ประกันสังคมรอร่างรัฐธรรมนูญเคาะไม่ให้รัฐค้างเงินสมทบ หลังจี้ทวงหลายรอบ เป็นการเสียโอกาสลงทุนของสมาชิก 13 ล้านคน พร้อมผลักดันการอนุมัติการลงทุนต่างประเทศมากขึ้น เพื่อสร้างผลตอบแทนตามแผนยุทธศาสตร์
นายวิน พรหมแพทย์ รองโฆษกสำนักงานประกันสังคม และหัวหน้าการลงทุน สำนักบริหารการลงทุนสำนักงานประกันสังคม หรือ สปส. (SSO) เปิดเผยว่า ขณะนี้ประกันสังคมรอลุ้นร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีการกำหนดชัดเจนว่ารัฐบาลไม่สามารถค้างเงินสมทบที่ต้องจ่ายต่อปีให้แก่กองทุนประกันสังคมได้ หากร่างดังกล่าวได้รับการอนุมัติและเห็นชอบอย่างเป็นทางการถือว่าเป็นข่าวดีของสมาชิกกองทุนประกันสังคมที่จะได้เงินจากรัฐบาลที่ค้างเงินสมทบกับประกันสังคมตั้งแต่ช่วงปี 2554 จนถึงปัจจุบันซึ่งมีวงเงินค้างรวมอยู่ประมาณ 65,000 ล้านบาท ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวนอกจากจะเป็นการช่วยต่อยอดการลงทุนให้กองทุนมีศักยภาพมากขึ้นแล้ว ยังเป็นการสร้างวินัยทางการคลังของรัฐบาลทุกชุดที่ดีด้วย
ทั้งนี้ ปัจจุบันรัฐบาลมีเงินค้างสมทบที่ต้องจ่ายให้กองทุนประกันสังคมประมาณ 65,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดค้างสะสมมาตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งเป็นปีที่เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในประเทศไทย โดยรัฐบาลมีแผนจะคืนให้ในปีนี้ ทำให้กองทุนประกันสังคมสามารถนำเงินไปลงทุนเพิ่มเติมได้เพื่อสร้างผลตอบแทนให้แก่สมาชิกกองทุนได้มากขึ้น หนี้ที่รัฐบาลค้างกองทุนประกันสังคมนั้นเป็นหนี้ในส่วนที่รัฐบาลจะต้องจ่ายเงินสมทบให้แก่สมาชิกกองทุนประกันสังคมปีละ 30,000 ล้านบาท ตั้งแต่เกิดน้ำท่วมรัฐบาลก็ไม่สามารถจ่ายให้ครบได้ และปีถัดๆ ไปก็ค้างจ่ายบางส่วนจนถึงวันนี้เป็นตัวเลขที่สูงขึ้นมาก
อย่างไรก็ตาม ประกันสังคมอยากวิงวอนให้รัฐบาลทุกชุดจ่ายเงินให้กองทุนฯ ตามกำหนดเมื่องบประมาณแต่ละปีออกมา โดยหวังว่าจะมีการส่งมอบให้แก่กองทุนฯ ในทันที เพราะการจ่ายเงินล่าช้าทำให้กองทุนฯ เสียโอกาสในการลงทุนเพื่อแสวงหาผลตอบแทนให้แก่สมาชิกประกันสังคมที่มีมากถึง 13 ล้านคนในขณะนี้ เพราะเงินส่วนที่ค้างชำระรัฐบาลไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กองทุนฯ อยู่แล้ว
“หากกองทุนฯ ได้เม็ดเงินดังกล่าวกลับคืนมากองทุนฯ จะนำเม็ดเงินนี้ไปลงทุนเพื่อต่อยอดการทำกำไรต่อไป เบื้องต้นกองทุนฯ จะนำเงินไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่จะมีออกมาในอนาคต ซึ่งเป็นสินทรัพย์มั่นคง รวมถึงการลงทุนในตลาดหุ้นไทยและสินทรัพย์การลงทุนอื่นๆ เพื่อนำผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนนำมาจ่ายคืนให้แก่ผู้ประกันตนผ่านโครงการต่างๆ โดยเฉพาะผู้ประกันตนที่เข้าสู่การเกษียณอายุ”
นายวิน กล่าวว่า ขณะเดียวกันกองทุนประกันสังคมยังคาดหวังว่าจะได้รับการอนุมัติเม็ดเงินลงทุนในต่างประเทศจากภาครัฐบาลเม็ดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 60,000 ล้านบาท หลังจากกองทุนฯ ได้รับความเห็นชอบเม็ดเงินลงทุนนี้จากคณะกรรมการการลงทุนของสำนักงานประกันสังคมเรียบร้อยแล้ว สาเหตุที่กองทุนฯ ต้องการผลักดันเม็ดเงินลงทุนดังกล่าวเพื่อต้องการกระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศ เนื่องจากสินทรัพย์การลงทุนภายในประเทศมีไม่เพียงพอต่อพอร์ตการลงทุนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยมีเม็ดเงินไหลเข้ากองทุนฯ ต่อเดือนมากถึง 10,000 ล้านบาท ทิศทางการลงทุนในต่างประเทศช่วงที่ผ่านมา กองทุนฯ สามารถทำกำไรจากการลงทุนสูงถึง 10,033 ล้านบาท ขณะเดียวกันกองทุนเตรียมขอเพิ่มเพดานลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันมีเงินลงทุนในส่วนดังกล่าวเหลือประมาณ 3,000 ล้านบาทเท่านั้น
โดยแผนการลงทุนนี้เป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว 5 ปี ตั้งแต่ปี 2557-2561 จะต้องเพิ่มสัดส่วนการลงทุนทั้งในและต่างประเทศให้อยู่ที่ 70 ต่อ 30 แต่ปัจจุบันเงินลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในไทยสูงถึง 97% และมีต่างประเทศเพียง 3% หากลงทุนเพิ่มได้ 1% กองทุนจะอายุยืนขึ้น 5-10 ปี
ขณะเดียวกัน ปัจจุบันมูลค่าการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศผ่านการซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวมต่างประเทศมีทั้งสิ้น 36,942 ล้านบาท คิดเป็น 2.84% ของเงินกองทุนประกันสังคม ซึ่งมาจากเงินลงทุนเริ่มต้น 28,100 ล้านบาท โดยมีเงินปันผลสะสม 1,154 ล้านบาท และมีกำไรที่ยังไม่รับรู้จำนวน 8,841 ล้านบาท รวมผลตอบแทนสะสมจากการลงทุนในต่างประเทศ 10,033 ล้านบาท สัดส่วนการลงทุนแบ่งเป็นพันธบัตรต่างประเทศ 90% และหุ้นต่างประเทศ 10% และแบ่งตามลักษณะการลงทุน คือ กองทุนรวมพันธบัตรต่างประเทศมีเงินลงทุนประมาณ 32,300 ล้านบาท ได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 5.2% กองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ มีเงินลงทุนประมาณ 4,600 ล้านบาท ได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 11.3%