บลจ.วรรณยังคงมุมมองสินทรัพย์ทางการเงินทั่วโลกผันผวน เน้นกลยุทธ์กระจายสินทรัพย์ลงทุนให้หลากหลายเพื่อลดความเสี่ยง ล่าสุดเสนอขายกองทุนเปิดวรรณ อัลตร้า อินคัม ฟันด์ (ONE-ULTRA) ชูจัดพอร์ตสร้างผลตอบแทน พร้อมสิทธิประโยชน์กรมธรรม์คุ้มครองชีวิตและสุขภาพ จากบริษัท เอไอเอ จำกัด โดยเปิดเสนอขายครั้งแรกระหว่างวันที่ 20-28 ส.ค.นี้
นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทเปิดเสนอขายครั้งแรก (IPO) กองทุนเปิด วรรณ อัลตร้า อินคัม ฟันด์ (ONE-ULTRA) ระหว่างวันที่ 20-28 สิงหาคมนี้ ซึ่งมีนโยบายลงทุนในตราสารทุน ตราสารหนี้ ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน หรือเงินฝากทั้งในประเทศหรือ/และต่างประเทศ ซึ่งกองทุน ONE-ULTRA มีนโยบายจ่ายปันผลปีละไม่เกิน 4 ครั้ง ซึ่งผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุน ONE-ULTRA จะได้รับสิทธิความคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประกันชีวิตและค่ารักษาพยาบาลจากประกันสุขภาพ ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันชีวิตและสุขภาพของบริษัท เอไอเอ จำกัด ซึ่งสิทธิการคุ้มครองจะขึ้นอยู่กับจำนวนหน่วยของผู้ถือหน่วยลงทุน
“ONE-ULTRA มีจุดเด่นของการบริหารพอร์ตที่มีสัดส่วนการลงทุนที่มีความยืดหยุ่น 0-100% โดยพอร์ตการลงทุนใน ONE-ULTRA ในสถานการณ์ช่วงนี้จะเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศและต่างประเทศสัดส่วนประมาณ 60% หุ้นในและต่างประเทศในสัดส่วนประมาณ 20% และกระจายการลงทุนไปยังกองทุนอสังหาริมทรัพย์และกองทุนทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ (REIT) ประมาณ 20% เนื่องจากผลตอบแทนด้านเงินปันผลที่ค่อนข้างดีและคาดว่าช่วงนี้ตลาดหุ้นของต่างประเทศจะมีความเสถียรภาพมากกว่าตลาดหุ้นในประเทศไทย ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารพอร์ตการลงทุนมีความเหมาะสม ลดความเสี่ยงและสร้างโอกาสรับผลตอบแทน”
ภาพการลงทุนในช่วงที่เหลือของปีนี้ ปัจจัยหลายอย่างยังคงต้องติดตาม ดังนั้น คาดว่าสินทรัพย์ทางการเงินทั่วโลกยังคงต้องเผชิญความผันผวนต่อไปอีกระยะ โดยจุดเด่นด้านกลยุทธ์ของกองทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนควบคู่กับการลดความเสี่ยง ทำให้ในช่วงแรกกองทุน ONE-ULTRA จะเน้นลงทุนตราสารหนี้เอกชนชั้นดีที่ให้ผลตอบแทนดีประมาณ 60-70% ของพอร์ต เนื่องจากปัจจุบันนี้ตราสารหนี้ภาคเอกชนยังให้ผลตอบแทนสูงกว่าตราสารหนี้ภาครัฐ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยภายในประเทศ บลจ.วรรณมีมุมมองว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั้งปีที่ระดับ 1.50% แต่อย่างไรก็ดี ในภาวะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำจากการปรับลดลงของราคาน้ำมัน ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2558 บริษัทคาดว่ามีความเป็นไปได้ที่ทาง ธปท.อาจพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยลงอีกครั้งเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ด้านตลาดหุ้นในประเทศ บริษัทประเมินเป้าหมายของดัชนีปีนี้อยู่ที่ระดับ 1,457 จุด คิดเป็นระดับ PE ที่ระดับ 15 เท่า คาดการณ์ในไตรมาส 4/2558 ตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวกลับมา โดยจะมีเม็ดเงินจากกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เข้ามาเพิ่มความน่าสนใจให้แก่ตลาดหุ้นไทย อย่างไรก็ดี ในระยะสั้นคาดว่านักลงทุนต่างชาติจะยังคงไม่กลับเข้าเพิ่มน้ำหนักในหุ้นไทย เนื่องจากยังรอดูปัจจัยทางเศรษฐกิจ และปัจจัยทางการเมืองอย่างใกล้ชิด ดังนั้น บลจ.วรรณ มองว่าตลาดหุ้นไทยยังมีความน่าสนใจ เพียงแต่ผู้ลงทุนต้องพิจารณาเลือกลงทุนให้เหมาะสมเป็นรายอุตสาหกรรม ขณะที่ตลาดหุ้นต่างประเทศ ในระยะยาวยังคงเติบโตตามการเติบโตของเศรษฐกิจโลก แม้ว่าการฟื้นตัวยังมีความเปราะบาง เนื่องจากยังมีปัจจัยกดดันจากความกังวลเรื่องความผันผวนของตลาดหากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งต้องติดตามมุมมองเศรษฐกิจสหรัฐฯ ว่ายังพัฒนาดีขึ้นต่อเนื่องหรือไม่ โดยเฉพาะในภาคตลาดแรงงานและอัตราค่าแรงที่ต้องมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเพิ่มโอกาสให้เฟดพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยในช่วงเดือนกันยายนนี้ อย่างไรก็ดี คาดว่าความผันผวนของตลาดจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจไม่มาก เนื่องจากตลาดหุ้นได้เริ่มทยอยรับรู้ผลเชิงลบไปเรียบร้อยแล้ว
“แม้ว่าเศรษฐกิจโลกในภาพรวมยังขยายตัวได้ โดยสถานการณ์แถบยูโรโซน โดยเฉพาะปัญหาของกรีซคลี่คลายลง โดยกรีซเริ่มรับความช่วยเหลือจากกลุ่มเจ้าหนี้ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ เริ่มทยอยรับรู้ไปบ้างแล้ว แต่ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในช่วงที่เหลือจากนี้ก็ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด สำหรับเศรษฐกิจไทยปัจจุบันก็ฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาด ซึ่งก็ยังต้องติดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4/58 อีกเช่นกัน”
จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น บริษัทมองว่ากลยุทธ์การลงทุนที่สามารถช่วยบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดควบคู่กับการสร้างผลตอบแทน โดยใช้หลักการการจัดสรรเงินลงทุน (Active Asset Allocation) หรือเลือกลงทุนในสินทรัพย์ให้หลากหลาย ซึ่งเป็นกลยุทธ์หลักที่ใช้บริหารการลงทุนของกองทุน ONE-ULTRA เพื่อให้มีความเหมาะสมต่อภาวะเศรษฐกิจ และปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลา จะเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับภาวะตลาดในช่วงนี้