นายกสมาคมบลจ.มึนคลังไม่เคาะต่อสิทธิ์หักลดหย่อนภาษีกองทุนLTF ระบุควรสร้างความชัดเจนและไม่ควรยือเวลาเกินสิ้นปี หวั่นกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน เหตุเม็ดเงินในกองทุนประเภทนี้มีสูงถึงกว่า2.6แสนล้านบาท พร้อมรับเงื่อนไขยืดอายุถือครองนานขึ้น เชื่อเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนระยะยาว
นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.บัวหลวง จำกัด ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการต่ออายุกองทุนรวมหุ้นระยะยาว(LTF)ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งทางสมาคมและตลาดหลักทรัพย์ได้ทำการชี้แจงถึงประโยชน์ของกองทุนดังกล่าวไปแล้วและคงจะไม่เคลื่อนไหวอะไรอีก แต่มองว่าเรื่องนี้ควรจะต้องมีคำตอบโดยเร็วและไม่ควรปล่อยไปจนถึงสิ้นปีนี้ เพราะเกรงว่าจะกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุน
ทั้งนี้ปัจจุบัน (สิ้นก.ค.2558) กองทุน LTF มีสินทรัพย์ประมาณ 2.60 แสนล้านบาท เทียบกับกองทุนรวมหุ้นทั้งระบบที่ประมาณ 1.01 ล้านล้านบาท ก็คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 26% ถ้าภาครัฐไม่ต่อเงินจำนวนนี้ก็จะทยอยหายไปจากระบบในระยะเวลาประมาณ3-5ปี ซึ่งเม็ดเงินจำนวนนี้หากหายไปจากตลาดทุนก็ไม่ต่างอะไรจากกรณีที่นักลงทุนต่างชาติทยอยขายหุ้นไทยเช่นกัน
"การต่ออายุกองทุน LTF ภายใต้เงื่อนไขเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ เช่น การยืดระยะเวลาการถือครองจาก 5 ปี เป็น 7 ปี หรือ 10 ปี ทางสมาคมบลจ.เองไม่มีปัญหาแต่ประการใด เพียงต้องการความชัดเจนในเรื่องนี้ให้เร็วที่สุดเท่านั้น และคิดว่าไม่จำเป็นต้องรอไปถึงสิ้นปี2558 ในเรื่องที่สามารถมีความชัดเจนและสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้"
นอกจากนี้การที่ภาครัฐจะต่ออายุกองทุน LTF ภายใต้เงื่อนไขในการถือที่ยาวนานขึ้น ทางสมาคมบลจ.ไม่มีปัญหาและเห็นว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับนักลงทุนที่จะลงทุนระยะยาวเพราะการลงทุนระยะยาวในหุ้นให้ผลตอบแทนที่ดกว่าโดยเปรียบเทียบจริงๆ ณ 31 ก.ค. 2558 ย้อนหลัง 5 ปี ในขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนรวม (SET TR) ที่ 10.27% ต่อปี กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้น ให้ผลตอบแทน 11.54% ต่อปี และกองทุน LTF ให้ผลตอบแทน 11.51% ต่อปี ส่วนกองทุนหุ้นทั่วไปให้ผลตอบแทน 13.21% ต่อปี
นางวรวรรณ กล่าวอีกว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมกองทุนในอีก3ปีข้างหน้าเชื่อว่าจะมีการเติบโตได้ปีละประมาณ 10-20% ทั้งในแง่ของสินทรัพย์รวมและจำนวนบัญชีของผู้ลงทุน แต่จะต้องตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่มีการต่ออายุสิทธิทางภาษีของกองทุนLTFออกไปเท่านั้น
ส่วนของกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ยังไม่ได้ครอบคลุมแรงงานในภาพรวมแต่ประการใด จึงอยากเห็นรัฐบาลผลักดัน “กองทุนบำนาญแห่งชาติ (กบช.)” เพิ่มเติมในจังหวะนี้ แม้จะต้องส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการบ้างแต่ในช่วงที่ผ่านมากลุ่มคนเหล่านี้ก็ได้ประโยชน์จากภาครัฐไปเยอะเช่นกัน เช่น การปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลง เป็นต้น จงควรจะคืนประโยชน์ให้กับภาคสังคมบ้าง และไม่อยากให้ไปเกรงใจผู้ประกอบการมากจนเกินไปจนละเลยประโยชน์ของกลุ่มคนที่ทำงานจริงๆ ซึ่งอีกแนวคิดหนึ่งที่ทำได้ก็คือ การแก้ไขพ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยให้มัผลเป็นภาคบังคับเลยครอบคลุมทุกนายจ้าง ซึ่งอาจจะทำได้ง่ายกว่า