xs
xsm
sm
md
lg

Money Tips : เวลา ความเสี่ยง และการเตรียมพร้อม (Full Version)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ Money Tips
โดยเสกสรร โตวิวัฒน์ CFP®
กองทุนบัวหลวง

เวลาเลือกว่าจะลงทุนอะไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย สิ่งที่นักวางแผนการเงินจะให้ความสำคัญมากกว่าความเสี่ยงที่ผู้รับคำปรึกษาจะยอมรับได้ก็คือ “ระยะเวลาที่สามารถลงทุนได้” เพราะเป็นเงื่อนไขที่ผูกพันกับความเสี่ยงที่ผู้รับคำปรึกษาไม่อาจกำหนดเองได้

รับความเสี่ยงได้สูง อายุยังน้อย ชอบเล่นหุ้น เก็บเงินไว้ดาวน์บ้านอีก 6 เดือนข้างหน้า

จะเก่งแค่ไหน ก็ไม่ควรลงทุนหุ้น เพราะถ้าเกิดอะไรขึ้นมา ไม่เหลือเวลาให้แก้ตัว

รับความเสี่ยงได้น้อย แต่เก็บยาวไว้รอเกษียณในอีก 20 ปีข้างหน้า

จะกลัวแค่ไหน แบบนี้นักวางแผนการเงินก็ยังแนะนำให้มีหุ้นไว้บ้าง เพราะจะเสียโอกาสในการลงทุน

ไม่มีสูตรตายตัวว่าระยะเวลาลงทุนนานแค่ไหนถึงควรจะมีหุ้นไว้ในพอร์ต โดยทั่วไปเวลาลงทุนที่ยาวขึ้นก็สามารถลงทุนในหุ้นได้มากขึ้น แต่จะลงทุนแค่ไหนก็ค่อยดูเรื่องอื่นๆ ประกอบ เช่น การยอมรับความเสี่ยงเฉพาะตัว ระดับความสำคัญของเป้าหมายที่จะเก็บออม ความรู้ความเข้าใจเรื่องหุ้นของผู้รับคำปรึกษา ฯลฯ

ระยะเวลาการลงทุน โดยทั่วไปอาจแบ่งได้เป็น 3 ช่วง คือ

ระยะสั้น (0-3 ปี)

ระยะกลาง (3-7 ปี)

และระยะยาว (7 ปีขึ้นไป)

การลงทุนระยะสั้นต้องระมัดระวังเรื่องการลงทุนในหุ้นให้มาก เพราะหากเกิดปัญหาจะไม่มีเวลาให้แก้ตัว ยิ่งในปัจจุบันที่ตลาดหุ้นมีความผันผวนสูง มีปัจจัยทั้งในประเทศและนอกประเทศมาเกี่ยวข้องมากมายที่ส่งผลให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก

3 ปี สำหรับหลายๆ คนอาจคิดว่ายาวเกินพอที่จะลงทุนในหุ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ลงทุนจะมีเวลาลงทุน 3 ปีไปตลอด เมื่อผ่านไป 1 ปี เวลาสำหรับลงทุนจะเหลือแค่ 2 ปี เมื่อผ่านไป 2 ปี ก็เหลือเวลาลงทุนแค่ปีเดียวเท่านั้น ถ้าตอนเริ่มต้นมีหุ้นในพอร์ตสัก 20% ยามที่เหลือเวลาลงทุนปีเดียวก็ควรปรับสัดส่วนให้เหลือแต่ตราสารหนี้เท่านั้น แล้วสมมติว่าตอนแรกลงทุนในหุ้นไว้เยอะถึง 50% หาก 2 ปีแรกเกิดตลาดหุ้นไม่เป็นใจ ผ่านไป 2 ปีขาดทุนในหุ้น เงินในพอร์ตเหลือไม่พอใช้ตามเป้าหมาย เหลือปีเดียวจะใช้เงินแล้ว จะเป็นอย่างไร

จะลงทุนหุ้นต่อเพื่อลุ้นเอาคืน หรือขายทิ้งมาใส่ตราสารหนี้แล้วหาเงินส่วนอื่นมาเติมแทน?

ส่วนการลงทุนระยะกลางและระยะยาว ถือว่านานพอที่จะแบ่งมาลงทุนในหุ้นได้ แต่สิ่งสำคัญคือเมื่อเวลาผ่านไป เวลาลงทุนเหลือน้อยลงต้องมีการปรับปรุงพอร์ตใหม่ ลดสัดส่วนหุ้นเมื่อเวลาลงทุนลดน้อยลงไปเรื่อยๆ แต่ไม่จำเป็นต้องเฝ้าละเอียดยิบปรับลดสัดส่วนทุกปี โดยเฉพาะการลงทุนระยะกลางที่มักจะนิยมผสมผสานหุ้นในสัดส่วนที่สูง หรือผู้ลงทุนบางคนที่รับความเสี่ยงได้สูงก็อาจจะเลือกลงทุนหุ้นทั้งหมดโดยลืมไปว่า เวลาไม่เคยเหนื่อย เดินไปได้เรื่อยๆ ไม่เคยหยุดรอใคร พอร์ตลงทุนระยะกลางจะกลายเป็นพอร์ตการลงทุนระยะสั้นได้ภายในไม่กี่ปี

สำหรับพอร์ตการลงทุนระยะกลางและระยะยาว ถือว่ามีความยืดหยุ่นกว่าพอร์ตระยะสั้นเพราะเวลาที่นานขึ้นมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนระยะสั้นๆ โดยเฉพาะการลงทุนในหุ้นหรือสินทรัพย์ที่ราคามีความผันผวนมากอย่างทองคำ ราคาหุ้นในตลาดแต่ละวัน แต่ละเดือน จะถูกกระทบด้วยปัจจัยต่างๆ มากมาย ทั้งความต้องการซื้อ ความต้องการขาย ข่าวลือ ข่าวจริง อารมณ์ ความกลัว ความโลภ การคาดเดาราคาในระยะสั้นจึงทำได้ยากยิ่ง การวิเคราะห์ด้วยปัจจัยทางเทคนิคเป็นเพียงเครื่องมือช่วยที่อาจจะถูก หรือไม่ถูกก็ได้ แต่หากมีระยะเวลาลงทุนนานๆ ราคาจะสะท้อนกลับมาสู่ความเหมาะสมตามปัจจัยพื้นฐาน ผลประกอบการที่ประกาศ เงินปันผลที่จ่าย จะทำให้ราคาหุ้นนั้นๆ กลับมาสู่ความเป็นจริง

สิ่งเหล่านี้คือสาเหตุที่ว่า ทำไมพอร์ตการลงทุนในหุ้นจึงเหมาะกับการลงทุนระยะยาวมากกว่าระยะสั้น

แต่ความสัมพันธ์ระหว่างเวลากับความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนและผู้วางแผนการเงินต้องไม่ลืม ก็คือ เวลาไม่ใช่สิ่งตายตัว การลงทุนระยะยาวสักวันหนึ่งก็จะกลายเป็นการลงทุนระยะกลาง และการลงทุนระยะสั้น ที่ไม่สามารถจัดพอร์ตให้ลงทุนในหุ้นได้มากๆ อีกต่อไป

การปรับลดหุ้นในพอร์ตลงมีคำถามว่า แล้วจะต้องทำเมื่อไร กี่ปีทำที ลดลงกี่เปอร์เซ็นต์ ฯลฯ

ไม่มีคำตอบตายตัวว่าต้องเท่านั้นเท่านี้ แต่หลักการลดสัดส่วนยังเป็นความจำเป็นหลักที่ต้องทำและสามารถกำหนดเองได้ ลดลงเท่าไรถึงจะดีที่สุดไม่มีคำตอบ แต่คำตอบที่บอกได้คือการเตรียมพร้อมวางแผนและตั้งเป้าหมายของแต่ละคนกับแต่ละวัตถุประสงค์แบบคร่าวๆ จะทำให้การวางแผนลงทุนนั้นดีที่สุดกับเราได้

ไม่มีแบบแผนที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน แต่มีแผนที่เหมาะที่สุดสำหรับเราได้ โดยอาจจะไม่ใช่แผนที่ทำให้มีผลกำไรมากที่สุด แต่เป็นแผนที่เหมาะสม ลดความเสี่ยงได้ มีระดับของโอกาสรอรับผลตอบแทนที่สอดคล้องกับเป้าหมาย และที่สำคัญไม่ยุ่งยากจนเกินไปในการจัดการ สามารถนำไปปฏิบัติได้

ตัวอย่างเช่น ต้องการวางแผนเพื่อเตรียมตัวเกษียณในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยจะลงทุนเฉลี่ยทุกเดือน เดือนละ 4,000 บาท เป็นผู้รับความเสี่ยงได้สูง จะลงทุนอย่างไรให้เหมาะสม

กรณีนี้มีเวลาลงทุนยาวๆ 20 ปี สามารถจัดหุ้นเข้าพอร์ตได้สบายๆ ในช่วงแรกสามารถลงทุนในหุ้นทั้งหมดก็ทำได้ จากนั้นค่อยๆ ลดสัดส่วนลงจนถึงวันเกษียณ โดยการปรับพอร์ตจะทำ 2 แบบทั้งพอร์ตเงินลงทุนที่มีอยู่และเงินลงทุนใหม่รายเดือน เช่น

ปีที่ 1-5 ลงทุนในกองทุนหุ้นทุกเดือน เดือนละ 4,000 บาท

เริ่มต้นปีที่ 6 ปรับพอร์ตที่มีอยู่ โดยย้ายเงิน ¼ ไปไว้ที่กองทุนตราสารหนี้ เพื่อให้พอร์ตรวมกลายเป็น กองทุนหุ้น 75% ตราสารหนี้ 25%

ปีที่ 6-10 ลงทุนในกองทุนหุ้นเดือนละ 3,000 บาท กองทุนตราสารหนี้เดือนละ 1,000 บาท

เริ่มต้นปีที่ 11 ปรับพอร์ตที่มีอยู่ใหม่ให้มีเงินในกองทุนหุ้นและกองทุนตราสารหนี้อย่างละครึ่ง ให้พอร์ตกลายเป็น กองทุนหุ้น 50% กองทุนตราสารหนี้ 50%

ปีที่ 11-15 ลงทุนในกองทุนหุ้นเดือนละ 2,000 บาท กองทุนตราสารหนี้เดือนละ 2,000 บาท

เริ่มต้นปีที่ 16  ใกล้เกษียณแล้ว ปรับพอร์ตเงินที่เก็บสะสมไว้ 15 ปีให้อยู่ในกองทุนหุ้น 25% และกองทุนตราสารหนี้ 75%

ปีที่ 16-20 ลงทุนในกองทุนหุ้นเดือนละ 1,000 บาท กองทุนตราสารหนี้เดือนละ 3,000 บาท

นี่เป็นตัวอย่างคร่าวๆ ของการปรับพอร์ตให้สอดคล้องกับเวลาลงทุนที่ลดลงทุกวัน แบบไม่ยุ่งยากจนเกินไปนัก และปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมของแต่ละคน เช่น ผู้ที่กังวลในช่วงใกล้เกษียณอาจปรับเพิ่มเติมในปีที่ 19-20 โดยย้ายเงินลงทุนทั้งหมดมาไว้ที่กองทุนตราสารหนี้ และลงทุนรายเดือนในกองทุนตราสารหนี้ทั้งหมด 4,000บาท ก็สามารถทำได้


กำลังโหลดความคิดเห็น