“เซ็นจูรี่ 21” ร่วมกับ “โยโกฮาม่า โฮลดิ้ง” ยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น เปิดเกมรุกตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ไทย หวังแบ่งเค้กขายกระแสไฟฟ้าหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน ตั้งเป้าเสนอขาย 60 เมกะวัตต์ วางเป้ารายได้ปี 59 กำไร 30 ล้านบาท พร้อมตั้งธง 3 ปีเข้าตลาดหลักทรัพย์
นายกิติศักดิ์ จำปาทิพย์พงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เซ็นจูรี่ 21 (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ในการลงนามความร่วมมือกับบริษัทโยโกฮาม่า โฮลดิ้ง จากประเทศญี่ปุ่นครั้งนี้เป็นการลงทุนส่วนตัว ภายใต้บริษัทโยโกฮาม่า โฮลดิ้ง เอ็นเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด โดยเบื้องต้นมีจดทะเบียน 10 ล้านบาท ซึ่งทางบริษัทญี่ปุ่นได้ถือหุ้นในสัดส่วน 70% และบริษัทในไทยถือ 30% และในอนาคตอันใกล้เตรียมเพิ่มทุนอีก 100 ล้านบาท รองรับปริมาณงานที่จะเกิดขึ้น
“ด้วยกระแสของโลกที่ให้ความสำคัญต่อพลังงานสะอาด หรือ Clean Energy และประเทศไทยเองรัฐบาลก็เริ่มให้การสนับสนุน ประกอบกับส่วนตัวที่มีประสบการณ์ด้านธุรกิจอสังหาฯ และมีความสัมพันธ์กับบริษัทชั้นนำ และทางบริษัท โยโกฮาม่า โฮลดิ้ง ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์มามากว่า 8 ปี มีความสนใจในการนำนวัตกรรมระบบพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์มาติดตั้งในประเทศไทย ซึ่งเรามองเห็นถึงโอกาสในทำธุรกิจในอนาคตจึงเป็นที่มาในการร่วมทุนเพราะจะเป็นการเสริมจุดแข็งซึ่งกันและกัน”
ด้าน นายทาคามิชิ มะสึดะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท โยโกฮาม่า โฮลดิ้ง เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด จากประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ที่ผ่านมา บริษัทมีผลงานการติดตั้งให้แก่บ้านเรือนที่ญี่ปุ่นกว่า 1,000 ครัวเรือนต่อปี จนถึงปัจจุบันได้มีการติดตั้งมามากกว่า 10,000 ยูนิต ทั้งโซลาร์รูฟ และโซลาร์ ฟาร์ม สำหรับแผนการดำเนินงานในประเทศไทยนั้นทางบริษัทโยโกฮาม่า มีความตั้งใจที่จะขยายกิจการระบบพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีคุณภาพ และมาตรฐานไปทั่วโลก ทั้งนี้ เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพ และมีสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์จึงได้มาเปิดตลาดเป็นที่แรก ก่อนจะขยายไปประเทศต่างๆ ในเอเชีย เช่น พม่า อินโดนิเซีย กัมพูชา ภายในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งรูปแบบการลงทุนนั้นเป็นได้ทั้งการหาพาร์ตเนอร์ใหม่ หรือไปในนามบริษัทโยโกฮาม่าฯ
ในส่วนของประเทศไทยนั้นจะมีการนำเอานวัตกรรมการติดตั้งชั้นนำที่มีความสวยงาม และทนต่อสภาพอากาศของทางญี่ปุ่นที่เรียกว่า “NODATEX” เป็นระบบแบบ Hybrid System มาใช้ ซึ่งเป็นนวัตกรรมชั้นนำเกี่ยวกับการติดตั้งตั้งฐานระบบ PV (Photovoltaic) มาให้บริการซึ่งเป็นไปตามนโยบายของบริษัทซึ่งเน้นที่คุณภาพของผลงานตามมาตรฐานญี่ปุ่นใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง แข็งแรง ทนทาน สวยงาม พร้อมบริการครบวงจรแต่ต้นทุนในการติดตั้งต่ำซึ่งต่ำกว่าสินค้าในตลาดอยู่ประมาณ 20% รวมถึงรับประกันการรั่วซึมของหลังคาสูงสุดมากถึง 20 ปีมาเป็นจุดขาย
อย่างไรก็ดี ทางบริษัทมีแผนที่จะรุกตลาดทั้งในส่วนภาครัฐ และเอกชนไม่ว่าจะเป็นโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบ-สูง โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งขณะนี้มีบริษัทกว่า 50 รายได้ให้ความสนใจซึ่งอยู่ในช่วงศึกษา และวางแผนงาน รวมทั้งยังมีแผนที่จะเข้าร่วมในโครงการผลิตไฟฟ้าสำหรับหน่วยงานราชการ 600 เมกะวัตต์ (MW) โดยที่ใบอนุญาตจะออกภายในสิ้นปี 2558 และก่อสร้างแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน ปี 2559 โดยตั้งเป้าหมายที่จะมีส่วนแบ่งในการก่อสร้างอยู่ที่ 10% หรือประมาณ 60 เมกะวัตต์ มูลค่าการก่อสร้างจะอยู่ที่ 3,000 ล้านบาท และคาดว่าในปี 59 บริษัทจะมีรายได้รวมอยู่ที่ 100 ล้านเยน หรือมีกำไร 30 ล้านบาท
นอกจากนี้ ทางบริษัทยังมีเป้าหมายที่จะนำเอาบริษัทโยโกฮาม่า โฮลดิ้ง เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายใน 3 ปี โดยในช่วง 3 ปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายจะต้องมีการงานในมือปีแรก 50 เมกะวัตต์ ปีที่สอง 150 เมกะวัตต์ และปีที่สาม300 เมกะวัตต์ โดยอัตราการเติบโตจะเฉลี่ยที่ 300%