รอยเตอร์/เอเอฟพี - ราคาน้ำมันปิดลบ 3 วันติดเมื่อวันอังคาร(31มี.ค.) ร่วงลงอีก 1 ดอลลาร์ จับตาการเจรจากันอย่างเคร่งเครียดระหว่างอิหร่านกับชาติมหาอำนาจต่อโครงการนิวเคลียร์ของเตหะราน ส่วนวอลล์สตรีทดิ่งหนักท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน ขณะที่ทองคำก็ปรับลดเช่นกัน จากดอลลาร์แข็งค่าขึ้น
น้ำมันดิบเวสต์เทกซัสอินเตอร์มีเดียต หรือ ไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนพฤษภาคม ลดลง 1.08 ดอลลาร์ ปิดที่ 47.60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปรับลง 3 วันติด ส่วนเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนเดียวกัน ลดลง 1.18 ดอลลาร์ ปิดที่ 55.11 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยเมื่อรวมตลอดทั้งเดือนมีนาคม น้ำมันสัญญาลอนดอน ดิ่งลงถึงร้อยละ 12
การเจรจาแบบมาราธอนที่เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างเหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศของอิหร่านและชาติมหาอำนาจ ไม่ทันเส้นตายที่กำหนดไว้เองในช่วงเที่ยงคืนวันอังคาร(31มี.ค.) สำหรับหาความเห็นพ้องของกรอบข้อตกลงที่อาจนำไปสู่การผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน บนความเชื่อที่ว่าเตหะรานกำลังพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์
อย่างไรก็ตามหลังเส้นตายผ่านพ้นไปแล้ว แต่วอชิงตันชี้แจงว่ามันมีความก้าวหน้าเพียงพอที่จะเจรจากันต่อไปในวันพุธ(1เม.ย.)
อิหร่าน จำเป็นต้องตอบรับข้อจำกัดต่างๆเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของตนเองเพื่อเป้าหมายป้องกันไม่ให้พวกเขาสร้างระเบิดนิวเคลียร์แลกกับการปลดมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก โดยเฉพาะการส่งออก โดยนอกเหนือจากข้อตกลงเบื้องต้นที่กำลังหาทางบรรลุกันให้ได้ เหล่าตัวแทนเจรจายังกำหนดเส้นตายที่ต้องบรรลุข้อตกลงโดยสมบูณ์เกี่ยวกับเงื่อนไขเฉพาะเจาะจงทั้งหลายที่อิหร่านจำเป็นต้องปฏิบัติตาม ภายในวันที่ 30 มิถุนายนนี้
นักวิเคราะห์มองว่าท้ายที่สุดแล้วข้อตกลงนิวเคลียร์จะเป็นการเพิ่มอุปทานน้ำมันจากอิหร่านเข้ามายังตลาดโลกที่ประสบภาวะอุปทานล้นตลาดอยู่ก่อนแล้ว และมันเป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดให้ราคาน้ำมันร่วงลงต่อเนื่องตั้งแต่เข้าสู่สัปดาห์นี้
ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯเมื่อวันอังคาร(31มี.ค.) จบไตรมาสแรกด้วยการดิ่งลงหนัก หลังขยับขึ้นมา 2 วันติด จากความผันผวนอย่างสูงในตลาดทุน ท่ามกลางข้อมูลข่าวสารต่างๆนานา
ดาวโจนส์ ลดลง 200.19 จุด (1.11 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 17,776.12 จุด เอสแอนด์พี ลดลง 18.35 จุด (0.88 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 2,067.89 จุด แนสแดค ลดลง 46.56 จุด (0.94 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 4,900.88 จุด
วอลล์สตรีทซื้อขายผันผวนวานนี้ นักลงทุนไตร่ตรองนโยบายการเงินของสหรัฐฯ แนวโน้มที่กรีซจะอยู่ในยูโรโซนต่อไปและราคาน้ำมันที่กลับมาร่วงลงหนักอีกครั้ง
ส่วนทองคำในวันอังคาร(31มี.ค.) ขยับลงในกรอบแคบๆ โดยแรงกดดันส่วนใหญ่เกิดจากดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับยูโร โดยทองคำตลาดโคเม็กซ์ ลดลง 1.70 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,183.10 ดอลลาร์ต่อออนซ์