xs
xsm
sm
md
lg

การจัดพอร์ตและความเสี่ยงในยุคดิจิตอล (ตอนที่ 2)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

โดยกิติชาญ ศิริสุขอาชา CPF®

สำหรับการจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนในปีนี้ที่เป็นยุคของดิจิตอล เรายังคงเน้นพิจารณาปัจจัยพื้นฐาน (ผลตอบแทนในอดีตของแต่ละสินทรัพย์ไม่อาจใช้กำหนดผลตอบแทนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ทั้งหมด ต้องพิจารณาปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่จะมีผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทนของแต่ละสินทรัพย์ด้วย) และปัจจัยเสี่ยงของแต่ละสินทรัพย์เพื่อนำมาพิจารณาหาสินทรัพย์ที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนดีที่สุดเมื่อเทียบต่อ 1 หน่วยความเสี่ยง

โดยหลังทำการวิเคราะห์แล้วเราสามารถกำหนดน้ำหนักการลงทุนได้ดังนี้ พอร์ตการลงทุนในหุ้นให้น้ำหนักที่ 55%

โดยเราแนะนำให้มีการกระจายความเสี่ยงการลงทุนไปในตลาดหุ้นต่างประเทศ 15% (อินเดีย ยุโรป และญี่ปุ่น) และลงทุนในตลาดหุ้นไทย 40% ในขณะที่ตราสารหนี้เราให้น้ำหนักการลงทุนที่ 25% ในส่วนของสินค้าโภคภัณฑ์ เรายังไม่ให้น้ำหนักการลงทุนในกองทุนน้ำมันแม้ว่าราคาน้ำมันดิบจะปรับลดลงมามากแล้วก็ตามแต่ยังคงขาดปัจจัยกระตุ้นราคาในระยะสั้น และให้น้ำหนักการลงทุนในกองทุนทองคำ 10% กองทุนอสังหาฯ 5% และกองทุน LTF/RMF 5%

(โดย LTF แนะนำกองที่มีการลงทุนในบริษัทที่ทำธุรกิจอิงกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก ในขณะที่ RMF หากรับความเสี่ยงได้ไม่มากแนะนำให้ลงทุนกองที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ แต่หากรับความเสี่ยงได้สูงแนะนำให้ลงทุนในกองที่เน้นลงทุนในหุ้นต่างประเทศเป็นหลักเพื่อกระจายความเสี่ยงจาก LTF ที่ลงทุนหุ้นในประเทศ)

สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้น เราแนะนำให้มีการปรับพอร์ตการลงทุนในระยะสั้น โดยเพิ่มการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนในตลาดหุ้นจากเดิมที่ลงทุนในตลาดหุ้นไทย 55% มาเป็นหุ้นไทย 40% และแนะนำให้เข้าซื้อกองทุนหุ้นต่างประเทศ 15% ทั้งนี้เนื่องจากตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นได้ปรับขึ้นมา +6.7% นับจากปลายปีก่อน (อ้างอิงดัชนีปิดวันที่ 23/1/58 ที่ 1,598 จุด)

ในขณะที่เป้าหมายดัชนีในปีนี้ของเราอยู่ที่ 1,610 จุด ดังนั้นในระยะสั้นเรามองว่าตลาดหุ้นไทยมี upside จำกัด จึงแนะนำให้ทยอยขายทำกำไรบางส่วนและเปลี่ยนไปลงทุนในกองทุนหุ้นต่างประเทศที่ยังคงมี upside สูงกว่าในระยะนี้ โดยเราแนะนำกองทุนหุ้น 3 ประเทศหลัก ประกอบไปด้วย ญี่ปุ่น อินเดีย และยุโรป ซึ่งเป็น 3 ประเทศที่เราวิเคราะห์ว่ามีการเติบโตของผลกำไรในปีนี้ดีและยังมีราคาต่ำกว่าราคาตามปัจจัยพื้นฐานอยู่

โดยตลาดหุ้นอินเดีย (Sensex) ในปีนี้คาดว่าจะมีกำไรเติบโต 17.6% และมี upside 21.6% จากเป้าหมายดัชนีที่ 32,980 จุด รองลงมาเป็นตลาดหุ้นญี่ปุ่น (Nikkei 225) ที่คาดว่าจะมีกำไรเติบโต 12.7% และมี upside 10.4% จากดัชนีเป้าหมาย 19,000 จุด และตลาดหุ้นยุโรป (STOXX Europe 600) ที่มีอัตราการเติบโตของกำไร 12% และมี upside 9.9% จากดัชนีเป้าหมายที่ 3,467 จุด


กำลังโหลดความคิดเห็น