xs
xsm
sm
md
lg

“เวียดนาม” เสน่ห์ทางธุรกิจที่ต้องจับตา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย ศิรารัตน์ อรุณจิตต์
กองทุนบัวหลวง

จากประเทศที่เคยเป็นสนามสู้รบระหว่างลัทธิการเมืองอันนองเลือดที่สุดแห่งหนึ่ง ในวันนี้เวียดนามกำลังก้าวหนีอดีต จนอาจเรียกว่ากำลังลบภาพความทรงจำอันเลวร้าย ด้วยภาพลักษณ์แห่งความเป็นเวียดนามสมัยใหม่

พักหลังนี้เรามักได้ยินข่าวเสมอว่าบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่นิยมเพิ่มหรือย้ายฐานการผลิตไปยังเวียดนามมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2015 ช่วยสร้างมูลค่าส่งออกกว่า 77.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้น 9.3% จากครึ่งแรกของปี 2014) และในปัจจุบันเวียดนามก้าวยึดตำแหน่งผู้ส่งออกไปยังสหรัฐฯ รายใหญ่สุดในอาเซียน ด้วยมูลค่า 15.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้

เสน่ห์น่าดึงดูดในเชิงธุรกิจการค้าของเวียดนามอยู่ตรงไหนหรือ

ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา เวียดนามคือประเทศที่พัฒนาเจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่เริ่มต้น “คิกออฟ” แผนปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจ (ที่เรียกว่าแผนปฏิรูป Doi Moi) ในปี 1985 จนพลิกฟื้นตัวจากประเทศในกลุ่มยากจนที่สุดในโลก มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรต่ำกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐ ค่อยๆ ยกตัวเองสู่ประเทศรายได้ระดับกลาง-ล่าง (lower middle income) ที่มีรายได้ต่อหัวเกิน 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อสิ้นปี 2014 แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ควบคู่กับความพยายามขจัดปัญหาความยากจน ดังเห็นได้จากสัดส่วนครัวเรือนยากจนลดลงจาก 60% ในปี 2533 มาต่ำกว่า 3% ในปัจจุบัน

ความสำเร็จดังกล่าวมิอาจได้มาด้วยโชคชะตาฟ้าลิขิต แต่เกิดจากการทุ่มเงินลงทุนมหาศาลเพื่อพัฒนาระบบการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นนโยบายหลักที่รัฐบาลพรรคเดียวของประเทศเวียดนามให้ความสำคัญอย่างยิ่ง คนต่างชาติอาจคุ้นตากับแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมอันงดงามชวนฝัน ทว่าแรงจูงใจในเชิงเศรษฐกิจของเวียดนามนั้นอยู่ที่ตัวคน หรือประชากรชาวเวียดนามนั่นเอง

โครงสร้างประชากรของประเทศในเวลานี้ น่าสนใจยิ่งนัก:

- The world factbook (CIA) ระบุว่า เวียดนามมีจำนวนประชากรเป็นลำดับที่ 15 ของโลก ราว 94 ล้านคน ทั้งหมดมีอายุเฉลี่ยเพียง 29.2 ปี

- โครงสร้างประชากรเป็นแบบ Demographic Dividend พลเมืองส่วนใหญ่ประมาณ 45.05% อยู่ในวัยทำงาน หรืออยู่ในช่วงอายุ 25-45 ปี ซึ่งถือว่าเป็นโครงสร้างประชากรที่ดีที่สุด เนื่องด้วยอัตราพึ่งพาต่ำ เพราะประชากรเกือบครึ่งอยู่ในวัยทำงาน ขณะที่มีประชากรวัยชราและเด็กในสัดส่วนน้อยกว่า

- ข้อมูลจาก Nielsen ระบุว่า ชาวเวียดนามที่มีสถานะชนชั้นกลางรวมทั้งหมดราว 8 ล้านคนในปี 2012 จะขยายตัวเติบโตเป็น 44 ล้านคนภายในปี 2020 และหากถึงปี 2030 กลุ่มคนชั้นกลางเวียดนามจะมากกว่า 95 ล้านคน หากแนวโน้มประชากรยังคงตามประมาณการนี้ต่อไป สังคมเวียดนามจะเกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในเชิงพฤติกรรมของผู้บริโภคค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการบริโภคและกำลังซื้อที่เติบใหญ่ขึ้น

ตลาดแรงงานที่มีประสิทธิภาพ

ด้วยโครงสร้างประชากรที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อีกทั้งผู้บริหารรัฐมีวิสัยทัศน์เห็นคุณประโยชน์ของการศึกษา ในฐานะหัวเชื้อขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวไกล จึงได้ลงทุนไปกับครูและนักเรียนอย่างเต็มศักยภาพ ผลลัพธ์ตอบกลับก็คือตัวเลขการลงทุนตรงจากต่างชาติที่ก้าวกระโดดในรอบหลายปี ด้วยความเชื่อมั่นแรงงานที่มีทักษะและคุณภาพ อีกทั้งยังขยันขันแข็ง กระตือรือร้น พร้อมทั้งเต็มไปด้วยพลังสร้างสรรค์

ที่ประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum : WEF) ได้เผยแพร่รายงานการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวม 144 ประเทศ (The Global Competitiveness Report 2014-2015) พบว่า เวียดนามอยู่ในอันดับที่ 68 ซึ่งมีพัฒนาการขึ้นเป็นลำดับจากอันดับที่ 75 ในปี 2012-2013 หากพิจารณาเฉพาะประสิทธิภาพของตลาดแรงงาน เวียดนามอยู่ในลำดับที่ 49 (ปี 2013-2014 อยู่ในลำดับที่ 56) และหากเปรียบเทียบเฉพาะประเทศสมาชิกอาเซียนที่ได้รับการจัดอันดับทั้งสิ้น 9 ประเทศ (ยกเว้นบรูไน) เวียดนามอยู่ในลำดับที่ 5 อันดับเหล่านี้ช่วยยืนยันว่าเป็นดินแดนที่เจริญรุดหน้าอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ อัตราค่าจ้างแรงงานในระดับต่ำยังเป็นอีกแรงจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาตั้งฐานการผลิตมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบค่าแรงขั้นต่ำระหว่างจีนกับเวียดนาม จะพบว่าทิ้งห่างกันเป็นเท่าตัว ข้อมูลจาก tradingeconomics.com ระบุว่า ในปีนี้ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำของเวียดนามตกเดือนละ 142 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่จีนอยู่ประมาณเดือนละ 325 ดอลลาร์สหรัฐ จึงไม่แปลกเลยที่หลายบริษัทตัดสินใจย้ายฐานการผลิตจากจีนมาที่เวียดนาม

ภาคการค้าที่ยังได้เปรียบ

นอกเหนือจากแรงงานที่มีศักยภาพแล้ว ในระดับประเทศ เวียดนามยังร่วมเป็นภาคีทางการค้าสำคัญระดับโลก ทำให้ได้รับสิทธิประโยชน์ที่เอื้อต่อภาคการพาณิชย์ อย่างเช่นช่วยส่งเสริมการส่งออก และเปิดโอกาสให้สินค้าใหม่ๆ เข้าสู่ตลาด โดยอาศัยสิทธิพิเศษเป็นเครื่องเจาะตลาด และยังช่วยส่งเสริมภาคการผลิต โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม นำไปสู่การเพิ่มการลงทุน การจ้างงาน และอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศโดยส่วนรวม

ตัวอย่างสำคัญก็คือ

- การได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปจากยุโรป (GSP) ทั้งยกเว้นอัตราภาษีศุลกากร (Duty Free) และลดอัตราภาษีศุลกากร (Tariff Reduction) ซึ่ง GSP เป็นการลดต้นทุนการนำเข้า ย่อมจะจูงใจให้ผู้ซื้อจากยุโรปเพิ่มการนำเข้าจากเวียดนาม ซึ่งเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยส่วนรวม

- การเข้าร่วม TPP หรือความตกลงหุ้นส่วนภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership) โดยเวียดนามมองว่าจะช่วยดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น รวมถึงเพิ่มมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดต่างๆ ของประเทศในกลุ่ม TPP ในอัตราภาษีที่ลดลง

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทำเลภูมิประเทศที่ทอดยาวเป็นรูปตัว S เลียบชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกสุดของคาบสมุทรอินโดจีน เอื้อต่อการบริหารจัดการทรัพยากรทั้งบนบกและในทะเล เมืองชายฝั่งของเวียดนามกลายเป็นเมืองท่าค้าขาย และจุดพักเดินเรือของทะเลจีนใต้ ซึ่งกำลังทวีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการเมือง

ภูมิประเทศของเวียดนามหาได้ดึงดูดใจในเชิงการค้าเท่านั้น แต่ยังเป็นเป้าหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกอีกด้วย ปัจจุบันมีแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมรดกโลกถึง 4 แห่ง คือ อ่าวฮาลอง พระราชวังเว้ เมืองโหย่ยอัน (ฮอยอัน) และอาณาจักรจาม ที่มีภาพประทับอันงดงามติดตาตรึงใจคนมากมาย

เสน่ห์ของเวียดนามมีมากมายและพร้อมที่จะเติบโตต่อไปอีกยาวนาน ด้วยทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ภาคการค้าที่เอื้ออำนวย กำลังคนในวัยแรงงานจำนวนมาก ประกอบกับความมุ่งมั่นของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ที่พัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ โดยมุ่งเน้นพัฒนาทักษะทรัพยากรมนุษย์ในยุคอุตสาหกรรมสมัยใหม่ รวมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน

จากประเทศที่เต็มไปด้วยอดีตอันเป็น “ประวัติศาสตร์บาดแผล” แต่ในวันนี้เวียดนามเป็นอีกประเทศหนึ่งที่เต็มไปด้วยศักยภาพจนน่าสนใจลงทุนในระยะยาว ทั้งในแง่การลงทุนโดยตรงในเวียดนาม จากตลาดที่กำลังเติบโตด้วยประชากรชนชั้นกลาง หรือลงทุนผ่านบริษัท (ไทย) ที่ขยายฐานการลงทุนไปยังเวียดนาม ก็เป็นอีกช่องทางที่น่าสนใจ


กำลังโหลดความคิดเห็น