โดย คุณศิริรัตน์ ตานะเศรษฐ CFP
สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
เราเคยลองนั่งคำนวณเงินและเวลาที่ตนเองเสียไปในแต่ละวันหรือไม่ ว่าตั้งแต่ลืมตาตื่นเช้าขึ้นมา ไปจนถึงตอนหลับตานอนอีกครั้ง เราเสียเวลาและเงินไปกับการเดินทาง เพื่อไปในที่ต่างๆ ให้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตประจำวันของเราวันละกี่ชั่วโมง กี่บาท หลายคนเสียเวลากับการเดินทางค่อนข้างมาก โดยเฉพาะ ชีวิตคนเมือง และการเดินทางในระบบสาธารณะปัจจุบันอาจจะไม่ค่อยตอบโจทย์เราสักเท่าไรนัก ก็ไม่แปลกใจ และเป็นธรรมดาเมื่อคนเราเริ่มมีรายได้เหลือเก็บเป็นของตนเอง ก็มักจะเริ่มถามตนเองว่าอยากจะมีรถยนต์ในครอบครองสักคันจะดีมั้ย
จริงๆ แล้วการที่จะตัดสินใจซื้อรถสักคัน เราคงต้องเริ่มตั้งคำถามตนเองให้แน่ใจเสียก่อนว่า เรามีความจำเป็นที่จะต้องมีรถจริงๆ หรือไม่ เพราะรถไม่ถือเป็นทรัพย์สิน แต่มันคือหนี้สินที่จะก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายอีกมากมาย และยิ่งไปกว่านั้น มูลค่าก็กลับจะลดลงเรื่อยๆ ตามการสึกหรอ มีหลายคนพูดติดตลกว่า รถเมื่อเราซื้อออกมาจากโชว์รูมแล้วปั๊บ ราคาก็จะลดลงทันที 30% เป็นอย่างน้อย ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ
หากใครที่คิดอยากออมเงินด้วยการตัดสินใจซื้อรถนั้น ขอเตือนว่ามันไม่ใช่เหตุผลที่ดีที่จะสนับสนุนให้เราตัดสินใจซื้อรถสักคัน แต่เหตุผลดีๆ ที่อาจทำให้เราตัดสินใจซื้อรถนั้นคือ รถจะช่วยให้เราสามารถลดค่าใช้จ่ายการเดินทางลง ช่วยให้เราเพิ่มรายได้ สามารถใช้ประโยชน์ในอาชีพ และมันคือสิ่งเหล่านี้ที่ได้มาคุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายในอนาคตที่จะเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ค่าผ่อนรถ ค่าเชื้อเพลิง ค่าบำรุงรักษา ค่าประกันรถยนต์ ค่าจอดรถ ฯลฯ
ต่อมา หากเรามั่นใจแล้วว่ารถยนต์คือคำตอบของเรา ตามหลักทั่วไปในการวางแผนการเงิน เราควรทราบเป้าหมายว่ารถที่เราอยากได้เป็นยี่ห้อใด รุ่นไหน ราคาประมาณเท่าไร มือหนึ่งมือสอง จึงจะเหมาะสมตามจุดประสงค์ของเรา การที่จะเลือกรถเป้าหมายในดวงใจสักคันเราต้องพึงระวังในใจด้วยว่า ยิ่งรถราคารุ่นที่แพง ค่าใช้จ่ายต่างๆ เกี่ยวกับรถย่อมแพงเป็นเงาตามตัว และอีกคำถามที่เราต้องตอบตัวเองให้ได้คือ เราต้องการซื้อรถคันนี้เมื่อไหร่ ถ้าหากเงินที่เรามีอยู่ในธนาคารยังไม่พอจ่าย เราจะมีเหลือเวลาเก็บออมเงินอีกนานเพียงใดเพื่อให้ได้เงินจำนวนนั้น หรือเงินดาวน์ เราจึงจะสามารถวางแผนเริ่มการออมเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่พอเหมาะ
วิธีการคำนวณจำนวนเงินออมต่อเดือนเพื่อให้ได้เงินก้อนสำหรับการซื้อรถ ยกตัวอย่างเช่น รถยนต์ที่เราต้องการซื้อมีราคา 800,000 บาท โดยส่วนใหญ่ควรเตรียมเงินดาวน์ 20-25% ของราคารถยนต์ คือ 200,000 บาท (fv) เป้าหมายอยากมีรถคันนี้ภายใน 2 ปี (n) หากเราเลือกออมในหุ้น ซึ่งมีผลตอบแทนเฉลี่ย 6% (i) ต่อปี เราจะต้องออมอย่างน้อยเดือนละประมาณ 3,700 บาท (PMT) แต่ถ้าหากเราไม่ชินกับความผันผวนของหุ้น ก็สามารถออมในกองทุนพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งจะให้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่าหุ้น ประมาณ 3-4% ต่อปี จึงต้องออมมากขึ้นเป็นเงินเดือนละ 4,920 บาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเราว่าสไตล์การออมการลงทุนของเราเป็นอย่างไร
คำถามต่อมาที่เรามักจะสงสัยเกี่ยวกับการซื้อรถคือการซื้อเงินสด กับซื้อเงินผ่อน ตัวเลือกไหนดีกว่า หากคนคนนั้นมีเงินเพียงพอที่จะตัดสินใจให้ซื้อทั้งเงินสดหรือเงินผ่อนได้ การซื้อเงินสดย่อมดีกว่า เพราะประหยัดดอกเบี้ย และการไม่มีหนี้ เป็นลาภอันประเสริฐ แต่ข้อเสียของการซื้อเงินสดคือ การเสียโอกาสการลงทุน หากเจ้าของเงินมีแหล่งลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินผ่อน แต่สำหรับคนที่ไม่มีทางเลือก การซื้อเงินผ่อนก็ย่อมเป็นคำตอบเดียว โดยมากวิธีการที่ทางบริษัทไฟแนนซ์มักจะคิดดอกเบี้ย คือ Flat Rate ตัวอย่างเช่น รถราคา 800,000 บาท ดาวน์ 200,000 บาท เหลือกู้อีก 600,000 บาท ต้องการผ่อน 5 ปี ถ้าหากคิดดอกเบี้ย 3%
1.) คำนวณหาดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายทั้งหมด = 600,000 บาท x 5 ปี x 3% = 90,000 บาท
2.) คำนวณหายอดเงินส่งรวมทั้งหมด = 600,000 บาท + 90,000 = 690,000 บาท
3.) คำนวณหาค่างวดต่อเดือน = 690,000/(12 เดือน x 5 ปี) = 11,500 บาท
เมื่อได้ยอดผ่อนรถที่เราจะต้องผ่อนต่อเดือน ซึ่งปกติไม่ควรเกิน 15% ของรายได้รวม เราควรจะนำรายรับรายจ่ายที่จะเกิดขึ้นมาลองคำนวณดูทั้งหมด เพื่อจะได้จำลองสถานการณ์ก่อน หากมีการซื้อรถจริง ว่าเราจะสามารถมีชีวิตอยู่รอดได้หรือไม่กับรายได้เท่าเดิมที่มีอยู่ แต่มีค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต คำเตือน นอกจากคำนวณค่าใช้จ่ายค่าผ่อนรถแล้ว อย่าลืมคำนวณค่าน้ำมัน ค่าบำรุงรักษา ค่าประกัน ค่าต่อทะเบียนภาษีรถยนต์ที่ต้องจ่ายเป็นประจำทุกปี ทั้งนี้ทั้งนั้นแตกต่างตามแต่ละรุ่นของรถ
เราจะเห็นได้ว่าการตัดสินใจซื้อรถสักคัน มีหลากหลายสิ่งอย่างที่เราจำเป็นจะต้องนำมาใช้ร่วมในการตัดสินใจ หากเราลืมนึกถึงเรื่องต่างๆ เหล่านี้ โดยเฉพาะการคำนวณรายรับรายจ่าย เราอาจจะไม่มีความสามารถจ่ายส่งเงินผ่อนตามยอด แล้วอาจมีผลให้บริษัทไฟแนนซ์มายึดรถเราไป อย่าให้แรงการตลาดทำโปรโมชันลดแลกแจกแถมของบริษัทรถยนต์เป็นตัวหลอกล่อให้เรารีบตัดสินใจโดยไม่ได้มีเวลาคำนวณ คิดตรึกตรองก่อนตัดสินใจ และแนะนำอย่าลืมเปรียบเทียบข้อมูลจากหลายๆ บริษัทยี่ห้อรถก่อนตัดสินใจ