บลจ.กสิกรไทยตั้งเป้า Life Time Partner ลุยสร้างความมั่งคั่งลูกค้าตลอดชีวิต เล็งยกระดับให้คำปรึกษารายย่อยเท่ากองส่วนบุคคลต่อยอดการลงทุน ประเดิมปีหน้าออกแบบการลงทุนให้ลูกค้าผ่านระบบออนไลน์ได้ ส่วนปี 60 ตั้งเป้าเพิ่มระบบจัดพอร์ตลงทุนให้ลูกค้า เน้นใช้เทคโนโลยี สถิติ ในการพัฒนาและวิเคราะห์ความเสี่ยงร่วมกับบริการของสาขาแบงก์กสิกรฯ
นายวศิน วณิชย์วรนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย กล่าวว่า ในปี 2559 บลจ.กสิกรไทยมีเป้าหมายที่จะเป็น “Life-time partner” สำหรับลูกค้า หรือทำให้ลูกค้ามีความมั่งคั่งไปตลอดชีวิต โดยวิธีการที่จะบรรลุเป้าหมายคือ ต้องสามารถให้บริการแบบเดียวกับกองทุนส่วนบุคคลสำหรับนักลงทุนรายย่อย
สำหรับแผนดำเนินงานไปสู่การเป็น Life-time partner นั้นแบ่งเป็น 3 ระยะ โดยในระยะแรกได้เริ่มแล้วตั้งแต่ปลายปี 2558 ที่เปิดให้ลูกค้าสามารถซื้อขายหน่วยลงทุนผ่านช่องทาง K-Mobile Banking ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าได้มากขึ้น
สำหรับระยะที่สอง ได้แก่ การออกแบบพอร์ตลงทุนที่เหมาะกับกลุ่มลูกค้าที่มีระดับการยอมรับความเสี่ยงที่แตกต่างกัน โดยในระยะนี้อาจจะแบ่งเป็นกลุ่มกว้างๆ 3-4 กลุ่ม โดยให้บริการผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในช่วงปลายปี 2559 ขณะที่ในระยะที่สาม จะมีระบบที่สามารถจัดพอร์ตที่เหมาะสมสำหรับลูกค้าแต่ละราย ซึ่งคาดว่าจะให้บริการได้ในปี 2560
“เป้าหมายที่จะเป็น Life-time partner ให้กับลูกค้านั้น ถือเป็นการต่อยอดจากเป้าหมายเดิมที่ต้องการเป็นซูเปอร์มาร์เกตที่มีกองทุนให้ครบทุกประเภท ซึ่งปัจจุบัน บลจ.กสิกรไทยมีกองทุนที่ครบถ้วนแล้ว แต่เราต้องต่อยอดให้ครบด้วยการให้คำปรึกษาและการจัดพอร์ตการลงทุน ซึ่งการซื้อกองทุนเพียงกองเดียวคงไม่สามารถตอบโจทย์ได้ทุกอย่าง อย่างน้อยจะต้องมี 4-5 กองทุน ทั้งกองทุนหุ้นที่ทำให้เงินลงทุนเติบโต กองทุนตราสารหนี้เป็นฐานรายได้ที่มั่นคง และควรมีกองทุนทางเลือกอื่นๆ ประกอบด้วย”
นายวศิน กล่าวอีกว่า ในการทำเป็นกองทุนส่วนบุคคลสำหรับลูกค้ารายย่อย หรือการจัดพอร์ตให้ลูกค้าแต่ละรายได้ ต้องมีองค์ความรู้ มีระบบคอมพิวเตอร์ และมีข้อมูลของลูกค้า ดังนั้นในระยะแรกจะจัดเป็นกลุ่มกว้างๆ ก่อน โดยจะเน้นการบริการผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ร่วมกับการให้บริการผ่านสาขาของธนาคารกสิกรไทย
“บลจ.กสิกรไทยยังปรับกระบวนการลงทุนให้มีความชัดเจนมากขึ้น และตอบสนองต่อข้อมูลต่างๆ ได้เร็วขึ้น โลกผันผวนมาก เราจึงต้องตอบสนองให้เร็วขึ้น ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ ใช้สถิติเข้ามาช่วย เพื่อให้สะท้อนภาพความเสี่ยงและผลตอบแทนได้เร็วที่สุด ในขณะที่การวิเคราะห์ตัวบริษัทจะให้ความสำคัญต่อข้อมูลเชิงคุณภาพ นอกจากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณแล้ว ยังต้องวิเคราะห์และให้คะแนนเชิงคุณภาพร่วมด้วย เพราะในระยะยาวแล้วกำไรจะมาจากคุณภาพของการบริหารจัดการ ซึ่งจากการปรับกระบวนการลงทุนทำให้ผลตอบแทนของกองทุนดีขึ้น” นายวศินกล่าว
อย่างไรก็ตาม เรายังให้น้ำหนักกับการเติบโตของสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (เอยูเอ็ม) เช่นเดิม แต่โจทย์ในระยะยาวของเราจะให้น้ำหนักไปที่ความว่องไวในการตัดสินใจที่ถูกต้องในการเป็นผู้จัดการกองทุน และการมีผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ในการเป็น Life-time partner มากกว่า