xs
xsm
sm
md
lg

“นิด้า” พบปิดจำนำข้าว “ชาวนาไร้สุข-รถยนต์ถูกยึด” ชี้ ศก.พอเพียงช่วยได้!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยนิด้า ชี้ “คุณภาพชีวิตของเกษตรกรภายใต้โครงการจำนำข้าว” ที่ได้จากการเก็บข้อมูลวิจัยเบื้องต้น พบชาวนารู้ว่าจำนำ 15,000 บาทไม่ยั่งยืน แค่ทำให้ตื่นเต้นชั่วขณะ ยอมรับใช้เงินที่ได้มาซื้อทุกอย่างที่อยากได้ รถยนต์ มือถือ ขณะเดียวกันชาวนาต้องแบกภาระต้นทุนการผลิตพุ่งสูงปรี๊ด แจงวันนี้ “บิ๊กตู่” ไม่มีจำนำข้าว ส่งผลให้ชาวนาไร้สุข รถยนต์ต้องถูกยึด การจับจ่ายในครอบครัว -ชุมชนหดหาย ยอมรับหนทางช่วยชาวนาแบบยั่งยืนต้องเดินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ยืนยันราคาจำนำข้าวเกวียนละ 8,000-9,000 บาท ก็สุขใจแล้ว

โครงการรับจำนำข้าวที่ปรากฏเป็นข่าวในช่วงที่ผ่านมาและเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั้น มักจะพูดกันถึงกระบวนการทุจริตคอร์รัปชันตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ที่ทำให้รัฐเสียหาย โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) สรุปความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ตั้งแต่ปี 2554-2557 พบว่า โครงการนี้ทำให้รัฐเสียหายทั้งสิ้นกว่า 9.6 แสนล้านบาท และมีเม็ดเงินคอร์รัปชันทั้งกระบวนการ 1.09 แสนล้านบาท

ขณะเดียวกันมีผู้ที่เกี่ยวข้องจากกระบวนการทุจริตประกอบด้วย ข้าราชการประจำ นักการเมือง และนักธุรกิจเอกชน ตั้งแต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ และนายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มต่างๆ ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับโครงการรับจำนำข้าว รวมไปถึงโครงการนี้ควรจะมีต่อไปหรือไม่? และใครได้ประโยชน์จากโครงการนี้ พร้อมคำถามที่คนส่วนใหญ่ค้างคาใจว่า “เกษตรกร” ที่เข้าโครงการรับจำนำข้าวนั้นได้ประโยชน์จริงหรือไม่? ส่งผลถึงคุณภาพชีวิตเกษตรกรเป็นอย่างไรเมื่อเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว

ปัจจุบันศูนย์วิจัยของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ทำการวิจัยเรื่อง “คุณภาพชีวิตของเกษตรกรภายใต้โครงการจำนำข้าว” ซึ่งสะท้อนให้เห็นผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบ ในทุกๆ มิติ ภายใต้โครงการรับจำนำข้าว ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในเรื่องการวางแผนชาติเพื่อช่วยเกษตรกรให้สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีแบบยั่งยืน ภายใต้การจัดสรรงบประมาณที่มีคุณภาพ ไม่ใช่โครงการประชานิยมอีกต่อไป

โดย ดร.บุญสม หรรษาศิริพจน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพัฒนาคุณภาพชีวิตและตัวชี้วัด สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้เปิดเผยข้อมูลต่างๆ ที่ค้นพบจากการสำรวจวิจัยในครั้งนี้

จำนำข้าวตัวการปั่นต้นทุนการผลิตสูงขึ้น


โครงการวิจัย “คุณภาพชีวิตของเกษตรกรภายใต้โครงการจำนำข้าว” ศูนย์ฯ ได้รับทุนวิจัยจาก สำนักงานคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งจะเน้นเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิต จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับประเด็นปัญหาการทุจริตหรือประเด็นอื่นๆ ซึ่งเรามีการกำหนดตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตตามหลักวิชาที่ถูกต้อง โดยมีการเก็บข้อมูลและการสัมภาษณ์แหล่งข้อมูลทั้ง 4 ภาค ภาคละ 2 จังหวัด จังหวัดละ 250 ตัวอย่าง คือภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก ภาคกลางคือ พระนครศรีอยุธยา และนครนายก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือจังหวัดอุบลราชธานี และสุรินทร์ ภาคใต้ เป็นจังหวัดสงขลา และจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งการทำวิจัยทั้งในเชิงปริมาณ เชิงคุณภาพ รวมทั้งแบบโฟกัสกรุ๊ปประกอบกัน

การหยิบยกเรื่องจำนำข้าวมาดำเนินการนั้น จะไม่เน้นศึกษาเฉพาะรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง เนื่องจากทุกรัฐบาลให้ความสำคัญกับโครงการจำนำข้าวมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนโยบายของแต่ละรัฐบาลมีความแตกต่างกันในปัจจัยทั้ง Input-process-output ซึ่งมีหลักการที่มีความแตกต่างทั้ง 3 รูปแบบ นับตั้งแต่ “การพยุงราคาข้าว” ต่อเนื่องมาที่ “ประกันราคาข้าว” มาจนถึง “โครงการจำนำข้าว” เมื่อไปวิเคราะห์ในส่วนของงบประมาณที่ลงมาในแต่ละช่วงของรัฐบาลมีแนวโน้มจะสูงขึ้นโดยตลอด จนถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งก็มีผลกระทบทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ

สำหรับข้อเปรียบเทียบที่ว่านโยบายใดดีกว่ากันทั้งประกันราคาข้าว พยุงราคาข้าว หรือจำนำข้าว งานวิจัยครั้งนี้ก็ได้สัมภาษณ์ในเชิงคุณภาพกับส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่เป็นผู้จุดประกายโครงการจำนำข้าว โดยมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเกษตรกรเข้าไปในกลไกทางการตลาด ช่วยพยุงให้เกิดความสมดุลระหว่าง Demand และ Supply ในตลาดที่ผันแปรตามเวลาและผลผลิต

จากการที่ ธ.ก.ส. นำโครงการนี้มาช่วยเหลือเกษตรกรตามเป้าหมายหลักนั้น ส่งผลดีในช่วงแรก โดยเริ่มจากการประกันยุ้งฉาง และเริ่มจำนำส่วนที่ต่าง เช่น ผลิต 100% จำนำ 60% เหลือ 40% เอาไว้เป็นเมล็ดพันธุ์หรือไว้บริโภค แต่หลังจากนั้นรัฐบาลได้นำนโยบายจำนำข้าวมาเป็นนโยบายระดับชาติ ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนทั้งระบบ จึงเป็นที่มาของวัตถุประสงค์ของการวิจัยซึ่งเราต้องการทราบว่า คุณภาพชีวิตของเกษตรกร เป็นอย่างไร โครงการจำนำข้าวมีปัญหาและอุปสรรคอะไร และเราต้องการวางแนวทาง มาตรการ และกลไก เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรต่อไป

ในการวัดคุณภาพชีวิตนั้น เราจะถามถึงความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตที่มาจากโครงการรับจำนำข้าวในมิติต่างๆ ทั้งมิติของครอบครัว รายได้ การทำงาน การเข้าถึงบริการของรัฐ การดำเนินวิถีชีวิตประจำวัน ไปจนถึงด้านสุขภาพ ซึ่งถามในรายละเอียดของอาการเจ็บป่วยเรื่องสุขภาพ เพราะอาจจะมีการใช้สารเคมีในการปลูกข้าว รวมไปถึงปัจจัยการผลิต เริ่มตั้งแต่พันธุ์ข้าว ที่ดิน ปุ๋ย เครื่องจักร และน้ำ เป็นต้น

เมื่อวิเคราะห์แยกส่วนแต่ละประเด็นคำถาม จะเห็นว่าเมื่อมีโครงการจำนำข้าวนั้น มีผลกระทบทุกมิติทั้งองค์ประกอบ ปัจจัยการผลิต จนกระทั่งถึงกลไกการตลาด รวมถึงการวิจัยเรื่องโครงการจำนำข้าวในหลายๆ รัฐบาลที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็นระยะที่ 1 คือ จำนำ “ตามความจำเป็น ตามความต้องการ” ของชาวนาว่าสามารถจำนำได้เท่าไร มีเพดาน มีการจำกัดจำนวนไร่และจำนวนผลผลิตที่จะนำมาจำนำ ช่องว่างหรือความแตกต่างของราคาในตลาด กับราคาจำนำ ที่จะช่วยให้ชาวนาอยู่ได้ ก็จะช่วยสนับสนุนไปในเชิงของเงินกู้ โดยเอาข้าวมาจำนำ เมื่อระยะไหนราคาข้าวดีก็นำไปจำหน่าย เอาเงินมาไถ่ถอนไป ซึ่งในระยะแรกก็ไม่มีปัญหาอะไร

ระยะที่ 2 คือ มีการ “จำกัดการจำนำข้าว” ได้ไม่เกินเท่าไร เช่น 15 ไร่ หรือปริมาณการผลิตไม่เกินเท่าไร ส่วนระยะที่ 3 คือการ “จำนำทุกเมล็ด” ในส่วนนี้ที่เป็นปัญหาหนัก ซึ่งอันที่จริงผลกระทบนั้นมีทุกระยะ แต่ไม่เด่นชัดและรุนแรงเท่าระยะที่ 3 เพราะกลไกตลาดและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งโรงสี และธนาคารสามารถดูแลได้

ที่สำคัญในการเก็บข้อมูลครั้งนี้ทำให้เราเห็นว่าการมีโครงการรับจำนำข้าว โดยเฉพาะการจำนำทุกเมล็ด ส่งผลกระทบให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นตามไปด้วย

ชาวนาเผชิญวิกฤตภัยแล้ง-เงินหาย

ส่วนการให้ข้อมูลของเกษตรกร จะพบว่าโครงการรับจำนำข้าวที่มีราคาสูงถึงเกวียนละ15,000 บาท มีผลกระทบต่อปัจจัยการผลิตที่สูงขึ้น ทั้งในด้านของเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย เครื่องมือ เครื่องจักร โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าแรง เพราะนโยบายที่มาพร้อมโครงการจำนำข้าวคือค่าแรง 300 บาทต่อวันทุกจังหวัด ทุกพื้นที่ จึงได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะปัจจุบันชาวนาที่สูงอายุไม่ได้ลงมือทำเอง ต้องจ้างแรงงาน หรือต้องเช่าที่ดิน จะได้รับผลกระทบสูงอย่างแน่นอน และจากการศึกษาจะพบว่าชาวนาจะมี 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ใช้แรงงานของตนเอง และใช้แรงงานจ้าง ซึ่งหากใช้แรงงานจ้างถ้าไม่จ่ายวันละสามร้อยก็จะไม่มีคนมารับจ้าง และในความเป็นจริง จะไม่ได้จ่ายเพียงค่าแรงเท่านั้น ยังจะต้องจ่ายค่ารถ ค่าอาหารสองมื้อ และอาจมีการจ่ายค่าสังสรรค์หลังเลิกงาน ซึ่งรวมเป็นวันละ 400 บาทโดยประมาณ

ปัจจุบันไม่มีโครงการจำนำข้าว แต่ราคาปัจจัยการผลิตที่สูงขึ้นไป โดยเฉพาะค่าแรง 300 บาท ซึ่งเป็นต้นทุนในการผลิตที่สำคัญและลดไม่ได้ ซึ่งยังไม่รวมคุณภาพของข้าวที่เสียไปจากภาวะภัยแล้ว ทำให้วันนี้เกษตรกรที่เข้าโครงการจำนำข้าวกำลังประสบปัญหาทั้งไม่มีเงินในระบบและเจอวิกฤตภัยแล้ว

รถถูกยึด-ความสุขชาวนาหดหาย

ดร.บุญสม หรรษาศิริพจน์ บอกว่า มีข้อมูลสะท้อนให้เห็นชัดเจน คือ ในระหว่างที่มีโครงการรับจำนำข้าวจะส่งผลเชิงบวกต่อคุณภาพชีวิต ทำให้ความเป็นอยู่ดี ความรู้สึกดีเพราะเป็นการเติมเงินเข้าไปในครัวเรือน คนเหล่านี้ก็จะมีเงินไปในการจับจ่ายใช้สอย มีเงินที่จะส่งเสียให้บุตรหลาน เล่าเรียนหนังสือ ซึ่งเป็นความภูมิใจของชาวนาหากลูกหลานได้ร่ำเรียน เพราะชาวนาต้องการให้ลูกหลานประกอบอาชีพอื่นที่ไม่ลำบากเหมือนตัวเอง ขณะเดียวกันก็จะใช้เงินเพื่อไปซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับตัวเองและครอบครัว เราจะเห็นรถปิกอัพ รถมอเตอร์ไซค์ เครื่องซักผ้า โทรศัพท์มือถือ รวมไปถึงการใช้จ่ายต่างๆ ในชุมชนที่ส่งผลถึงเศรษฐกิจของชุมชนก็จะมีการหมุนเวียนเช่นกัน

แต่ปัจจุบันเมื่อไม่มีโครงการรับจำนำข้าว กลับพบว่าเกษตรกรมีความสุขลดลง หากอยากซื้ออยากได้อะไรก็ไม่สามารถทำได้ พวกเขาบอกว่าต้องไม่ใช้จ่ายในส่วนที่เกินจำเป็น และในส่วนของโรงสีเองก็ได้รับผลกระทบ จำนวนข้าวลดลง

อย่างไรก็ดีผลกระทบของชาวนาในวันนี้ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องภัยแล้ง แต่ต้องมาประสบปัญหาเงินไม่มีในระบบ ซึ่งจากข้อมูลจะพบว่าจะมีชาวนาที่รู้จักวางแผนชีวิตและที่ไม่รู้จักวางแผน พวกที่รู้จักวางแผนชีวิต ช่วงที่ได้เงินจากโครงการรับจำนำข้าวก็เอาเงินส่วนหนึ่งมาใช้ในครอบครัว แบ่งบางส่วนใช้หนี้ รู้จักลดหนี้ตามภาระที่มี และนำเงินอีกส่วนมาใช้จ่ายในครอบครัวเพื่อซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และที่ไม่รู้จักวางแผนก็จะใช้ตามความต้องการ แต่เมื่อไม่มีโครงการจำนำข้าว บางส่วนก็ถูกยึดรถ ชีวิตส่วนหนึ่งของชาวนาที่อาจจะมองว่าใช้จ่ายเกินตัว ชักหน้าไม่ถึงหลัง

นอกจากผลกระทบที่ตกกับตัวชาวนาและครอบครัวแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อไปถึงเศรษฐกิจของชุมชนที่วันนี้ไม่มีการขับเคลื่อน ไม่มีเงินที่จะใช้สอยภายในชุมชน และยังต้องเผชิญภัยแล้งอีก

ชาวนาพอใจราคาเกวียนละ 8,000-9,000 บาท

ดร.บุญสม ย้ำว่า การลงพื้นที่เก็บข้อมูลครั้งนี้ไม่อาจสรุปว่าชาวนามีคุณภาพชีวิตไม่ดี เพราะชาวนาบางส่วนมีคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น ผู้ที่จัดระเบียบและมีวินัยในชีวิต มีปัจจัยอื่นมาช่วยทั้งในด้านการศึกษา ปัจจัยการผลิตที่ไม่ต้องไปเช่าที่ทำนา มีการวางแผน เตรียมพันธุ์ การวางระบบ ไม่ต้องจ้างแรงงาน ทำเท่าที่ทำได้ ชาวนากลุ่มนี้จะมีปัจจัยการผลิตโดยรวมต่ำลง ต้นทุนของชาวนาอยู่ที่ประมาณ 3,000-5,000 บาท ส่วนราคาจำนำข้าวที่ชาวนาพอใจ จะอยู่ที่ช่วง 8,000-9,000 บาท
ดร.บุญสม หรรษาศิริพจน์  ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพัฒนาคุณภาพชีวิตและตัวชี้วัด สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
สำหรับชาวนาที่ใช้แรงงานของตนเอง ระบุว่าเกวียนละ 7,000 บาทก็อยู่ได้ ตรงนี้รัฐจะต้องไปหาจุดสมดุลที่ชาวนาอยู่ได้ แต่เมื่อมองย้อนไปที่โครงการรับจำนำข้าวในยุคที่ผ่านมาให้ราคาสูงถึง 15,000 บาทจึงทำให้ทุกคนดีใจ และเร่งการผลิตอย่างมากโดยเพราะช่วงฤดูกาลที่ปลูกข้าว นาปีต้องอาศัยน้ำธรรมชาติ นาปรังต้องอาศัยน้ำชลประทาน เมื่อมีโครงการรับจำนำข้าว ทุกคนก็เร่งผลิตเพื่อจะให้ได้ปริมาณข้าวเข้าโครงการ จึงเป็นกระแสที่รุนแรงพอสมควรและกระทบสูงต่อทรัพยากรน้ำ

อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริงชาวนาตระหนักดีว่า ข้าวราคาเกวียนละ 15,000 บาทนั้นไม่ยั่งยืน แต่ก็ดีใจที่ได้เงินมาเป็นกอบเป็นกำ ถามถึงการนำเงินก้อนนี้ไปใช้ทำอะไร ก็จะเอาไปซื้อสิ่งที่อยากได้เพิ่มเติม และถ้าจะมองในเรื่องคุณภาพชีวิตนั้น บางอย่างเราอาจจะมองไม่เห็น และที่เข้าไปวิจัย จะพบสิ่งอำนวยความสะดวกในบ้านชาวนามีอยู่แล้ว เช่นโทรทัศน์ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า และยังโชคดีกว่าคนในเมืองด้วยซ้ำเพราะชาวนามีบริเวณบ้าน

อีกทั้งชาวนามีข้อดีคือเรื่องของสุขภาพจิตที่ดี และบอกด้วยว่าทำใจได้หากจะไม่มีโครงการรับจำนำข้าว ก็อยู่ได้ โดยใช้อาชีพรองมาช่วย เช่นการรับจ้าง การทำพืชสวน พืชไร่อื่นๆ การกินอยู่นั้นสามารถหาอาหารกินเองได้ ปลูกผัก เลี้ยงไก่ เอาไข่มาขาย ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นมา

เศรษฐกิจพอเพียงทำให้ชาวนาอยู่ยั่งยืน

ดร.บุญสม ระบุว่า ชาวนายอมรับว่าโครงการรับจำนำข้าว ทำให้ครอบครัวมีความสุขขึ้นชั่วระยะหนึ่ง เพราะได้เงินมาจุนเจือครอบครัว มาใช้หนี้ เอามาช่วยการศึกษาเล่าเรียนลูก ดังนั้นข้อมูลที่ทำวิจัยนั้นจึงมีทั้งอยากให้มีโครงการรับจำนำข้าวต่อไป และไม่อยากให้มีโครงการรับจำนำข้าวอีกต่อไป

ในมุมของคนที่ “อยากให้มี” โครงการรับจำนำข้าวต่อไปนั้น เพราะจะได้มีเงินมาช่วยภาระหนี้สิน ซื้อที่ดิน หรือซื้อปัจจัยการผลิต ให้การศึกษาบุตร ทั้งหมดก็จะช่วยลดภาระในอนาคตระยะยาวซึ่งจะทำให้มีความสุข

ส่วนที่ “ไม่อยากให้มี” โครงการรับจำนำข้าว เพราะรู้ว่ารัฐต้องใช้เงินมาก เงินของรัฐไม่สามารถหามาใช้ได้อย่างยั่งยืน จะหาเงินจากไหนมาได้ตลอดไป

ต่อคำถามที่ว่า “ถ้าโครงการจำนำข้าวไม่มี” คิดอย่างไร ชาวนาตอบว่า “ไม่มีก็อยู่ได้” และสิ่งหนึ่งที่ชาวนาตระหนักคือรู้ว่าโครงการจำนำข้าวนั้นไม่ยั่งยืนแล้วอะไรที่คิดว่ายั่งยืน คำตอบก็คือแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ชาวนาเป็นผู้พูดขึ้นมาเองว่าต้องอยู่อย่างพอเพียงตามแนวทางของในหลวง

ตรงนี้คือสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าจะอยู่อย่างยั่งยืนได้อย่างไร และสะท้อนภาพว่าการรับจำนำในราคาที่สูงเกินไป ก็จะทำให้ชาวนาดีใจครู่เดียว กระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียงพักเดียว เงินที่กระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้วส่งผลให้ปัจจัยการผลิต ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ซึ่งจะวนกลับไปสู่พ่อค้าต่างๆ ที่วิ่งเข้าไปถึงพื้นที่ แถมเสนอให้นำไปใช้ก่อน ทั้งตัวแทนขายรถ และอื่นๆ ทำให้เกิดปัญหาที่ตามมา โครงการมีองค์ประกอบหลายส่วนที่มีผู้ได้รับผลกระทบ

นอกจากนั้น ชาวนายังรู้ด้วยว่าการมีอยู่ของโครงการนั้นดีใน “หลักการ” แต่หลักการที่ทำให้โครงการนี้“เบี่ยงเบนหรือบิดเบี้ยว” ไปคือ “การจำนำเกินความเป็นจริง”

เสริมศักยภาพบริหาร-จัดการให้เกษตรกร

ดร.บุญสม อธิบายอีกว่า จากการเก็บข้อมูลทั้งหมด ทำให้เห็นองค์ประกอบที่ชัดเจนและใช้เป็นข้อมูลเสนอแนะให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งรัฐบาลสามารถที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป เพื่อเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนให้กับชาวนา ที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีคำถามเกิดขึ้นตลอดว่า ทำไมรัฐต้องช่วยเกษตรกรอยู่ตลอดและเหตุใดเกษตรกรไม่สามารถช่วยตัวเองได้ และรัฐจะหาเงินมหาศาลจากที่ใดมาช่วยเกษตรกรตลอดไป

ขณะที่การวิจัยครั้งนี้มีข้อค้นพบที่เชื่อว่าจะเป็นข้อมูลในการแก้ปัญหาเกษตรกรอย่างยั่งยืนคือ รัฐจะต้องลงทุนและวางระบบชลประทานแม้จะเป็นต้นทุนที่สูง แต่เมื่อเปรียบเทียบก็ดีกว่ารัฐต้องเสียไปกับโครงการรับจำนำข้าวที่มีมูลค่าหลายแสนล้านบาท ในเบื้องต้นเมื่อไปศึกษาในพื้นที่ลึกๆ มองว่าชาวนาต้องระดมพลังในชุมชน เมื่อน้ำแห้งต้องร่วมมือกันขุดร่องน้ำ คูคลองให้ลึกขึ้น และขอความช่วยเหลือในส่วนที่รัฐเกี่ยวข้อง เมื่อเราเตรียมความพร้อม พอน้ำมาเราก็จะสามารถกักเก็บปริมาณน้ำได้มากขึ้น ดีกว่านั่งรอแบบไม่มีความหวัง

อีกทั้งจะต้องเสริมศักยภาพด้านการบริหารจัดการให้กับเกษตรกร คือ ทำอย่างไรที่จะหาจุดสมดุลของผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานนี้ ทั้งผู้ผลิต พ่อค้าที่ให้ปัจจัยการผลิต ธ.ก.ส. ที่สนับสนุนทุน (ส่วนของ Input) ตลาดที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงสี ผู้ส่งออก หน่วยงานภาครัฐ และกลไกต่างๆ ที่สนับสนุนให้ออกสู่ตลาดและบริโภคภายใน (Process) ต้องป้อนแนวคิดในการบริหารจัดการ ว่าทำอย่างไรที่จะสร้างองค์ความรู้ให้เกษตรกรว่า การทำนาเป็นอาชีพ และถ้าทำอาชีพแล้วไม่มีกำไร คือการทำธุรกิจที่ขาดทุน ชาวนามองว่าโรงสีหรือผู้ประกอบการรวยขึ้นเรื่อยๆ และตัวชาวนาจะต้องทำอย่างไรถึงจะให้มีกำไรได้

สิ่งที่เกิดเป็นช่องว่างตรงนี้ตั้งแต่รายได้ที่ได้รับของเกษตรกรจนไปถึงผู้บริโภค ว่าจะทำอย่างไรให้ชาวนามองทุกจุดอย่างสมดุล ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก แต่ถ้าทำได้ และสร้างความรู้ความเข้าใจกับเกษตรกร จะได้ลดการมองในเชิงลบด้านเดียวว่าผู้ประกอบการเอากำไรมากเกินไป ต้องให้มีความเข้าใจเรื่องต้นทุนการผลิต การขนส่ง การบริหารจัดการของโรงสี ในส่วนของชาวนาเองก็ต้องคำนวณ และบริหารจัดการในส่วนของตน ทั้งสองฝ่ายต้องทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน

ตรงนี้คือจุดที่พอดี คือ การที่รัฐจะต้องยกระดับเกษตรกรไปสู่ความยั่งยืน และผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยสานต่อในส่วนนี้ ไปจนถึงการวางแผนเชิงกลยุทธ์ตั้งแต่ส่วนของผู้ผลิตถึงภาครัฐ อาจไม่สามารถทำได้ 100% แต่ต้องมองถึงอัตราที่ประสบความสำเร็จ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต

“ปัญหาของเกษตรกรมีความหลากหลาย เกษตรกรที่มีรายได้ต่ำจะมีวิถีชีวิตแบบผูกพัน ไม่มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนอาชีพ เพราะมองว่าอยู่กับอาชีพนี้มาแต่เกิด จนถึงขนาดเช่าที่ดินตนเองทำนา เพราะขายที่ไปจนหมดแล้ว

ดังนั้นการแก้ปัญหาจึงต้องเป็นการยกระดับในเชิงมาตรการและกลไกที่เหมาะกับปัญหานั้น ซึ่งก็มีความเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ อย่างไรก็ดียังมีเกษตรกรบางส่วนที่ยังเก็บที่ดินไว้ให้ลูกหลาน หรือซื้อที่ดินเพิ่มเช่นกัน ซึ่งมองว่าการบริหารจัดการต่อไปในอนาคตต้องทำในเชิงคุณภาพ การผลิตก็จะเป็นเชิงคุณภาพไม่ใช่เชิงปริมาณ คุณภาพทั้งในส่วนของพันธุ์ข้าวพรีเมียมต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับสุขภาพ ไม่ต้องผลิตมากแต่ขายได้ราคา และคุณภาพในเชิงเครื่องจักร” ดร.บุญสมกล่าว

ส่วนข้อมูลที่จะระบุเป็นตัวเลขชัดเจนในเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ จากการศึกษาวิจัยเรื่อง “คุณภาพชีวิตของเกษตรกรภายใต้โครงการรับจำนำข้าว” อยู่ระหว่างการแปรผลและคาดว่าจะสรุปแล้วเสร็จได้ในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ รวมไปถึงจะทำให้รู้ว่าโครงการรับจำนำข้าว และ/หรือ ประกันราคาข้าว ควรจะมีหรือไม่มีอีกต่อไป!

กำลังโหลดความคิดเห็น