โดยณัฐพรพิมพ์ อัตรภูษิต
สายงานบริหารผลิตภัณฑ์
บลจ.บัวหลวง
พัฒนาการของเทคโนโลยีที่เชื่อมต่อโลกไว้ด้วยกัน มีส่วนอย่างมากที่ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพ ทุกวันนี้จึงไม่ได้มีเพียงสหรัฐฯ หรือเยอรมนีเท่านั้นที่เป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ เหมือนในอดีต ประเทศที่มีทรัพยากรและประชากรที่คิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของโลกอย่างจีนและอินเดีย รวมถึงเกาหลี ก็เริ่มที่จะเห็นตัวเลขยอดขายที่เติบโตแบบก้าวกระโดดในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมใหม่ๆ เช่นเดียวกัน
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ Samsung Electronics หรือซัมซุง ผู้นำด้านการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงและสื่อดิจิตอลในตลาดดิจิตอลระดับโลก ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดแซงหน้า Apple ของสหรัฐฯ ได้ในตลาดมือถือ โดยซัมซุงมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 ของโลก ด้วยสัดส่วนร้อยละ 23.7 เทียบกับ Apple ซึ่งเป็นอันดับ 2 ในตลาดที่สัดส่วนร้อยละ 11.7
ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าคุณลองสังเกตจากเดิมที่บริษัทหลายแห่งที่มีผลกำไรและแนวโน้มการเติบโตดีมักจะเป็นบริษัทสัญชาติตะวันตก แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเราเริ่มที่จะเห็นบริษัทในเอเชียก้าวขึ้นมามีบทบาทในตลาดโลกมากขึ้น หรือไม่ก็ไปจับมือทำธุรกิจร่วมกันกับบริษัทต่างชาติเพื่อขยายกิจการ
แล้วอะไรล่ะคือสิ่งที่ทำให้บริษัทจดทะเบียนของเอเชียถึงมีบทบาทในตลาดโลกมากขึ้น และส่งผลให้เอเชียมีความน่าสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ประการแรก สัดส่วนประชากรมากกว่า 68% ของโลกอยู่ในเอเชีย เพียงแค่ประเทศจีนกับอินเดียก็คิดเป็นสัดส่วนถึงกว่า 2 ใน 3 ของเอเชียแล้ว และการที่เอเชียมีประชากรจำนวนมากๆ นั่นหมายถึงลูกค้าจำนวนมาก เพราะไม่ว่าบริษัทไหน เมื่อผลิตของออกมาชิ้นหนึ่งก็อยากจะขายของได้เยอะๆ ตัวอย่างเช่น เศรษฐกิจจีน ในอดีตเน้นผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกเป็นหลัก ทว่าปัจจุบันจีนพยายามที่จะผลิตเพื่อลูกค้าในประเทศที่นับได้ว่าเป็นตลาดที่ใหญ่เกือบที่สุดของโลกมากขึ้น ดังนั้นถ้าบริษัทหนึ่งๆ สามารถขายผู้บริโภคในจีนที่มีอยู่เกือบ 1,400 ล้านคนได้ บริษัทนั้นแทบจะไม่ต้องพึ่งพาลูกค้าจากต่างประเทศด้วยซ้ำ
ในทางกลับกันลูกค้าจากนอกประเทศกลับวิ่งเข้าหาผู้ผลิตในจีนมากขึ้น เพราะว่าการที่บริษัทหนึ่งในจีนสามารถผลิตสินค้าเพื่อผู้บริโภคในประเทศที่มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 19.24 ของประชากรโลกได้ แสดงถึงประสิทธิภาพการผลิตที่ทำให้เกิดการประหยัดต้นทุนต่อขนาด ทำให้สินค้าถูกลงได้อย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ บริษัทต่างชาติก็ต้องปรับตัวต่อกระแสการเพิ่มขึ้นของประชากรในทวีปเอเชีย โดยผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อจำนวนมาก เมื่อดูอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ หรือ GDP Growth ตั้งแต่ช่วงปี 2005-2014 จะเห็นได้ว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดและเร็วที่สุดติดต่อกันเป็นเวลาถึง 10 ปี
โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีน ซึ่งถ้าดูจากกราฟแท่ง GDP Growth ในช่วงปี 2001-2013 เศรษฐกิจจีนมีการขยายตัวสูงถึง 575% รองลงมาได้แก่ ภูมิภาคอาเซียน 10 ประเทศ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย บรูไนดารุส-ซาลาม เวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชา) ซึ่งขยายตัว 313%
ประการที่ 2 จากผลการสำรวจจาก OECD คาดการณ์ว่า ภายในปี 2030 หรืออีก 15 ปีข้างหน้าจำนวนผู้มีรายได้ปานกลาง หรือที่เราเรียกว่า Middle Class จะมีเพิ่มมากขึ้นจาก 2 พันล้านคน สู่ 5 พันล้านคน และที่สำคัญคือ ร้อยละ 66 ของ Middle Class ซึ่งเป็นผู้บริโภคหลักของเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ ไม่ได้อยู่ในสหรัฐฯ หรือยุโรป ทว่าอยู่ในทวีปเอเชียของเรานี่เอง การที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียมีกลุ่ม Middle class มาก ส่งผลให้มีความต้องการสินค้า และบริการมากขึ้น อาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย Healthcare และการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตรถยนต์ และสมาร์ทโฟน โทรศัพท์มือถือ ก็เติบโตสูงมากในภูมิภาคเอเชีย นับเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
จากเหตุผลเรื่องจำนวนประชากร และการเติบโตของกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง ที่กลายเป็นฐานลูกค้าสำคัญ ทำให้บริษัทเอเชียจำนวนมากเป็นที่สนใจของนักลงทุนที่มองเห็นโอกาสของการเติบโตจากทั่วโลก ซึ่งนักลงทุนไทยก็สามารถลงทุนในกิจการของประเทศในทวีปเอเชียที่น่าสนใจได้เช่นกัน
โดยเลือกลงทุนผ่านกองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นเอเชีย หรือ B-ASIA ที่จะเปิดเสนอขาย IPO ระหว่างวันที่ 24-31 มี.ค.นี้ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองทุนบัวหลวง 0-2674-6488 กด 8 หรือสาขาธนาคารกรุงเทพ ตัวแทนขายหน่วยลงทุนของกรุงเทพประกันชีวิต บล.บัวหลวง และ บล.โนมูระ พัฒนสิน
- การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลและหนังสือชี้ชวนก่อนการตัดสินใจลงทุน
- กองทุน B-ASIA จะมีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ