xs
xsm
sm
md
lg

เลือกกองทุนอย่างไรให้เหมาะกับเรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โดย บลจ.แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย)

ยังมีนักลงทุนอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังคงเกิดความสับสนไม่แน่ใจเมื่อถึงเวลาที่จะพิจารณาเลือกลงทุนในกองทุนสักกอง ว่ากองทุนแบบไหน.. นโยบายแบบใดกันล่ะ...ที่ควรเลือกลงทุน มีกองทุนไหนบ้างที่จะตอบโจทย์กับความต้องการของเงินลงทุนที่เรามีอยู่ได้อย่างชัดเจนและเหมาะสม...น่าแปลกใจที่คำถามเหล่านี้ยังคงเกิดขึ้นในใจของผู้ลงทุนอยู่เสมอ

ไม่ว่าจะเป็นผู้มีประสบการณ์การลงทุนมาก่อนแล้ว หรือผู้ลงทุนที่เพิ่งเริ่มต้นเลือกลงทุน นั่นอาจเป็นเพราะว่าผู้ลงทุนเหล่านั้นยังไม่เข้าใจความต้องการในการลงทุนของตนเองอย่างแน่ชัดและดีพอ แล้วควรทำอย่างไรล่ะ จึงจะรู้ว่าแท้จริงแล้วตัวเราเหมาะที่จะลงทุนในกองทุนประเภทใด?

ปัจจัยที่ควรพิจารณาก่อนเริ่มต้นลงทุน

1. สำรวจความต้องการของตนเอง : สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเข้าใจตนเองและรู้ความต้องการของตนเองเสียก่อนว่าสิ่งใดคือเป้าหมายหลักที่ต้องการและคาดหวังจากการลงทุน เช่น ต้องการผลตอบแทนจากการลงทุนควบคู่กับผลประโยชน์จากการลดหย่อนภาษี ก็อาจจะเลือกลงทุนในกองทุน LTF หากต้องการวางแผนเกษียณควบคู่กับผลประโยชน์ทางด้านภาษี ก็อาจพิจารณาเลือกลงทุนในกองทุนประเภท RMF หรือหากต้องการผลตอบแทนที่สูงและรับความเสี่ยงได้สูงก็อาจพิจารณาเลือกลงทุนในกองทุนรวมหุ้นหรือกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ เป็นต้น

2. ทำแบบประเมินความเสี่ยง : การทำแบบประเมินความเสี่ยงจะเป็นวิธีที่ทำให้เรารู้ว่าตนเองมีความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนในกองทุนแต่ละประเภทได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อที่จะได้ช่วยให้ผู้ลงทุนเลือกลงทุนในกองทุนต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

3. รู้จักกองทุน : เช่น ประเภทกองทุน ว่าเป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมหุ้น หรือกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ ฯลฯ ทำความเข้าใจความแตกต่างของนโยบายการลงทุน และความเสี่ยงจากการลงทุนที่มีอยู่ รวมถึงโอกาสในการสร้างผลตอบแทนจากสินทรัพย์ในแต่ละประเภทที่กองทุนลงทุน เช่น กองทุนตลาดเงินมีโอกาสให้ผลตอบแทนเพียงแค่ 2-3% ก็คงไม่ใช่ทางเลือกสำหรับผู้ลงทุนที่คาดหวังผลตอบแทนเฉลี่ยอย่างน้อย 10% ต่อปี หรือผู้ลงทุนที่ไม่สามารถรับผลขาดทุนได้เลยในทุกช่วงเวลาก็ไม่ควรลงทุนในกองทุนหุ้น แม้อาจจะให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยในระยะยาวที่ไม่ติดลบก็ตาม

สิ่งเหล่านี้สามารถศึกษาได้จากหนังสือชี้ชวน หรือ Fact Sheet ของกองทุนซึ่งจะมีข้อมูลที่สำคัญให้ผู้ลงทุนได้ศึกษาและทำความเข้าใจก่อนที่จะตัดสินลงทุนในกองทุนต่างๆ และอาจช่วยลดความผิดพลาดจากความเข้าใจผิดในกองทุนนั้นๆ เนื่องจากไม่ได้ศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุนให้ชัดเจนแล้วยังลงทุนในกองทุนที่ตนเองยอมรับความเสี่ยงไม่ได้ด้วย

4. อย่าลงทุนตามกระแส: ต้องรู้สถานการณ์และแนวโน้มตลาดที่จะลงทุน ไม่ใช่ลงทุนเพราะเห็นว่ากองทุนนี้กำลังฮิต ใครๆ ก็บอกว่าดีต้องมีอยู่ในพอร์ตเนื่องจากลงทุนแล้วได้กำไรเยอะมาก เพราะบางทีในเวลาที่เราได้ยินข่าวมาอาจช้าเกินไปจนปัจจัยบวกที่สนับสนุนตลาดนั้นๆ อาจสะท้อนในราคาหุ้นไปแล้ว หรืออาจมีปัจจัยที่ไม่แน่นอนบางประการที่เพิ่งเกิดขึ้นและอาจส่งผลกระทบต่อตลาดดังกล่าวทำให้อาจมีแรงเทขายของนักลงทุนหรือย้ายเม็ดเงินลงทุนไปตลาดอื่น

ท่านที่มีประสบการณ์การลงทุนหรือติดตามภาวะตลาดมาตลอดจะทราบเป็นอย่างดีว่ามีปัจจัยมากมายที่อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนและอาจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม หากเป็นแค่ผลกระทบในช่วงสั้นที่ไม่ได้ทำให้ปัจจัยพื้นฐานของตลาดนั้นๆ เปลี่ยนไป การปรับตัวลดลงของตลาดนั้นๆ กลับเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าลงทุนเช่นกัน

เลือกกองทุน

เมื่อผู้ลงทุนสำรวจความต้องการของตัวเอง พร้อมทำแบบประเมินความเสี่ยงรวมถึงศึกษาและทำความเข้าใจในกองทุนประเภทต่างๆ ในระดับหนึ่งแล้ว อันดับต่อไปนั่นคือการวางเป้าหมายและเลือกลงทุนในกองทุนที่เหมาะสมกับตัวเอง สิ่งสำคัญที่ควรทำก่อนตัดสินใจลงทุน นั่นคือ การหาข้อมูลของกองทุนที่ตนเองสนใจ และทำการเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างกองทุนที่อยู่ในประเภทเดียวกัน เช่น เปรียบเทียบค่าธรรมเนียม ความเสี่ยงของกองทุน ประวัติการจ่ายเงินปันผล หรือผลการดำเนินงานในอดีตที่ผ่านมา เป็นต้น

การเปรียบเทียบข้อมูลจะทำให้เราเห็นความต่างระหว่างกองทุนที่เหมือนกันได้อย่างชัดเจน แต่ต้องจำไว้เสมอว่าข้อมูลที่ได้นั้นไม่สามารถรับประกันถึงผลตอบแทนที่ดีในอนาคตได้ แต่การเปรียบเทียบข้อมูลดังกล่าวจะช่วยทำให้ผู้ลงทุนได้คิดวิเคราะห์ในการเลือกลงทุนในกองทุนอย่างมีเหตุผลได้

ข้อควรระวัง และสิ่งที่ควรรู้เมื่อลงทุนในกองทุน

1. เงินลงทุนควรเป็นเงินในส่วนที่ยอมรับความเสี่ยงได้ ดังนั้น ไม่ควรนำเงินออมทั้งหมด หรือเงินที่ต้องใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หรือกู้เงินมาลงทุน

2. ควรอ่านหนังสือชี้ชวนให้เข้าใจ พร้อมทั้งเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างกองทุนประเภทเดียวกันก่อนการตัดสินใจลงทุน

3. ไม่ควรนำเงินลงทุนทั้งหมดที่มีมาลงทุนในกองประเภทเดียวกันทั้งหมด ดังนั้น จึงควรจัดพอร์ตการลงทุนในกองทุนต่างๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงออกไป

4. ภาระภาษีที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน เช่น กรณีบุคคลธรรมดา กำไรที่ได้จากการลงทุนในกองทุนนั้นไม่ต้องเสียภาษี แต่เงินปันผลที่ได้รับจากกองทุนต้องเสียภาษี โดยอาจเลือกหัก ณ ที่จ่าย 10% หรือเลือกไม่หัก ณ ที่จ่ายแต่ต้องนำเงินปันผลที่ได้ไปรวมเป็นเงินได้สุทธิเพื่อคำนวณภาษีด้วย

5. พยายามติดตามผลการดำเนินงานของกองทุนอยู่สม่ำเสมอ พร้อมปรับเปลี่ยนพอร์ตที่มีอยู่บ้างตามสถานการณ์การลงทุนที่เปลี่ยนไปเพื่อเพิ่มผลตอบแทนหรือลดความเสี่ยง

6. อย่ากลัวความเสี่ยงมากเกินจนไม่กล้าลงทุนในกองทุนที่มีความเสี่ยงสูง เพราะกองทุนที่มีความเสี่ยงสูงอย่างกองทุนหุ้นแม้จะมีความผันผวนมาก แต่หากลงทุนในระยะยาวแล้วก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนในกองตราสารหนี้ในระยะเวลาการลงทุนที่เท่ากัน

จากที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นนั้น เป็นส่วนหลักๆ ที่สำคัญที่จะเน้นให้เห็นในมุมมองแบบกว้างๆ ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางให้ผู้ลงทุนได้กำหนดเป้าหมายในการลงทุนได้ชัดเจนและมั่นใจมากขึ้น

แต่อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่อยากกล่าวทิ้งท้ายไว้คือ การจับจังหวะการลงทุนเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก การลงทุนแบบสม่ำเสมอแบบรายเดือนด้วยเทคนิค Dollar Cost Averaging สามารถช่วยลดความเสี่ยงของการลงทุนในจังหวะที่ไม่เหมาะสมได้ บลจ.แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะทำให้ผู้ลงทุนได้เลือกลงทุนได้อย่างถูกที่... ถูกทาง... และถูกเวลา..ได้บ้างนะครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น