xs
xsm
sm
md
lg

ส่งเสริมให้เป็นชาวนามากขึ้น คนไทยจะได้อะไร?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ระวังภัยแบบกรีซ คนว่างงาน 25%

เห็นภาพของกรีซที่ต้องก้มหัวรับเงื่อนไขของเจ้าหนี้ แล้วก็ให้สำนึกถึงบทเรียนสำคัญ

เราว่าช่วงวิกฤตเศรษฐกิจไทยเราลำบากก็ยังไม่หนักขนาดนี้ ถึงขั้นต้องให้สถาบันการเงินปิดทำการถึง 3 สัปดาห์ ต้องเข้าแถวถอนเงิน ได้คนละเพียงประมาณพันกว่าบาท ลองนึกภาพว่า ขนาดเงินของเรา ยังต้องจำกัดการถอนเงินขนาดนั้น มันลำบากเพียงใด??

ผมไม่โทษเจ้าหนี้เลย เพราะประเทศเจ้าหนี้ เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส ประเทศเขาก็มีคนลำบากยากจน ถ้าเขาต้องใช้เงินอุดหนุนช่วยเหลือคนจนในประเทศกรีซ ประเทศเจ้าหนี้เขาจะอธิบายคนจนในประเทศเขาได้อย่างไร!

บทเรียนที่ราคาแพง ย่อมเป็นบทเรียนสำคัญที่มีค่า

และบทเรียนราคาแพงที่ดีที่สุด คือบทเรียนที่เราไม่ต้องเป็นคนจ่ายเอง

ช่วงที่ผ่านมา เราคนไทยกำลังกังวล เครียดว่า “เมืองไทยแย่แล้วๆ” แต่เรากลับได้พบว่า เราก็ยังแข็งแกร่งมั่นคง

...จีน เริ่มมีอาการลูกโป่งแตก มีปัญหากับตลาดหุ้นกันอยู่พอสมควร

...กรีซ ถึงขั้นวิกฤตเศรษฐกิจ หนี้สาธารณะ 155% ของจีดีพี ของไทยเราปัจจุบันเพียง 44% ของจีดีพีเท่านั้น

จีดีพี หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศกรีซ อยู่ที่ 2.38 แสนล้านเหรียญ เทียบกับประชากร 10.9 ล้านคน (เล็กกว่า กทม.) ก็จะได้ประมาณ 2.2 หมื่นเหรียญต่อคนต่อปี

เทียบกับไทยที่ประมาณ 3.73 แสนล้านเหรียญ เทียบกับประชากร 65 ล้านคน ก็จะได้ประมาณ 5.7 พันเหรียญต่อคนต่อปี ก็ยังนับว่ามีรายได้ต่อหัวสูงกว่าคนไทยอีกด้วย

แต่ทุนสำรองระหว่างประเทศเหลือเพียง 5.76 พันล้านเหรียญ ซึ่งก็ใกล้เคียงกับทุนสำรองระหว่างประเทศสุทธิปี 2540 ช่วงปลายรัฐบาลพลเอก ชวลิต และ พ.ต.ท. ทักษิณ (รองนายกฯ) ซึ่งเหลือเพียง 7 พันล้านเหรียญเท่านั้น!

แต่ปัจจุบันเราก็ได้สะสมทุนสำรองระหว่างประเทศเป็น 1.59 แสนล้านเหรียญ สูงกว่าช่วงวิกฤตถึง 20 เท่า

เราจึงน่าจะผ่อนคลาย ไม่กังวล แต่ก็ไม่ควรประมาท

ขณะนี้ยอดการว่างงานของประเทศกรีซสูงถึง 25.5% แปลว่าใน 4 คนที่อยู่ในวัยทำงานจะว่างงาน 1 คน

ตัวเลขของประเทศที่เขาพัฒนาแล้ว อย่างสหรัฐฯ อยู่ที่ 5.3% ดีขึ้นมากจากระดับ 10% ช่วงวิกฤตเลห์แมนบราเธอร์ส ญี่ปุ่น 4.1%

แต่ของไทยเราต่ำเพียง 0.9% ซึ่งใกล้เคียงกับประเทศเกษตรกรรมอย่างลาว 2.5% เขมร 1.6%

ก็ดูว่า คนไทยมีงานทำกันดี ซึ่งก็ดูเหมือนจริง แต่ก่อนนี้เราเคยโกรธ
กันว่า “พม่าเผาเมืองไทย” ตอนนี้ถ้าไปดูตามโครงการก่อสร้างต่างๆ กลายเป็น “พม่าสร้างเมืองไทย” เต็มไปหมด

ร้านอาหาร ก็หาคนไทยยาก สื่อสารกันไม่ค่อยรู้เรื่อง
อุตสาหกรรมก็บ่นหาแรงงานไทยยาก ประมงก็มีแต่ชาวต่างชาติจนถูกมองเป็นปัญหา

แรงงานไทยหายไปไหน?

หรือเป็นเพราะนโยบายจำนำข้าว 15,000 บาท/ตัน ทำให้อาชีพชาวนาได้กลายเป็นอาชีพที่ลงทุนน้อย กำไรมาก ข้าวทุกเมล็ดได้ราคา 15,000 บาท/ตัน ก็เน้นปลูกเร็ว ราคาถูก คุณภาพไม่เป็นไร เป็นการ “บิดเบือนกลไกตลาด” ครั้งสำคัญ

จึงเป็นมาตรการที่ส่งเสริมให้คนไทยกลับไปทำอาชีพ ชาวนา มากขึ้น??

คนไทยควรเรียนรู้ที่จะถามว่า

“ถ้าส่งเสริมคนไทยให้กลับไปทำอาชีพ ‘ชาวนา’ มากขึ้น แล้วคนไทยจะได้อะไร?”

“ถ้าส่งเสริมคนไทยให้กลับไปทำอาชีพ ‘ชาวนา’ มากขึ้น แล้วคนไทยจะได้อะไร?” (โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง)

1. ชาวนาที่ทำนาได้ดี ต้องมีชาวนาใหม่เข้ามาแข่งขันมากขึ้น

2. ชาวนามีพื้นที่ปลูกข้าวต่อจำนวนชาวนาน้อยลง เพราะจำนวนชาวนามากขึ้น

3. ชาวนาต้องแย่งทรัพยากรน้ำกันมากขึ้น และเมื่อถึงปีที่น้ำแล้งก็จะระลึกกันได้ว่า อาชีพ “ชาวนา” นั้นมีความสำคัญยิ่งต่อประเทศ เป็นดังกระดูกสันหลังของชาติ แต่เป็นอาชีพที่มี “ความเสี่ยงสูง” ถ้าฟ้าฝนไม่เป็นใจอาจจะทำให้ปลูกข้าวไม่ได้ หรือได้ผลผลิตน้อย ยิ่งชวนให้กลับไปเป็นชาวนากันมากขึ้น ก็แสดงว่าชวนให้มาเสี่ยงกันมากขึ้น

4. ชาวนาต้องขายข้าวแข่งกับข้าวของตนเองที่จำนำไว้กับรัฐบาล หลังจากจำนำรอบแรกๆ เก็บข้าวเข้าคลังมหาศาล เพื่อพยุงราคาข้าว ข้าวรอบใหม่ของชาวนาจะต้องขายแข่งกับข้าวที่ระบายจากคลังของรัฐบาล

5. ลูกหลานไทยต้องรับภาระข้าวเสื่อมในคลัง และการขาดทุนที่จะเกิดขึ้นหลายแสนล้านบาท

ผมคิดว่าคนไทยควรได้บทเรียน

นักการเมือง ผู้คุมนโยบายรัฐจะได้บทเรียนว่า “นโยบายที่ฝืนกลไกตลาด” อย่างมากนั้น มีภาระต้นทุนของชาติมหาศาล จึงควรที่จะระมัดระวัง อย่าแข่งขันกันด้วยนโยบายอันตรายเช่นนี้

สื่อมวลชน ควรยืนหยัดข้างประชาชน และประเทศชาติ ถ้ามีนโยบายที่ฟังดูดี แต่ฝืนกลไกตลาด ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงต่อบ้านเมืองมหาศาล หน้าที่ของเราคือ ปกป้อง “ความจริง” ให้ประชาชนเข้าใจถึงผลร้ายที่จะตามมา

เลือกตั้งคราวหน้า ในยามที่ชาวนาลำบาก แรงงานฝืดเคือง อาจมีพรรคการเมืองใด ฝ่ายไหนก็ตาม คิดว่า

... ข้าว 15,000 บาท/ตัน เคยสำเร็จมาแล้ว แต่เร้าใจน้อยไป... 20,000 บาท/ตัน จะเร้าใจพอไหม?

... ค่าแรง 300 บาท/วัน ได้ใจแรงงานมากมาย แต่กลไกตลาดกลับทำงานยาก กิจการต่างๆ ขาดทุนเสียหาย การจ้างงานหายไป แต่ด้วยสภาพที่ฝืดเคือง เสนอค่าแรงสัก... 500 บาท/วัน ก็คงได้ชัย?

เราเร่งเอาทรัพยากรมาใช้ในยุคเรา สร้างภาระให้คนรุ่นลูกหลานเราหรือไม่? เรารับผิดชอบต่อลูกหลานของเราเพียงใด?

ตำราเศรษฐศาสตร์บอกว่า “กลไกตลาด” เป็นเหมือน “Invisible Hands” คือ “พระหัตถ์ที่มองไม่เห็น” คือ “พระหัตถ์ของพระเจ้า” ขอให้เราได้รับบทเรียน และ เลิก “นโยบายที่บิดเบือนกลไกตลาด” กันเถอะครับ

โดย มนตรี ศรไพศาล (montree4life@yahoo.com; www.oknation.net/blog/richwithlove; @montrees)


กำลังโหลดความคิดเห็น