xs
xsm
sm
md
lg

ศก.โลกฟื้นตัวรับปัจจัยบวก ส่วนไทยโตต่ำกดดันตลาดหุ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.ทหารไทย) รายงานภาวะเศรษฐกิจโลกและการลงทุนล่าสุดในเดือนเมษายนนี้ว่า กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน มี.ค. เพิ่มขึ้นเพียง 126,000 ตำแหน่ง จากที่คาดการณ์ +245,000 ตำแหน่ง ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2013 อัตราว่างงานทรงตัว 5.5% เท่ากับคาดการณ์ อย่างไรก็ตาม ค่าจ้างปรับตัวขึ้นมากกว่าคาดการณ์ นักวิเคราะห์หลายรายมองว่าตัวเลขจ้างงานที่อ่อนลงเป็นผลชั่วคราวจากสภาพอากาศหนาวในช่วงต้นปี เห็นได้จากจำนวนผู้ที่ไม่สามารถไปทำงานได้เนื่องจากอากาศหนาวอยู่ที่ 182,000 คนในเดือน มี.ค. สูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ 140,744 นอกจากนี้ สาเหตุอีกส่วนหนึ่งอาจมาจากบริษัทในอุตสาหกรรมน้ำมันตัดลดการลงทุนลง

บลจ.ทหารไทยมองว่า แนวโน้มหลัก เงินดอลลาร์สหรัฐน่าจะยังแข็งค่า ตลาดอาจผันผวนมากขึ้นก่อน Fed ขึ้นดอกเบี้ย สร้างโอกาสในการลงทุนเศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะกลับมาเร่งขึ้นในไตรมาส 2 ซึ่งน่าจะทำให้ตลาดการเงินปรับตัวเตรียมรับการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed และส่งผลให้เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักๆ โดยเฉพาะเงินเยน และยูโร ที่ธนาคารกลางทั้งสองแห่งยังดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลาย ดังนั้น สินทรัพย์ที่ราคาปรับตัวขึ้นแรงเพราะดอลลาร์อ่อนค่าในช่วงนี้ อย่างสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ทองคำ, น้ำมัน หรือ หุ้น/ค่าเงินของประเทศในตลาดเกิดใหม่ (ที่มีปัจจัยพื้นฐานอ่อนแอ) อาจเสี่ยงต่อการปรับฐานแรงๆ ได้เมื่อดอลลาร์กลับแข็งค่าขึ้นอีก แต่ยังคงมีมุมมองบวกต่อหุ้น โดยในภาวะปัจจุบันผู้ลงทุนอาจถือหรือทยอยซื้อสะสม TMB Global Quality Growth ที่กองทุนหลักสามารถกระจายความเสี่ยงไปในหุ้นทั่วโลก และรับโอกาสการเติบโตที่เพิ่มขึ้น โดยทยอยเข้าลงทุนหุ้นเอเชียผ่านกองทุน TMB Asian Growth Leaders โดยเฉพาะในภาวะที่ตลาดผันผวนและย่อลง

ด้านยุโรป ตัวเลขภาคผลิตของยูโรโซนในเดือน มี.ค. เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 52.2 สูงสุดในรอบ 10 เดือน ส่วนดัชนีภาคการผลิตของเยอรมนีเดือน มี.ค. ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 52.8 สูงสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. ปีที่แล้ว ขณะที่รัฐบาลกรีซส่งแผนปฏิรูปฉบับปรับปรุงแล้วเมื่อ 1 เม.ย. ทว่ากลุ่มเจ้าหนี้ยังไม่อนุมัติ ทำให้กรีซเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ในเดือนนี้หากได้รับเงินช่วยเหลือไม่ทันเวลา บลจ.ทหารไทยมองว่า เศรษฐกิจยูโรโซนส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนยิ่งขึ้น อันเป็นผลจากมาตรการผ่อนคลาย (QE) ที่ช่วยเพิ่มสภาพคล่อง ทำให้อัตราดอกเบี้ยต่ำลงและเงินยูโรอ่อนค่า ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญต่อการส่งออกและผลกำไรของบริษัทในยุโรป

ขณะความเสี่ยงที่กรีซอาจจะผิดนัดชำระหนี้มีมากขึ้น เห็นได้จากอัตราผลตอบแทน (yield) พันธบัตรอายุ 10 ปีของกรีซพุ่งขึ้นมาอยู่ที่ราว 12% อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ากรณีเลวร้ายสุดหากกรีซผิดนัดชำระหนี้และต้องออกจากยูโรโซน ผลกระทบน่าจะอยู่ในวงจำกัด เพราะโครงการซื้อพันธบัตรของ ECB ช่วยกด yield พันธบัตรของประเทศยูโรโซนอื่นๆ ไว้ให้อยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ หากตลาดหุ้นยุโรปปรับฐานจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับกรีซ ก็น่าจะเป็นโอกาสทยอยเข้าซื้อลงทุนหุ้นยุโรปที่ระดับราคาน่าสนใจยิ่งขึ้น

สำหรับเรื่อง ข้อตกลงเรื่องนิวเคลียร์ของอิหร่าน แม้ว่าการประชุมที่ได้มีกรอบข้อตกลงเมื่อวันที่ 2 เม.ย. ได้ผูกพันให้แต่ละฝ่ายต้องด่าเนินการใดๆ ในทันที และให้เวลาอีก 3 เดือนในการลงรายละเอียด เพื่อให้ได้ข้อตกลงสุดท้ายทันเส้นตายสิ้นเดือน มิ.ย. แต่ก็ได้บรรลุกรอบแนวทางร่วมกันในหลายประเด็น ตั้งแต่การกำหนดตารางเวลาในการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร ไปจนถึงการกำหนดวัตถุประสงค์ใหม่ของโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งนำอิหร่านให้เข้าใกล้ความสัมพันธ์ระดับปกติกับประชาคมโลกมากที่สุดนับตั้งแต่มีการปฏิวัติในปี 1979

โดย บลจ.ทหารไทยมองว่า แม้ข้อตกลงสุดท้ายเกี่ยวกับนิวเคลียร์อิหร่านในช่วงกลางปีนี้ยังมีความไม่แน่นอน ทว่าหากประสบผลส่าเร็จและอิหร่านปฏิบัติตามข้อตกลงก็จะมีการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าอิหร่านอาจส่งออกน้ำมันเพิ่มขึ้นได้ในช่วงครึ่งปีหลัง โดยอุปทานที่เพิ่มขึ้นจะกลับเข้ามากดดันตลาดน้ำมัน ทั้งนี้ ล่าสุดราคาน้ำมันที่เห็นในข่าว (สัญญาเดือนใกล้สุด) พุ่งขึ้นแรง เพราะตลาดคาดหวังว่าความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวดีขึ้น ขณะสต๊อกน้ำมันในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าราคาของสัญญาอายุยาวปรับตัวขึ้นน้อยกว่าของสัญญาอายุสั้น ซึ่งเรามองว่าตลาดน่าจะกังวลเกี่ยวกับอุปทานจากอิหร่านที่อาจเพิ่มขึ้นในระยะยาว

สำหรับล่าสุดตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มี.ค. ต่ำสุดในรอบ 9 เดือน ขณะเงินเฟ้อติดลบเป็นเดือนที่ 3 กระทรวงพาณิชย์เผย ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) มี.ค.-0.57% yoy ติดลบเป็นเดือนที่ 3 ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI ไม่รวมอาหารสดและพลังงาน) +1.31%yoy เนื่องจากผู้บริโภคเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวไม่มากนัก โดยยังกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น รวมถึงความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลลบต่อการส่งออก ขณะที่ปัจจัยบวกมาจาก กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะปรับตัวดีขึ้นได้ในช่วงครึ่งปีหลัง โดยมีตัวแปรสำคัญคือ การเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐ

ทั้งนี้ บลจ.ทหารไทยมองว่า SET Index ฟื้นตัวขึ้นมาเกือบ 4% จากระดับปิดต่ำสุด 1,495.22 ณ วันที่ 27 มี.ค. ได้แรงหนุนจากปัจจัยภายนอกประเทศ และ Trigger Funds ซึ่งมองว่าตลาดหุ้นไทยไม่น่าจะสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดหุ้นเอเชียโดยภาพรวมในปีนี้ เพราะระดับราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับแนวโน้มการเติบโต อย่างไรก็ตาม การเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐยังคงเป็นความหวังของเศรษฐกิจไทย หากทำได้ดีกว่าที่ผ่านมาก็น่าจะกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน และทำให้นักลงทุนต่างชาติกลับมาสนใจตลาดหุ้นไทยมากขึ้น

Overweight ตลาดพัฒนาแล้ว

บลจ.ทหารไทยแนะนำการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกดังนี้ **ตลาดหุ้นสหรัฐฯ**ให้น้ำหนักการลงทุนระดับปานกลาง** (Neutral)** เนื่องจากพื้นฐานแข็งแกร่ง ผลตอบแทนคาดหวัง/ความเสี่ยงไม่สูงนัก โดยหุ้นสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่ดีตามการบริโภคซึ่งได้รับอานิสงส์จากตลาดแรงงานฟื้นตัวและภาระค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงที่ลดลงตามราคาน้ำมันโลก นอกจากนี้ การที่ Fed จะพิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจประกอบการตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ย ทำให้ตลาดมั่นใจมากขึ้นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะแข็งแรงเพียงพอเมื่อถึงเวลาที่ดอกเบี้ยเริ่มปรับขึ้น

ตลาดหุ้นยุโรปให้น้ำหนักมาก (Overweight) จากความเสี่ยงเชิงระบบจากหนี้กรีซยังมีอยู่ แต่ไม่น่าจะลุกลามเพราะมี QE ทยอยซื้อสะสมหากย่อตัว พื้นฐานของหุ้นยุโรปน่าสนใจเพราะ QE ท่าให้เงินยูโรอ่อนซึ่งดีต่อผลประกอบการ ขณะหุ้นยุโรปจ่ายปันผลสูงน่าจะดึงดูดผู้ลงทุนที่แสวงหา yield ในภาวะดอกเบี้ยต่ำ เรามองว่าโอกาสที่หุ้นยุโรปจะปรับฐานแรงมีน้อยลง หลังกรีซบรรลุข้อตกลงรับเงินช่วยเหลือชั่วคราว 4 เดือน แต่การเจรจาเงื่อนไขการเบิกเงินอาจสร้างบรรยากาศที่ตึงเครียด และอาจกดดันให้ตลาดหุ้นย่อลงมาได้ คงแนวรับลึกที่ MSCI Europe 126-127 จุด เพราะเป็นระดับที่ให้ Dividend Yield ราว 3.5%

ขณะที่ตลาดหุ้นญี่ปุ่นให้น้ำหนักมาก (Overweight) เนื่องจาก BOJ รอดูผลจาก QQE รอบที่แล้ว พร้อมที่จะกระตุ้นเพิ่มหากเศรษฐกิจฟื้นช้า เราตั้งสมมติฐาน 2 กรณี 1.) เศรษฐกิจฟื้นตัวดี BOJ ไม่ต้องกระตุ้นเพิ่ม 2.) เศรษฐกิจฟื้นช้าทำให้ BOJ กระตุ้นเพิ่ม ซึ่งทั้ง 2 กรณีน่าจะส่งผลบวกต่อหุ้นญี่ปุ่นโดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ที่มักเป็นบริษัทข้ามชาติหรือเป็นผู้ส่งออกซึ่งได้รับประโยชน์จากเงินเยนอ่อนค่า ขณะเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีเวลาฟื้นตัวมากขึ้นหลังนายกฯ อาเบะตัดสินใจเลื่อนการปรับขึ้นภาษีขายรอบสองออกไป ด้านบริษัทขนาดใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มการลงทุนและค่าจ้างแรงงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นก็เป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในระยะยาว นอกจากนี้ หุ้นญี่ปุ่นยังมีราคาน่าสนใจเพราะซื้อขายที่ P/E ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต

เช่นเดียวกัน ตลาดหุ้นจีนให้น้ำหนักมาก (Overweight) โดยเน้น China Opportunity ซึ่งกองทุนหลักเลือกหุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการปฏิรูปที่มุ่งสนับสนุนการบริโภค ธนาคารกลางจีน (PBOC) ลดดอกเบี้ยแล้ว 2 ครั้ง, ลด RRR แล้ว 1 ครั้ง (อาจลดได้อีก) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งในระยะสั้นเป็นปัจจัยบวกโดยตรงต่อหุ้นกลุ่มการเงิน ขณะที่การปฏิรูปจะช่วยปรับปรุงเสถียรภาพเศรษฐกิจ โดยหุ้นแต่ละกลุ่มอาจได้ประโยชน์ไม่เท่ากัน นอกจากนี้ หุ้นจีน A-share มีราคาสูงกว่า H-share ของบริษัทเดียวกันโดยเฉลี่ยประมาณ 35%(1) ดังนั้นราคาปัจจุบันของ H-share จึงน่าสนใจกว่า A-share (China Opportunity เน้นลงทุน H-Share)

ตลาดหุ้นไทยให้น้ำหนักการลงทุนระดับปานกลาง (Neutral) จากที่ดัชนี SET ฟื้นตัวประมาณ 4% จากจุดต่ำสุดมองว่าหุ้นไทยไม่น่าจะสร้างผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นเอเชียโดยภาพรวมในปีนี้ เพราะ

1. หนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับสูงทำให้กระตุ้นการบริโภคได้ลำบาก

2. ปัจจัยเสี่ยงเฉพาะตัวของประเทศน่าจะทำให้หุ้นไทยซื้อขายที่ P/E, P/BV ต่ำลง อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลเร่งลงทุนก็น่าจะช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน สนับสนุนการเติบโต และทำให้ต่างชาติมองหุ้นไทยดีขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อต่ำเปิดทางให้ กนง.อาจปรับลดดอกเบี้ยลงได้อีกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหากจำเป็น


กำลังโหลดความคิดเห็น