เอเอฟพี - เซี่ยงไฮ้นำขบวนตลาดหุ้นเอเชียวิ่งฉิวประเดิมวันแรกของสัปดาห์ จากความหวังว่า ปักกิ่งจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ขณะที่ค่าดอลลาร์ทรุดต่อเนื่องจากเทรดเดอร์พากันคาดการณ์ว่า เฟดจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยออกไปเป็นปีหน้า
ก่อนหน้านี้มูลค่าหุ้นเอเชียในช่วงไตรมาส 3 หายวับไปหลายล้านล้านดอลลาร์ เช่นเดียวกับสกุลเงินที่มีผลตอบแทนสูงและความเสี่ยงสูงที่อ่อนยวบลง
ตลาดทั่วโลกเริ่มปั่นป่วนในเดือนสิงหาคม หลังจากจีนลดค่าเงินหยวน ปลุกกระแสความกังวลเกี่ยวกับสถานะของเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลกแห่งนี้ ขณะที่ในอีกด้านหนึ่งเทรดเดอร์วิตกกับการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด
อย่างไรก็ดี การที่จีนเตรียมรายงานดัชนีสำคัญในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงดัชนีการค้าและเงินเฟ้อนั้น ทำให้ดีลเลอร์พากันหวังว่า ปักกิ่งจะประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
นับจากเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว จีนลดดอกเบี้ย 5 ครั้ง รวมถึงลดสัดส่วนทุนสำรองแบงก์พาณิชย์ถึง 3 ครั้งเฉพาะปีนี้ ไม่นับรวมมาตรการกระตุ้นบางภาคส่วนอีกหลายระลอก เช่น อสังหาริมทรัพย์
แม้นักวิเคราะห์คาดหวังว่า จีนจะลดดอกเบี้ยและลดการกันสำรองแบงก์ลงอีก ทว่า ดัชนีกิจกรรมการผลิตที่เพิ่งออกมาในเดือนนี้บ่งชี้แนวโน้มการปรับตัว ซึ่งอาจทำให้สิ่งที่คาดหวังไว้ยังไม่ได้ตามที่หวัง
กระนั้น การร่ำลือเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นก็ช่วยให้ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ปิดบวกถึง 3.3% ในวันจันทร์ (12) รวมแล้วขึ้นมากว่า 5% นับจากวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา (8) หลังจากเทศกาลวันหยุดยาว แต่ยังถือว่า ลดลงกว่า 30% จากจุดสูงสุดเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน โดยปัจจัยลบคือความกังวลเกี่ยวกับการเติบโต
สำหรับตลาดอื่นๆ ในเอเชียขยับขึ้นเป็นส่วนใหญ่ เช่น ฮ่องกง บวก 0.73% ในช่วงบ่าย ขณะที่โซลปิดเพิ่มขึ้น 0.10%, สิงคโปร์ขยับขึ้น 0.9% ในช่วงบ่าย ทว่า ซิดนีย์ปิดลดลง 0.9% หลังจากขึ้นมาทุกวันตลอดสัปดาห์ที่แล้ว
ในส่วนดอลลาร์เริ่มกระเตื้องขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นการซื้อขายวันจันทร์ หลังจากสแตนลีย์ ฟิชเชอร์ รองประธานผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ระบุเมื่อวันอาทิตย์ (11) ว่า เฟดคาดว่า จะทำตามแผนการเดิมในการปรับเพิ่มต้นทุนการกู้ยืมภายในปีนี้แม้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวก็ตาม แม้มีการสำทับว่า แผนการดังกล่าวเป็นเพียงการคาดการณ์ ไม่ใช่คำสัญญาก็ตาม
ฟิชเชอร์แจงว่า ทั้งจังหวะเวลาในการขึ้นดอกเบี้ยและเป้าหมายการขึ้นดอกเบี้ยที่จะตามมาต่อไปนั้น จะขึ้นอยู่กับพัฒนาการเศรษฐกิจในอนาคตเป็นหลัก
แม้ความคิดเห็นดังกล่าวไม่ได้บ่งชี้ว่า เฟดกำลังจะขึ้นดอกเบี้ย แต่ก็แสดงให้เห็นว่า บรรดาผู้วางนโยบายยังคงพิจารณาเรื่องนี้
อย่างไรก็ดี ในการซื้อขายช่วงบ่าย ดอลลาร์กลับอ่อนลง 0.90% เมื่อเทียบเงินรูเปียะห์ นอกจากนี้ยังอ่อนลงเมื่อเทียบดอลลาร์ออสเตรเลีย บาท รูปี วอน แต่แข็งขึ้นเมื่อเทียบริงกิต
อีแวน ลูคัส นักกลยุทธ์ตลาดของไอจีในเมลเบิร์นระบุว่า ข้อมูลเดียวที่สนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดคือ อัตราการจ้างงานของอเมริกากลับเริ่มหดตัวลงในไตรมาสล่าสุด ซึ่งเมื่อประกอบกับแนวโน้มการบรรลุการเจรจาเพิ่มเพดานหนี้ และการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีหน้า ทำให้ดูเหมือนว่า แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดจะถูกเลื่อนออกไป
ขณะเดียวกัน การอ่อนค่าของดอลลาร์ รวมทั้งการคาดการณ์ว่า ดีมานด์สินค้าโภคภัณฑ์กำลังจะฟื้นตัว ช่วยดันราคาน้ำมันกระเตื้องขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ โดยราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นกว่า 25% หลังจากทำสถิติต่ำสุดในรอบ 6 ปีเมื่อเดือนสิงหาคม จากความกังวลเกี่ยวกับการแข็งค่าของดอลลาร์ อุปทานล้นเกิน และอุปสงค์อ่อนแอ
ในระหว่างการซื้อขายช่วงบ่ายวันจันทร์ น้ำมันดิบเวสต์ เทกซัสขยับขึ้น 0.87% อยู่ที่ 50.06 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบชนิดเบรนท์บวก 0.78% อยู่ที่ 53.06 ดอลลาร์
ย้อนกลับไปเมื่อวันอาทิตย์ อับดุลเลาะห์ เอล-บาดรี เลขาธิการใหญ่โอเปก แสดงความเชื่อมั่นว่า ตลาดจะ “สมดุลมากขึ้น” ในปีหน้า เนื่องจากสัญญาการผลิตของผู้ผลิตนอกโอเปกและอุปสงค์ทั่วโลกเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่า น้ำมันยังคงล้นเกินความต้องการในขณะนี้
การแสดงความคิดเห็นดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่เอล-บาดรีกล่าวเมื่อวันพฤหัสฯ ที่แล้วว่า ความต้องการน้ำมันจะเพิ่มขึ้นเกินคาดในปีนี้