คอลัมน์ รู้ทันการลงทุนกับ KAsset
โดย นางสาวชญานุตม์ เหมือนเดช
ฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน บลจ.กสิกรไทย
จัดทำ ณ วันที่ 9 ธันวาคม 2558
คงยากที่จะปฏิเสธว่าปี 2558 เป็นปีแห่งความผันผวนของตลาดการเงินโลก และได้ส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆ เช่น ตลาดหุ้น และตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้มีเพียงบางตลาดเท่านั้นที่สามารถปรับตัวเป็นบวกได้ ซึ่งหากย้อนไปดูเหตุการณ์สำคัญๆ ตลอดทั้งปีนี้ จะพบว่ามี 3 ประเด็นหลักที่สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดการเงินโลก ประเด็นแรก ได้แก่ การดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางกว่า 20 ประเทศทั่วโลก ที่รู้จักกันดีในนาม “QE” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เริ่มตั้งแต่ต้นปีที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ออกมาประกาศมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรและตราสารหนี้ ตั้งแต่เดือน มี.ค. 58-ก.ย. 59 เป็นวงเงินทั้งสิ้นกว่า 1.1 ล้านล้านยูโร
ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ก็ยังคงมาตรการอัดฉีดไว้ที่ 80 ล้านล้านเยนต่อปี ทำให้สภาพคล่องในตลาดโลกอยู่ในระดับสูงชดเชยกับเม็ดเงิน QE ของสหรัฐฯ ที่สิ้นสุดไป จึงถือเป็นปัจจัยบวกหนุนตลาดหุ้นทั่วโลก ดันให้หุ้นยุโรปพุ่งขึ้นประมาณ 8% และในเวลาเดียวกันมาตรการดังกล่าวก็กดดันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของประเทศในยุโรปเพื่อจูงใจให้เกิดการใช้จ่ายและการลงทุนในประเทศ ฉุดค่าเงินยูโรให้อ่อนค่าลงกว่า 2% ซึ่งตลาดมองว่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อภาคการส่งออกของยุโรป
นอกจากมาตรการเชิงปริมาณแล้ว ประเทศเกิดใหม่ต่างปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศเช่นกัน อาทิ อินเดียที่ลดดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องรวม 4 ครั้งในปีนี้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อชะลอลงตามราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ ในขณะที่จีนผ่อนคลายทางการเงินด้วยการปรับลดดอกเบี้ยถึง 6 ครั้งในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งการปรับลดอัตรากันสำรองธนาคารพาณิชย์ และการอัดฉีดเม็ดเงินสู่ระบบเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ มาตรการทางการเงินที่เข้มข้นในฝั่งประเทศเกิดใหม่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้รับเสียงตอบรับเชิงบวกจากตลาด ในทางตรงกันข้ามกลับมีความกังวลว่าเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้กำลังอ่อนแรงมากกว่าที่คาดไว้หรือไม่
ประเด็นที่ 2 คือ ตัวเลขเศรษฐกิจของจีนในฐานะผู้ทรงอิทธิพลต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ด้วยขนาด GDP ที่ใหญ่กว่า 10.36 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจกว่า 7% ต่อปีซึ่งสูงกว่าภูมิภาคอื่น ประกอบกับจีนมีเป้าหมายปฏิรูปเศรษฐกิจและตลาดทุนอย่างต่อเนื่องหลังจากเปิดการเชื่อมโยงตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และฮ่องกง จึงทำให้นักลงทุนหันมาสนใจหุ้นจีนและหนุนให้ราคาหุ้นในตลาด A-share พุ่งขึ้นเกือบ 60% และ H-share พุ่งขึ้น 17% ในช่วงครึ่งแรกของปี ก่อนที่จะเกิดแรงเทขายอย่างหนักในไตรมาสที่ 3 จากหลายปัจจัย เช่น ความกังวลเรื่องภาวะฟองสบู่ในตลาด และการดำเนินมาตรการเข้มงวดในการกู้ยืมมาซื้อหุ้น และการอนุญาตให้หุ้นกว่า 1,400 ตัวหยุดทำการซื้อขาย
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณชะลอตัว ทำให้ความวิตกกังวลของนักลงทุนเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อทางการจีนประกาศลดค่าเงินหยวนให้อ่อนค่าลงเกือบ 4% ภายใน 2 วันโดยไม่ได้ส่งสัญญาณล่วงหน้า ทำให้หุ้น A-share และ H-share ดิ่งลงกว่า 35% ในเดือนกันยายน จากระดับสูงสุดในเดือนมิถุนายน ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับลดลงเช่นกัน
ประเด็นสุดท้าย คือ การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) หลังจากคาดการณ์มาตั้งแต่กลางปีว่า FED จะปรับขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจทยอยออกมาในเชิงบวก บ่งชี้การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ ประกอบกับตลาดแรงงานมีความแข็งแกร่งมากขึ้น เงินทุนส่วนหนึ่งจึงไหลออกจากประเทศเกิดใหม่ไปยังสหรัฐฯ ทำให้ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น 10.82% จากต้นปี
ขณะเดียวกัน ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะ 2 ปีปรับขึ้นจากต้นปีที่ 0.47-0.70% มาอยู่ที่ 0.94% ส่วนพันธบัตรระยะ 10 ปีก็ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 2.21% (ณ วันที่ 1 ธันวาคม 2558) จากที่เคยแกว่งตัวในกรอบ 1.6-2.0% ช่วงต้นปี แสดงให้เห็นว่าตลาดปรับตัวเพื่อรับกับแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยไปบ้างแล้ว ทำให้ความน่าสนใจของการลงทุนในตราสารหนี้ลดลง แต่อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อที่ถูกกดดันจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ และความผันผวนในตลาดโลกทำให้สหรัฐฯ เลื่อนการปรับขึ้นดอกเบี้ยออกไปก่อนที่ล่าสุดผลสำรวจของ Bloomberg พบว่ากว่า 70% ของนักวิเคราะห์คาดว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธันวาคมนี้
สำหรับภาพรวมตลาดหุ้นปี 2558 ในแต่ละภูมิภาค ตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น สามารถกลับมาเป็นบวกได้ แม้จะเผชิญความผันผวนอย่างหนักตลอดทั้งปี แต่ในแง่ราคาก็ถือว่าหุ้นกลุ่มประเทศนี้ค่อนข้างแพง โดยเฉพาะหุ้นสหรัฐฯ ส่วนตลาดฝั่งเอเชียโดยรวมติดลบ แต่ยังมีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตอยู่ ทั้งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการปฏิรูปประเทศของภาครัฐ รวมทั้งระดับราคาที่ยังน่าสนใจ
ขณะที่สินค้าโภคภัณฑ์อย่างทองคำในปีนี้ปรับตัวดีขึ้นจากต้นปีประมาณ 13% จากความผันผวนในตลาดโลกทำให้มีความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มขึ้น แต่ในระยะต่อไปตลาดทองคำอาจดูไม่ค่อยสดใสนัก สืบเนื่องจากแนวโน้มค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นกดดันราคา ประกอบกับเงินเฟ้อทั่วโลกยังอยู่ในระดับต่ำ ส่วนด้านราคาน้ำมันปรับตัวลดลงถึง 21.88% จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นผู้บริโภครายใหญ่ และอุปทานน้ำมันที่ล้นตลาดกดดันราคาน้ำมันอย่างต่อเนื่อง
ส่วนแนวโน้มในปี 2559 ความผันผวนในตลาดจะยังอยู่ในระดับสูงต่อไปจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ จังหวะการปรับขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐฯ นโยบายทางการเงินที่สวนทางกัน และความเสี่ยงในตลาดเกิดใหม่ ผู้ลงทุนจึงควรเตรียมพร้อมรับมือ โดยเน้นการคัดเลือกหุ้น และคัดเลือกตลาดที่ผลกำไรมีแนวโน้มเติบโตดี เพื่อสร้างผลตอบแทนในภาวะที่ตลาดมีความไม่แน่นอนสูง นอกจากนี้ การลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามภาวะตลาดมากนักหรือมีความเสี่ยงต่ำกว่าตลาด ด้วยกลยุทธ์แบบ Minimize Volatility ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะมีบทบาทสำคัญในปีหน้า ทั้งนี้ ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลการลงทุนอย่างรอบคอบและติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตลาดอย่างใกล้ชิดด้วยเช่นกัน
คำเตือน-ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน