xs
xsm
sm
md
lg

ทำไม AEC จึงเป็นที่น่าสนใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โดยดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ
Dr.win@one-asset.com

ในปี 2558 นี้จะเป็นปีแรกที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จะเริ่มขึ้นในบางประเทศรวมถึงประเทศไทย นำมาสู่คำถามว่า AEC คืออะไร และ AEC น่าสนใจอย่างไร และทำไมคนส่วนใหญ่จึงต้องให้ความสำคัญต่อการเข้าร่วม AEC มากนัก

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC คือความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งประกอบด้วยทั้งหมด 10 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ พม่า ลาว บรูไน โดยในช่วงแรกจะมีประเทศที่เริ่มเข้าสู่การรวมกลุ่ม AEC จำนวน 6 ประเทศ ได้แก่ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย เนื่องจากมีความพร้อมในการดำเนินการมากที่สุด ขณะที่กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม จะเข้าสู่การรวมกลุ่ม AEC ในลำดับถัดไป ซึ่งการรวมกลุ่ม AEC ดังกล่าวจะเป็นความร่วมมือทั้งในด้านเศรษฐกิจและการลงทุน โดยร่วมเป็นตลาดและฐานการผลิตแห่งเดียวในภูมิภาค รวมทั้งมีแนวทางในการพัฒนาให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนกันอย่างเสรีภายในภูมิภาค

การที่อาเซียนถูกพูดถึงค่อนข้างมาก เนื่องจากคาดว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคจะอยู่ในระดับสูงจากการร่วมเป็นตลาดและฐานการผลิตแห่งเดียวในภูมิภาคนั้นจะทำให้ภูมิภาคอาเซียนมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นจากต้นทุนที่ต่ำลง ประกอบกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างมากหลังรวมกลุ่ม ซึ่งมีจำนวนประมาณ 538 ล้านคน คิดเป็น 9% ของประชากร และมีจำนวนประชากรใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก รวมทั้งมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่อัตราการว่างงาน
เฉลี่ยปีละ 3.5-4.0% ซึ่งอยู่ในระดับต่ำ จะเป็นปัจจัยบวกต่อการเพิ่มกำลังซื้อทั้งการบริโภคและการลงทุนให้ปรับเพิ่มขึ้นตาม และส่งผลให้ภูมิภาคอาเซียนเริ่มมีความแข็งแกร่งขึ้น และเริ่มเป็นเป้าหมายของธุรกิจการลงทุนในเศรษฐกิจระดับโลก

ผมมองว่าในช่วง 1-2 ปีนี้เศรษฐกิจในกลุ่มอาเซียนจะมีแนวโน้มเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและเข้าสู่ช่วงการฟื้นตัวหลังจากที่เศรษฐกิจโลกได้ซบเซาในช่วงที่ผ่านมา การเติบโตของเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้นทำให้มีความต้องการซื้อสินค้าในกลุ่มอาเซียนมากขึ้นทั้งในส่วนของการซื้อขายสินค้ากันเองภายในกลุ่มและนอกกลุ่ม ซึ่งส่งผลดีต่อการส่งออกของอาเซียนมีแนวโน้มเติบโตตาม

ขณะที่ในส่วนของการใช้จ่ายภายในประเทศเป็นปัจจัยผลักดันเศรษฐกิจเป็นหลัก จากมาตรการการสนับสนุนของทางการอย่างต่อเนื่องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันของภายในกลุ่ม เช่น การสนับสนุนการใช้จ่ายของภาครัฐ โดยเฉพาะการเร่งลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของแต่ละประเทศ รวมทั้งการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายผ่านอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำ ก็น่าจะผลักดันให้การบริโภคและการลงทุนแต่ละประเทศทยอยปรับตัวดีขึ้นได้ ซึ่งโดยภาพรวมผมคาดว่าเศรษฐกิจอาเซียนมีโอกาสเติบโตได้ประมาณปีละ 5.0-5.5% ซึ่งนับว่าเป็นการเติบโตที่ดีพอสมควร

ขณะที่ในด้านของปัจจัยพื้นฐานตลาดหุ้นอาเซียน ปัจจุบันระดับราคายังคงไม่แพงมากนักเมื่อเทียบกับหุ้นประเทศอื่นๆ โดยระดับราคาหุ้นต่อกำไร (PE) ของตลาดหุ้นอาเซียนยังอยู่ในระดับต่ำกว่าตลาดหุ้นทั่วโลก ประกอบกับแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต รวมทั้งยังเห็นสัญญาณการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติและสภาพคล่องของการผ่อนคลายนโยบายการเงินเชิงปริมาณของธนาคารกลางหลักในบางประเทศ โดยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันมีกระแสเงินทุนต่างชาติเข้าสู่ตลาดหุ้น ASEAN+3 (ASEAN / จีน / เกาหลีใต้ / ญี่ปุ่น) ประมาณ 1,366 ล้านดอลลาร์ ก็น่าจะผลักดันให้ตลาดหุ้นอาเซียนมีแนวโน้มเติบโตได้

แต่จุดสนใจอีกหนึ่งจุดของตลาดหุ้นอาเซียนที่เป็นที่น่าสนใจของนักลงทุน ได้แก่ อัตราการจ่ายปันผลของบริษัทจดทะเบียนฯ ต่างๆ ในแต่ละประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากผลประกอบการบริษัทที่สดใสหลังจากที่เศรษฐกิจโลกและกลุ่มอาเซียนมีการฟื้นตัวได้ดี ซึ่งปัจจุบันประเทศในกลุ่มอาเซียนโดยเฉลี่ยมีอัตราการจ่ายปันผลอยู่ที่ประมาณปีละ 4.5% ซึ่งสูงกว่าระดับอัตราการจ่ายปันผลเฉลี่ยทั่วโลกที่ประมาณ 2.4% และสูงกว่าอัตราการจ่ายปันผลเฉลี่ยในบางกลุ่มภูมิภาค เช่น เอเชียตะวันออก อเมริกาเหนือ และยุโรป ที่อยู่ที่ประมาณ 2.1%, 1.8% และ 3.6% ตามลำดับ ซึ่งทำให้คาดว่าน่าจะมีกระแสเงินทุนของนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนที่นิยมลงทุนในหุ้นปันผล

แต่อย่างไรก็ดี แม้การลงทุนในตลาดหุ้นอาเซียนจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางการเลือกลงทุนในบริษัทของประเทศในกลุ่มอาเซียนที่มีศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจและการลงทุนได้อีกมาก ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสการได้รับผลตอบแทนให้สูงขึ้นได้ รวมทั้งเป็นการกระจายการลงทุนในประเทศอื่นๆ ซึ่งทำให้ลดความเสี่ยงจากการลงทุนในประเทศใดประเทศหนึ่งเพียงลำพัง และสามารถสร้างโอกาสการลงทุนในหุ้นที่หลากหลายมากขึ้น แม้จะเป็นหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันก็ตาม ซึ่งช่วยให้นักลงทุนมีโอกาสได้รับผลตอบแทนเมื่อเทียบกับความเสี่ยงแล้วสูงขึ้น แต่การลงทุนในตลาดหุ้นอาเซียนก็ยังคงมีข้อจำกัดบางประการ ซึ่งในฉบับหน้าผมจะมาเล่าให้ฟังว่าข้อจำกัดเหล่านั้นเราสามารถหลีกเลี่ยงได้อย่างไร และมีแนวทางอย่างไรหากนักลงทุนต้องการลงทุนในตลาดหุ้นอาเซียน รวมทั้งแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจแต่ละประเทศครับ แล้วพบกันฉบับหน้าครับ

•หากนักลงทุนสนใจสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายบริการลูกค้าและสนับสนุนธุรกิจที่หมายเลข 0-2659-8888 ต่อ 1

•ทั้งนี้ การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน


กำลังโหลดความคิดเห็น