โดย พิมเพ็ญ อิศรางกูร ณ อยุธยา
ฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน
บลจ.กสิกรไทย จำกัด
ใกล้สิ้นปีเข้ามาทุกที หากมาย้อนดูภาพรวมการลงทุนในปี 2558 อาจพูดได้ว่าปีนี้ไม่ใช่ปีทองของตลาดหุ้นทั่วโลกเท่าไหร่นัก เนื่องจากตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันให้ผลตอบแทนกว่า 1% เท่านั้น โดยเฉพาะในช่วงเดือนสิงหาคมที่เกิดแรงเทขายอย่างหนักในตลาดหุ้นทั่วโลก ทั้งตลาดเกิดใหม่และพัฒนาแล้ว ซึ่งสาเหตุเกิดมาจากตลาดกังวลต่อภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่อาจกดดันต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการประกาศลดค่ากลางของเงินหยวนที่เกิดขึ้นเหนือความคาดหมาย ส่งผลให้ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ในไตรมาส 1 และ 2 ที่ดูมีแนวโน้มสดใสกลับต้องซบเซาลง และในบางตลาดถึงขั้นติดลบด้วยซ้ำในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี แม้ภาพรวมตลาดหุ้นทั่วโลกจะไม่สดใสนัก แต่ถ้ามองเจาะเป็นรายกลุ่มอุตสาหกรรม (sector) จะพบว่ามี 5 กลุ่มอุตสาหกรรมที่สามารถให้ผลตอบแทนที่เป็นบวกได้จากทั้งหมด 10 กลุ่มในดัชนี MSCI World หนึ่งในนั้นก็คือกลุ่มอุตสาหกรรมสุขภาพ หรือ Healthcare ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมยอดฮิตในเมืองไทยมาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยนับตั้งแต่ต้นปีให้ผลตอบแทนเป็นบวกประมาณ 5.7% และหากพิจารณาถึงผลการดำเนินงานในอดีตในช่วง 3 ปี และ 5 ปีที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มนี้ยังสามารถสร้างผลตอบแทนสะสมได้ถึง 72% และ 122% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับหุ้นทั่วโลกที่ 40% และ 55% ตามลำดับ
อย่างไรก็ดี ในช่วงเดือนสิงหาคมซึ่งมีแรงเทขายหุ้นอย่างหนักในตลาดทั่วโลก หุ้นในกลุ่ม Healthcare เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบแรงที่สุด โดยปรับตัวลงมากว่า 9% ด้วยเหตุที่ราคาหุ้นกลุ่มนี้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างร้อนแรงในช่วงก่อนหน้า ทำให้เกิดแรงขายทำกำไรจากนักลงทุนที่มีความกังวลต่อภาวะหุ้นขาลงในระยะสั้น
นอกเหนือไปจากแรงขายในช่วงไตรมาส 3 ดังกล่าวแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่กดดันให้หุ้นกลุ่มนี้ปรับตัวลงอีกครั้งเมื่อเดือนกันยายน เริ่มต้นจากที่นางฮิลลารี คลินตัน ตัวแทนพรรคเดโมแครตผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งจะมีการเลือกตั้งในปีหน้า ได้ออกมาวิจารณ์ถึงการปรับขึ้นราคาของยาที่ชื่อว่า “Daraprim” ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี
โดยราคาได้ปรับขึ้นกว่า 5,500% จากเม็ดละ 13.5 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 750 ดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่วันที่บริษัท Turing Pharmaceuticals ได้เข้าซื้อสิทธิบัตรยาในเดือนสิงหาคม นางฮิลลารีจึงได้ถือโอกาสนี้ใช้เป็นประเด็นหาเสียงว่าจะจัดการกับปัญหาราคายาที่ไม่เหมาะสม พร้อมจะจัดตั้งหน่วยงานกำกับและควบคุมราคายา ส่งผลให้ราคาหุ้นของกลุ่มยาหรือเวชภัณฑ์พากันร่วงลงโดยเฉพาะในสหรัฐฯ รวมถึงกองทุนเฮดจ์ฟันด์ต่างพากันลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ ทำให้หุ้นในกลุ่มสุขภาพปรับตัวลงมาอีกกว่า 9% และส่งผลให้เพียงแค่ 2 เดือนหุ้นในกลุ่มนี้ปรับตัวลงมาแรงกว่า 15%
จากหลายปัจจัยที่กล่าวมา จึงทำให้นักลงทุนรายใหม่ที่อาจยังไม่มีประสบการณ์ลงทุนในหุ้น หรือเพิ่งเริ่มลงทุนในหุ้นรายกลุ่มอุตสาหรรมซึ่งจะมีความเสี่ยงสูงกว่าการกระจายลงทุนในหุ้นหลากหลายอุตสาหกรรม เริ่มเกิดความกังวลและสงสัยว่าอนาคตของหุ้นกลุ่มสุขภาพจะยังคงมีแนวโน้มสดใสตามเทรนด์ผู้สูงอายุและเทรนด์ดูแลสุขภาพหรือไม่ หรือว่าหุ้นกลุ่มนี้ได้ผ่านพ้นจุดสูงสุดไปแล้ว
ทั้งนี้ ในบทความประจำเดือนสิงหาคม ผู้เขียนได้เคยกล่าวถึงปัจจัยที่ช่วยหนุนผลตอบแทนของหุ้นกลุ่ม Healthcare ในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ซึ่งส่งผลให้เกิดการใช้จ่ายดูแลสุขภาพที่เพิ่มขึ้นตามมา นโยบายจากทางภาครัฐของหลายประเทศหลักๆ ที่จะปฏิรูประบบประกันสุขภาพให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น รวมถึงการควบรวมกิจการในกลุ่ม Healthcare ที่มีแนวโน้มเติบโตชัดเจนและหนุนการเติบโตของบริษัทและราคาหุ้น
ตัวอย่างที่เห็นเมื่อเร็วๆ นี้คือข่าวของบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งสหรัฐฯ เริ่มเจรจาขอซื้อบริษัท Allergen ในช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัท Allergen ปรับตัวขึ้นเกือบ 10% ภายในช่วงไม่ถึงสัปดาห์ หรืออย่างกรณีบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Pfizer ประกาศซื้อกิจการบริษัท Hospira ด้วยมูลค่า 17 พันล้านเหรียญสหรัฐเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจ ส่งผลให้หุ้นบริษัท Hospira ปรับตัวสูงขึ้นมากกว่า 30% ภายใน 1 สัปดาห์
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ช่วยตอกย้ำถึงความน่าสนใจของหุ้นกลุ่ม Healthcare ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนาตัวยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง งบดุลและงบกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งของบริษัทในกลุ่มนี้ช่วยหนุนการควบรวมกิจการ รวมถึงความสามารถในการจ่ายเงินปันผลที่ดีแม้ในภาวะตลาดที่ผันผวน
ด้านปัจจัยเสี่ยงของหุ้นในกลุ่ม Healthcare ที่ควรติดตามคือเรื่องของราคายาที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าแพงเกินความเหมาะสมจนทำให้เกิดกระแสต่อต้านในสังคม และอาจเป็นปัจจัยกดดันในวงกว้างไปจนถึงการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในปีหน้า ซึ่งอันที่จริงปัญหานี้สะสมมาหลายปีแล้วและเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงของทางพรรคเดโมแครต ดังนั้น การที่ตลาดปรับตัวลงในช่วงสั้นน่าจะเป็นเพียงแรงตื่นตระหนกมากกว่ามาจากปัจจัยพื้นฐานของหุ้นที่แท้จริง
อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) ซึ่งเป็นส่วนประกอบหนึ่งในกลุ่ม Healthcare นั้นมีระดับราคาที่ค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ (P/E ของกลุ่ม Biotechnology อยู่ที่ประมาณ 26 เท่า) ขณะที่หุ้นกลุ่ม Healthcare ในภาพรวมเองก็มีการขายอยู่ที่ระดับประมาณ 18 เท่า ซึ่งสูงกว่าหุ้นสหรัฐฯ ทั่วไปที่ระดับ 17 เท่า ดังนั้น การลงทุนในหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมเฉพาะเจาะจงนี้จึงมีความเสี่ยงที่สูงกว่าการลงทุนในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะด้านราคาที่จะมีความผันผวนสูงเนื่องจากได้ปรับขึ้นมาค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ จากระดับราคาที่ย่อตัวลงมาในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมานั้น ทำให้หุ้นในกลุ่มนี้มีระดับราคาที่น่าสนใจมากขึ้น และอาจเป็นจังหวะให้ผู้ลงทุนสามารถทยอยเข้าสะสมการลงทุน เพื่อรับโอกาสเติบโตในระยะยาวตามเทรนด์ผู้สูงอายุและสุขภาพที่จะมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต
คำเตือน
ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
จัดทำ ณ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2558