เมื่อพูดถึงศึก 4G สิ่งที่ปรากฏภาพขึ้นมาชัดเจนคงหนีไม่พ้นในเรื่องของความเร็วในการเชื่อมต่อที่จะเป็นปัจจัยหลัก แต่ในความจริงแล้ว ไม่ใช่สิ่งเดียวที่เป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จ เพราะในการให้บริการ 4G จริงๆ แล้วจำเป็นต้องมีคอนเทนต์ และแอปพลิเคชันที่ต้องสอดรับกับความเร็วของอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นมาให้บริการด้วย ดังนั้น นอกจากในแง่ของความเร็วแล้ว สิ่งที่ต้องจับตาต่อก็คือบริการเสริมที่จะมาคอยเติมเต็มความต้องการลูกค้า
เรื่องสำคัญที่สุดในปี 2559 นี้ คงหนีไม่พ้นเรื่องของการเปิดให้บริการ 4G จาก 3 โอเปอเรเตอร์หลัก และ 1 น้องใหม่ หลังจากมีการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ว่าการแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมจะเป็นไปในทิศทางใด เพราะผู้ให้บริการแต่ละรายต่างมุ่งมั่นที่จะพัฒนาทั้งคุณภาพของเครือข่ายให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อให้รองรับกับการเติบโตของผู้ใช้งานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
***อาวุธในมือ
จากสถานการณ์ในปัจจุบัน คลื่นความถี่ที่โอเปอเรเตอร์มีอยู่ในมือไล่ตั้งแต่ ทรูมูฟ เอช หรือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จะแบ่งคลื่นมาให้บริการ 4G ตามแผนทั้งหมด 40 MHz แต่ในช่วงแรกจะเริ่มให้บริการจากคลื่น 2100 MHz จำนวน 10 MHz ถัดมา คือ 1800 MHz จำนวน 10 MHz และ 900 MHz อีก 5 MHz รวมเป็นการให้บริการ 4G บนคลื่นทั้งหมด 25 MHz ส่วนในอนาคตถ้ามีการย้ายลูกค้าที่ใช้งาน 2G บนทั้ง 1800 MHz และ 900 MHz ออกไปก็จะทำให้ทรูมีคลื่นทำ 4G ทั้งหมด 40 MHz
จากจำนวนคลื่นที่มีทั้งหมด 55 MHz แบ่งเป็นคลื่นบนใบอนุญาต 3 ใบ คือ 2100 MHz จำนวน 15 MHz ที่ปัจจุบันนำมาให้บริการ 3G ด้วย 5 MHz จะหมดอายุในปี 2570 ถัดมา คือ คลื่น 1800 MHz จำนวน 15 MHz จะหมดอายุใบอนุญาตในปี 2576 โดยแบ่งมาให้บริการ 2G จำนวน 5 MHz และ 900 MHz 10 MHz ที่จะแบ่งมาให้บริการ 2G 5 MHz จะหมดอายุในปี 2573 และอีกส่วนหนึ่ง คือ คลื่น 850 MHz ภายใต้สัญญาการเช่าใช้คลื่นความถี่ของ กสท โทรคมนาคม ผ่านบีเอฟเคที จำนวน 15 MHz ในการให้บริการ 3G ที่จะหมดอายุสัญญาในปี 2567 ซึ่งกำลังเจรจากับ กสท โทรคมนาคม เพื่ออัปเกรดเป็น 4G
ถ้าสังเกตคือ กลุ่มทรูยังให้ความสำคัญกับลูกค้าในระบบ 2G อยู่ ด้วยการที่จะแบ่งคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz มาให้บริการ 2G เพื่อรองรับกับฐานลูกค้าที่ยังใช้งานบนระบบ 2G ที่ประเมินไว้ว่ายังเหลืออยู่อีกไม่ต่ำกว่า 15 ล้านราย ที่ยังมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงกลุ่มลูกค้าที่ใช้งานเครื่องในระบบ 2 ซิมด้วย
ถัดมา คือ ดีแทค หรือ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จํากัด ถ้ามองเฉพาะคลื่นความถี่ที่นำมาให้บริการ 4G ดีแทคจะแบ่งคลื่นความถี่ 2100 MHz ที่ได้รับมาจากการประมูล 3G จำนวน 5 MHz มาให้บริการ 4G รวมกับคลื่นบนสัมปทาน 1800 MHz เดิม 15 MHz มาให้บริการลูกค้ารวมเป็น 20 MHz
แต่ถ้านับรวมคลื่นทั้งหมดที่ ดีแทค ถือครองคลื่นอยู่ในมือจะมีทั้งหมด 70 MHz แต่ใช้ได้จริง 50 MHz แบ่งเป็นคลื่นความถี่ 2100 MHz 15 MHz โดยเป็นคลื่นความถี่บนใบอนุญาตที่จะหมดอายุในปี 2570 ส่วนที่เหลือเป็นคลื่นบนสัมปทานเดิม คือ คลื่น 1800 MHz จำนวน 45 MHz เพียงแต่ปัจจุบันนำมาใช้งานแค่ 25 MHz ตามสัมปทาน แบ่งมาให้บริการ 4G 15 MHz และ 2G 10 MHz และคลื่น 850 MHz อีก 10 MHz ที่ปัจจุบันแบ่งมาให้บริการ 3G โดยสัญญาสัมปทานที่จะหมดอายุในปี 2561
ส่วนเอไอเอส หรือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) มีคลื่นให้บริการ 4G บนคลื่น 1800 MHz จำนวน15 MHz ที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงปลายเดือนมกราคม 59 และอาจจะมีการแบ่งคลื่น 2100 MHz จำนวนหนึ่งมาให้บริการร่วมกันเพื่อให้ได้ความเร็วในการใช้บริการที่สูงขึ้น
จากจำนวนคลื่นที่มีทั้งหมด 30 MHz โดยเป็นคลื่นบนใบอนุญาตทั้งหมด คือ คลื่น 2100 MHz 15 MHz ที่ปัจจุบันนำมาให้บริการ 3G เป็นเครือข่ายหลักจะหมดอายุในปี 2570 กับคลื่น 1800 MHz จำนวน 15 MHz ภายใต้ใบอนุญาตที่จะหมดอายุในปี 2576 ไม่นับรวมกับคลื่นที่ เอไอเอส ร่วมเป็นพันธมิตรกับทาง บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในการนำคลื่น 2100 MHz มาใช้งานอีก 15 MHz รวมถึงโอกาสที่จะได้คลื่น 2300 MHz มาใช้งานในอนาคตถ้าทางทีโอทีต้องการพันธมิตรในการให้บริการ
สุดท้าย คือ ค่ายน้องใหม่ป้ายแดงในวงการมือถืออย่าง บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ภายใต้กลุ่มจัสมิน ที่เพิ่งประมูลคลื่นความที่ 900 MHz มาได้จำนวน 10 MHz โดยมีเป้าหมายในการนำมาให้บริการ 4G เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการใช้งานโมบายดาต้าเป็นหลัก
ปริมาณคลื่นเหล่านี้คือแบนด์วิธที่โอเปอเรเตอร์แต่ละรายถือครองคลื่นอยู่ และถือเป็นตัวแปรสำคัญในการแข่งขันภายในอุตสาหกรรมนี้ เนื่องมาจากคลื่นความถี่ถือเป็นทรัพยากรสำคัญที่สุดในการให้บริการ ก่อนที่จะเชื่อมโยงไปยังบริการอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
*** ความเร็วที่โหยหา
ในแง่ของความเร็ว จุดที่น่าสนใจในช่วงปลายปีที่ผ่านมา คือ การที่ ดีแทค นำคลื่นความถี่ 1800 MHz จำนวน 15 MHz มาให้บริการ และทำสถิติอัตราการดาวน์โหลดบนระบบอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือทะลุ 100 Mbps และอัปโหลดเกิน 30 Mbps เป็นรายแรก ก่อนที่ เอไอเอส ซึ่งเริ่มทดลองให้บริการ AIS 4G Advanced โดยนำคลื่นทั้ง 1800 MHz และ 2100 MHz บางส่วน มาให้บริการแบบ LTE Advanced (LTE-A) ทำให้สถิติอัตราการดาวน์โหลด และอัปโหลดของเอไอเอส แซงดีแทคขึ้นไปอยู่ที่ดาวน์โหลดเกิน 150 Mbps อัปโหลด 36 Mbps
แต่เชื่อว่าสถิติเหล่านี้ในอนาคตจะถูกทำลายโดย ทรูมูฟ เอช ที่ปัจจุบันมีคลื่นที่สามารถนำมาให้บริการ LTE-A ได้สมบูรณ์ที่สุดคือมีทั้ง 2100 MHz 1800 MHz และ 900 MHz ที่ถ้าเปิดใช้งานร่วมกันทั้งหมดจะมีโอกาสที่จะทำความเร็วในการดาวน์โหลดได้ไม่ต่ำกว่า 300 Mbps
โดยในเชิงของทฤษฎีทุกๆ แบนด์วิธจำนวน 5 MHz จะสามารถทำความเร็วได้ราว 37.5 Mbps เมื่อมีจำนวนปริมาณแบนด์วิธเพิ่มมากขึ้นเป็น 10 MHz ก็จะได้ความเร็วในการดาวน์โหลดสูงสุดราว 75 Mbps, 15 MHz ก็จะเพิ่มขึ้นไปราว 112.5 Mbps และ 20 MHz ก็จะได้ถึง 150 Mbps แต่ในการใช้งานจริงความเร็วเหล่านี้ก็จะถูกลดทอนลงมาตามความหนาแน่นในการใช้งาน
ถ้ามองในแง่ของเทคนิค ทาง หัวเว่ย ในฐานะผู้พัฒนาอุปกรณ์ในการให้บริการโมบายอินเทอร์เน็ต เคยให้ข้อมูลไว้ว่า ความเร็วในการให้บริการ 4G ในรูปแบบของ LTE-A คือ การใช้คลื่นความถี่ร่วมกันหลายคลื่น จะช่วยเพิ่มความเร็วในการให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือได้สูงสุดถึง 450 Mbps เพียงแต่ต้องใช้แบนด์วิธปริมาณมากกว่าที่มีในปัจจุบัน โดยอาจจะต้องรอการประมูลคลื่นความถี่ 2600 MHz หรือ 2300 MHz ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมาร่วมให้บริการ
เพียงแต่ความจริงแล้ว 4G ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพียงความเร็วในการเชื่อมต่อเท่านั้น ก่อนหน้านี้ทาง อีริคสัน ได้มีการเปิดเผยผลสำรวจในช่วงที่ผ่านมาว่า คอนเทนต์หลักที่มีการใช้งานแบนด์วิธมากที่สุด คือ การรับชมวิดีโอออนดีมานด์ผ่านอุปกรณ์พกพา เพื่อความบันเทิงในการใช้งานเป็นหลักที่มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าความสามารถหลักของ 4G คือ การขับเคลื่อนธุรกิจได้เติบโตได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
ดังจะเห็นได้จากปัจจุบันที่นอกเหนือไปจากยูทูปที่ครองตลาดแพลตฟอร์มวิดีโอหลักที่มีการใช้งานสูงที่สุดแล้ว ทั้ง เฟซบุ๊ก ไลน์ รวมถึงแพลตฟอร์มบริการวิดีโอออนดีมานด์อื่นๆ อย่าง Prime Time, iFlix, Hooq และ Hollywood HD ที่เป็นบริการดูหนังออนไลน์แบบบอกรับสมาชิกเพิ่มเติมเข้ามาในตลาดด้วย
อย่างไรก็ตาม ด้วยความเร็วของ 3G ที่วิ่งได้เต็มประสิทธิภาพในปัจจุบันก็สามารถรองรับการใช้งานระบบสตรีมมิงได้เต็มรูปแบบอยู่แล้ว ทำให้ผู้ใช้งานส่วนใหญ่อาจจะมองไม่เห็นถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการมี 4G แต่ในมุมของผู้ให้บริการถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะจะช่วยลดจำนวนผู้ใช้งานแบนด์วิธขนาดสูงบน 3G เพื่อให้เครือข่าย 3G มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ถ้ามองถึงพฤติกรรมการใช้งานโทรศัพท์ของผู้บริโภคในประเทศไทย จะมีเพียงผู้ใช้งานบางกลุ่มเท่านั้นที่ต้องการนำ 4G มาใช้งาน ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในกรุงเทพฯ และตามหัวเมืองใหญ่ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่พบปัญหาการใช้งาน 3G ทำให้ทางผู้ให้บริการต้องนำ 4G มาออฟโหลดลูกค้าที่ใช้งานหนาแน่นบนคลื่น 3G เพื่อให้ประสิทธิภาพเครือข่ายโดยรวมดีขึ้น
โดยผู้ให้บริการแต่ละรายต่างก็ตั้งเป้าหมายลูกค้าที่จะใช้งาน 4G ไว้ในสัดส่วนที่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับลูกค้า 3G อย่างทาง ทรูมูฟ เอช มองว่า ลูกค้าที่จะใช้งานระบบ 4G ในปีนี้น่าจะอยู่ที่ราว 4 ล้านราย ขณะที่ เอไอเอส ที่เพิ่งเปิดให้บริการ 4G ก็วางเป้าหมายลูกค้าในช่วงแรกไว้ 4 ล้านรายเช่นเดียวกัน ส่วน ดีแทค จากการที่วางเป้าหมายว่าจะเป็นผู้นำในการให้บริการ 4G อย่างชัดเจน จากการที่นำคลื่น 1800 MHz บนสัญญาสัมปทานมาเปิดให้บริการเป็นรายแรก หวังลูกค้าใช้งานไว้สูงถึง 4.5 ล้านราย
สิ่งที่ต้องจับตาดูกันต่อไปในปีนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่องของ คอนเทนต์ บริการ และแอปพลิเคชัน ที่จะสืบเนื่องตามออกมาจากการให้บริการ 4G ที่จะมีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระะโดด ตามปริมาณเครื่องสมาร์ทโฟนรองรับ 4G ที่ปัจจุบันราคาเริ่มขยับลงมาให้หาซื้อได้ในระดับ 2 พันบาท ใกล้เคียงกับช่วงเปลี่ยนผ่าน 3G ก่อนหน้านี้ที่สมาร์ทโฟนระดับราคาเริ่มต้นก็สามารถใช้งาน 4G ได้แล้ว
***ดีแทค ยังไร้เงาพาร์ตเนอร์ คอนเทนต์
แน่นอนว่าถ้ามองในมุมของผู้ให้บริการคอนเทนต์ พี่ใหญ่อย่าง เอไอเอส ในช่วงปีที่ผ่านมาก็มีความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ที่หลากหลาย รวมถึงการขยายบริการไปยังลูกค้าในระบบฟิกซ์บรอดแบนด์เพิ่มเติม ทำให้พาร์ตเนอร์ทางด้านคอนเทนต์เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการเคเบิลอย่าง CTH และบริการหนังออนไลน์อย่าง Hooq ก็จะช่วยเข้ามาเสริมฐานตรงนี้ให้แข็งแรงมากขึ้น
ในขณะที่กลุ่มทรู ถือเป็นรายที่มีคอนเทนต์กว้าง และครอบคลุมมากที่สุด จากบริการในฝั่งของทรูวิชันส์ที่มีแต่เดิมอยู่แล้ว ประกอบกับการที่เป็นพันธมิตรกับ BeIn Sport ซึ่งได้ลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกเข้ามาเสริมในปีนี้ ก็จะช่วยให้คอนเทนต์ที่มีอยู่น่าสนใจมากยิ่งขึ้น
ทางกลุ่มจัสมิน แม้ว่าจะเป็นน้องใหม่ แต่ด้วยการที่อยู่ในตลาดอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์มานาน การดึงพันธมิตรจาก 3BB เดิม รวมถึงพี่น้องในกลุ่มบริษัทอย่าง โมโน และเว็บไซต์ Mthai เข้ามาเสริม ก็ทำให้มีคอนเทนต์ในมือที่พร้อมกระจายไปยังกลุ่มลูกค้าได้เป็นวงกว้างมากขึ้น
เหลือก็แต่เพียงดีแทครายเดียวที่ยังไม่มีพันธมิตรในฝั่งคอนเทนต์อย่างเป็นทางการ แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการร่วมมือกับผู้ให้บริการเพลงยักษ์ใหญ่อย่าง Deezer แต่ในปัจจุบันก็ไม่ได้มีการทำตลาดอย่างต่อเนื่อง และในอนาคตอาจจะมีบริการเพลงระดับโลกที่อยู่ภายใต้เทเลนอร์เข้ามาแทนแต่ก็ยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ ส่วนในแง่ของผู้ให้บริการหนังอย่าง PrimeTime ที่เข้ามาก็ไม่ได้เอ็กซ์คลูซีฟเฉพาะลูกค้าดีแทคแต่อย่างใด อาจจะมีเพียงบางแพกเกจเท่านั้นที่ให้ลูกค้าดีแทคได้พิเศษกว่า
ปี 59 จึงเร้าใจยิ่งนักทั้งโอเปอเรเตอร์ และลูกค้า เพราะสภาพแวดล้อมในอุตสาหกรรมเปลี่ยนไปแล้ว !!