บลจ.กรุงไทยประเมินหุ้นขนาดกลาง และขนาดเล็กยังมีเสน่ห์น่าลงทุน มั่นใจศักยภาพการเติบโตของผลประกอบการยังมีสูง ล่าสุดส่งกองทุน “กรุงไทยหุ้น Mid-Small Cap” เอาใจนักลงทุน ชูลงทุนขั้นต่ำเพียง 1,000 บาท เปิดขายไอพีโอแล้วตั้งแต่วันนี้ถึง 29 เมษายน 2558
นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สภาพคล่องในตลาดยังมีอยู่มากในขณะที่ผลตอบแทนของตราสารหนี้ค่อนข้างน้อย ทำให้นักลงทุนใหม่ๆ หันมาให้ความสำคัญต่อการลงทุนในหุ้นมากขึ้น แม้ว่าตลาดหุ้นจะมีความผันผวนก็ตามแต่ส่วนใหญ่ก็ยังมองในเชิงบวก
ทั้งนี้ บริษัทเปิดจำหน่ายกองทุนเปิดกรุงไทยหุ้น Mid-Small Cap (KTMSEQ) ในวันที่ 22-29 เมษายน 2558 มูลค่าโครงการ 1,000 ล้านบาท โดยกำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำ 1,000 บาท ซึ่งเน้นลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทตราสารทุนของบริษัทขนาดกลาง และ/หรือขนาดเล็ก ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และหรือ ตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอไอ ที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีแนวโน้มการเติบโตทางธุรกิจ โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ส่วนที่เหลือลงทุนในตราสารหนี้ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำหนด
นายวีระ วุฒิคงศิริกูล รองกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสายงานจัดการลงทุน กล่าวว่า หลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2008 หลายประเทศทั่วโลกได้ออกมาตรการเสริมสภาพคล่องให้แก่ตลาด และย้อนกลับมาให้น้ำหนักการบริโภคภายในประเทศ โดยการเติบโตของเศรษฐกิจส่วนใหญ่มาจากธุรกิจภายในประเทศเป็นหลัก ซึ่งธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กจึงได้รับอานิสงส์เหล่านี้ แม้ว่าจะเป็นธุรกิจที่เกิดใหม่แต่อัตราการเติบโตมีค่อนข้างสูง โดยการลงทุนในหุ้นกลุ่มขนาดกลางและขนาดเล็กนั้นเหมาะกับการลงทุนตั้งแต่ 3-5 ปีขึ้นไป
ทางด้านนายชาญณรงค์ กิตินารถอินทราณี ผู้ช่วยผู้อำนวยการสายงานจัดการลงทุนงานลงทุนในตราสารทุน บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปถึง 118.22 จุด แตะระดับสูงสุดของปีที่ 1,615.89 จุด คิดเป็น 7.89% หลังจากนั้นค่อย ๆ ปรับตัวลงมาตลอดตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ จนเกือบสิ้นไตรมาส 1 หลังจากได้เริ่มมีการทยอยประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไตรมาสสุดท้ายของปี 2557 โดยเฉพาะในกลุ่มพลังงานที่กดดันต่อมูลค่าของ SET Index เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงแรงตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมาส่งผลให้ P/E ของตลาดปรับตัวสูงขึ้นเป็นปัจจัยหลักที่กดดันภาพรวมของ SET Index ในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงความกังวลต่อการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่อาจจะส่งผลให้มีเงินทุนไหลออกถึงแม้ว่า P/E ของตลาดจะอยู่ในระดับสูง แต่ยังคงมีหลักทรัพย์หลายตัวที่ผลประกอบการในปีที่ผ่านมามีการเจริญเติบโต และมีศักยภาพที่จะเติบโตในปีนี้และปีหน้า
อย่างไรก็ตาม แม้ตลาดหลักทรัพย์ยังต้องเผชิญกับความผันผวนดังกล่าวข้างต้น และP/E ของตลาดจะอยู่ในระดับสูง แต่ บลจ.กรุงไทยได้มองเห็นถึงศักยภาพกลุ่มหลักทรัพย์ที่คาดว่าสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ถึงแม้จะมีความผันผวนจากปัจจัยดังกล่าว นั่นคือ หุ้นในกลุ่มขนาดกลาง และเล็ก ที่ยังคงมีศักยภาพในการเจริญเติบโตของผลประกอบการที่ดี ซึ่งผลประกอบการมีศักยภาพในการเติบโตที่ดีเมื่อพิจารณาผลตอบแทนย้อนหลังในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมาพบว่าให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าหุ้นในกลุ่มขนาดใหญ่ (Large Caps)
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย นักลงทุนจึงหันมาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น เมื่อมองปัจจัยพื้นฐานของหลักทรัพย์ในกลุ่ม Mid-Small caps มีความน่าสนใจเมื่อเทียบกับ Large caps โดยมีแนวโน้มการเจริญเติบโตของผลประกอบการที่ดีกว่า และมีมูลค่าไม่แพงเมื่อเทียบกับหุ้นในกลุ่ม Large caps โดยผลการดำเนินงานย้อนหลัง 5 ปี Mid-Small ให้ผลตอบแทนสูงถึง 130.20% ในขณะที่ SET50 ให้ผลตอบแทน 78.7% ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2558 หรือเมื่อมองเป็นรายปีก็ยังพบว่าหุ้นในกลุ่ม Mid-Small caps ให้ผลการดำเนินงานที่ดีมากในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว ซึ่งสภาวะตลาดหลักทรัพย์ในประเทศกำลังอยู่ในช่วงดังกล่าว
สำหรับกองทุนเปิดกรุงไทยหุ้น Mid-Small Cap บริษัทจะเน้นลงทุนในหลักทรัพย์เป็นรายตัวที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางภาครัฐ การอุปโภค บริโภคภายในประเทศที่น่าจะทยอยฟื้นตัว ได้แก่ กลุ่มวัสดุก่อสร้าง รับเหมาก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และนาโนไฟแนนซ์ ซึ่งหุ้นในกลุ่มเหล่านี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่ม Mid-Small caps อยู่แล้ว
โดยมีแนวทางการลงทุนโดยใช้กลยุทธ์ในการคัดสรรหลักทรัพย์ที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงตามปัจจัยพื้นฐาน มีศักยภาพในการเติบโตที่มั่นคงและสามารถสร้างอัตราการเติบโตของกำไร ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่มีความผันผวนและได้รับประโยชน์จากการบริโภค อุปโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยฝ่ายจัดการลงทุนร่วมมือกับฝ่ายวิจัยของบริษัทอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ผลการดำเนินงานของกองทุนถึงเป้าหมายตามที่ได้คาดการณ์ไว้