xs
xsm
sm
md
lg

ได้ดี....จากการช่วยคนอื่นทำดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บัวหลวง Money Tips
โดย มีชัย เตชาภิประณัย
Fund Management กองทุนบัวหลวง

ปัจจุบันการลงทุนที่เน้นความยั่งยืนกำลังเป็นกระแสการลงทุนที่มาแรงอย่างยิ่ง ผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อม ภัยธรรมชาติ การรุกรานจากธุรกิจใหญ่ การประท้วง และคอร์รัปชันที่มากขึ้นทุกขณะ ช่วยปลุกให้หลายหน่วยงานหันมาสนใจประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social, Governance เรียกรวมว่า ESG) มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ ผู้บริโภค และรัฐบาล ล้วนต่างส่งเสริมและผลักดันนโยบายต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ในระยะยาว เช่น การสนับสนุนพลังงานทางเลือก หรือการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแต่ประหยัดพลังงาน เป็นต้น

สิ่งหนึ่งที่สะท้อนถึงความตื่นตัวต่อกระแสนี้ได้ดีก็คือ เมื่อเมษายน 2015 มีนักลงทุนสถาบันเกือบ 1,400 แห่งจากทั่วโลก ได้ร่วมลงนามในหลักการลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคมขององค์การสหประชาชาติ (United Nations’ Principles for Responsible Investment : UNPRI) พวกเขาทั้งหมดบริหารจัดการเงินลงทุนรวมกันเกือบ 59 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2006 ที่มีเพียง 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ นักลงทุนสถาบันเหล่านี้จะผนวกประเด็น ESG ไว้ในนโยบายลงทุน ซึ่งจะช่วยผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนตระหนักและให้ความสำคัญต่อ ESG ตั้งแต่ขั้นตอนกำหนดนโยบาย วิเคราะห์ และรายงานผลประกอบการประจำปี โดยนักลงทุนสถาบันจะใช้ข้อมูล ESG ของบริษัทที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ นำมาวิเคราะห์ความเสี่ยงในเชิงคุณภาพของกิจการนั้นๆ ที่ไม่อาจหาได้ในงบการเงินทั่วไป เพื่อพิจารณาว่าบริษัทได้ดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบ และพร้อมจะเติบโตอย่างยั่งยืนหรือไม่

แต่ยังมีอีกมุมหนึ่งที่นักลงทุนยังไม่ค่อยรู้จักกันมากนัก ได้แก่ “การลงทุนในบริษัทที่มีสินค้าหรือบริการที่ช่วยยกระดับ ESG ของอีกบริษัทหนึ่ง” ซึ่งหมายถึงผลิตภัณฑ์ตัวหนึ่งเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายด้าน ESG ของบริษัทหนึ่ง แต่กลับสร้างรายได้ให้บริษัทหนึ่ง นักลงทุนอาจเน้นลงทุนในธุรกิจหรือกิจการที่อาศัย ESG สร้างรายได้หรือมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทโดยไม่ใช่เป็นรายจ่ายหรือต้นทุนของธุรกิจได้ หรือกล่าวได้ว่า ESG เป็นปัจจัยก่อเกิดของบริษัทซึ่งก่อตั้งขึ้นมาเพื่อวิจัยและพัฒนาสินค้าเกี่ยวกับ ESG เป็นหลัก เพราะบริษัทนั้นมองเห็นอนาคตที่จะเติบใหญ่ไปพร้อมกับกระแส ESG นั่นเอง

ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือโรงงานที่ค่อยๆ วางแผนเปลี่ยนมาจัดซื้อพลังงานจากบริษัทผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์และแรงลม นัยหนึ่งก็เพื่อลดการใช้พลังงานที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่อีกด้านก็ช่วยยกระดับเรตติ้ง ESG ของบริษัทให้สูงขึ้นด้วย ซึ่งแม้ว่าค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะเป็นต้นทุนที่สูงในระยะเริ่มต้น แต่จะกลายเป็นผลดีต่อบริษัทในอนาคต

ในอีกฟากหนึ่งซึ่งเป็นผู้ผลิตและให้บริการพลังงานสะอาด (เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานลม) สินค้าที่ผลิตขึ้นคือพลังงานสะอาด ซึ่งเป็นการทำธุรกิจ ESG แต่อีกด้านก็เป็นสินค้าที่สร้างรายได้ สามารถแสวงหากำไรได้ในทันที โดยเฉพาะในปัจจุบันที่กระแสลงทุน ESG เริ่มถูกผลักดันจากหลายภาคส่วน จึงจะยิ่งส่งเสริมให้ธุรกิจพลังงานทางเลือกมีแนวโน้มอันสดใสในกาลข้างหน้า

ยังมีธุรกิจที่พร้อมเติบโตไปกับกระแส ESG อีกมาก เช่น บริษัทพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรับผลกระทบจาก Climate Change บริษัทออกแบบอาคารและสำนักงานสีเขียวเพื่อลดพลังงาน บริษัทสร้างทำนบกั้นน้ำทะเลเพื่อป้องกันระดับน้ำทะเลที่หนุนสูง เป็นต้น โดยภัยพิบัติทางธรรมชาติและสภาวะโลกร้อนจะผลักดันให้เกิดสินค้าและบริการ ESG ในอนาคตอีกมาก ซึ่งปัจจุบันสินค้าเหล่านี้ยังอยู่ในตลาดเฉพาะกลุ่ม (niche market)

แต่เมื่อนานวันขึ้น หลายๆ บริษัทจะค่อยๆ ตระหนักถึงความสำคัญของ ESG จนต้องพึ่งพาสินค้าและบริการเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อลดความเสี่ยงทางธุรกิจ พร้อมกับพัฒนากิจการของตนให้ยั่งยืนในระยะยาว และเมื่อตลาดนี้เติบใหญ่ขึ้นก็จะเบียดกลุ่มธุรกิจที่พึ่งพาพลังงานแบบเก่าที่ปล่อยก๊าซคาร์บอน หรือบริษัทที่ดำเนินธุรกิจโดยมองข้ามแนวทาง ESG ให้สูญเสียโอกาสในการประกอบกิจการหรือถูกแย่งส่วนแบ่งตลาดไปในที่สุด บริษัทหรือธุรกิจเหล่านั้นจึงต้องเลือกว่าจะเปลี่ยนแนวทางของธุรกิจให้ก้าวทันกระแส หรือจะค่อยๆ ล้มหายไปจากตลาด

ในแง่การลงทุนนั้น นักลงทุนควรติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด เพราะทุกวันนี้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ มากมาย บางอย่างอาจก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงชนิด “ถึงรากถึงโคน” จนส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ ผลิตภัณฑ์บางตัวอาจช่วยยกระดับ ESG แต่บางตัวอาจล้าสมัยไม่คุ้มค่าที่จะวิจัยและพัฒนาอีกต่อไป เช่น ในวันนี้รถยนต์ไฮบริดช่วยให้เราได้ใช้พลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น แต่ถ้าวันหนึ่งเกิดคิดค้นรถยนต์ที่ใช้น้ำเป็นเชื้อเพลิงหลักได้ บริษัทผลิตรถยนต์ไฮบริดก็ต้องรีบปรับตัวให้ทันการณ์

แม้ปัจจุบันจะเป็นช่วงตั้งต้นของธุรกิจอุตสาหกรรมกลุ่มนี้และยังมีเรื่องที่ยังไม่ชัดเจนสักเท่าไหร่ แต่ที่แน่นอนก็คือ โลกของเราปรารถนาสินค้าและบริการที่สร้างความยั่งยืนมากขึ้นเรื่อยๆ การลงทุนในธุรกิจที่สนับสนุนหรือเอื้อต่อการสร้างความยั่งยืนจึงยังเปิดกว้าง และน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น