โดย ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ
Dr.win@one-asset.com
ปัจจัยที่นักลงทุนทั่วโลกกำลังจับตาอยู่ในขณะนี้หนีไม่พ้นวิกฤตหนี้ของประเทศกรีซ แม้จะไม่ใช่ปัจจัยเรื่องใหม่ในตลาด แต่ก็ต้องยอมรับว่าทุกครั้งที่มีความคืบหน้าเกี่ยวกับภาระหนี้ของประเทศกรีซไม่ว่าจะในแง่บวกหรือแง่ลบ ปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนของตลาดทั่วโลกทันที
ตลอดทั้งสัปดาห์นี้ภาวะการลงทุนในตลาดโลกมีความผันผวนอยู่มาก จากความไม่แน่นอนในสถานการณ์การผิดนัดชำระหนี้ของประเทศกรีซ ซึ่งผมมองว่าปัจจัยเรื่องภาระหนี้ของประเทศกรีซจะเป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น เพราะทางรัฐบาลประเทศกรีซมีแนวทางทำประชาพิจารณ์เรื่องข้อเสนอของเจ้าหนี้นานาชาติ โดยจะจัดทำขึ้นในวันที่ 5 ก.ค.นี้ เพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจว่าประชาชนต้องการให้ประเทศกรีซเป็นประเทศสมาชิกในกลุ่มยูโรโซนต่อไปหรือไม่ ซึ่งหากเลือกที่จะอยู่ในกลุ่มประเทศยูโรต่อไป
ผมมองว่าจะเป็นผลดีต่อนักลงทุน ในแง่ของการจำกัดความไม่แน่นอนในตลาดหุ้นทั่วโลก เพราะขณะนี้นักลงทุนมีความกังวลกับความไม่ชัดเจนในปัญหาดังกล่าว ในทางกลับกัน หากเลือกอยู่ต่อไป นักลงทุนก็จะมีความเชื่อมั่นว่าปัญหาหนี้สินของกรีซจะยังคงได้รับการแก้ไขต่อไปจากความร่วมมือกันของกลุ่มประเทศยูโรโซนและกลุ่มเจ้าหนี้
การใช้มาตรการควบคุมปริมาณเงินในระบบ (Capital Control) โดยทางการกรีซประกาศปิดทำการธนาคารพาณิชย์จนถึงวันที่ 6 ก.ค.นี้ ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่า ประเทศกรีซจะอยู่ในสถานะใดของยูโรโซน ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหาของกรีซมี 2 ทางเลือก คือ
1. เลือกจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลชุดใหม่ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นทั่วโลก เพราะรัฐบาลชุดใหม่จะสามารถปรับนโยบายของภาครัฐเพื่อให้เข้ากับเงื่อนไขการชำระหนี้ได้ การที่ประเทศกรีซผิดนัดชำระหนี้กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ในมูลค่า 1.6 พันล้านยูโร ซึ่งเป็นการผิดนัดชำระหนี้ครั้งใหญ่เป็นประวัติศาสตร์ของไอเอ็มเอฟ ขณะที่จำนวนหนี้ที่กรีซต้องชำระงวดต่อไปให้เจ้าหนี้อีกจำนวน 4.7 พันล้านยูโร จึงกลายเป็นความกังวลเพิ่มขึ้นว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป
กรณีที่ 2 หากไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล และต้องออกจากการเป็นประเทศสมาชิก ซึ่งหากเป็นไปตามกรณีที่ 2 จะกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นมากกว่าจะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโลก เนื่องจากประเทศกรีซไม่ได้เป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยมีเพียง 2% ของกลุ่ม EU และ 0.3% ของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ความเชื่อมั่นในกลุ่มของยูโรโซนในแง่ของความเสถียรภาพกับประเทศอื่นๆ ที่อาจจะใช้แนวทางเดียวกันกับกรีซ ก็อาจจะกลายเป็นประเด็นใหม่ที่อาจเกิดขึ้นได้
อย่างไรก็ดี ในภาวะสถานการณ์ในยูโรโซนเรื่องภาระหนี้ของประเทศกรีซยังไม่คลี่คลาย ในแนวทางที่รุนแรงสุดคือ หากกรีซเลือกไม่ยอมรับข้อเสนอจากกลุ่มเจ้าหนี้และกรีซเลือกที่จะออกจากยูโรโซน จะมีผลทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงไม่ปรับเพิ่มเพดานวงเงินกู้ฉุกเฉิน (ELA) ส่งผลต่อธนาคารพาณิชย์ปิดทำการต่อไปไม่มีกำหนด ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นใจนักลงทุนทั่วโลกอีกครั้ง ในขณะเดียวกัน หากพิจารณาการลงทุนด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ราคาตลาดหุ้นมีการปรับตัวทำจุดสูงสุดไปค่อนข้างมากในช่วงก่อนหน้านี้หลังตัวเลขเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น ซึ่งส่งสัญญาณให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในช่วงปลายไตรมาส 3/2558 โดยผมมองว่าจะเป็นปัจจัยกดดันตลาดในช่วงดังกล่าว
สำหรับมุมมองของผมในสถานการณ์ที่ตลาดหุ้นยุโรปและสหรัฐฯ ยังไม่ชัดเจนและยังมีปัจจัยกดดันรออยู่ ผมแนะนำให้ผู้ลงทุนเลือกกระจายการลงทุนไปยังตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งแม้ว่าความผันผวนในตลาดหุ้นจะยังมีอยู่ แต่การใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในกลุ่มประเทศในเอเชียเหนือ ทั้งประเทศจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้ รวมถึงในภาวะที่สภาพคล่องยังอัดฉีดเข้ามาในระบบ
ยกตัวอย่าง ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่นประเทศจีน โดยทางการจีนยังคงใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยอัดฉีดเงินเข้าระบบอย่างต่อเนื่องหลังประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงมาอยู่ที่ 2% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ 4.85% ควบคู่กับการลดอัตราส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) เป็นครั้งแรก ที่จะช่วยลดทอนและเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ดีที่สนับสนุนให้หุ้นกลุ่มเอเชียเหนือยังสามารถสร้างผลตอบแทนได้ในปีนี้ ผมมองว่าดัชนี Nikkei 225 ของประเทศญี่ปุ่นมีโอกาสปรับตัวขึ้น 22,500 จุด จากอานิงส์ของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องที่ทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลง ซึ่งจะส่งผลดีต่อกำไรจดทะเบียน
ขณะที่ไต้หวัน ภาคการส่งออกเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากประเทศไต้หวันมีประเทศจีนเป็นคู่ค้าที่สำคัญ ซึ่งทางธนาคารกลางไต้หวันยังคงดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนภาคการส่งออก โดยการลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อควบคุมค่าเงินไม่ให้แข็งค่าจนเกินไป ในส่วนของประเทศเกาหลีใต้ ธนาคารกลางเกาหลีใต้ยังคงใช้อัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำต่อไปเพื่อกระตุ้นภาคการผลิตเพื่อส่งออกที่ปรับตัวลง ฉบับหน้าผมจะมาเล่าให้ฟังถึงความน่าสนใจของตลาดหุ้นแต่ละประเทศครับ
•นักลงทุนสามารถสอบถามเพิ่มเติมและขอรับร่างหนังสือชี้ชวนได้ที่ฝ่ายบริการลูกค้าและสนับสนุนธุรกิจที่หมายเลข 0-2659-8888 ต่อ 1 ครับ
•“ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน”