลื่นที่สอง 1725-1740 / 1820-1835 MHz โดยมีผู้เข้าร่วมประมูล 4 ราย ได้แก่ 1.บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด 2.บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด 3.บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด และ4.บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด

ทั้งนี้ ผู้เข้าประมูลที่เดินทางมาถึงรายแรก คือ กลุ่มทรู ตามมาด้วยดีแทค ในเวลา 08.00 น. เอไอเอส ประมาณ 8.10 น. และแจส ในเวลา 08.18น. แต่ทรูเดินเข้าเป็นรายสุดท้ายในช่วงเวลา 08.40 น.

เวลา 09.15 น. พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกสทช. และประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เริ่มจับสลากบริษัทเลือกห้องและหมายเลขประมูล

ต่อจากนั้นเริ่มได้เปิดประมูล ในเวลา 10.00 น. ซึ่งการประมูลรอบแรกผู้เข้าร่วมการประมูลทุกรายจะต้องเสนอราคาในชุดคลื่นความถี่ชุดใดชุดหนึ่งที่ราคา 16,708 ล้านบาท จากนั้นหากเสนอราคาจะต้องเสนอราคาครั้งละ 5% ของราคาขั้นต่ำ 15,912 ล้านบาท คิดเป็นเงินที่เพิ่มขึ้นครั้งละ 796 ล้านบาท แต่เมื่อราคาถึง 19,890 ล้านบาท การเสนอราคาจะปรับเป็นเสนอราคาครั้งละ 2.5% ของราคาขั้นต่ำ 15,912 ล้านบาท คิดเป็นเงินที่เพิ่มขึ้นครั้งละ 398 ล้านบาท จากนั้นโปรแกรมในการประมูลจะประมวลผล และจะประกาศผลการประมูลของรอบนั้นๆ ภายในเวลา 5 นาที ก่อนการประมูลรอบต่อไปจะเริ่มขึ้น ซึ่งรวมแล้วจะใช้เวลาแต่ละรอบประมาณ 20 นาที โดยเริ่มทำการประมูลตั้งแต่เวลา 10.00-21.00 น.

ผู้เข้าร่วมประมูลมีสิทธิไม่เสนอราคา (Waiver) ได้ 3 ครั้ง ตลอดระยะเวลาการประมูล โดยสามารถใช้สิทธิได้ 2 วิธี คือ 1.แจ้งใช้สิทธิ และ 2.ไม่เสนอราคาตามระยะเวลาที่กำหนด

ประธาน กทค. กล่าวว่า ผู้แทนผู้เข้าร่วมการประมูลเมื่อเข้าห้องประมูลแล้วจะไม่สามารถออกนอกพื้นที่ที่กำหนดได้จนกว่าจะสิ้นสุดการประมูล ซึ่งเป็นกฎของการประมูลที่ต้องหลีกเลี่ยงการติดต่อสื่อสารกับบุคคลอื่น

สำหรับการประมูลแต่ละล็อตหรือแต่ละชุดคลื่นความถี่ จะสิ้นสุดลงในรอบการประมูลช่วงสุดท้าย เมื่อไม่มีผู้เข้าร่วมการประมูลรายใดเสนอราคาอีก และเมื่อการประมูลทุกล็อตสิ้นสุดลง จะถือว่าสิ้นสุดขั้นตอนการประมูลชุดคลื่นความถี่ โดยภายหลังการประมูลเสร็จสิ้น จะมีการประกาศผลการประมูลภายใน 7 วัน ซึ่งคาดว่าไม่เกินวันที่ 18 พ.ย.2558

จากนั้น กสทช. จะออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สามให้แก่ผู้เข้าร่วมการประมูลภายหลังจากผู้เข้าร่วมการประมูลได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินการก่อนรับใบอนุญาตอย่างครบถ้วน ถูกต้องภายใน 90 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการประมูล และต้องชำระเงินงวดแรก 50% ของราคาที่ชนะการประมูล นับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการประมูล และต้องขยายโครงข่ายครอบคลุมประชากร 50% ภายใน 2 ปี และ 80% ภายใน 4 ปี

ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ผู้ที่ชนะการประมูลจะต้องคิดค่าให้บริการต่ำกว่าเทคโนโลยี 3G ซึ่งปัจจุบันค่าบริการโทรศัพท์มือถือต่อนาทีอยู่ที่ 69-72 สตางค์ ขณะที่ค่าบริการอินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 26 สตางค์ต่อ MB

ทั้งนี้ การประมูลคลื่น 1800 Mhzในครั้งนี้ มีการแข่งขันราคากันดุเดือดโดยเริ่มตั้งแต่ 10.00 น. จนถึงเวลา 19.30 น. คณะกรรมการมีการประชุมด่วนเพื่อขยายระยะเวลาในการประมูลจากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 10.00-21.00 น. และให้มาประมูลกันต่อในวันรุ่งขึ้น เปลี่ยนเป็นประมูลต่อเนื่องโดยไม่มีกำหนดเวลา โดยให้ผู้ประมูลมีเวลาพักครึ่งชั่วโมง คือ เวลา 21.00-21.30 น.โดยพ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวถึงเหตุผลในการขยายระยะเวลาว่า เพื่อต้องการเลี่ยงการเจอข้อครหาว่าผู้ประมูลจะออกไปตกลงราคากันหลังจากประมูลในวันที่ 11พ.ย. หากออกจากนอกห้องและมาประมูลในวันนี้ (12 พ.ย.) สังคมจะเกิดคำถาม กสทช.จะตอบคำถามสังคมยาก ดังนั้น เพื่อความสบายใจจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ในการขยายระยะเวลาออกไป

สำหรับการเคาะราคาล่าสุดครั้งที่ 29 เมื่อเวลาประมาณ 19.45 น. มีการเคาะราคาคลื่นช่วงที่หนึ่งที่ 24,668 ล้านบาท ขณะที่ราคาคลื่นช่วงที่สองที่ 25,464 ล้านบาท รวมราคาทั้งสิ้น 50,132 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น